เศรษฐศาสตร์กับสติ : ดร.วิรไท สันติประภพ

ผมถูกสอนมาตลอดว่าเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรเงิน เวลา หรือทรัพยากรธรรมชาติ ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ มักเริ่มต้นจากสมมติฐานว่า ทรัพยากรทุกอย่างในโลกนี้มีจำกัด ปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ที่เราคุ้นเคยกัน ตั้งแต่เรื่องการกีดกันการค้าระหว่างประเทศ เงินเฟ้อ ฟองสบู่ราคาอสังหาริมทรัพย์ การกระจายรายได้ไม่เป็นธรรม การจัดสรรงบประมาณ หรือนโยบายอัตราดอกเบี้ย ล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดสรรหรือแย่งชิงทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดความสมดุลและเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งสิ้น

ตั้งแต่เมื่อผมเรียนเศรษฐศาสตร์ครั้งแรก ผมมีคำถามในใจเสมอว่า จริงหรือที่ทรัพยากรทุกอย่างในโลกนี้มีจำกัด สมัยก่อนผมจะคิดว่า “อากาศ” จะใกล้เคียงกับทรัพยากรที่มีไม่จำกัดมากที่สุด แต่ในวันนี้ปัญหามลภาวะทางอากาศ และปัญหาโลกร้อนได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า อากาศที่มีคุณภาพก็มีจำกัดเช่นกัน ยิ่งเรียนเศรษฐศาสตร์ลึกขึ้น และเห็นพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกที่ต้องแก่งแย่งแข่งขันกันมากขึ้น จนเกิดสงครามกลางเมืองและสงครามระหว่างประเทศ ทำให้ยิ่งเชื่อขึ้นไปอีกว่าทรัพยากรทุกอย่างในโลกนี้มีจำกัด และหยุดคิดถึงทรัพยากรที่มีไม่จำกัดไประยะหนึ่ง

ผมเริ่มคิดถึงคำถามนี้อีกครั้ง เมื่อเริ่มศึกษาพุทธศาสนา และได้ฟังครูบาอาจารย์หลายท่านสอนว่า จิตเป็นของที่มีไม่จำกัด จิตดวงไหนดับไป จะมีจิตดวงใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา และจิตทำงานเร็วมากจนคนส่วนใหญ่ตามไม่ทัน ใครก็ตามที่ควบคุมจิตของตนไม่ได้ อาจถูกเรียกว่าเป็นคนเสียสติ และถ้าปล่อยให้จิตเกิดความโกรธ ความโลภ ความหลงแล้ว จะเกิดการแก่งแย่งชิงดีกัน ทะเลาะกัน จนเกิดสงครามได้เช่นกัน

เมื่อจิตของคนเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ไม่จำกัด และถ้าปล่อยให้จิตล่องลอยมากเกินไป อาจจะให้โทษมากกว่าเกิดประโยชน์ กรอบแนวคิดของวิชาเศรษฐศาสตร์ จึงไม่สามารถประยุกต์ใช้กับเรื่องของจิตได้อย่างถึงแก่น ความรู้พุทธศาสนาระดับงูๆปลาๆ ได้ทำให้ผมเกิดศรัทธาในศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของจิต โดยเฉพาะการใช้สติบริหารจัดการจิตของตน เรื่องของจิตและสติเป็นความพิเศษของพุทธศาสนา ทุกศาสนาสอนให้คนทำความดี ละความชั่ว แต่พุทธศาสนาเป็นเพียงศาสนาเดียวที่ให้ความสำคัญต่อการทำจิตใจให้ผ่องใสและเป็นกลาง

ถ้าคนไทยหันมาฝึกสติตามคำสอนของพุทธศาสนามากขึ้น เราคงจะไม่ถูกชักจูงได้โดยง่าย ไม่จงเกลียดจงชังคนที่มีความเห็นต่างกัน และไม่เอาแต่เรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นที่ตั้ง จนเกิดการเผาบ้านเมืองเช่นที่ผ่านมา

ถ้าใครได้มีโอกาสศึกษาเรื่องสติ จะพบว่าเป็นศาสตร์ที่น่าทึ่งมาก สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้กับทุกเรื่องไม่ว่าทรัพยากรจะมีจำกัดหรือไม่จำกัด อาจจะกล่าวได้ว่า สติเป็นศาสตร์ทางธรรมที่จะมาใช้นำศาสตร์ต่างๆทางโลกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้าคนมีสติบริหารจัดการจิตของตนให้มีใจเป็นกลางได้ ไม่ว่าจะตัดสินใจหรือพิจารณาเรื่องใด จะไม่ถูกอิทธิพลของอารมณ์หรือการปรุงแต่งมาทำให้เบี่ยงเบนออกไป ทรัพยากรที่เคยเชื่อว่ามีจำกัดจะกลายเป็นมีเพียงพอ ถ้าสามารถกำจัดความโลภและความหลงในจิตของตนได้

เมื่อเปรียบเทียบวิชาเศรษฐศาสตร์กับสติแล้วพบว่า มีหลายมิติที่น่าสนใจ นักเศรษฐศาสตร์มักจะชอบอธิบายเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต วางแผน และพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคต และหาเหตุผลมาอธิบายว่า ทำไมการพยากรณ์ของตนจึงผิดเมื่อเวลาในอนาคตมาถึง

ในทางตรงกันข้าม สติให้ความสำคัญกับปัจจุบัน เพราะไม่สามารถจัดการกับเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตได้แล้ว และเหตุการณ์ในอนาคตไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ แต่ถ้าระลึกรู้อยู่กับปัจจุบันแบบมีสติ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต จะสามารถหาทางออกได้เสมอ

เนื่องจากนักเศรษฐศาสตร์ถูกสอนมาว่า ทรัพยากรในโลกนี้มีจำกัด และต้องจัดสรรให้เกิดประโยชน์สูงสุด นักเศรษฐศาสตร์จึงถูกสอนให้เป็นคนชอบคิด โดยเฉพาะคิดว่า ทำอย่างไรที่เราจะหาทรัพยากรที่เราต้องการได้มากที่สุด และทำอย่างไรที่เราจะใช้ทรัพยากรเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองสูงสุด เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์อย่าง game theory ทฤษฎีการบริโภค ทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศ หรือทฤษฎีที่ว่าด้วยโครงสร้างตลาด (industrial organization) มักจะสอนให้นักเศรษฐศาสตร์คอยชิงไหวชิงพริบ อ่านใจคู่แข่งตลอดเวลา นักเศรษฐศาสตร์จึงเป็นคนคิดมากและคิดเล็กคิดน้อย จนทำให้หลายครั้ง เกิดปัญหาการเอาเปรียบคู่แข่ง เอาเปรียบสังคม แบบไม่เป็นธรรม

ในทางตรงกันข้าม สติสอนให้เราตามความคิดอย่างเท่าทัน โดยไม่ปล่อยให้ความคิดล่องลอยไปเรื่อยๆ และถ้ามีสติหยุดคิดปรุงแต่ง ทำจิตให้เป็นกลาง จิตจะมีพลัง สามารถช่วยให้ผ่านพ้นปัญหาต่างๆที่เผชิญอยู่ในปัจจุบันไปได้ด้วยเหตุและผล โดยไม่ต้องเสียเวลาคิดวางแผนล่วงหน้าไว้มากมายโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์

ถ้าจะทดลองฝึกสติเพื่อควบคุมจิตให้ผ่องใสและเป็นกลาง อาจจะต้องเริ่มจากเลิกใช้สมมติฐานหลักของเศรษฐศาสตร์ที่ว่าทรัพยากรทุกอย่างมีอยู่จำกัด ถ้าใครเชื่อว่าชีวิตเราจะต้องแก่งแย่งแข่งขันกัน และหาประโยชน์สูงสุดให้แก่ตนตลอดเวลา ยากที่จะทำใจให้ผ่องใสและเป็นกลางได้ แต่ถ้าเริ่มจากความเมตตา ฝึกตามความคิดของตนอย่างเท่าทันเพื่อจำกัดความต้องการของตน ทรัพยากรที่มีอยู่จะเหลือพอแบ่งปันให้คนอื่นได้ ปัญหาต่างๆที่ตามมาจากการแก่งแย่งแข่งขันกันจะลดลง

ท่านผู้อ่านที่ไม่ได้ศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ใกล้ชิด อาจจะคิดว่าเศรษฐศาสตร์สอนให้คนแย่งชิงทรัพยากรซึ่งกันและกัน เพื่อให้ตัวเองได้รับประโยชน์สูงสุดเท่านั้น แท้ที่จริงแล้ว เศรษฐศาสตร์ยังให้ความสำคัญต่อการสร้างความยั่งยืนด้วยการสร้างความสมดุลและภูมิคุ้มกัน วิชาเศรษฐศาสตร์ในมิตินี้จะสอดคล้องกับสติ ถ้าคนในสังคมมีสติควบคุมจิตของตนไม่ให้ล่องลอยไป จนนำไปสู่การเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นได้แล้ว สังคมนั้นจะอยู่ได้อย่างยั่งยืน การมีสติจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคม

นอกจากนี้ สติยังเป็นหัวใจของการบริหารความเสี่ยง ในยุคที่สภาวะเศรษฐกิจและสังคมมีความผันผวนและอ่อนไหวสูง สติจะทำให้ไม่ประมาท และไม่คิดเข้าข้างตัวเอง ปัญหาฟองสบู่ราคาอสังหาริมทรัพย์ และการเก็งกำไรราคาหุ้นมักเป็นผลมาจากนักลงทุนประมาทคิดเข้าข้างตัวเองว่า ราคาที่ดินหรือราคาหุ้นมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขาดสติที่จะคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

ปัญหาความแตกแยกที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จนเกิดการเผาบ้านเผาเมืองนั้น ได้แสดงให้เห็นอีกมิติหนึ่งของการขาดสติ เพราะเราปล่อยให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจสะสมมานาน โดยคิดเข้าข้างตัวเองว่าเป็นปัญหาของคนอื่น คงจะมีรัฐบาลหรือผู้รับผิดชอบมาแก้ไข แต่ถ้าเราคิดย้อนหลังอย่างมีสติ คงจะเห็นว่าทุกคนในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบไทยๆ(ที่รัฐมักใช้อำนาจแบบสองมาตรฐาน) มีส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น ถ้าเราตระหนักร่วมกันอย่างมีสติว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจนี้เป็นปัญหาของเราทุกคน ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ร่วมมือกันเพื่อให้สังคมไทยอยู่ได้อย่างยั่งยืนและมีพลัง

วิกฤติสังคมและเศรษฐกิจไทยในวันนี้ มีรากฐานมาจากความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ และทรัพยากรของประเทศถูกจัดสรรอย่างไม่เป็นธรรม วิกฤติที่เกิดขึ้นส่งผลให้จิตของคนไทย ถูกปรุงแต่งไปจนไม่จำกัดด้วย ความโลภ ความโกรธ และความหลง ดังนั้น เราคงไม่สามารถแก้วิกฤติรอบนี้ได้ด้วยกลไกทางเศรษฐศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องใช้สติมาเป็นหลักของการแก้ปัญหาด้วย

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ได้กล่าวไว้ช่วงวิกฤติเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ขอให้คนไทยมีสติ ได้รับข่าวสารอะไรต้องไตร่ตรองให้ดี อย่าหลงเชื่อเพราะคนส่วนใหญ่พูดอย่างนั้น อย่าหลงเชื่อเพราะถูกใจตัวเอง และอย่าหลงเชื่อเพราะผู้พูดน่าเชื่อถือ ถ้าคนไทยส่วนใหญ่มีสติตามที่พระอาจารย์กล่าวไว้ สังคมและเศรษฐกิจไทยจะผ่านวิกฤติไปได้อย่างยั่งยืน

เศรษฐศาสตร์กับสติ

ดร.วิรไท สันติประภพ

กรุงเทพธุรกิจ

วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2553

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.