เราได้เห็นตัวอย่างหลายธุรกิจที่ปฏิบัติดีต่อสังคมผ่านกิจกรรม “ความรับผิดชอบต่อสังคม” หรือ “Corporate Social Responsibility (CSR)” ในหลายรูปแบบ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีตัวอย่างของธุรกิจที่ปฏิบัติดีต่อสังคมในรูปแบบที่ก้าวหน้ามาก เพราะธุรกิจเหล่านี้คิดว่าการปฏิบัติดีต่อสังคมไม่ได้เป็นเพียง “ความรับผิดชอบ” เท่านั้น แต่เป็น “ความจำเป็นที่จะทำให้ธุรกิจและสังคมอยู่ได้อย่างยั่งยืน”
รูปแบบของการปฏิบัติดีต่อสังคมรูปแบบหนึ่งที่เห็นมากขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ คือ “นักบุญทุนนิยม” หรือ “Philanthrocapitalism” นักบุญทุนนิยมต่างจากนักธุรกิจใจบุญที่นิยมทำการกุศลเป็นการทั่วไปอย่างน้อย 3 ประการสำคัญ
ประการแรก นักบุญทุนนิยมตระหนักว่า การปฏิบัติดีต่อสังคมของธุรกิจเป็นความจำเป็นสำหรับการอยู่รอดของสังคมในระยะยาว ถ้าธุรกิจยังคงทำธุรกิจโดยมุ่งหวังแต่ผลกำไร และมองเฉพาะกรอบการทำธุรกิจแคบๆของตนอยู่ จะส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสังคม เศรษฐกิจ และสภาวะแวดล้อม ซึ่งในที่สุดแล้วทั้งสังคมและธุรกิจจะไม่สามารถอยู่รอดได้
ประการที่สอง วาระที่นักบุญทุนนิยมเลือกขึ้นมาสำหรับการปฏิบัติดีต่อสังคมนั้น ต้องเป็นวาระสำคัญ เป็นวาระที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เพียงต่อยอดให้ดีขึ้นไปกว่าเดิม และมักจะเป็นเรื่องที่ภาครัฐไม่สามารถผลักดันหรือจัดการให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ถ้าวางเฉยปล่อยไว้จะมีแต่ปัญหาเพิ่มขึ้น ในยุคโลกาภิวัตน์เช่นปัจจุบัน ปัญหาสำคัญระดับโลกมักจะเป็นปัญหาข้ามพรมแดน ในขณะที่อำนาจหน้าที่ของภาครัฐถูกจำกัดอยู่เพียงกรอบพรมแดนของแต่ละประเทศ ธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจข้ามชาติจึงอาจมีประสิทธิภาพมากกว่าที่จะช่วยผลักดันหรือจัดการปัญหาระดับโลก เช่น เรื่องโลกร้อน โรคติดต่อ หรือสิทธิมนุษยชน
ประการสุดท้าย การปฏิบัติดีต่อสังคมของนักบุญทุนนิยม ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การบริจาคเงิน แต่นักบุญทุนนิยมมักจะอาศัยประสบการณ์ทางธุรกิจเข้าไปลงมือบริหารจัดการโครงการต่างๆ ด้วยวิธีจัดการแบบธุรกิจ เพื่อให้สำเร็จลุล่วงไปได้ นักบุญทุนนิยมระดับโลกหลายคน จึงตั้งมูลนิธิแยกออกจากหน่วยงานทางธุรกิจ มีการจัดทำแผนธุรกิจ งบประมาณ การบริหารจัดการ และการประเมินผลด้วยมืออาชีพ เพื่อให้แน่ใจว่าวาระสำคัญของสังคมจะถูกแก้ไขอย่างจริงจัง
นักบุญทุนนิยมที่โด่งดังที่สุดในโลกคงหนีไม่พ้น Bill Gates เจ้าของ Microsoft ที่ค่อยๆวางมือจากการบริหารธุรกิจมาบริหาร Gates Foundation เพื่อหาทางกำจัดโรคมาลาเรียและโรคติดต่ออื่นๆในแอฟริกา เพราะเล็งเห็นว่า ถ้าสามารถกำจัดโรคติดต่อเหล่านี้ได้แล้ว คุณภาพชีวิตของคนจะดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด ปัญหาต่างๆ ของสังคมจะลดลงได้รวดเร็ว นักบุญทุนนิยมอีกคนหนึ่งที่คนไทยคุ้นชื่อ (แต่อาจจะไม่ค่อยชอบเท่าไหร่) คือ George Soros พ่อมดทางการเงินที่ทำกำไรจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากสองชื่อนี้แล้วผมเชื่อว่ายังมีนักธุรกิจที่เข้าข่ายเป็นนักบุญทุนนิยมอีกมากกระจายอยู่ทั่วโลก
กิจกรรมการปฏิบัติดีของสังคมของนักบุญทุนนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ก่อนที่วิกฤติ subprime และวิกฤติการณ์การเงินโลกเกิดขึ้นในปีนี้ ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเติบโตรวดเร็ว คนรวยสามารถเพิ่มความร่ำรวยได้เร็วมาก ในขณะที่คนจนหรือคนด้อยโอกาสได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจน้อยกว่า ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคมจึงกว้างขึ้นเรื่อยๆ นักธุรกิจที่เป็นนักบุญทุนนิยมตระหนักดีว่า ถ้าปล่อยให้ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมกว้างขึ้นเรื่อยๆ สังคมจะไม่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว จึงหันมาปฏิบัติดีต่อสังคมผ่านกิจกรรมต่างๆเพิ่มขึ้น
มีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งว่า นักบุญทุนนิยมมักเป็นนักธุรกิจที่ร่ำรวยด้วยลำแข้งของตนเอง ไม่ได้พึ่งมรดกที่ตกทอดมาหลายชั่วอายุคน พวกนักธุรกิจที่รวยด้วยตนเองมักจะมีแนวคิดที่ต่างจากพวกที่รวยจากมรดก เพราะถ้ารวยจากมรดก มักจะต้องรักษามรดกไว้สำหรับรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป คงไม่สบายใจเท่าไหร่ที่จะเอามาใช้จ่ายเพื่อสังคม แต่สำหรับพวกนักธุรกิจที่ร่ำรวยด้วยลำแข้งของตนเองแล้ว หลายคนกลับคิดว่าถ้าเก็บมรดกไว้ให้ลูกเยอะ อาจเข้าข่ายนิทาน “พ่อแม่รังแกฉัน” ได้จึงจัดสรรมรดกไว้ให้ลูกหลานเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตสบายๆ แล้วเอาทรัพย์สินส่วนเกินมาใช้ในกิจกรรมที่จะช่วยให้สังคมเข้มแข็งในระยะยาว โดยเฉพาะการลดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม
หลายคนคงคาดว่า วิกฤติการเงินโลกรอบนี้นักบุญทุนนิยมใหม่จะเกิดขึ้นยาก และที่มีอยู่แล้วคงจะลดกิจกรรมของตนเองลงเพราะนักธุรกิจส่วนใหญ่จนลง แต่เราอาจจะเห็นกิจกรรมของนักบุญทุนนิยมเพิ่มขึ้น ด้วยสาเหตุอย่างน้อยสามประการ ประการแรก ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ คนที่รวยมากๆยิ่งมีโอกาสที่จะทำให้ตัวเองรวยขึ้น ราคาทรัพย์สินที่ตกลงเป็นโอกาสทองที่จะให้คนรวยที่มีเงินสดในมือสามารถเข้าไปซื้อทรัพย์สินได้ในราคาถูก และสามารถใช้พลังเงินทองของตนสร้างอิทธิพลเหนือตลาดได้ง่ายขึ้น ประการที่สอง ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคมจะเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่งบประมาณภาครัฐจะเล็กลง เพราะรัฐจะมีภาระหนี้จากการกระตุ้นเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น สวัสดิการและความต้องการพื้นฐานของคนด้อยโอกาสในสังคมจะถูกละเลยมากขึ้น ส่งผลให้สังคมต้องการกิจกรรมของนักบุญทุนนิยมเพิ่มสูงขึ้น และประการสุดท้าย วิกฤติการเงินรอบนี้จัดได้ว่า เศรษฐกิจโลกพังเพราะคนรวย นักธุรกิจรวยๆหลายรายจะถูกกล่าวหาว่าฉ้อโกง แต่งบัญชีเอาตัวรอด จึงหนีไม่พ้นที่คนรวยจะถูกกดดันจากสังคมมากขึ้น ส่งผลให้ต้องหันมาให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติดีต่อสังคม
มองเข้ามาในเมืองไทยแล้ว ค่อนข้างประหลาดใจที่นึกถึงนักบุญทุนนิยมคนไทยไม่ค่อยออก แม้ว่าเราจะมีมหาเศรษฐีแสนล้าน หมื่นล้าน หรือพันล้านอยู่มาก และสังคมไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และปัญหาอื่นๆอีกหลายด้าน ทั้งด้านการเมือง การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี ที่จะมีผลต่อความยั่งยืนในระยะยาวของสังคมไทย เรามีธุรกิจที่ปฏิบัติดีต่อสังคมจำนวนมาก แต่มักจะเป็นเพียงผู้บริจาคเงิน หรือผู้สนับสนุนโครงการต่างๆแบบเบี้ยหัวแตกมากกว่าที่จะทุ่มเท กำลังเงิน กำลังแรง และประสบการณ์ทางธุรกิจของตนมาผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมด้านใดด้านหนึ่ง อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม
คงมีสาเหตุหลายประการที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดนักบุญทุนนิยมในเมืองไทย ประการแรกสังคมไทยมีขนาดเล็ก นักธุรกิจไทยที่ร่ำรวยมักจะเป็นเป้าหมายของทุกองค์กรการกุศล ถ้านักธุรกิจเหล่านี้หันมาสนับสนุนเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นหลัก อาจจะทำให้เสียเพื่อนในกลุ่มอื่นๆได้ และอาจจะทำให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบเรื่องนั้นๆไม่พอใจ ตกเป็นเป้าทางการเมืองได้โดยไม่ได้ตั้งใจอีกด้วย นักธุรกิจไทยจึงมักเลือกเป็นนักบุญเบี้ยหัวแตกมากกว่าที่จะผลักดันเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างจริงจัง ประการที่สอง นักธุรกิจไทยยังตัดแนวคิดเรื่องมรดกไม่ได้ ส่วนใหญ่ยังมุ่งสะสมทรัพย์สินไว้ให้ลูกหลานมากกว่าที่จะปันส่วนมาใช้ในกิจกรรมปฏิบัติดีเพื่อสังคม
ถ้ามองไปในอนาคต สังคมไทยจะมีปัญหาความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ภาคการเมืองและภาครัฐอ่อนแอลง สังคมจะแตกแยกมากขึ้นตามลำดับ ทั้งด้านทุนทรัพย์ ความคิด การศึกษาและสิทธิในการเข้าถึงบริการของรัฐ อาจจะถึงเวลาแล้วที่นักธุรกิจมหาเศรษฐีของไทยจะต้องยกระดับการปฏิบัติดีต่อสังคมไปเป็นนักบุญทุนนิยม ใช้กำลังเงิน ความคิด และประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจ แก้ปัญหาที่เป็นวาระสำคัญของสังคมไทย และคงจะต้องไม่เป็นเพียงการทำบุญต่อยอด แต่จะต้องส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สังคมไทยอยู่ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว มิฉะนั้นแล้ว ลูกหลานอาจจะไม่มีโอกาสได้ใช้มรดกพันล้าน หมื่นล้าน หรือแสนล้านในเมืองไทย
12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์
เศรษฐศาสตร์พเนจร โดย ดร.วิรไท สันติประภพ
1 thought on “เรื่องของนักบุญทุนนิยม : ดร.วิรไท สันติประภพ”