เปิดมหกรรมเอาคืน “วอลสตรีต” : Posttoday

รัฐ-เอกชนจ่อคิวเชือดบิ๊กแบงก์ หวังยกเครื่องอุตสาหกรรมการเงินในวอลสตรีต

กรณี โกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป อิงก์ ธนาคารรายใหญ่ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในอุตสาหกรรมภาคการเงินของสหรัฐ ถูกตั้งข้อหาฉ้อโกงเพราะปกปิดข้อมูลสำคัญกับลูกค้า จนสร้างความเสียหายมหาศาลตามมานั้น ดูจะไม่ได้เป็นแค่การเชือดยักษ์ให้ลิงดูธรรมดา ก่อนการปฏิรูปกฎหมายภาคการเงินครั้งใหญ่ในสหรัฐเท่านั้น

นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองกันว่า การเชือดครั้งนี้อาจกลายเป็นมหกรรมการเชือดใหญ่ เพื่อต้องการยกเครื่องอุตสาหกรรมการเงินในวอลสตรีตให้ได้อย่างแท้จริง

และนอกจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (เอสอีซี) จะเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในการ “เอาคืน” สถาบันการเงินที่ทำให้ตลาดการเงินพังทลาย และกลายไปสู่วิกฤตการณ์เศรษฐกิจถดถอยไปทั่วโลกนั้น ก็ยังมีภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบเตรียมยื่นฟ้องเช่นกัน ขณะที่รัฐบาลต่างชาติซึ่งต้องใช้เงินภาษีมาอุ้มธนาคารของตนที่เจ๊งจากการลงทุนในวอลสตรีต ก็เตรียมหาช่องทางเอาคืนเหมือนกันด้วย

จำเลยหน้าใหม่ที่อาจถูกขึ้นเขียงเป็นรายต่อไป จึงอาจรวมถึงบรรดาบิ๊กธนาคารทั้งในและนอกสหรัฐเหล่านี้อย่าง เมอร์ริ ล ลินช์ แอนด์ โคซิตี้กรุ๊ป อิงก์ ยูบีเอส และดอยช์แบงก์

“อุตสาหกรรมวอลสตรีตเต็มไปด้วยการลอกเลียนแบบกัน เมื่อมีใครเสนอดีลธุรกิจบางอย่างออกมา ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเห็นการเลียนแบบแพร่สะพัดไปทั่ว” จอห์น คอฟฟี ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวกับเอพี

ในช่วงที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังขยายตัวอย่างสุดขีดก่อนฟองสบู่จะแตกตัวในช่วงปลายปี 2007 นั้น ธนาคารใหญ่หลายต่อหลายแห่งสามารถกอบโกยผลประโยชน์ได้อย่างมหาศาลจากค่าธรรมเนียมการขายธุรกรรมตราสารอนุพันธ์ซีดีโอ (Collateralized Debt Obligations : CDOs) ซึ่งเป็นการลงทุนในอนุพันธ์ที่ผูกติดกับสินทรัพย์ประเภทสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์

เฉพาะกรณีของโกลด์แมน แซคส์ ที่กำลังถูกตั้งข้อหาฉ้อโกง เนื่องจากปกปิดข้อมูลสำคัญกับลูกค้า ซึ่งบางคนอาจมองว่ารู้เห็นเป็นใจกับเฮดจ์ฟันด์นั้น ก็ได้ค่าธรรมเนียมไปถึง 15 ล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบ 500 ล้านบาท) จากธุรกรรมดังกล่าวเพียงฉบับเดียว จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าในยุคทองหลายปีที่อสังหาริมทรัพย์เติบโตอย่างถึงขีดสุดนั้น ธนาคารต่างๆจะได้ผลประโยชน์มหาศาลขนาดไหน

เอพีได้อ้างแหล่งข่าวในอุตสาหกรรมการธนาคารรายหนึ่งว่า ซิตี้กรุ๊ปฯ เมอร์ริลฯ ยูบีเอส และดอยช์แบงก์ เป็น 4 ธนาคารที่มีอัตราการขายอนุพันธ์ซีดีโอได้สูงที่สุด

และธนาคารเหล่านี้ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจตกเป็นจำเลยต่อไปในข้อหาใดข้อหาหนึ่ง ในความผิดเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ภาคการเงินที่เพิ่งผ่านมาเช่นกัน

โรเบิร์ต คูซามี ผู้อำนวยการฝ่ายการบังคับใช้กฎหมายของเอสอีซีสหรัฐ ระบุว่า หน่วยงานของตนกำลังพิจารณาธุรกรรมอื่นๆ ที่คล้ายกับกรณีของโกลด์แมน แซคส์ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่า มีความเป็นไปได้ที่อาจพบปัญหาในธุรกรรมของธนาคารอื่นๆ เช่นเดียวกัน

ขณะที่นิตยสารฟอร์บส์ ระบุว่า เฉพาะในปี 2007 เพียงปีเดียว ซิตี้กรุ๊ป สามารถขายตราสารซีดีโอทั้งหมดถึง 3.26 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.07 ล้านล้านบาท) รองลงมาคือเมอร์ริลฯ ซึ่งปัจจุบันถูกแบงก์ออฟอเมริกาซื้อกิจการไปแล้ว โดยขายได้ 2.96 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 9.7 แสนล้านบาท) ตามมาด้วยธนาคารยูบีเอสจากสวิตเซอร์แลนด์ 1.89 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6.2 แสนล้านบาท)

แดน เดวีส์ นักวิเคราะห์ของธนาคารเครดิต สวิส ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่การฟ้องร้องจะขยายไปยังธนาคารอื่นๆด้วย เนื่องจากปัญหาในลักษณะดังกล่าวมักพบในหลายธนาคารด้วยกัน

และหากเปรียบเทียบกับธุรกรรมของธนาคารอื่นๆ ที่เสี่ยงต่อการถูกตั้งข้อหา และอยู่บนพื้นฐานเดียวกับธุรกรรมชื่อ ABACUS 2007AC1 ของโกลด์แมน แซคส์แล้ว ทั้ง 3 ธนาคารใหญ่ต่างก็มีธุรกรรมที่เข้าข่ายเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น เริ่มตั้งแต่เมอร์ริลฯ กับซีดีโอมูลค่า 9,970 ล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบ 3.3 แสนล้านบาท) ยูบีเอส 8,340 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.7 แสนล้านบาท) และซิตี้กรุ๊ป 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.81 แสนล้านบาท)

ขณะนี้นอกจากรัฐบาลประธานาธิบดี บารัก โอบามา จะเร่งสอบกรณีดังกล่าว ท่ามกลางความพยายามยกเครื่องกฎหมายปฏิรูปภาคการเงินครั้งใหญ่ที่สุดนับ ตั้งแต่ทศวรรษ 1930s บรรดาภาคเอกชนรวมถึงรัฐบาลต่างชาติ ก็กำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเอาคืนสถาบันการเงินเหล่านี้เช่นกัน

ล่าสุดบริษัทประกันรายใหญ่อย่าง อเมริกัน อินเตอร์เนชันนัล กรุ๊ป อิงก์ (เอไอจี) ก็กำลังดูความเป็นไปได้ที่จะตบเท้ายื่นฟ้องโกลด์แมน แซคส์ อีกราย หลังต้องขาดทุนถึงราว 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6.6 หมื่นล้านบาท) ไปกับการค้ำประกันตราสารซีดีโอของโกลด์แมน แซคส์

หลายฝ่ายคงไม่แปลกใจหากเอไอจีจะโดดเข้ามาเล่นด้วย เพราะยักษ์ประกันรายนี้เป็น 1 ในสถาบันการเงินที่เจ็บตัวหนักที่สุดจากช่วงวิกฤตการณ์ซับไพรม์ จนเกือบล้มละลายในปี 2008 ต้องบากหน้าขอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐกว่า 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบ 6 ล้านล้านบาท) และสร้างความเดือดดาลให้ชาวอเมริกันทั่วประเทศมาแล้ว

หากเอไอจีนำร่องเป็นเอกชนที่ยื่นฟ้องสถาบันการเงินในวอลสตรีตจริง งานนี้เชื่อแน่ว่าจะเกิดการยื่นฟ้องแบบเดียวกันตามมาอีกจำนวนมาก ขณะที่มีรายงานว่ารัฐบาลของบางประเทศ อาทิ เยอรมนี ซึ่งต้องใช้เงินภาษีเข้าไปอุ้มภาคการธนาคารของตนเอง ที่เจ็บตัวจากการลงทุนความเสี่ยงสูงเหล่านี้ ก็อาจพิจารณายื่นฟ้องบรรดาสถาบันการเงินที่เป็นต้นเหตุเช่นกัน

และหากนำไปสู่การตั้งข้อหาและสามารถเอาผิดกับธนาคารใหญ่เหล่านี้ ที่เป็นหัวหอกของภาคธนาคารโลกได้ เห็นทีการยกเครื่องอุตสาหกรรมการเงินทั้งในสหรัฐหรือยุโรป ที่เคยมีอิทธิพลอย่างเหลือล้นต่อภาคการเมืองมาตลอด ก็อาจไม่ใช่แค่ฝันลมๆแล้งๆอีกต่อไป

เปิดมหกรรมเอาคืน “วอลสตรีต”
21 เมษายน 2553 เวลา 14:20 น.
โดย ทีมข่าวต่างประเทศ Posttoday

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.