สวัสดีจากดินแดนทิวลิปครับ เนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการเกษตร โดยส่งออกสินค้าเกษตรคิดเป็นมูลค่าสูงเป็นอันดับสามของโลก รองจากสหรัฐฯ และฝรั่งเศส น่าทึ่งไหมครับ สำหรับประเทศที่มีพื้นที่เล็กอย่างนี้
.
พืชพันธุ์ที่เนเธอร์แลนด์ส่งออกเป็นหลัก ได้แก่ ดอกไม้ ไม้ดอกประเภทหัว (bulbs) และไม้ดอกไม้ประดับ โดย 1 ใน 3 ของไม้ดอกไม้ประดับในตลาดโลกมาจากเนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้ ยังมีผัก ผลไม้ด้วย อาทิ มะเขือเทศ พริกสด แตงกวา แอปเปิล ซึ่งเนเธอร์แลนด์เป็นผู้ส่งออกลำดับต้นในตลาดโลก
.
เนเธอร์แลนด์ ปลูกพืชผักจำนวนมากในเรือนกระจก ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เนเธอร์แลนด์บุกเบิกมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 เพื่อให้สามารถปลูกพืชพันธุ์ที่ปลูกไม่ได้ในอากาศเมืองหนาว โดยพื้นที่แถว Westland ของเนเธอร์แลนด์ เป็นถิ่นที่มีการเกษตรแบบเรือนกระจกที่หนาแน่นที่สุดในโลก โดยมีผู้ประกอบการกว่า 9,000 รายที่ปลูกผัก ผลไม้ ดอกไม้และพืชต่างๆ ในเรือนกระจก ใช้แรงงานเพียงราวๆ 150,000 คน แต่ผลิตพืช ผัก ผลไม้มีมูลค่ากว่า 4.5 ล้านยูโรต่อปี ครอบคลุมพื้นที่กว่า 100 ตารางกิโลเมตร โดยกว่า 80% ของผลผลิตส่งออกไปขายต่างประเทศ
.
ที่สำคัญ เนเธอร์แลนด์ ให้ความสำคัญต่อการวิจัยสาขาการเกษตรและชีวเทคโนโลยีโดยอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก และการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งนี้ให้เป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างผลผลิตด้านการเกษตร (ตัวอย่างที่โดดเด่นมากก็คือกรณีของ Food Valley ซึ่งผมได้เคยนำมาเล่าสู่กันฟังแล้วนะครับ)
.
วงการวิชาการเกษตรและผู้ประกอบการดัตช์นั้นไม่เคยอยู่นิ่ง เขาจะพัฒนาพันธุ์พืชอยู่ตลอด จนเกิดผลผลิตใหม่ๆที่มีคุณภาพสูง นำไปใช้เชิงพาณิชย์ได้ และเขาให้ความสำคัญกับการคุ้มครองการลงทุนในส่วนนี้อย่างจริงจัง โดยเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมกำหนดกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์พืช รวมถึงการประกันสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนจากการลงทุนปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ และเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่ใช้ประโยชน์จากระบบการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่อย่างแข็งขัน
.
โดยในสหภาพยุโรป (EU) สัดส่วนการขอจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่จากเนเธอร์แลนด์มีสูงถึง 43% จากการขอจดทะเบียนทั้งหมดของ EU ขณะที่อันดับ 2 และ 3 คือ เยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งล้วนเป็นประเทศขนาดใหญ่กว่ามีประชากรมากกว่าหลายเท่านั้น ขอจดทะเบียนเพียง 18% และ 17% ตามลำดับ
.
สิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ การอุดหนุนจากรัฐ ซึ่งทำอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพสำหรับทุกขั้นตอนของการค้นคว้า ผลิต และจำหน่ายสินค้าเกษตร ซึ่งมีส่วนทำให้ชีวิตของเกษตรกรและผู้ประกอบการดัตช์สบายขึ้นมาก แต่ในขณะเดียวกันก็มีส่วนทำให้ท่าทีการเจรจาการค้าพหุภาคีของสหภาพยุโรปไม่ยืดหยุ่นในเรื่องการลดการอุดหนุนสินค้าเกษตร และเป็นสาเหตุหลักให้การเจรจาการค้ารอบโดฮาชะงักงันอยู่
.
ปัจจัยได้เปรียบอีกประการหนึ่งคือ สาธารณูปโภคด้านโลจิสติกส์ ที่มีประสิทธิภาพสูงของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการส่งออกและนำเข้า(เพื่อไปส่งออกต่อ) สินค้าเกษตรเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้าเน่าเสียได้ (perishables) ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ ไม้ประดับ ผัก ผลไม้และเนื้อสัตว์ โดยเนเธอร์แลนด์มีตลาดประมูลผลผลิตเกษตรหลายแห่ง สามารถกระจายสินค้าถึงผู้บริโภคยุโรปโดยเร็ว
.
โดยเฉพาะสำหรับ ดอกไม้ มีตลาดประมูลที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีดอกไม้ที่เดินทางจากที่ต่างๆทั่วโลกมาถึงเนเธอร์แลนด์ เพื่อเข้ารับการประมูล โดยต่อรองตกลงราคาในตอนเช้าและจัดส่งให้ลูกค้าที่นิวยอร์กได้ภายในเย็นวันเดียวกัน หรือส่งไปขายที่โตเกียวในเช้าวันรุ่งขึ้นได้อย่างสบาย นอกจากนี้ ยังมีท่าเรือ รอตเตอร์ดัม ซึ่งใหญ่ที่สุดในยุโรป สามารถขนถ่ายสินค้าต่อไปยังผู้บริโภค 500 ล้านคนทั่วยุโรปได้ด้วยความรวดเร็ว ทั้งทางถนน ระบบรางและทางน้ำ
.
เนเธอร์แลนด์เป็นชาติค้าขายเก่าแก่ และการค้าด้านเกษตรของเขาก็ได้พัฒนามาจนเรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบแล้วในวันนี้ ทั้งศึกษาวิจัย พัฒนาพันธุ์ ปลูก นำเข้า ส่งออก จัดจำหน่าย ขายส่ง/ปลีก ทำได้หมด เก่งเสียด้วย แม้รัฐบาลไทยจะไม่มีงบประมาณอุดหนุนได้แบบเขา แต่ก็เป็นตัวอย่างที่ประเทศเกษตรอย่างเราน่าศึกษานะครับ
.
โดย ดร.วีรชัย พลาศรัย
.
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2,587
.
28 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม พ.ศ.2553