คนที่จะเป็น “เซียน” ในวิถีทางแบบ Value Investment นั้น ดูเหมือนว่าจะต้องเป็นนักอ่านตัวยง วอเร็น บัฟเฟตต์ เป็นตัวอย่างที่สำคัญ เพราะเขาอ่านหนังสือมากมายมหาศาลและเป็นคนที่อ่านได้เร็วมาก
นอกจากหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนโดยตรงแล้ว ผมเชื่อว่าเขาอ่านหนังสืออื่นๆอีกมาก เพราะถ้าจำไม่ผิด เขาเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนาการชื่อดังอย่าง The Selfish Gene ของ Richard Dawkins เช่นเดียวกัน ชาลี มังเกอร์ เพื่อนซี้และหุ้นส่วนของ วอเร็น บัฟเฟตต์ เอง ก็อ่านหนังสือหลากหลาย และน่าจะมากกว่าบัฟเฟตต์
ในแง่ของความหลากหลายทางวิชาการอื่นๆ เขาบอกว่าการลงทุนนั้น คุณต้องอาศัยความรอบรู้รอบด้านมากกว่าความรู้ที่เจาะจงเฉพาะอย่าง
การอ่านหนังสือมากนั้น ผมคิดว่าไม่พอที่จะทำให้เราเป็นนักลงทุนที่ดี การอ่านที่ได้ประโยชน์และได้ความรู้ที่ถูกต้องแท้จริงต่างหากที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น การเลือกอ่านหรือเลือกที่จะเชื่อหรือยอมรับในสิ่งที่เราอ่าน จะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เราเก่งขึ้น รอบรู้ขึ้น
การอ่านในสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่จริงนั้น ถ้าดีหน่อยก็ทำให้เราเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ แต่ถ้าแย่ก็คือ ทำให้เราเสียหาย ขาดทุน และรู้น้อยลง เปรียบไปก็เหมือนกับการที่สมองเรานั้น แทนที่จะได้ “อาหาร” ก็กลายเป็นได้ “ขยะ” หรือได้ “ยาพิษ”
และต่อไปนี้ก็คือข่าวสารข้อมูลบางส่วน ที่ผมคิดว่าเราควรใส่ใจมากน้อยแค่ไหน และเราควรเชื่อหรือไม่ เอาเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับหุ้นและการลงทุนโดยตรง
ข้อมูลข่าวสารเรื่องแรกที่เรามักพบเจอเป็นประจำก็คือ การคาดการณ์ภาวะตลาดหุ้นหรือดัชนีหุ้นในปีนี้หรือปีหน้า สำหรับผม นี่เป็น “ขยะ” เพราะการคาดการณ์ตลาดหุ้นอย่างถูกต้องหรือใกล้เคียงนั้น เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะมีใครทำได้ดูจากสถิติที่ผ่านมา
เหตุผลก็คือ ภาวะตลาดหุ้นนั้นขึ้นอยู่กับเหตุการณ์มากมายที่จะเกิดขึ้นในประเทศและในโลก เหตุการณ์เหล่านั้นมักจะเกิดขึ้นโดย “ไม่คาดฝัน” ดังนั้น ภาวะตลาดหุ้นก็มักจะเป็นไปอย่าง “ไม่คาดฝัน” ก็ใครจะไปคิดว่าปี 2552 ที่ทุกคนคิดว่าจะเป็นปี “เผาจริง” ของภาวะเศรษฐกิจโลกและไทยนั้น จะกลายเป็น “ปีทอง” ที่ทำให้ตลาดหุ้นคึกคักกันทั่วโลก
ด้วยเหตุผลดังกล่าว เวลาฟังใครคาดการณ์เกี่ยวกับดัชนีตลาดในปีนี้หรือปีหน้า อย่าไปคิดจริงจังอะไร พวกเขาต้องคาดเพราะมีคนจำนวนมากอยากฟังเท่านั้น ไม่ได้แตกต่างอะไรกับ ‘หมอดู’ ที่ต้องตอบคำถามของคนที่กำลังสับสนและกังวลกับชีวิตในอนาคตของตนเอง
เรื่องของ “Dr. Doom” หรือคนที่มาบอกว่า “โลกกำลังจะแตก” ประเทศไทยกำลังวิบัติ เกิด “กลียุค” ถึงกับล่มสลาย เหล่านี้ ฟังแล้วก็อย่าไปเชื่อหรือกังวล เพราะหลายคนที่พูดนั้นก็พูดกันเกือบทุกปี ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลอะไร
ความจริงก็คือโอกาสที่จะเกิดนั้นน่าจะต่ำมาก เช่นเท่ากับโอกาสที่เราจะเดินออกนอกบ้านแล้วถูกฟ้าผ่าตาย ถ้าเราก็ยังเดินออกนอกบ้านทุกวัน ผมก็ไม่เห็นเหตุผลอะไรที่จะยังลงทุนในตลาดหุ้นเป็นปกติ
จำไว้ว่า “ดร. ดูม” นั้นมีอยู่ทุกประเทศ และก็แน่นอนว่่า นานๆทีก็จะมี ดร. ดูม ที่พยากรณ์ถูกต้อง ก็คงเป็นอย่างที่พูดกันว่า ‘แม้แต่นาฬิกาตายก็ยังบอกเวลาได้ถูกต้องวันละหนึ่งครั้ง’ ดังนั้น อย่าสนใจการพยากรณ์แบบ ดร. ดูม ถ้าไม่แน่ใจในอารมณ์ของตัวเองก็อย่าไปอ่าน เพราะมันเป็น “ขยะข่าวสาร”
เรื่องของเท็คนิคใหม่ๆในการลงทุนที่จะทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยม นี่ก็เป็นข้อมูลข่าวสารที่มีการเสนอออกมามากมาย ส่วนใหญ่ที่เห็นก็เป็นเรื่องของประสบการณ์ของเจ้าตัวที่อ้างว่าสามารถทำกำไรได้งดงามจากเท็คนิคที่ “ค้นพบเอง” เท็คนิคเหล่านั้นเกือบทั้งหมดมักจะไม่มีเหตุผลที่เข้มข้นรองรับ แต่ชื่อที่ใช้เรียกก็มักจะน่าประทับใจชวนให้คิดว่าเป็นเทคนิคที่ตอบโจทย์ที่คนหลายคนกำลังแสวงหาคำตอบอยู่
สำหรับผมแล้ว เท็คนิคใหม่ๆแปลกๆนั้น เกือบทั้งหมดก็เป็น “ขยะ” มีคนเคยถาม วอเร็น บัฟเฟตต์ ว่ามีเท็คนิคอะไรพิเศษจึงสามารถสร้างผลงานสุดยอด เขาบอกว่า “เท็คนิคก็เป็นเรื่องเก่าที่มีคนอื่น โดยเฉพาะ เบน เกรแฮม ได้คิดไว้แล้วทั้งนั้น ไม่มีอะไรใหม่ เขาเพียงแต่เอามันมาใช้ได้อย่างถูกต้องเท่านั้น”
ข้อมูลอีกเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่าต้องระวังเวลาอ่านก็คือ เรื่องของ ผลการลงทุนของ “เซียน” หรือบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ถ้าเป็นเรื่องของการศึกษาทางวิชาการจริงๆ มีตัวเลขข้อมูลที่สนับสนุนชัดเจน เช่น ผลการลงทุนของกองทุนรวมที่มีข้อมูลเปิดเผยและเป็นตัวเลขจริง ข้อมูลของบริษัทอย่าง เบิร์กไชร์ ของ วอเร็น บัฟเฟตต์ หรือการศึกษาทางวิชาการเปรียบเทียบผลตอบแทนของกลยุทธ์แบบ Value กับ Growth ที่มีเกณฑ์แน่นอนและทำอย่างมาตรฐาน แบบนี้เราก็พอเชื่อถือได้
แต่การ “อ้าง” ว่าได้ผลตอบแทนเท่านั้นเท่านี้ โดยไม่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้สนับสนุน หรือการทำโพลทางอินเตอร์เน็ตนั้น ผมคิดว่าผลลัพธ์ที่ได้ไม่น่าเชื่อถือ
เหตุผลก็คือ มันจะมี Bias หรือความลำเอียง นั่นก็คือ คนที่ได้ผลตอบแทนดี ก็จะมาตอบแบบสอบถามมากกว่าคนที่มีผลงานแย่ คนบางคนก็บอกผลตอบแทนที่อาจจะไม่จริง แต่มีแนวโน้มไปในทางสูง เพื่อที่จะแสดงว่าตนเองมีความสามารถสูง ซึ่งก็เป็นเรื่องของแรงจูงใจของมนุษย์ทุกคน
ดังนั้น เมื่ออ่านข้อมูลเหล่านั้น อย่าไปเชื่อ พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงสงครามเวียตนาม ที่ทหารสหรัฐและเวียดนามต่างก็คุยว่าสังหารศัตรูได้มากมายในการรบทุกครั้ง แต่มีคนให้ข้อสังเกตว่าถ้าเป็นจริงตามที่ว่า กองทัพเวียดนามและอเมริกาคงหมดไปนานแล้ว
สุดท้ายก็คือ ข้อมูลหุ้นรายตัวพร้อมการวิเคราะห์ นี่คือข้อมูลที่มองภายนอกนั้นคือ “อาหาร” แน่ เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของข้อมูลตัวเลขที่เป็นจริง พร้อมการวิเคราะห์ตามข้อมูลที่มีอยู่ ดังนั้น คนที่อ่านข่าวสารข้อมูลก็น่าจะได้ความรู้เกี่ยวกับบริษัท ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรที่จะเสียหายหรือเสียเวลาได้
อย่างไรก็ตาม เราก็ควรพิจารณาแรงจูงใจของคนที่นำเสนอข้อมูลนั้นด้วย เพราะคงไม่มีใครยอมเสียเวลานำเสนอข้อมูลให้คนอื่นโดยไม่ได้อะไรตอบแทน
ดังนั้น เมื่ออ่านข้อมูลแล้วก็ต้องคิดด้วยตนเองว่า ข้อมูลที่ปรากฏนั้นสมเหตุผลหรือไม่ ราคาหุ้นที่เห็นนั้นคุ้มค่าหรือไม่ ที่สำคัญมีปัจจัยอะไรอื่นไหมที่ทำให้ราคาหุ้นไม่สะท้อนพื้นฐานของกิจการ ทำให้หุ้นมีราคาต่ำกว่าที่ควรเป็น
มิฉะนั้น การใช้ข้อมูลที่รับมาลงทุน อาจจะกลายเป็นกับดัก สิ่งที่เราคิดว่าเป็นอาหาร อาจจะกลายเป็น “เหยื่อล่อ” ที่ทำให้เรา “ติดกับ” หรือขาดทุนได้
อาหารหรือขยะ
โลกในมุมมองของ Value Investor
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
10 มกราคม 2553