นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ส่วนมากจะเน้นที่การวิเคราะห์ทางการเงินและมองระยะสั้น ๆ ดูว่าไตรมาสหน้า หรือถึงสิ้นปีกำไรของบริษัทจะเป็นอย่างไร บางครั้งก็คาดการณ์ผลกำไรข้ามไปอีกปีหนึ่งเพื่อที่จะให้เห็นการเจริญเติบโตของกำไรของกิจการ แล้วก็เปรียบเทียบกับราคาหุ้น หาค่าความถูกความแพงแล้วก็สรุปว่าควรจะซื้อ ขาย หรือถือหุ้นไว้เฉยๆ
วิธีการวิเคราะห์แบบนั้นไม่มีอะไรที่ผิดเพียงแต่ผมเห็นว่าไม่เพียงพอสำหรับการลงทุนแบบ Value Investment ซึ่งนอกจากเน้นการลงทุนระยะยาวแล้ว ยังคำนึงถึงความแน่นอนและมั่นคงของกำไรที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งระยะสั้นและระยะยาว
การที่กำไรจะมีความมั่งคงต่อเนื่องยาวนานได้นั้นบริษัทจะต้องมีความเข้มแข็ง มีความสามารถในการแข่งขันสูงและอยู่ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจซึ่งเอื้ออำนวยให้บริษัททำกำไรแบบนั้นได้ง่าย ดังนั้นการวิเคราะห์หุ้นของ Value Investor จึงต้องมองลงไปถึงโครงสร้างการแข่งขันของอุตสาหกรรมและกลยุทธ์หรือตำแหน่งทางธุรกิจของบริษัทด้วย และคนที่คิดวิธีวิเคราะห์ได้ดีที่สุดผมคิดว่าไม่มีใครเกินศาสตราจารย์ ไมเคิล อี. พอร์ตเตอร์ ปรมาจารย์ด้านกลยุทธ์การแข่งขัน
หนังสือเรื่องกลยุทธ์ในการแข่งขันของพอร์ตเตอร์ บอกว่า การที่จะดูว่าอุตสาหกรรมไหนจะมีการแข่งขันมากน้อยเพียงใดซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถหรือศักยภาพในการทำกำไรของธุรกิจ จะต้องพิจารณาถึงพลังผลักดัน 5 ประการ หัวใจของพลังข้อนี้ก็คือถ้าธุรกิจนั้นเป็นอุตสาหกรรมที่ใครๆ ก็เข้ามาขายสินค้าแข่งได้ง่าย โอกาสที่ราคาขายจะลดลงก็มีสูง และการทำกำไรดีต่อเนื่องก็ทำได้ยากขึ้น
พลังแรกก็คือ การคุกคามจากบริษัทหน้าใหม่ที่เข้ามาขายสินค้าหรือบริการแข่งกับผู้เล่นเดิมในอุตสาหกรรม
ในฐานะของนักลงทุน เราไม่อยากให้คนอื่นเข้ามาแข่งมากๆ กับบริษัทที่เราถือหุ้นเพราะจะทำให้กำไรของบริษัทลดลง ดังนั้นธุรกิจที่ดีก็คือธุรกิจที่มีขวากหนามสกัดกั้นการบุกรุกของคู่แข่งหน้าใหม่ เช่น เป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนมากหรือมีข้อจำกัดทางวัตถุดิบ เช่น ธุรกิจปูนซีเมนต์หรือเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยภาพพจน์และความภักดีของลูกค้าในการขายสินค้ามากๆ เช่น ธุรกิจบะหมี่สำเร็จรูป
นอกจากขวากหนามที่เกิดจากธรรมชาติของอุตสาหกรรมแล้วก็ยังมีขวากหนามที่เกิดจากรัฐอันได้แก่สัมปทานและใบอนุญาตต่าง ๆ ที่จะสามารถป้องกันไม่ให้คนอื่นเข้ามาแข่งในอุตสาหกรรมได้ เช่น ธุรกิจหลักทรัพย์ นี่เป็นข้อหนึ่งที่ยังไม่เพียงพอที่จะบอกว่าหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมลักษณะนี้จะดีเสมอไป
พลังที่สองก็คือภาวะการแข่งขันภายในอุตสาหกรรม เพราะถึงแม้ว่าจะจำกัดไม่ให้มีรายใหม่เข้ามาในอุตสาหกรรม แต่ถ้าภายในอุตสาหกรรมเองมีผู้เล่นมากมายและมีการแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายโดยเฉพาะ แข่งกันในด้านของราคา เช่นธุรกิจหลักทรัพย์ในช่วงหนึ่ง การที่จะทำกำไรได้ดีในระยะยาวก็เป็นไปได้ยาก
Value Investor อยากลงทุนในธุรกิจที่มีผู้ให้บริการน้อย และการแข่งขันถ้าจะรุนแรงก็ขอให้เป็นการแข่งขันในด้านอื่น เช่น แข่งกันในด้านของบริการหรือการโฆษณาสร้างภาพพจน์ เช่น ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มบางประเภท ไม่ใช่แข่งขันกันลดราคาขายซึ่งจะกระทบกับผลกำไรของกิจการ แต่พลังทั้งสองก็ยังไม่เพียงพอที่จะบอกว่าอุตสาหกรรมนั้นดีแน่
พลังที่สามก็คือ สินค้าทดแทนเพราะแม้ว่าจะจำกัดผู้เล่นรายใหม่ได้ และผู้เล่นเดิมในอุตสาหกรรมก็ไม่มากและการแข่งขันก็ไม่สูง แต่ถ้าสินค้าที่ขายอยู่นั้นมีสินค้าทดแทนกันได้มาก เช่น ธุรกิจเครื่องดื่มทั้งหลายตั้งแต่น้ำผลไม้ น้ำอัดลม และน้ำอื่น ๆ อีกสารพัด ซึ่งต่างก็พอทดแทนกันได้ในกรณีที่สินค้าประเภทหนึ่งปรับราคาขึ้นไป ผู้บริโภคก็อาจจะเปลี่ยนไปบริโภคน้ำอย่างอื่นแทนได้
ในฐานะของ Value Investor เราอยากลงทุนในอุตสาหกรรมซึ่งหาสินค้ามาทดแทนใกล้เคียงได้น้อย คู่แข่งขันมีน้อยและคนอื่นจะเข้ามาแข่งได้ยาก นึกไปแล้วอุตสาหกรรมที่เข้าข่ายนี้ที่ชัดเจนที่สุดก็ดูเหมือนจะเป็นปูนซีเมนต์ แต่ก่อนจะซื้อดูที่ราคาหุ้นก่อนนะครับ
พลังสำคัญที่สี่ก็คือ อำนาจต่อรองของผู้ซื้อ นั่นก็คือสินค้าที่ขายนั้น ขายให้กับใคร ถ้าเป็นการขายให้กับผู้ซื้อรายใหญ่ที่เขามีช่องทางที่จะซื้อจากรายอื่นได้มาก เช่น เขาเป็นเจ้าของยี่ห้อรองเท้าชื่อดังของโลกที่มาสั่งซื้อสินค้าจากบริษัท แบบนี้เขามีอำนาจต่อรองราคากับบริษัทได้มหาศาล โอกาสที่กิจการจะกำไรมากก็เป็นไปได้ยาก
ตรงกันข้าม ถ้าบริษัทขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขายให้กับคนเป็นล้านๆ คน อำนาจต่อรองของผู้ซื้อก็ไม่มี ธุรกิจแบบนี้จะมีโอกาสรักษากำไรได้ดีกว่าธุรกิจที่บริษัทเป็นเบี้ยล่างผู้ซื้ออย่างแน่นอน
พลังข้อสุดท้ายก็คืออำนาจต่อรองของผู้ป้อนวัตถุดิบหรือผู้ขายผลิตภัณฑ์ให้แก่บริษัท หลักก็คือถ้าเขามีอำนาจต่อรองสูง เช่น สินค้าของเขาเป็นที่ต้องการและมีผู้ขายน้อย บริษัทก็อยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ
ในทางตรงกันข้ามถ้าบริษัทเป็นกิจการขนาดใหญ่ที่ซื้อสินค้ามากและมีผู้ขายวัตถุดิบหรือสินค้ามากราย จะทำให้ผู้ขายไม่มีอำนาจต่อรองและถือว่าเป็นข้อดีของบริษัทที่จะนำไปประกอบกับการวิเคราะห์พลังในข้ออื่น ๆ อีก 4 ข้อ
จบจากการวิเคราะห์ในภาพของอุตสาหกรรมแล้ว พอร์ตเตอร์ บอกว่ากลยุทธ์ที่บริษัทจะใช้เพื่อให้สามารถแข่งขันได้และมีกำไรดีกว่าคนอื่นมี 3 ทางก็คือ บริษัทจะต้องเป็นผู้นำทางด้านต้นทุน หรือไม่ก็ต้องสร้างความแตกต่างให้เกิดกับสินค้าของตน หรือถ้าทำไม่ได้ทั้งสองทางก็ต้องจำกัดขอบเขตของตนคือ FOCUS หรือเน้นเฉพาะสินค้าบางอย่างหรือลูกค้าบางกลุ่ม
หน้าที่ของ Value Investor เราคงไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยในการคิดหรือนำพาให้บริษัทไปอยู่ตรงจุดที่เป็นผู้นำทางด้านต้นทุนหรือเป็นผู้นำในด้านความโดดเด่นของสินค้า เราเพียงแต่ต้องไปเลือกดูว่าอุตสาหกรรมแต่ละอย่าง มีโครงสร้างการแข่งขันอย่างไร ถ้าหลังจากวิเคราะห์แล้วโครงสร้างเอื้ออำนวย เราก็ดูต่อว่าบริษัทไหนเป็นผู้นำด้านต้นทุน หรือเป็นผู้นำในด้านของความโดดเด่นของสินค้า หรือ เป็นบริษัทที่มุ่งเน้นที่จุดเล็ก ๆ ของอุตสาหกรรมและทำได้ดี เราก็พิจารณาถึงคุณภาพของบริษัทได้
ทั้งหมดนั้นคือการวิเคราะห์ศักยภาพของธุรกิจที่จะต้องทำควบคู่กับการวิเคราะห์การเงิน และท้ายที่สุดก็คือต้องมาดูว่าราคาหุ้นของบริษัทถูกหรือแพงแค่ไหน ถ้าทุกอย่างถูกต้องหมด แต่ผิดที่ราคาหุ้น โอกาสก็คือความล้มเหลว
มันคงเหมือนกับการแสดงการบินผาดโผนที่นักบินทำได้ดีเยี่ยมทุกขั้นตอนยกเว้นตอนขาลงที่เอาหัวเครื่องลงก่อนล้อครับ
ขออนุญาต เอาหน้านี้ ไปแบ่งปันนะครับ