พี่ใช้หลักอะไรในการเลือกหุ้นซักตัวครับ?
– สมัยก่อนผมจะดูความถูกแพงของหุ้นก่อน เช่น p/e และ p/bv แล้วค่อยมาดูชื่อบริษัทว่าทำอะไร อยู่ในธุรกิจอะไร ปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนมาดูประเภทธุรกิจ ชื่อบริษัทก่อน แล้วค่อยมาดูความถูกแพงครับ ก็คือระยะหลังๆผมจะให้น้ำหนักปัจจัยด้านคุณภาพมากกว่าปัจจัยด้านปริมาณ
ปัจจัยคุณภาพที่ผมดู ก็มีหลายอย่างครับ เช่น
1. ธุรกิจที่บริษัทนั้นๆทำอยู่
ก็คงดูการลักษณะของธุรกิจและการเติบโตในระยะยาวๆ หลักๆผมจะดูว่า ตลาดหรือธุรกิจนั้นๆ อยู่ในระยะไหนของการเติบโต โตเร็ว ปานกลาง หรือช้า หรือถดถอย ยกตัวอย่าง หากผมมองว่าการอ่านหนังสือ หรือการใช้คอมพิวเตอร์ของคนไทยยังต่ำและโตได้อีกมาก ผมก็จะเริ่มมองหุ้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้นๆ และหากผมมองว่าแนวโน้มคนจะนิยมซื้อสินค้าที่เป็นร้าน modern trade มากขึ้นเรื่อยๆ ผมก็มาดูหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ modern trade บางครั้งก็จับทั้งคู่มาผสมกันได้ เช่น อาจจะดูหุ้นที่เป็น modern trade ที่ทำธุรกิจ IT หรือ modern trade ที่ขายหนังสือ หรือผมมองว่า อนาคตประชากรจะป่วยง่ายแต่ตายช้าลง เพราะคนเราทำงานหนักขึ้นเครียดขึ้น เป็นโรคต่างๆกันมากขึ้น เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน แต่คุณภาพการรักษาพยาบาลดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยแม้ไม่หายขาดแต่ก็จะยืดอายุได้นาน อีกทั้งแนวโน้มคนแก่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่ากลุ่ม รพ. น่าสนใจ หรือผมมองว่า คนไทยยังทำประกันชีวิตในสัดส่วนน้อย ผมก็จะมองว่าหุ้นที่ทำประกันชีวิตน่าสนใจ
ธุรกิจไหนที่อยู่ติดกับลูกค้ารายย่อยๆจำนวนมาก ก็จะมีอำนาจการต่อรองสูงกว่า และหากรับค่าสินค้าและบริการเป็นเงินสด ก็ถือว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจมากๆในยุคปัจจุบันครับ
ส่วนระยะเวลาหรือ time frame ที่ผมมองระยะหลังๆ ผมจะมองไป 5-10 ปีเลย เพราะผมเชื่อว่าหุ้นดีราคาถูกเริ่มหายาก ดังนั้นเราควรหาหุ้นที่จะถือได้ยาวๆเลย จะได้ไม่ต้องคอยหาหุ้นใหม่ๆ
กลุ่มที่ผมคิดว่าไม่น่าสนใจก็มี เช่น หุ้นที่ผมมองว่าอำนาจการต่อรองมักจะเป็นของผู้ซื้อ ซึ่งมักจะเป็นผู้ซื้อที่มีขนาดบริษัทที่ใหญ่กว่าผู้ขาย เช่น ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ หรือบรรจุภัณฑ์ ผมมองว่าหุ้นเหล่านี้มีอำนาจต่อรองต่ำ และเวลาขายต้องให้เครดิตลูกค้านานๆ ทำให้กระแสเงินสดไม่ดีและเสี่ยงกับหนี้สูญ ระยะหลังๆผมจะไม่สนใจหุ้นกลุ่มดังกล่าว
2. สถานภาพการแข่งขันของบริษัทนั้นๆในธุรกิจ
ผมมักจะเลือกหุ้นที่มี market share อันดับต้นๆ หากไม่ได้เป็นอันดับต้นๆของตลาดรวม ก็ควรจะเป็นอันดับต้นๆใน segment ที่ตนเองอยู่ เพราะตลาดๆหนึ่งก็สามารถแบ่งได้เป็นหลายๆ segment เพราะการเป็นผู้นำตลาดย่อมพิสูจน์ได้ว่าผู้บริหารน่าจะมีความสามารถเพียงพอในระดับหนึ่ง นอกจากนี้การเป็นผู้นำตลาด ย่อมทำให้บริษัทนั้นๆมีอำนาจต่อรองกับลูกค้าและ supplier ที่สูงกว่า และมักจะแสดงถึง brand name ที่แข็งแกร่งกว่า
อย่างไรก็ตามให้ระวังเรื่อง mkt share หากมากเกินไปอาจจะจำกัดการเติบโตได้ เช่น หากตลาดโตน้อย คือปีละ 5% และหุ้นที่เราดูมี mkt share 60% ก็หมายความว่าหุ้นตัวนั้นมีการเติบโตจำกัด เพราะการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดมากกว่านี้อีกได้ไม่เท่าไหร่ และมีโอกาสที่เสีย mkt share หากมีการแข่งขันมากขึ้น แต่หาก mkt share 60% แต่ตลาดโตสูงมาก เช่น 20-30% หุ้นดังกล่าวจะกลายเป็นตรงกันข้ามคือเป็นหุ้นที่น่าสนใจมาก เพราะการมี mkt share สูงมากทำให้มีความได้เปรียบคู่แข่งอย่างมาก ดังนั้นแค่โตตามตลาดก็เพียงพอแล้ว
3. ดูความยากง่ายของการเข้ามาทำธุรกิจ
บางจุดเวลา เราอาจจะเจอหุ้นที่ผ่านลักษณะที่ 1 และ 2 ในเวลาเดียวกัน แต่บังเอิญธุรกิจดังกล่าวมีการเข้ามาแข่งขันจากผู้ประกอบการรายใหม่ได้ง่าย ก็จะทำให้ธุรกิจนั้นๆแทบจะไม่เหลือความน่าสนใจเลย เพราะการที่ผู้ประกอบการเข้ามาใหม่ได้ง่าย ทำให้แม้ว่าธุรกิจนั้นๆจะมีแนวโน้มการเติบโตสูง แต่พอการแข่งขันเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของผู้ประกอบการรายเดิมลดลง และการแข่งขันที่รุนแรงมักจะทำให้ margin ของธุรกิจลดลงด้วย ดังนั้น หุ้นที่ผ่านลักษณะที่ 1 และ 2 แต่ไม่ผ่าน 3 ก็อาจจะต้องเป็นหุ้นระยะสั้นถึงกลางๆมากกว่าระยะยาว ยกตัวอย่างเช่น LH ผ่านข้อ 1 และ 2 แต่ไม่ผ่าน 3 ดังนั้นถึงจุดหนึ่งหุ้น LH จะเริ่มไม่ perform ดังเช่นเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา
ดังนั้น หากเราเจอหุ้นที่ธุรกิจมีการเติบโตสูง และมี gross margin สูงมาก และรู้สึกว่าคู่แข่งเข้ามาได้ไม่ยาก ให้ระวังว่าหุ้นเหล่านี้จะเป็นหุ้นที่จะมีกำไรลดลงได้มากในปีต่อๆไป ยกตัวอย่างเช่นหุ้น GMMM และหุ้น Q-CON โดยเฉพาะหุ้น GMMM เป็นหุ้นที่สอนให้ผมถึงบทเรียนดังกล่าว เพราะธุรกิจวิทยุมี GMMM เป็นผู้นำตลาด แต่พอรายใหม่ๆเข้ามาแข่งขันก็ทำให้ตลาดเป็นการแข่งขันสูง และ margin ลดลงอย่างรวดเร็ว
ดังนั้น การที่จะดูว่าธุรกิจไหนมีการเข้าใหม่ยากง่ายแค่ไหน เราคงจะต้องดูจากตัวเราเอง คือลองสมมุติให้เรามีเงินที่มากพอ แล้วให้ลองศึกษาดูว่าการทำธุรกิจที่เราสนใจนั้นๆยากง่ายแค่ไหน ทั้งในด้านการหาพนักงาน การหาเทคโนโลยีการผลิต การสร้าง brand การหาลูกค้า ฯลฯ ถ้ารู้สึกว่าไม่ยากเกินไป หุ้นที่เราดูอยู่อาจจะไม่น่าสนใจเท่าไรนักครับ
4. ธุรกิจที่ลงทุนควรจะเป็นธุรกิจที่จับต้องได้ง่าย อยู่ในชีวิตประจำวัน
ผมเชื่อว่าหากเราซื้อหุ้นที่มีสินค้าและบริการที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรานั้น ทำให้เราไม่จำเป็นต้องใช้เวลามากในการติดตามหาข้อมูลครับ เพราะมันจะอยู่รอบๆตัวเราหมดเลย ดังนั้น เราสามารถรับรู้ว่าบริษัทที่เราลงทุนมีแนวโน้มดีหรือแย่ได้จากการสังเกตในชีวิตประจำวันของเรา ผมเชื่อว่าสมัยก่อนตอนที่ VI ยังไม่ boom การรองบออกแล้วค่อยตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นตัวหนึ่งๆ น่าจะยังเป็นสิ่งที่ไม่ช้าเกินไป แต่ปัจจุบันผมเชื่อว่าเราควรจะซื้อหุ้นที่คาดว่างบจะออกมาดี และขายหากคิดว่างบจะออกมาไม่ดี ดังนั้นหากเป็นธุรกิจที่จับต้องยาก เราจะรู้ว่างบดีหรือไม่ดีพร้อมกับคนอื่นๆ คือวันที่ประกาศงบออกมา ซึ่งผมคิดว่าไม่เพียงพอแล้วสำหรับการลงทุนแบบปัจจุบันที่มี VI อยู่จำนวนมากมาย
5. ผู้บริหาร
ที่คุยมา 4 ข้อหากข้อ 5ไม่ผ่านก็โยนสิ่งที่เราศึกษามานั้นทิ้งไปเลยครับ แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่ได้คาดหวังว่าผู้บริหารบริษัทที่ต้องมีคุณธรรม จริยธรรมสูงส่งเพราะบางทีก็หายากเหมือนกัน และคนที่พยายามจะหาผู้บริหารหรือผู้นำที่เป็นเช่นนั้นผมว่าก็อาจจะทำให้เกิดความทุกข์เช่นกัน ผมชอบผู้บริหารที่เข้าใจกลไกตลาดทุน ก็คือ หากบริษัทกำไรดีขึ้น ราคาหุ้นก็จะขึ้น ผู้บริหารก็จะได้ประโยชน์จากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นเช่นกันเพราะทำให้มูลค่าในส่วนที่ตนเองถือหุ้นเพิ่มขึ้นเช่นกัน หรือหากถือหุ้นน้อยหรือไม่ถือหุ้นก็น่าจะมีโบนัสหรือได้ขึ้นเงินเดือน ดังนั้นผู้บริหารที่ดีในสายตาผม ก็คือผู้บริหารที่พยายาม maximize shareholder value ก็คือพยายามที่จะสร้างมูลค่าที่สูงที่สุดให้กับหุ้นตัวเอง แต่มีข้อแม้ว่าจะไม่เบียดบังสังคมเกินไป เช่น หากมีประวัติปล่อยน้ำเสีย ของเสีย หรือเอาเปรียบแรงงาน ผมก็คงไม่ลงทุนครับ
หากผู้บริหารโดยเฉพาะผู้บริหารที่เป็นเจ้าของ เข้าใจเรื่องตลาดทุน จะเข้าใจว่าการปล่อยให้กำไรอยู่ในบริษัท เมื่อมีกำไรเพิ่มขึ้น 100 ล้าน หากหุ้นดังกล่าวมี p/e 10 เท่า มูลค่าหุ้นก็จะเพิ่ม 1000 ล้าน หากผู้บริหารถือหุ้น 30% ก็เท่ากับว่าจะรวยขึ้น 300 ล้าน แต่หากเทียบกับว่าผู้บริหารดังกล่าวนำเงินออกจากบริษัทไป 100 ล้านเข้ากระเป๋าตัวเอง เค้าจะได้เงินไปแค่ 100 ล้านเท่านั้น
ดังนั้น ผมจะตัดบริษัทที่ผู้บริหารมีประวัติไม่ดี และบริษัทที่เคยมีรายการระหว่างกันที่เป็นการผ่องถ่ายเงินจากบริษัทจดทะเบียนเข้าส่วนตัว หรือเข้าบริษัทที่ผู้บริหารมีส่วนได้ส่วนเสียครับ
ส่วนข้อมูลดังกล่าวอาจจะถามว่าผมหามาได้ยังไง คำตอบคือ ก็คงต้องใช้การอ่านหนังสือพิมพ์มากๆ และสะสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆครับ ในระยะแรกๆที่ผมประสบการณ์น้อย ผมจะไปศูนย์ข้อมูลมติชน อยู่ที่ บ. มติชน ประชานิเวศน์ ครับ ไปขอค้นข่าวเกี่ยวกับบริษัทที่ผมสนใจย้อนหลัง 10 ปีเพื่อดูว่าผู้บริหารเคยให้สัมภาษณ์หรือเคยให้ข่าวอะไรบ้าง รวมทั้งบริษัทนั้นๆ เคยมีประวัติอะไรไม่ดีหรือไม่ครับ ก็ถือว่าสะดวกดีครับ เสียค่าค้นไม่กี่บาทครับหากเทียบกับกำไรหรือขาดทุนที่อาจจะเกิดขึ้นครับ
เมื่อใช้การกรองหุ้นข้อ 1-5 ออกมาแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะลงทุนได้ทันทีนะครับ เพราะมันเป็นการกรองหุ้นจำนวนหนึ่งออกมา สิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือ การวิเคราะห์เชิงลึก สิ่งที่ควรทำก็คือการอ่าน 56-1 รายงานประจำปี และเริ่มหาข้อมูลในด้านต่างๆของบริษัท โดยการสำรวจ ลองใช้สินค้าและบริการของหุ้นที่เราสนใจ รวมไปถึงใช้ของคู่แข่งด้วยเพื่อเปรียบเทียบ นอกจากนี้ ยังต้องหาข้อมูลอื่นๆอีกมาก เช่น ถามความเห็นของเพื่อนหรือคนที่ใช้สินค้าและบริการทั้งของหุ้นที่เราสนใจและคู่แข่ง นอกจากนี้หากเป็นไปได้ ควรจะถามความเห็นของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ถ้าสามารถหาได้ เช่น พนักงาน คู่แข่ง supplier ลูกค้า โดยข้อมูลต่างๆที่ได้รับ ก็เพื่อนำมาสรุปว่าปัจจุบันบริษัทมีความได้เปรียบเสียเปรียบกับคู่แข่งอย่างไร และเพื่อให้พอมองแนวโน้มในอนาคตได้
ส่วนที่จะดูว่าหุ้นตัวไหนถูกหรือแพง คงจะดูหลายๆประเด็นประกอบกัน คงจะดูเพียง p/e p/bv อย่างใดอย่างหนึ่งหรือแค่ทั้งสองอย่างคงไม่ได้ หุ้น TTA ที่ถามถึงมานั้น เป็นหุ้นวัฎจักร หรือ cyclical ซึ่งจะมี p/e ต่ำมากในช่วง peak ของ cycle และจะมี p/e สูงมากในช่วง bottom หรือหา p/e ไม่ได้เลยเพราะบางช่วงตอน bottom จะขาดทุน ดังนั้น หุ้นวัฎจักร จะซื้อโดยดู p/e ไม่ได้เลย แต่จะต้องดูแนวโน้มของวัฎจักรว่าตอนนี้น่าจะอยู่ช่วงไหนของ cycle แล้ว เราจะต้องซื้อที่ใกล้เคียงกับ bottom และขายในช่วงขาขึ้น ดังนั้น หากเราลงทุนในหุ้นวัฎจักร จะต้องศึกษาและเข้าใจในธุรกิจนั้นอย่างถ่องแท้ ซึ่งมีคนจำนวนน้อยที่สามารถทำเช่นนั้นได้ ดังนั้น สำหรับนักลงทุนทั่วไปผมไม่ค่อยแนะนำให้ลงทุนในหุ้นวัฎจักร เพราะจะมีความเสี่ยงมากและมีโอกาสสูงที่จะเข้าไปซื้อช่วง peak ซึ่ง broker จำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าใจหุ้นวัฎจักรอย่างแท้จริง และอาจจะให้คำแนะนำที่เป็นอันตรายกับนักลงทุนได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากมีความรู้มากพอแล้ว การลงทุนในหุ้นวัฎจักร หากประสบความสำเร็จก็จะทำให้มีผลตอบแทนที่มากพอกับความพยายามที่ลงไปได้เช่นกัน
ส่วนการใช้ DCF นั้น ผมคิดว่าไม่จำเป็นเท่าไหร่สำหรับนักลงทุนทั่วไปครับ เพราะจริงๆแล้ว p/e คือผลสุดท้ายของ DCF นั่นแหละครับ เพราะ DCF เป็น model ที่คำนึงถึง growth ความเสี่ยง เงินสดและหนี้สิน ซึ่งหากเราใช้ p/e เป็น ใช้ p/bv ได้ถูกวิธี มันจะเป็นสุดยอดวิชาขั้นสูงกว่าการใช้ DCF อีกครับ เพราะมันเป็นการนำหลักแนวคิดของ DCF มาใช้ได้โดยไม่ต้องเหนื่อยมานั่งทำ model
อย่างท่านอาจารย์ ดร. นิเวศน์ เอง ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ DCF ในการคำนวณนะครับ มันเหมือนกับอะไรที่ back to basic ครับ บางครั้งอะไรที่ซับซ้อนมากๆ กลับไม่ใช่สุดยอดวิชา แต่สิ่งที่เป็นสุดยอดวิชา มักจะไม่ซับซ้อนอย่างที่คิด
DCF มีข้อเสียยังไง ข้อเสียคือ เนื่องจากมันเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการคำนวณหา valuation ของหุ้น แต่หากนำไปใช้โดยขาดความเข้าใจที่แท้จริง ซึ่งผมเองก็เคยเป็นอย่างนั้นเมื่อก่อน จะทำให้ได้ valuation ที่ผิดพลาดไปมาก โดยเฉพาะการนำ dcf ไปใช้กับหุ้นที่เป็นวัฎจักร ทั้งวัฎจักรเศรษฐกิจ และวัฎจักรที่เป็น commodity ผลเสียที่เกิดจะรุนแรง เพราะคนที่วิเคราะห์โดยใช้ DCF ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักวิเคราะห์ มักจะเชื่อมั่นในตัวเองสูงอยู่แล้ว และมักจะมี financial model ที่ซับซ้อน ดังนั้นหากได้ DCF target จากการวิเคราะห์ของตนแล้วมักจะยึดมั่นอย่างสูง และผู้ที่ฟังคำแนะนำก็จะเชื่อมั่นอย่างสูงเช่นกัน เพราะโดยหลักการแล้วเป็นวิธีที่ดีกว่า p/e และ p/bv ดังนั้น DCF valuationได้ทำให้นักวิเคราะห์และคนที่ใช้บทวิเคราะห์เจ็บปวดมาครั้งแล้วครั้งเล่าครับ
พี่ใช้หลักอะไรในการเลือกหุ้นซักตัวครับ?
คเชนทร์ เบญจกุล (Invisible Hand)
คุณ Invisible Hand วิเคราะห์หุ้นได้ยอดเยี่ยมมาก
ผมอยากจะหาหนังสือมาศึกษาเอง เรื่องการวิเคราะห์งบการเงินและงบกระแสเงินสด เพื่อที่จะสามารถเลือกหุ้นเองได้ ช่วยแนะนำด้วยครับ
ผมไม่ใช่พี่ Invisible Hand นะครับ แต่แนะนำเล่มนี้ครับ สำหรับเริ่มต้นคร่าวๆ
http://www.se-ed.com/eshop/Products/Detail.aspx?No=9786117061158