ตามแนวคิดสมัยเก่า ตัวเลขผลกำไรขาดทุนอาจเป็นดัชนีชี้วัด “ความสำเร็จ” เพียงประการเดียวของหลายองค์กรธุรกิจ แต่ในโลก “ใหม่” ที่ถูกรุมเร้าด้วยสารพัดปัญหาทั้งจากน้ำมือ “มนุษย์” และ “ธรรมชาติ” การรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ หรือแนวคิด “CSR” ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นพันธกิจสำคัญที่นอกจากจะช่วยเยียวยาและจรรโลงโลกให้น่าอยู่แล้ว ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กรไปพร้อมๆกัน
.
เช่นเดียวกับบรรดามหาเศรษฐีคนดังในวงการธุรกิจโลกอย่าง “บิลล์ เกตส์” ที่แม้จะสร้างชื่อจากการเป็นผู้ก่อตั้งและเจ้าของไมโครซอฟท์ แต่ต้องยอมรับว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชื่อเสียงของเขาในแง่ของการเป็นเศรษฐีใจบุญอาจโดดเด่นมากกว่า โดยเฉพาะหลังจากเดือนกรกฎาคม 2549 ที่เขาประกาศว่าจะอุทิศตนเพื่องานการกุศลของมูลนิธิ บิลล์และเมลินดา เกตส์ มากขึ้น พร้อมลดบทบาทในแวดวงธุรกิจลง
.
นอกจากนี้ เมื่อช่วงกลางปีนี้เกตส์ร่วมกับ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ประธานและซีอีโอของเบิร์กไชร์ แฮธอะเวย์ ได้ประกาศดำเนินโครงการ “เดอะ กีฟวิ่ง เพลดจ์” เชิญชวนมหาเศรษฐีและตระกูลคนรวยในสหรัฐให้แบ่งปันความร่ำรวยส่วนใหญ่ให้กับการกุศล ซึ่งปัจจุบันมีมหาเศรษฐีแสดงความจำนงร่วมโครงการแล้ว 58 คน โดยรายล่าสุดก็คือมหาเศรษฐีรุ่นเล็กอย่าง “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กที่ร่วมโครงการเมื่อเดือนธันวาคม
.
วกกลับมาที่แนวคิดการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ของ “เกตส์” ที่ก่อตั้งมูลนิธิ บิลล์และเมลินดา เกตส์ ขึ้นเมื่อปี 2537 โดยมอบหมายให้ วิลเลียม เอช. เกตส์ ซีเนียร์ เป็นผู้บริหารมูลนิธิ ซึ่งก่อตั้งขึ้นด้วยความเชื่อที่ว่า ทุกชีวิตในโลกนี้มีคุณค่าเท่าเทียมกัน และมูลนิธิต้องการช่วยเหลือให้เพื่อนมนุษย์ทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สำหรับในประเทศกำลังพัฒนานั้น มูลนิธิเน้นช่วยให้คนมีสุขภาพที่ดีขึ้น และหลุดพ้นจากความยากจนและหิวโหย ส่วนใน สหรัฐ จะมุ่งดำเนินโครงการเพื่อสร้างความมั่นใจว่า คนทุกคนโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส จะมีโอกาสในชีวิตมากยิ่งขึ้นเพื่อที่จะประสบความสำเร็จด้านการศึกษา และชีวิตโดยรวม
.
เจ้าพ่อไมโครซอฟท์เคยให้สัมภาษณ์ในรายการ “This Week with Christiane Amanpour” เกี่ยวกับ “การให้” โดยอธิบายว่า ความใจบุญเป็นสิ่งที่แพร่หลายง่าย และ ตอนนี้มีคนใจบุญกว่า 40 คนเข้าร่วมโครงการเดอะ กีฟวิ่ง เพลดจ์ ขณะที่อีกหลายคนจะเข้ามาร่วมในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
.
“เมื่อคุณได้ยินเรื่องคนอื่น “ให้” บ่อยครั้งขึ้น ก็จะกระตุ้นให้คุณทำมากขึ้นเหมือนกัน และคนที่เข้าร่วมโครงการนี้ล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของคนอื่น ซึ่งทำให้พวกเราต้องการทำให้เงินเหล่านี้สร้างประโยชน์สูงสุด”
.
ที่ผ่านมาเกตส์พร้อมด้วยเมลินดา เกตส์ คู่ชีวิตของเขา ได้บริจาคเงิน ตลอดจนใช้ความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมเพื่อพยายามแก้ปัญหาใหญ่ๆของโลกผ่านทางกองทุนส่วนตัวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์
.
เมลินดา เกตส์ บอกเล่าเกี่ยวกับ “การทำเงิน” จากธุรกิจและการตัดสินใจ “สละเงิน” เพื่อเพื่อนมนุษย์ว่า ทั้งเธอและบิลล์ เกตส์ ต่างพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการตอบแทนสังคมมานานแล้ว เพราะทั้งคู่ต่างเติบโตมาในครอบครัวที่มองว่าการทำงานอาสาสมัคร และการตอบแทนสังคมเป็นสิ่งสำคัญอย่างแท้จริง
.
นอกจากนี้ เธอไม่เคยวัดความสำเร็จจากตัวเลข แต่กลับมองว่าการบริจาคเงินกว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ให้กับโครงการต่างๆในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในความสำเร็จที่เธอภาคภูมิใจ และเป็นการลงทุนที่ดีที่สุดที่เธอเคยทำมา
.
ทั้งนี้ แน่นอนว่าในฐานะของมหาเศรษฐีเจ้าของมูลนิธิที่มีเม็ดเงินมหาศาล พร้อมความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ย่อมมีคนจำนวนมากจากหลายโครงการทั่วโลกร้องขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์ แต่มูลนิธิจะเลือกช่วยเหลืออย่างไร?
.
สำหรับประเด็นนี้ บิลล์ เกตส์ อธิบายว่า เมื่อมองรอบด้านแล้วก็จะเห็นว่า เรื่องปาฏิหาริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นกับคนทุกคนในโลกนี้ก็คือ มีสุขภาพดีขึ้น และไม่ใช่เรื่องของการรักษาชีวิตไว้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นการลดการเจ็บไข้ได้ป่วยด้วย นอกจากนี้ จะต้องเปิดโอกาสให้เด็กๆได้เล่าเรียน
.
มหาเศรษฐีใจบุญคู่นี้ได้กล่าวถึงงานของมูลนิธิผ่านจดหมายเปิดผนึกทางเว็บไซต์ว่า มูลนิธิได้ร่วมมือกับพันธมิตรทั่วโลกเพื่อจัดการกับปัญหายากๆบางปัญหา อาทิ ความยากจนแร้นแค้น และความด้อยคุณภาพของระบบสาธารณสุขในประเทศกำลังพัฒนา ความล้มเหลวของระบบการศึกษาของสหรัฐ และเหตุผลที่ทั้งคู่เลือกทุ่มเทกับปัญหาไม่กี่ปัญหาเนื่องจากคิดว่า เป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่ก่อให้เกิดผลที่ยิ่งใหญ่ และให้ความสนใจกับเรื่องเหล่านี้เป็นพิเศษ เพราะคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนไม่สามารถใช้ชีวิตให้ดีที่สุดได้
.
ในประเด็นเหล่านี้ มูลนิธิได้สนับสนุนแนวคิดด้าน นวัตกรรมที่จะช่วยขจัดอุปสรรคดังกล่าว เช่น เทคนิคใหม่ ที่ช่วยให้เกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนาสามารถปลูกพืชได้มากขึ้นและมีรายได้มากขึ้น อุปกรณ์เครื่องมือใหม่ๆที่ช่วยป้องกันโรคร้าย ตลอดจนวิธีการใหม่ๆ ที่ช่วยการเรียนการสอนในห้องเรียน
.
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเงินมหาศาลและแนวคิดที่ดี แต่ทั้งคู่ยอมรับว่า บางโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิก็ล้มเหลว แต่เขาและเธอก็ยังมุ่งมั่นเดินหน้าต่อไป เพราะเชื่อว่าบทบาทสำคัญของ “ความใจบุญ” ก็คือการเดิมพันกับทางออกอันเปี่ยมด้วยความหวังที่บรรดารัฐบาลและภาคธุรกิจอาจไม่สามารถทำได้ และหากโครงการใดประสบความสำเร็จ ก็จะแบ่งปันความรู้เหล่านั้นเพื่อเอื้อประโยชน์แก่คนอื่นๆด้วย
.
จาก “ทำเงิน” สู่ “ปันเงิน” เส้นทาง “บิลล์ เกตส์” คนรวยช่วยโลก
.
วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553
.
ปีที่ 34 ฉบับที่ 4275 ประชาชาติธุรกิจ