อ่านพบข่าวการสำรวจทัศนะของประชาชนต่อการเมืองและสวัสดิการทางสังคม เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม ของ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เห็นข้อความเล็กๆ บอกว่า “คนจนส่วนใหญ่ 39% คิดว่าตัวเองจนเพราะเกิดมาจน เช่นเดียวกับคนรวย 57.4% ที่คิดว่าเกิดมารวย ซึ่งคนส่วนใหญ่เชื่อว่า ความจนความรวยตกทอดเป็นรุ่นๆ จึงมีลักษณะที่ถาวร” แล้วรู้สึกห่อเหี่ยวค่ะ
ถ้าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศคิดอย่างนี้จริง การพัฒนาประเทศตลอดระยะเวลา 50 ปี ตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่หนึ่ง ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะการเป้าหมายหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมคือ การทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถพึ่งพาตนเองได้ มากกว่าที่จะรอพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐ
เมื่อไปอ่านรายงานของทีดีอาร์ไอเกี่ยวกับ “แนวทางการแก้ปัญหาความยากจน : เสรีนิยม ประชานิยม หรือรัฐสวัสดิการ” มีการสรุปและเปรียบเทียบแนวทางทั้งสามไว้อย่างน่าสนใจ และมีบทสรุปว่ารัฐควรจะใช้ทั้งสามแนวทางผสมผสานกันไป
ดิฉันขอสรุปและสอดแทรกความเห็นเข้าไปเลยดังนี้ค่ะ
แนวทางเสรีนิยม เหมาะกับประเทศที่พัฒนาแล้ว และประชากรมีการศึกษาในระดับสูงพอสมควร เป็นกลไกที่ให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเสรี ให้เศรษฐกิจและสังคมปรับตัวกันเอง ภาคธุรกิจจะมีบทบาทมาก กิจการไหนอยู่ไม่ได้ก็ล้มหายจากไป ผู้แข็งแรงจึงอยู่รอด เพราะฉะนั้นรัฐจึงมีบทบาทเฉพาะในภาพใหญ่ ในระดับมหภาค จะเข้าแทรกแซงน้อยมาก คือเข้าไปแทรกแซงเฉพาะเมื่อกลไกตลาดไม่ทำงาน (เช่นเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปีที่แล้ว) โดยทั่วไปข้อดีคือมีภาระต่องบประมาณของรัฐน้อย แต่ข้อเสียคือไม่สามารถจัดการกับปัญหาการกระจายรายได้ ความยากจนเรื้อรัง และความยากจนที่เกิดจากโครงสร้างได้
ในขณะที่ในแนวทางแบบประชานิยม รัฐจะเข้าแทรกแซงเกือบทุกนโยบาย และมีบทบาทเป็นเรื่องๆไป โดยเฉพาะนโยบายที่ใช้หาเสียง แนวทางและนโยบายมักจะไม่มีความยั่งยืน ปรับเปลี่ยนไปตามกระแสการเมืองและงบประมาณ ภาคธุรกิจไม่มีบทบาทในการแก้ปัญหา แนวทางแบบประชานิยมนี้ช่วยลดความยากจนได้เป็นครั้งคราว แต่ไม่ยั่งยืน
สำหรับแนวทางแบบรัฐสวัสดิการ เป็นการรับรองสิทธิพื้นฐานและสิทธิในการพัฒนาศักยภาพของประชาชน โดยจะดูแลในยามตกยาก การช่วยเหลือไม่ได้เน้นกลุ่มคนจนแต่ครอบคลุมทุกคน และภาครัฐจะมีบทบาททุกเรื่องที่เกี่ยวกับสวัสดิการของประชาชน โดยเฉพาะด้านนโยบาย แต่อาจให้ภาคประชาชนและสังคมมาร่วมมือในการให้บริการ ซึ่งรัฐสวัสดิการนี้ก็เป็นภาระต่องบประมาณมากพอสมควร แต่วิธีการปฏิบัติจะช่วยลดความยากจนได้อย่างถาวรและทั่วถึง และประชาสังคมมีส่วนร่วมมากกว่า
ถ้านำมาประกอบกับทัศนะของประชาชนเกี่ยวกับความยากจนที่เกริ่นไว้ตั้งแต่ต้น อาจวิเคราะห์ได้ว่า ในอดีต ประเทศไทยเรานำแนวทางเสรีนิยมมาใช้ ในขณะที่งบประมาณเรื่องรัฐสวัสดิการมีไม่มากนัก จึงเกิดความเหลื่อมล้ำในกลุ่มของผู้มีโอกาส กับ ผู้ด้อยโอกาส ทั้งโอกาสในการศึกษา การทำงาน การเข้าถึงเงินทุน ฯลฯ เมื่อดำเนินมาครึ่งชั่วอายุคน คือประมาณ 3 รุ่น (ปู่ พ่อ ลูก) ก็ทำให้คนเกิดทัศนะว่า ถ้าเกิดมาจน ก็ต้องจนต่อไป
นอกจากนี้ การที่รัฐมีนโยบายแบบประชานิยมในช่วงที่ผ่านมา ก็ทำให้คนมีฐานะยากจนรู้สึกว่า เขาต้องได้รับการช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา หากจะให้ยุติธรรม รัฐต้องไปเก็บภาษีคนรวยให้ได้มากๆ แล้วเอามาแบ่งแจกจ่ายให้เขา ซึ่งรัฐก็เก็บอยู่ทุกวันนี้ แต่กระจายนำไปใช้ประโยชน์อื่นด้วย
ประกอบกับการนำความเชื่อทางศาสนามาใช้ในทางที่ไม่ถูก คือ คิดว่าเป็นเวรเป็นกรรมมาแต่ชาติก่อน จึงยอมรับสภาพโดยดุษณี ทำให้คนไทยเรามีทัศนะแบบนี้ จริงๆแล้วในพุทธศาสนา มีหลักธรรมอย่างหนึ่งที่เป็นหลักธรรมในการดำเนินชีวิต เพื่อให้มีความมั่งคั่งที่ยั่งยืน ซึ่งดิฉันใช้ในการบรรยายเรื่องการบริหารความมั่งคั่งมาตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา
หลักธรรมนั้นคือ “ทิฏฐธัมมิกัตถธรรม” หรือ ธรรมะที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ปัจจุบัน ประกอบด้วยหลัก 4 ข้อคือ
1. ความขยันหมั่นเพียร รู้จักจัดการงานในการหาทรัพย์ หรือรู้จักทำมาหาเลี้ยงชีพ
2. รู้จักเก็บรักษาทรัพย์ หรือในความหมายปัจจุบันก็คือรู้จักออมและลงทุน
3. รู้จักคบคนที่จะเกื้อกูลแก่การงานและทำให้ชีวิตมีความดีความงามเจริญก้าว หน้า
4. มีหลักการใช้จ่ายอย่างพอดี ที่เรียกว่า สมชีวิตา
เห็นไหมคะว่าเรามีความเชื่อผิดๆมาเป็นเวลานาน นักวางแผนการเงินจะมีความเชื่อเสมอว่า ทุกคนต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น สุขสบายขึ้น และทุกคนมีศักยภาพที่จะสามารถทำในสิ่งนั้นได้ จะช้าหรือเร็วเท่านั้น เพราะฉะนั้น ทุกคนสามารถตั้งเป้าหมายชีวิต และทำให้ตนเองบรรลุถึงเป้าหมายนั้นได้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ มหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาราษฎร์ของพระองค์ โครงการต่างๆในพระราชดำริ ล้วนเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีสัมมาอาชีพ มีการศึกษาที่ดีขึ้น มีความเจริญ และมีความผาสุกในชีวิตที่ยั่งยืน
ประชาราษฎร์ของพระองค์ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ 62 ล้านคำถวายพระพร เนื่องในวันเฉลิมพระชนมายุ 82 พรรษา ขอพระองค์ทรงพระเจริญ มีพระพลานามัยแข็งแรง พระชนมพรรษายิ่งยืนนาน
จนเพราะเกิดมาจน รวยเพราะเกิดมารวย?
วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552