เคยมีผู้มีปัญญาท่านหนึ่งกล่าวว่า “หากเพียงคนในโลกนี้เห็นแก่ตัวกันน้อยลง เพียงคนละนิดละหน่อย จะทำให้โลกนี้สูงขึ้นอย่างมากเลยที่เดียว” และยังมีพระอาจารย์รูปหนึ่งกล่าวไว้สั้นๆว่า “ความไม่เบียดเบียนคือความไม่เห็นแก่ตัว”
จากคำกล่าวทั้งสองนี้ทำให้คิดต่อไปได้ว่า อะไรคือความไม่เห็นแก่ตัว และจะใช้ชีวิตอย่างไรจึงจะเรียกได้ว่า ไม่เห็นแก่ตัว นี่เป็นคำถามที่น่าจะนำมาคิดเพื่อที่จะได้ซึ่งคำตอบที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ซึ่งคำตอบที่ได้คงจะแตกต่างกันตามแต่ทรรศนะคติของแต่ละบุคคล
นับตั้งแต่ที่มนุษย์ยุคแรกได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกแห่งนี้ และได้มีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม สังคม และด้านอื่นๆจนถึงยุคปัจจุบันนี้ มีอยู่สิ่งหนึ่งที่มนุษย์ต้องการเหมือนๆกัน นั่นคือความสะดวกสบาย แต่จะมีสักกี่คนที่ย้อนมองว่า การที่จะได้มาซึ่งความสะดวกสบายนั้น เราได้เบียดเบียนอะไร หรือเบียดเบียนใครไปบ้าง ซึ่งการเบียดเบียนนี้ เราเรียกว่าความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวนั้นเกิดขึ้นได้กับคนในทุกระดับ หรือแม้แต่ในระดับชาติ
ยกตัวอย่างเช่น การจอดรถ ก็มักจะจอดโดยเว้นที่ด้านหน้ารถไว้มาก เพื่อที่ตัวเองจะได้ออกง่ายๆ หรือที่หลายๆคนเรียกว่ากั๊กที่ ทำให้ผู้อื่นจอดไม่ได้ หรือย่างเช่น กรณีการขึ้นรถเมล์หรือรถไฟฟ้า คนที่จะขึ้นรถเมล์หรือรถไฟฟ้าก็จะรีบมาออกันที่หน้าทางขึ้น เพื่อที่ตัวเองจะได้ที่นั่งหรือขึ้นก่อน โดยไม่สนใจว่าคนอื่นที่เขาจะลงนั้น หรือจะออกนั้น เขาจะสามารถทำได้หรือไม่ หรือการที่คนรวยๆ หรือ นายก – สส. โกงบ้านโกงเมืองกันเพื่อที่ตัวเองจะได้สบาย โดยไม่สนใจว่าชาวบ้านจะได้รับความเดือดร้อน
หรือแม้แต่ในการเป็นนักเรียน คนที่เห็นแก่ตัวก็มักจะรอลอกงาน ผลงาน ของผู้อื่น โดยไม่ได้สนใจเลยว่า คนที่เขาลอกนั้น จะรู้สึกอย่างไร เขาจะโดนครูว่ามั๊ย เขาจะโดนครูหักคะแนนหรือเปล่า กว่าเขาจะหาข้อมูลมาทำจนเสร็จ เขาเหนื่อยแค่ไหนลำบากแค่ไหน หรือแม้แต่ในการทำข้อสอบ คนที่เห็นแก่ตัวก็มักจะพยายามหาทางลอก เพื่อที่ตัวเองจะได้คะแนนที่ดีโดยที่ตัวเองไม่ต้องเหนื่อยอ่านหนังสือเลย และการกระทำนี้อาจทำให้คนที่เขาถูกลอกข้อสอบ โดนหาว่าทุจริตในการสอบไปด้วย
หรือแม้แต่ในการทำงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียนหรือที่ทำงาน คนที่เห็นแก่ตัว ตอนทำงานก็จะไม่ลงมาช่วย แต่ตอนที่รับคะแนนหรือได้รางวัลก็จะแสดงตัวเพื่อมารับคะแนนหรือรางวัลนั้นด้วย โดยที่ตนเองไม่ต้องเหนื่อย
หรือแม้แต่ในระดับชาติ ก็มีความเห็นแก่ตัวเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ประเทศมหาอำนาจ ก็มักจะใช้กำลังเพื่อแย่งชิงทรัพยากรของประเทศอื่น โดยไม่สนใจว่าชนชาตินั้นจะได้นับความเสียหาย หรือว่าผู้คนในชาตินั้นจะได้รับความเดือดร้อนเพียงใด หรือแม้แต่การใช้กำลัง เพื่อให้ชาติเล็กๆตกอยู่ใต้อำนาจ เพื่อที่จะให้รับใช้ทำตามที่ชาติตัวเองต้องการ โดยไม่สนใจถึงความเดือดร้อนของคนในชาติที่ตัวเองใช้กำลังยึดครองมา
ความเห็นแก่ตัวนั้นไม่ได้เกิดระหว่าง คนกับคน หรือ ชาติกับชาติ เท่านั้น แต่ยังเกิดกับ คนกับธรรมชาติ อีกด้วย เช่น เผาป่าเพื่อใช้เป็นที่เพาะปลูก จับปลาหน้าฤดูวางไข่
จากที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่าเป็นเพียงตัวอย่างส่วนน้อยเท่านั้น ยังมีตัวอย่างอื่นๆอีกมากมาย เกินกว่าจะกล่าวได้ครบถ้วน ทำให้เห็นได้ว่า ความไม่เห็นแก่ตัวนั้นดูจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่งในปัจจุบัน
แต่หากมองในความจริงแล้ว ความไม่เห็นแก่ตัวนั้นสามารถทำได้อย่างง่ายได้ เพียงคนเราสนใจตัวเองให้น้อยลง และสนใจคนอื่นให้มากขึ้น สนใจในความจริงที่ว่า การกระทำของตัวเองในเรื่องต่างๆ ได้ไปเบียดเบียนใครหรือไม่ เพียงทำได้เท่านี้ คนคนนั้นก็จะมีความไม่เห็นแก่ตัว
ในอีกแนวทางหนึ่งที่จะทำให้คนเราเป็นคนที่ไม่เป็นแก่ตัวนั้น คือการนำหลักทางสายกลางของพระพุทธศาสนา และหลักพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้ กล่าวคือ หากเราอยู่ในทางสายกลางแล้วนั้น เวลาทำอะไรก็จะไม่มากไปไม่น้อยไป และการกระทำที่ไม่มากไปไม่น้อยไปนี้เอง จะทำให้เราไม่ต้องไปเบียดเบียนผู้อื่น เช่น หากจะลอกการบ้านผู้อื่น ก็ควรมองกลับโดยการชวนเพื่อนคนนั้นมาทำด้วยกัน ก็จะทำให้เกิดการแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ หรือข้อมูลที่มีให้แก่กัน ช่วยกันทำ ซึ่งการทำเช่นนี้ก็จะทำให้ผลงานเราออกมาดียิ่งขึ้น ดีกว่าไปขอลอกตรงๆ การกระทำเช่นนี้ นอกจากจะทำให้เราเป็นคนที่ไม่เห็นแก่ตัวแล้ว เรายังได้มิตรภาพที่แน่นแฟ้นมากขึ้นอีกด้วย หรือหากใช้หลักความพอเพียง ก็จะทำให้คนที่มีฐานะอยากจน สามารถอยู่ได้สบายมากขึ้น จึงทำให้ไม่ต้องไปลักขโมยหรือเบียดเบียนผู้อื่นอีก จะเห็นได้ว่า หลักการทั้งสองนี้ช่วยในการทำให้ตัวเองเป็นคนที่ไม่เห็นแก่ตัวง่ายขึ้น
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นจะเห็นได้ว่า ความไม่เห็นแก่ตัวเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายโดยเริ่มที่จิตใจตัวเอง ตั้งมั่นที่จะใส่ใจผู้อื่นมากขึ้น และการที่คนเราไม่เห็นแก่ตัวจะทำให้ คนเรานั้น มีความสุขทั้งทางกายและทางใจ แสดงให้เห็นว่าเมื่อเรามีความไม่เห็นแก่ตัวแล้วจะทำให้คนเราพบกับความสุขที่เพิ่มขึ้นและยั่งยืน
บทความข้างต้นเป็นบทความที่ผมเขียนตอนผมอยู่ ม. 6 ที่โรงเรียนบดินทรเดชา นับเวลาก็พบว่ามันผ่านมา 3 ปีแล้ว ผมไปค้นเจอจากที่ผมสแกนเก็บไว้ก่อนส่งอาจารย์ ได้อ่านอีกครั้งก็พบว่าใกล้เคียงกับสถานการณ์ในตอนนี้ นั่นคือ ประเทศชาติต้องการคนที่ไม่เห็นแก่ตัว มากขึ้น เพื่อที่ประเทศชาติจะได้เจริญอย่างยั่งยืน
จะมีใครเห็นด้วยกับผมบ้างไหมเนี่ย
Entry นี้ไม่มีอะไรมากครับ แค่เมื่อเช้าพยายามหาเอกสารที่สแกนเก็บไว้ และบังเอิญไปเจอบทความนี้ที่ตัวเองเขียนขึ้นแล้วดูจะเข้าท่าดีเลยเอาลงครับ ขอตามกระแสหน่อย เนื่องจากความไม่ค่อยสงบเลยรู้สึกไม่ค่อยอยากเขียนอะไรสักเท่าไร ..จริงๆแล้วก็ยังไม่มีอารมณ์ที่จะเขียนเท่านั้นล่ะครับ 555+
สุดท้าย หวังว่าผู้อ่านจะดูแลตัวเองให้ผ่านหน้าประวัติประเทศไทยนี้ได้นะครับ
ความไม่เห็นแก่ตัว
Our Columnist @ www.sarut-homesite.net
ธนกร มนตรีโชค (mcat231032)
19 พฤษภาคม 2553
ปล. วันนี้เซ็งมาก ได้ข่าวว่าโรงหนังสยามพังแล้ว
ผมว่าผมพลาดแล้วล่ะ อยู่กรุงเทพมาจนอายุ 20 ปี ยังไม่เคยเข้าไปเหยียบในโรงหนังสยามเลย T T
ผมว่ามีหลายๆอย่างที่ผมพลาดนะ
เข้าใจและจะนำกลับไปปรับใช้กับตัวเองต่อไป
ได้อ่านข้อความท่านแล้วก็ชื่นใจ หากทุกท่านปฎิบัติได้อย่างท่านคิดและเขียนออกมา เราคงไม่วุ่นวายแทบหายนะถึงขนาดนี้หรอกเอาใจช่วยทุกคนที่มุ่งมั้น นำการปฏิบัติเพื่อลดละความเห็นแก่ตัวลงบ้าง คือไม่เบียดเบียน กัน มีนำใจ ต่อกัน หมั่นทำทีละนิด ดีกว่าคิดที่จะทำ
ขออนุญาตินำไปใช้ในเรียงความนะคะ