ความเชื่อ : นักลงทุน VI นิยมลงทุนในหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสูง
ความเห็น : เมื่อนักลงทุน VI จะลงทุนในหุ้น ต้องพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานต่างๆของกิจการ โดยที่ผลตอบแทนจากเงินปันผลเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น และที่จริงไม่ควรจะเป็นปัจจัยหลัก แม้ว่าโดยส่วนใหญ่หุ้นที่จ่ายปันผลสูงจะมีความเสี่ยงที่ราคาจะลดลงต่ำกว่าหุ้นที่จ่ายปันผลน้อย และเงินปันผลจะเป็นกับดัก หากเป็นเงินปันผลที่ไม่มีคุณภาพ เช่น จ่ายในระดับสูงเมื่อเทียบกับกำไรที่ทำได้ ในขณะที่กิจการยังต้องการเงินทุน เงินปันผลที่จ่ายจากกำไรที่ทำได้สูงกว่าปกติ หรือเงินปันผลจากกิจการที่ความสามารถในการทำกำไรในอนาคตลดลง หากนักลงทุนสบายใจที่จะลงทุนในหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสูง สิ่งที่ต้องมองหาคือความยั่งยืนและคุณภาพของเงินปันผล
ความเชื่อ : นักลงทุน VI นิยมลงทุนในหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำ
ความเห็น : นักลงทุน VI ลงทุนในหุ้นโดยตัดสินใจจากปัจจัยพื้นฐานของกิจการ สภาพคล่องในการซื้อขายไม่ควรจะเป็นประเด็นหลัก แต่เนื่องจากหุ้นเหล่านี้มีคนซื้อ คนขายน้อย มีความเสี่ยงที่เมื่อนักลงทุนต้องการขายอาจจะไม่มีคนรับซื้อ หรือขายได้ในราคาต่ำๆ ดังนั้นหากนักลงทุนพิจารณาลงทุนในหุ้นเหล่านี้ ควรเป็นการลงทุนระยาว และต้องมั่นใจในพื้นฐานของกิจการ และซื้อในราคาที่มีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย(Margin of safety) มากกว่าปกติ
ความเชื่อ : นักลงทุน VI ถือหุ้นระยะยาว ซื้อหุ้นแล้วไม่ขาย ถือไปตลอดชีวิต
ความเห็น : นักลงทุน VI จะซื้อหุ้นที่มีมูลค่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และจะขายเมื่อราคาหุ้นขึ้นไปถึงหรือเกินกว่าราคาที่ควรจะเป็น ดังนั้นการซื้อหรือขาย ขึ้นอยู่กับราคาหุ้นในตลาดกับมูลค่าที่เหมาะสม ระยะเวลาในการถือหุ้นไม่ควรมีหลักเกณฑ์ตายตัว ในความเป็นจริงเมื่อนักลงทุนซื้อหุ้นและรอให้ตลาดรับรู้มูลค่า ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลานาน เพราะพื้นฐานของกิจการต้องอาศัยระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้ดูเสมือนว่านักลงทุนมักถือหุ้นระยะยาว
ความเชื่อ : นักลงทุน VI ต้องเรียนสูง มีความฉลาดทางปัญญา(IQ) ระดับสูง
ความเห็น : เชื่อกันว่าระดับ IQ มีผลต่อการลงทุนบ้าง แต่สิ่งที่จำเป็นมากกว่าคือนักลงทุนต้องพัฒนาให้มีความฉลาดทางอารมณ์(EQ)สูง เพื่อที่จะได้ใช้ประโยชน์จากความฉลาดของปัญญาหรือ IQ ได้เต็มที่ นักลงทุนที่โดดเด่นจะมีทั้ง IQ และ EQ สูง ส่วนทักษะที่จำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อนำมาใช้ในการลงทุน ควรรู้คณิตศาสตร์เบื้องต้น รู้ภาษาธุรกิจซึ่งก็คือการบัญชีเบื้องต้น และควรจะสามารถวิเคราะห์โดยใช้เหตุและผลได้ดี โดยที่ความรู้เช่นนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนสูงๆหรือจบจากสถาบันดีๆ แล้วจะทำได้ดีกว่า
ความเชื่อ : นักลงทุน VI ไม่ลงทุนในวอร์แรนต์
ความเห็น : วอร์แรนต์คือตราสารแสดงสิทธิ์ที่จะซื้อหุ้นในอนาคตตามเงื่อนไขบางประการ ดังนั้นวอร์แรนต์ควรจะได้รับการประเมินมูลค่าบนบรรทัดฐานเดียวกับการประเมินมูลค่าหุ้น หากวอร์แรนต์มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น ก็ไม่มีเหตุผลใดที่นักลงทุน VI จะไม่ลงทุน แต่สิ่งที่ต้องเข้าใจก่อนลงทุนคือวอร์แรนต์เป็นตราสารอนุพันธ์ซึ่งอ้างอิงอยู่กับราคาหุ้นแม่ แต่จะมีความผันผวนมากกว่า เพราะคุณสมบัติของอัตราการทวีผล(Gearing) กิจการที่มีการเพิ่มทุนโดยการออกวอร์แรนต์หรือเพิ่มทุนโดยตรง จะไม่ทำให้นักลงทุนเสียหาย หากกิจการสามารถที่จะสร้างกำไรเพิ่มชดเชยผลกระทบจากที่มีหุ้นเพิ่ม(Dilution Effect) หรือจะดียิ่งกว่าหากกิจการนำเงินไปลงทุนได้ผลกำไรสูงกว่าต้นทุนเงินลงทุนของผู้ถือหุ้น
ความเชื่อ : หุ้น VI ส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่มีอัตราการเติบโตของผลกำไรต่ำแต่มั่นคง
ความเห็น : หลักการของการลงทุนแบบ VI คือการซื้อหุ้นที่มูลค่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นไม่ว่าหุ้นนั้นจะเป็นหุ้นเติบโตสูง (Growth Stock) หุ้นวัฏจักร(Cyclical Stock) หุ้นสินทรัพย์มาก (Asset play) หรือหุ้นมั่นคง (Defensive Stock) ควรจะได้รับการพิจารณาเหมือนๆกันในแง่ความคุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับราคาที่นักลงทุนจะจ่าย แต่สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนควรเข้าใจคือหุ้นที่แตกต่างกัน ไม่สามารถที่จะวัดความถูกหรือแพงโดยใช้อัตราส่วนทางการเงินตัวเดียวกัน เช่นการใช้อัตราส่วน ราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้น (PE Ratio) หุ้นทั่วๆไป ค่าพีอีที่ต่ำแสดงว่าหุ้นตัวนั้นราคาถูก แต่หากเป็นหุ้นที่มีการเติบโตสูง ค่าพีอีที่ไม่สูงกว่าการอัตราการเติบโตของผลกำไร ก็ถือว่าหุ้นราคาถูกเช่นกัน ในขณะที่การใช้ค่าพีอีกับหุ้นที่เป็นวัฏจักรจะเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม คือค่าพีอีที่สูงแสดงว่าหุ้นอาจจะกำลังอยู่ในภาวะที่ควรลงทุน เป็นต้น
ความเชื่อ : การลงทุนในหุ้นสามัญเป็นการเสี่ยง แม้ลงทุนแบบ VI ก็มีความเสี่ยง
ความเห็น : เป็นความจริงที่ว่าการลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยง แต่ความเสี่ยงที่สุดคือการไม่ลงทุนอะไรเลย เพราะเงินเฟ้อจะลดอำนาจซื้อของเงินอยู่ตลอดเวลา หากเป็นมนุษย์เงินเดือนทั่วๆไป การลงทุนฝากเงินธนาคารที่มีความเสี่ยงการลดลงของเงินต้นต่ำ อาจจะเพียงพอที่จะใช้ชีวิตแบบพอเพียง และอาจจะต้องกระเบียดกระเสียรในชีวิตหลังเกษียณ หากต้องการแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ทุกคนควรแบ่งเงินลงทุนในหุ้นบ้างตามความสามารถในการรับความเสี่ยง หากมีการกระจายการลงทุนในหุ้นที่เหมาะสม ความเสี่ยงที่เงินลงทุนจะกลายเป็นศูนย์จะเท่าๆกับความเสี่ยงที่เงินฝากในธนาคารจะกลายเป็นศูนย์เช่นกัน และหากถึงวันนั้นจริง เงินที่ฝังตุ่มไว้ก็คงมีค่าเพียงเศษกระดาษเท่านั้น
โดย อนุรักษ์ บุญแสวง (พี่ลูกอิสาน แห่ง Thaivi.com)