ความสุขในระบบทุนนิยม – ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

thumb

การเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันมีความเจริญทางวัตถุมากมาย แต่เมื่อถามว่าผู้คนมีความรู้สึกอย่างไรก็มักจะได้คำตอบที่ไม่ชัดเจนว่าโลก วันนี้ให้ความสุขมากขึ้นเหมือนการเติบโตของระบบทุนนิยมหรือไม่ ผู้คนมักรู้สึกแตกต่างกันและยิ่งไปกว่านั้นยังเข้าใจความสุขแตกต่างกันไปด้วย

วิชาการแห่งทุนนิยมอย่างเช่น ‘วิชาเศรษฐศาสตร์’ มักให้ความสำคัญกับโลกทางวัตถุ และแม้ว่าจะเริ่มให้ความสนใจเกี่ยวกับปัจจัยทางจิตวิทยาหรือความสุขอย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ยังเขินที่จะพูดถึงเรื่องของความสุข โดยจำนวนไม่น้อยอึดอัดที่จะวิเคราะห์ถึงสิ่งที่วัดออกมาเป็นตัวเงินไม่ได้

ตามความเชื่อดั้งเดิมนั้น การมีรายได้มากขึ้น ฐานะการครองชีพ ความเป็นอยู่ต่างๆ ก็น่าจะดีขึ้น คุณภาพชีวิตและความสุขจึงน่าจะมากขึ้นตาม ถ้าเงินไม่สร้างความสุขแล้วคนจะแสวงหาเงินทองทำไม

เมื่อระบบทุนนิยมช่วยให้สังคมมีรายได้มากขึ้น ความสุขของคนในสังคมจึงน่าจะเพิ่มขึ้นด้วย

คำถามคือระบบทุนนิยมแม้จะเร่งรายได้ให้ขยายตัว แต่คุณภาพชีวิตของผู้คนจะดีขึ้นจริงหรือไม่ และความสุขที่ว่านั้นเป็นอะไร เป็นความสุขจริงๆ หรือเป็นความรู้สึกพื้นๆ ว่าเป็นความสุข

นี่เป็นคำถามที่ค่อนข้างใหม่สำหรับวงการเศรษฐศาสตร์ แต่ไม่ใช่คำถามที่ไม่เคยถามกันมาก่อนหน้านั้น

นักเศรษฐศาสตร์ยุคคลาสสิคเชื่อว่าคนเราตัดสินใจอย่างไรก็เพราะได้รับความสุขจากการตัดสินใจนั้น นักเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันยังเรียกความสุขตามกันว่า “อรรถประโยชน์” (Utility) หรือ ความพึงพอใจ (Preference)

อรรถประโยชน์หรือความพึงพอใจนี้เป็นที่ต้องการไม่จำกัด แต่มนุษย์มีข้อจำกัดที่กำลังซื้อหรือรายได้ (Budget constraint) ดังนั้น ในทางทฤษฎีจึงชัดเจนว่าถ้ารายได้มีมากขึ้น มนุษย์ก็ย่อมแสวงหาอรรถประโยชน์ได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้เป็นการมองในมุมของปัจเจกบุคคลเท่านั้น มิได้มองกว้างไปถึงผลกระทบของอรรถประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งที่มีต่อคนกลุ่มอื่นๆ หรือสังคมโดยรวม

นักเศรษฐศาสตร์ยุคคลาสสิคมิได้ตั้งข้อสงสัยว่าอรรถประโยชน์ที่ว่านั้นเป็นความสุขจริงหรือไม่ อย่างไร การรู้สึกว่าสิ่งใดเป็นที่ต้องการอาจมิใช่ความสุขก็ได้ ความสุขอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับบุคคล สังคม และกาลเวลา

นักเศรษฐศาสตร์รุ่นต่อๆ มามิได้สนใจว่าอรรถประโยชน์หน้าตาเป็นอย่างไร มีองค์ประกอบที่แตกต่างกันหรือไม่ ขอเพียงเป็นความพึงพอใจที่ทำให้ทฤษฎีอธิบายปรากฏการณ์ได้ก็เพียงพอแล้ว

การประเมินความเจริญก้าวหน้าของสังคมทุนนิยมจึงดูง่ายๆ ที่รายได้ประชาชาติ หรือ จีดีพี

E.F. Schumacher ผู้ริเริ่มเขียนถึง Buddhist Economics ในหนังสือ Small Is Beautiful : A Study of Economics As If People Mattered (1973) เคยวิพากษ์ว่าเป้าหมายของการพัฒนามิได้อยู่ที่รายได้ แต่อยู่ที่การพัฒนาที่เหมาะสม อยู่ที่มนุษย์ มิใช่ผลผลิตจากแรงงานมนุษย์

ในขณะที่เศรษฐศาสตร์คลาสสิค-นีโอคลาสสิคมีข้อสมมุติว่าการใช้แรงงานเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ หรือเป็นต้นทุน สังคมชาวพุทธ กลับมิได้มองเช่นนั้น ชาวพุทธเห็นการทำงานเป็นการเพิ่มคุณค่าของมนุษย์ เน้นเทคโนโลยีที่เหมาะสม ความเป็นมิตรกับธรรมชาติและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม มิใช่การบริโภคที่เชื่อว่ายิ่งมากยิ่งดี

การเติบใหญ่ของทุนนิยมทำให้สังคมมีความสุขมากขึ้นหรือไม่เป็นประเด็นสำคัญเช่นเดียวกับว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี จะทำให้ประชาชนมีความสุขมากขึ้นหรือไม่

เป็นเรื่องที่ยากมากที่จะให้ทุกคนตอบเหมือนกันว่าความสุขคืออะไร ความสุขเป็นภาวะของอารมณ์และมนุษย์ก็มีจริตและความเข้าใจเกี่ยวกับความสุขแตกต่างกันได้อย่างมากมายเสียด้วย

บางสังคมมองว่าความสุขเป็นสิ่งที่เทพเจ้าประทานให้ บางส่วนมองว่าความสุขนั้นต้องหากันเอง ความสุขเป็นเรื่องของความสงบและการพัฒนาจิตใจของตนเองให้ปล่อยวาง ไม่ยึดติดกับความต้องการซึ่งรวมถึงความต้องการทางวัตถุและรายได้

ในปี ค.ศ.1973 ศาสตราจารย์ Richard Easterlin แห่งมหาวิทยาลัย Southern California ตั้งคำถามง่ายๆ ว่าถ้าคนเรามีเงินมากขึ้น เขาจะมีความสุขมากขึ้นหรือไม่ ถ้าตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์คงต้องตอบว่ามากขึ้น แต่ Easterlin ทยอยเสนองานวิจัยหลายชิ้นโดยอาศัยข้อมูลการสอบถามความรู้สึกของประชาชน และให้ผลการวิจัยที่ไม่สอดคล้องกับทฤษฎี (เรียกว่า Easterlin Paradox)

สิ่งที่เขาค้นพบคือในระดับประเทศและระหว่างประเทศ รายได้กับความความสุขมิได้สัมพันธ์ไปด้วยกัน

คนที่เคร่งทฤษฎีคงบอกว่าการศึกษาของ Easterlin และคนอื่นๆ ที่ให้ข้อสรุปทำนองนี้คงมีจุดผิดพลาดในการวิจัยตรงไหนแน่ๆ ซึ่งก็อาจเป็นไปได้เพราะมีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเช่นกันพบว่าความสุขของประเทศต่างๆ มีมากขึ้นตามรายได้

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยทั้งหลายอาจไม่น่าเชื่อถือมากนักก็ได้เพราะข้อมูลความสุขที่ว่านั้น มาจากการสอบถามความรู้สึกที่ผู้ตอบแบบสอบถามเป็นผู้ประเมินความสุขเอง เรียกว่าเป็นข้อมูลตามอัตวิสัย (Subjective)

ศาสตราจารย์ทางจิตวิทยา Daniel Kannemann ผู้ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ได้ร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์เช่นศาสตราจารย์ Alan Krueger พยายามสำรวจข้อมูลความพึงพอใจในชีวิตที่แปรปรวนตามอารมณ์ความรู้สึกในแต่ละวันน้อยลงหรือนิ่งขึ้น (Objective มากขึ้น) พบว่าความพึงพอใจในชีวิตมีความสัมพันธ์กับรายได้แต่น้อยมาก

บรรดาการศึกษาทั้งหมด งานของ Daniel Kannemann และคณะ ให้ข้อสรุปที่น่าเชื่อถือที่สุด เพียงแต่ต้องเข้าใจว่าความสุขหรือความพึงพอในชีวิตที่ว่านี้เป็นเพียงความสุขขั้นต้นเท่านั้น เป็นความสุขที่สัมพันธ์กับความเป็นอยู่ของคนทั่วไปที่ต้องใช้ชีวิตที่พึ่งความสะดวกสบายและความจำเป็นทางโลก

พระพุทธศาสนาให้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสุขได้ลึกซึ้งที่สุด และความสุขที่แท้จริงนั้นซื้อไม่ได้ด้วยเงิน ต้องปฏิบัติจนเข้าใจอย่างถ่องแท้ด้วยตนเองเท่านั้น จะรับบริจาคหรือขอจากใครก็ไม่ได้

ความสุขในทางเศรษฐศาสตร์เช่นอรรถประโยชน์จากการบริโภคเป็นความสุขจากความอยาก มิใช่ความสุขที่มาจากการพัฒนาทางจิตใจที่ละเอียดเป็นลำดับตามแนวทางของพระพุทธศาสนา

การขยายตัวของระบบทุนนิยมมิได้สนับสนุนความสุขที่แท้จริงแต่อาจยกระดับมาตรฐานการครองชีพหรือสร้างความพึงพอใจอย่างหยาบ

ดังนั้น เราจึงพออธิบายได้ว่าทำไมงานวิจัยจึงพบว่าส่วนใหญ่แล้ว เงินซื้อความสุขไม่ได้ หรือถ้ารายได้ทำให้มีความสุขก็เป็นความสุขเพียงเล็กน้อย

ประการ แรก สังคมที่แตกต่างกัน มีความเข้าใจเกี่ยวกับความสุขแตกต่างกัน เช่น คนในพม่าพูดถึงนิพพานกันทั่วไปมากกว่าคนในประเทศไทยที่ได้รับอิทธิพลจากทุน นิยมสูงกว่าแม้ว่าจะนับถือพระ

พุทธศาสนาแบบเถรวาทเหมือนกัน ความจริงแล้วความสุขนั้นมีหลายระดับ หลายคุณภาพซึ่งนักวิจัยตะวันตกควรต้องศึกษาจากพระพุทธศาสนา ความสุขจากความสงบและการพ้นทุกข์มีความแตกต่างจากความสุขจากความอยากหรือกาม สุขอย่างสิ้นเชิง

ประการที่สอง แต่ละสังคมอาจมีเงื่อนไขความพร้อมและความสามารถในการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีความสุขได้มากน้อยไม่เท่ากัน เช่นประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียมีสภาพสังคมที่ทำให้ประชาชนรู้สึกมีความมั่นคงในชีวิตและมีความพึงพอใจสูง บางประเทศเช่นออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ประชาชนมีความสำนึกสูงในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย

ประการที่สาม ทุกคนต้องการความสุขและมักจะไม่กระทำในสิ่งที่ทำให้ตนไม่มีความสุข ปัญหาคือมนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจด้วย จึงมักหลงไปกับโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะทำให้ตนมีโภคทรัพย์มากๆ

ความสุขอาจเป็นเรื่องระยะยาว ไม่เหมือนโอกาสทางรายได้ที่เห็นอยู่เบื้องหน้า เวลาที่จะให้กับการพัฒนาทางจิตใจจึงมักเก็บไว้ก่อน นั่นคือมนุษย์ส่วนใหญ่นั้นอยู่ในความประมาท

ประการที่สี่ ความสุขมีองค์ประกอบที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมายหลายประการ มิใช่รายได้อย่างเดียว และมักเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกเป็นสำคัญ จึงไม่แปลกที่จะพบในทางสถิติว่ารายได้มีความสัมพันธ์กับความสุขไม่มากนัก ระบบทุนนิยมนั้นอาจมีผลกระทบต่อความสุขได้หลายทาง ทั้งทางบวกและทางลบ

การแข่งขันและการแก่งแย่งเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน (ในทางวัตถุ) เป็นพลังขับเคลื่อนหลักของระบบทุนนิยม ในด้านบวก ความเจริญทางวัตถุเช่นรายได้ที่มากขึ้นหรือประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้น จะส่งผลให้ประชาชนสามารถมีมาตรฐานการบริโภคที่สูงขึ้น มีความอดอยากและทุโภชนาการลดลง อรรถประโยชน์จากการบริโภคนี้จะทำให้ประชาชนรู้สึกว่ามีความสุขประเภทกามสุข

การมีรายได้ที่สูงอาจทำให้มีการบริจาคให้สังคมบ้าง อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วระบบทุนนิยมจะบีบให้การบริจาคนั้นต้องคำนวณผลตอบแทนกลับ ทั้งนี้ เพื่อความอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันแย่งชิงทางธุรกิจ

การขยายตัวของระบบทุนนิยมมีต้นทุนสิ่งแวดล้อมสูง ถ้าหากปล่อยให้ระบบตลาดเสรีดำเนินไปโดยปราศจากการควบคุมดูแลอย่างถูกจุด ประชาชนจะต้องมีฐานะความเป็นอยู่และการศึกษาที่สูงมากแล้วจึงจะเริ่มเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ธรรมชาติบ้าง การปฏิบัติตนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องอาศัยมาตรการของรัฐ มิใช่จิตสำนึกแบบทุนนิยมเสรี

ระบบทุนนิยมที่ปราศจากความเข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอันตรายต่อโลกและความสุข เพราะการทำลายนั้นง่ายกว่าการรักษาหลายเท่า

สุขภาพอนามัยของประชาชนอาจได้รับประโยชน์จากระบบทุนนิยมถ้าหากสังคมนั้นเติบ โตจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และใช้ความก้าวหน้านั้นเพื่อการสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม

ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่โดดเด่นในการสร้างความเหลื่อมล้ำ คนที่สะสมทุนได้มากกว่าหรือเข้มแข็งกว่าในทางเศรษฐกิจจะอยู่รอดและได้เปรียบจากการแข่งขัน ในขณะที่คนที่อ่อนด้อยกว่ายากที่จะก้าวตามทันได้ ความไม่มั่นคงในการดำรงชีวิตของคนส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาสำคัญของสังคมประเภทนี้

สังคมที่ ‘มือใครยาว สาวได้สาวเอา’ จึงเป็นสังคมที่ยากจะมีความสุข นี่อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความสุขของประเทศเดนมาร์กและสแกนดิเนเวียติด อันดับความสุขสูงสุดเพราะมีการคุ้มครองและ การประกันทางสังคมในระดับที่สูง มาก งานศึกษาของศาสตราจารย์ Richard Layard สนับสนุนให้มีการควบคุมระบบตลาดเสรีและเห็นว่าสังคมที่มีรัฐสวัสดิการจะให้ ความสุขที่มากกว่า

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นผลทางอ้อมของระบบทุนนิยมที่มีต่อความสุขโดยเฉพาอย่างยิ่งความสุขจากความอยากหรือความสุขทางวัตถุ

สำหรับในแง่ของจิตใจแล้ว การแข่งขันและการแก่งแย่งในระบบทุนนิยมมีผลกระทบโดยตรง แรงกดดันเหล่านี้สร้างปัจจัยแห่งความตึงเครียดให้กับมนุษย์และยากที่จะบริหารให้อยู่ในระดับพอเหมาะมิให้ตึงจนเกินไป

การแข่งขันแย่งชิงต้องอาศัยความกระหายในผลประโยชน์เป็นพลังซึ่งจะทำให้มนุษย์ในระบบทุนนิยมมีจิตใจที่ต่ำลง หยาบ และขาดความละอายหรือเกรงกลัวต่อบาป สังคมที่เต็มไปด้วยความกระหายในกิเลสนี้ย่อมไร้ซึ่งความเป็นธรรมและความสุขสงบ

แม้สำหรับบางคนหรือบางสังคมที่ได้ตักตวงผลประโยชน์และพึงพอใจในความเป็นผู้ชนะ แต่เมื่อผลประโยชน์นั้นเสื่อมลง การปรับตัวเข้ากับภาวะความเสื่อมไม่ได้ก็จะทำให้รู้สึกถึงความทุกข์อย่างที่มิได้คาดหมายมาก่อน

คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ มติชนรายวัน วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11484

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.