คลังลุยไมโครไฟแนนซ์ แก้ลำเงินกู้นอกระบบ : Posttoday

LAFrog BenettonMicrocredit

การเร่งเครื่องเดินหน้าแหล่งเงินกู้ขนาดจิ๋วหรือ ‘ไมโครไฟแนนซ์’ ของ กระทรวงการคลัง ถือเป็นการเดินหน้าควบคู่กับการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบในการขึ้นทะเบียน ลูกหนี้-เจ้าหนี้ โดยแผนการตั้งแหล่งเงินกู้ขนาดจิ๋วถูกบรรจุไว้ในแผนแม่บท พัฒนาระบบสถาบันการเงินหรือมาสเตอร์แพลน 2 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

หลังจากแผนแม่บทของธปท.ในฉบับแรกเป็นการเพิ่มจำนวนสถาบันการเงิน และธนาคารเพื่อรายย่อยไปแล้วจำนวนมาก แต่ดูเหมือนว่ายังมีประชาชนผู้มีรายได้น้อยอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงิน ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ เพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือเพราะรายได้น้อยมาก ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะขอกู้จากสถาบันการเงินได้

ในเชิงเศรษฐศาสตร์ เงินกู้เพื่อรากหญ้า หรือไมโครเครดิต คือการขยายเงินกู้จำนวนเล็กๆ ให้แก่คนที่ไม่มีงานทำรวมถึงช่วยผู้ประกอบการที่เป็นคนจน คนที่สังคมรังเกียจ และผู้ที่อาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดารที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของธนาคารได้

โดยคนเหล่านี้ถือว่าขาดแคลนในเรื่อง หลักทรัพย์ค้ำประกัน ความมั่นคงของงาน และประวัติการเงิน เนื่องด้วยคุณสมบัติที่ต่ำ ระบบดังกล่าวเริ่มขึ้นครั้งแรกในประเทศบังกลาเทศซึ่งเป็นประเทศที่คนจนประสบความสำเร็จ ที่ใช้เงินกู้ขนาดเล็กขยายกิจการธุรกิจขนาดเล็กและเสริมรายได้ สถาบันที่เป็นไมโครไฟแนนซ์ยังรวมถึงเครดิตยูเนียน สหกรณ์ ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลาย และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือนันแบงก์ และมูลนิธิที่ให้บริการด้านการเงินด้วย

ในส่วนของประเทศไทย นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง พยายามใช้สถาบันการเงินของรัฐอย่างธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการเป็นแหล่งสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ ปล่อยกู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจการเกษตรขนาดเล็ก และอีกส่วนหนึ่งจะทำธุรกิจการค้าเล็กๆเพื่อหารายได้ เช่น การประกอบอาชีพเกี่ยวกับกระบวนการทำอาหาร การค้าเล็กๆสำหรับในชุมชนเมือง และแม่ค้าขายของตามข้างถนน ไม่เพียงเท่านั้น ธนาคารกรุงไทยก็พยายามเข้ามาทำธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ผ่านการปล่อยสินเชื่อให้แก่ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เป็นการต่อยอดจากเดิมที่รัฐบาลเคยให้ไว้ 1 ล้านบาท

ล่าสุด นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่าการทำธุรกิจการเงินเพื่อกลุ่มรากหญ้าดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาว่ากระทรวงการคลังจะเลือกทำในลักษณะใดจาก 3 รูปแบบ

1. เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติที่มีประสบการณ์และศักยภาพเข้ามาขอใบอนุญาตในการทำธุรกิจ

2. เปิดให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกิจร่วมกับบุคคลที่ 3 หรือนักลงทุนต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะและมีศักยภาพสูง

3. เปิดให้ธนาคารพาณิชย์ลงทุนทำธุรกิจเองแต่ธุรกิจนี้จะแยกย่อยออกมาจากธนาคารพาณิชย์ หรือ อาจตั้งเป็นบริษัทลูกขึ้นมาเพื่อให้บริการด้านการเงินกับลูกค้าระดับรากหญ้าโดยเฉพาะ

แนวทางการตั้งไมโครไฟแนนซ์ถือเป็นเรื่องใหม่ในการทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ไทย ทำให้ที่ผ่านมาสถาบันการเงินไทยยังกลัวๆกล้าๆ เพราะความเสี่ยงสูง อาจไม่ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ แต่จากการที่ธปท.ลุยหารือเบื้องต้นกับธนาคารพาณิชย์ พบว่ามีบางรายที่สนใจ และตั้งใจจะใช้เป็นช่องทางในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม

ขณะที่การเพิ่มผู้เล่นใหม่จากต่างประเทศที่เคยมีประสบการณ์ หรือ ทำธุรกิจนี้ในต่างประเทศให้เข้ามาขอใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันการเงินในประเทศไทย ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นแผน 5 ปี คือตั้งแต่ปี 2552-2556 ดังนั้น ธปท.จึงเชื่อว่า หลังจากนี้การแข่งขันในธุรกิจไมโครไฟแนนซ์จะสูงขึ้น เป็นการชิงเค้กใหม่ในปริมาณที่สูงมาก ในส่วนของกระทรวงการคลังก็จะเดินอีก “ขา” คือลุยขึ้นทะเบียนเงินกู้นอกระบบ ซึ่งครั้งนี้ถือว่าแปลกกว่าทุกครั้ง เพราะเป็นการให้ขึ้นทะเบียนเจ้าหนี้นอกระบบด้วย

แน่นอนว่าหลังการขึ้นทะเบียน กระทรวงการคลังจะมีมาตรการอะไรออกมา หนึ่งในนั้นก็คือข้อเสนอเรื่องการให้เจ้าพ่อเจ้าแม่เงินกู้นอกระบบดำเนินการอย่างเป็นกิจจะลักษณะ กระทรวงการคลังเชื่อว่าการใช้ระบบไมโครไฟแนนซ์เข้ามาแก้ไขเรื่องการถูกปฏิเสธสินเชื่อของประชาชนระดับล่าง น่าจะทำให้คนกลุ่มนี้ได้รับโอกาสที่ดีกว่าจากทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่ดีขึ้น

เพราะปัจจุบันกลุ่มเงินกู้นอกระบบมีทั้งกลุ่มที่ดีและแก๊งที่เลวร้าย บางรายมีการใช้มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ใช้นักเลงหัวไม้มาลุยเก็บเงินพ่อค้าแม่ค้าที่เบี้ยวหนี้หรือขาดส่ง มีการทำร้ายร่างกายจนถึงขั้นฆ่ากันตายก็มีขณะที่ดอกเบี้ยบางแห่งคิดเป็น “รายวัน” ผ่อนเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด กระทั่งดอกเบี้ยทบเงินต้น

ถ้ารัฐบาลเปิดขึ้นทะเบียนหนี้นอกระบบรอบนี้เมื่อไหร่ รับรองว่ามีประชาชนมาขึ้นทะเบียนกันล้นหลามแน่นอน

ดีเดย์คือเดือน พ.ย. นี้ รับรองล้นหลาม แต่ที่ต้องจับตาดูต่อไปก็คือในส่วนของการขึ้นทะเบียนเจ้าหนี้ ว่าจะมีเจ้าหนี้นอกระบบรายใดกล้าหาญชาญชัย เพราะจะเป็นการ “เปิดหน้า” กล้าให้สังคมโฟกัสส่องสปอตไลต์ เกิดหน่วยราชการมีการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจะทำอย่างไร งานนี้อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย!!!

สุดท้ายเชื่อว่า ภาระหนักคงยังตกที่สถาบันการเงินของรัฐบาลในการแบกรับหนี้นอกระบบ และถ้าไม่เร่งตั้งไมโครไฟแนนซ์ก่อกำเนิดสถาบันการเงินขนาดจิ๋วให้เข้าถึงแหล่งชุมชนอย่างแท้จริง ปัญหาหนี้นอกระบบก็ยังคงวนเวียนหลอกหลอนสังคมไทยต่อไป

กระทรวงการคลังเชื่อว่าการใช้ระบบไมโครไฟแนนซ์เข้ามาแก้ไขเรื่องการถูกปฏิเสธสินเชื่อของประชาชนระดับล่าง น่าจะทำให้คนกลุ่มนี้ได้รับโอกาสที่ดีกว่าจากทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่ดีขึ้น

ที่มา : คอลัมน์ วิเคราะห์ หนังสือพิมพ์ โพสต์ ทูเดย์ วันที่ 30 ต.ค. 52

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.