ปีนี้สินค้าเกษตรบ้านเราหลายๆตัวไปได้สวย ยางพารา ราคาพุ่งพรวด 100 กว่าบาท ชาวสวนยางเร่งแห่ขยายพื้นที่ปลูกเป็นการใหญ่ อ้อยและน้ำตาลราคาสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ แต่ข้าวยังอยู่ในวงจรอุบาทว์ ผลผลิตปีนี้ไม่ได้สูงเหมือนทุกปีเพราะเจอฝนแล้ง แต่ราคาก็ยังตกต่ำ ทั้งๆที่ข้าวไทยนั้นเป็นที่ต้องการของหลายๆประเทศ
ในทวีปแอฟริกา ข้าวไทยกลายเป็นสินค้าที่คนแอฟริกันโหยหา อยากกิน อยากปลูกเป็น
เมื่ออาทิตย์ก่อนแอบสวมบท “นักเรียนน้อย” ฟัง “ดร.กนก วงศ์ตระหง่าน” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เลกเชอร์ให้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับข้อตกลงกับประเทศในแถบแอฟริกาหลายๆประเทศ หลายเรื่องราวเป็นความร่วมมือแลกเปลี่ยนในอนาคต
เฉพาะอย่างยิ่งข้าวไทยเป็นที่สนใจอย่างมาก คิดไม่ถึงว่าข้าวไทยจะมีเสน่ห์และอิทธิพลต่อคนแอฟริกันถึงเพียงนี้
ดร.กนก เล่าว่า ครั้งหนึ่งในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศเซเนกัล ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ได้ใช้ข้าวไทยเป็นนโยบายหาเสียง โดยสัญญาว่า หากเขาชนะการเลือกตั้งขอสัญญาว่า จะทำให้ชาวเซเนกัลได้กินข้าวหอมมะลิของไทย
ข้าวหอมมะลิของไทยกลายเป็นข้าวการเมือง เป็นนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างไม่น่าเชื่อ
เมื่อพูดถึงข้าวหอมมะลิไทยในตลาดเซเนกัล ดร.กนก เล่าให้ฟังว่า “ข้าวตราฉัตรของกลุ่มซีพีกลายเป็นเจ้าใหญ่ เจ้าเดียวส่งออกปีละหมื่นล้านบาท แทบไม่น่าเชื่อว่าแค่ขายข้าวถุงไปประเทศเซเนกัลประเทศเดียวมูลค่าเป็นหมื่นล้านบาท”
ไม่เฉพาะประเทศเซเนกัลที่หลงใหลข้าวไทย ประเทศในแถบแอฟริกาส่วนใหญ่หันมาบริโภคข้าวไทยทั้งนั้น เมื่อก่อนอาจจะนิยมบริโภคปลายข้าวหักๆเพราะยากจน แต่ทุกวันนี้ฐานะทางเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ประชาชนมีกำลังซื้อสูง รัฐบาลมีเสถียรภาพ แต่ประสิทธิภาพยังต่ำ ประชาชนยังไม่ขยัน ทั้งที่ประเทศเหล่านี้มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ประเทศแอฟริกาใต้มีเหมืองทองคำ เหมืองเพชร ไนจีเรียมีแหล่งน้ำมัน โมร็อกโกมีแร่โปแตช กานามีเหมืองเพชร นามิเบียมีเหมืองเพชรและแร่ยูเรเนียม
ทรัพยากรธรรมชาติในแอฟริกาจึงไม่เป็นรองใคร ขณะที่ประชากรทั้งทวีปมีแค่ 1 พันล้านคน หรือ 1 ใน 6 ของโลก แต่มีทรัพยากรมากถึง 1 ใน 3 ของโลก เรียกว่า ถ้าไม่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง มีสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ป่านนี้แอฟริกาเจริญมากกว่านี้หลายเท่า
ทุกวันนี้คนแอฟริกันโหยหาอยากกินข้าวไทย อยากทำนาปลูกข้าวเป็น และมีความต้องการเรียนรู้การปลูกข้าว แต่ปลูกไม่เป็น รัฐบาล “เซเนกัล” บอกว่า ต้องการให้ประเทศไทยช่วยสอนปลูกข้าวให้คนของเขา หรือคนไทยนักธุรกิจไทยมาลงทุนปลูกข้าวในประเทศเซเนกัลก็ได้
ทวีปแอฟริกามีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ แม่น้ำไนล์เป็นแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน แต่ประเทศเหล่านี้ก็ไม่เคยใช้ประโยชน์จากแม่น้ำไนล์ ยกเว้นประเทศอียิปต์ประเทศเดียวเท่านั้น ตอนนี้ประเทศต่างๆตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลจัดสรรน้ำใช้ในการเกษตร แต่ไม่มีความรู้ในการเอาน้ำมาใช้ประโยชน์ ไม่รู้วิธีจะกระจายน้ำไปสู่แหล่งเพาะปลูกได้อย่างไร ไม่มีความรู้เรื่องระบบชลประทาน จึงต้องการความรู้จากคนไทยเข้าไปช่วย
น่าจะเป็นโอกาสดีของประเทศไทยที่มี “โนว์ฮาว” หรือเทคโนโลยีในการปลูกข้าว ไปลงทุนปลูกข้าว โดยใช้แรงงานของคนแอฟริกัน ซึ่งไม่เฉพาะบริษัทธุรกิจเกษตรเท่านั้น แต่อาจส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนที่มีความเข้มแข็งเข้าไปลงทุน จะเป็นการยกระดับข้าวไทยไปเปิดตลาดใหม่แทนที่จะส่งออกอย่างเดียว แต่ไปลงทุนผลิตและขายสินค้าได้เลย ประหยัดทั้งต้นทุนและเวลาในการขนส่ง
ขณะนี้ “ดร.กนก” ก็เริ่มปูทางไว้แล้วไม่น้อย 5-6 ประเทศ โดยไปร่วมกับมหาวิทยาลัยในประเทศต่างๆในแอฟริกา ร่วมมือกันทำวิจัย มีโครงการแลกเปลี่ยนอาจารย์ นักศึกษาระหว่างไทยกับแอฟริกา และยังมีโครงการร่วมมืออีกหลายๆประเทศในเร็วๆนี้
หากประสบความสำเร็จ อาจจะเห็นบริษัทธุรกิจเกษตร วิสาหกิจชุมชนไทย ย้ายฐานการปลูกข้าวหนีความแห้งแล้งในบ้านเราไปลงทุนปลูกข้าวในแอฟริกา อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้เป็นอันขาด
ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตมาลงทุนบ้านเรา มาอาศัยค่าแรงถูกๆได้ ทำไมเราจะย้ายฐานการปลูกข้าวไปแอฟริกาไม่ได้
“ข้าวไทย” ที่คนไทยไม่รู้
ทวี มีเงิน
วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
ปีที่ 34 ฉบับที่ 4231 ประชาชาติธุรกิจ