“ทำไมหุ้นถึงลง?” ฟังดูเหมือนคำถามง่ายๆที่ใครๆก็อยากรู้นะครับ แต่คำถามนี้ ถ้าลองไปถามนักลงทุนแต่ละท่านแล้วละก็ ผมเชื่อว่าจะได้รับคำตอบที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป ซึ่งคำตอบของใครจะถูกหรือผิดนั้นไม่เป็นไรเพราะต่างคนก็ต่างมุมมอง แต่ผมมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงนำมาเขียนเป็นบทความนี้ครับ
เมื่อไม่นานมานี้ Mark Minervini หนึ่งในเซียนหุ้นของอเมริกา ได้เขียนบล็อคส่วนตัวของเขาซึ่งพูดถึงสาเหตุที่ทำให้หุ้นลง โดย Mark บอกว่า ตัวเค้าก็ถูกถามตลอดเวลาเช่นกันว่า “หุ้นตัวนี้พื้นฐานก็ดี แต่ทำไมหุ้นถึงลง?”
ซึ่ง Mark ก็ตอบคำถามด้วยคำตอบสั้นๆง่ายๆว่า หุ้นมันลงก็เพราะ มีคนขายมากกว่าคนซื้อ ซึ่งเป็นไปตามหลักพื้นฐานในตลาด หรือกฏของ Demand Supply เท่านั้นเอง
และเขายังกล่าวอีกด้วยว่า สาเหตุ ที่ทำให้หุ้นขึ้นหรือลงนั้น จริงๆเราไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ สิ่งที่จำเป็นต้องเรียนรู้คือ การสังเกตพฤติกรรมของหุ้นผ่านทาง Price & Volume Action ต่างหาก
ใช่แล้วครับ! เหตุผลง่ายๆและจริงที่สุดที่ทำให้หุ้นลงก็เป็นอย่างที่ Mark ว่า ก็คือ มีคนขายมากกว่ามีคนซื้อ
เมื่อ Supply มากกว่า Demand จึงทำให้ราคาลดลง และบ่อยครั้งที่กว่านักลงทุนทั่วไปจะรับรู้ถึงสาเหตุที่ทำให้หุ้นราคาลงมาอย่างรุนแรง ก็มักจะสายเกินกว่าที่จะหลีกเลี่ยงการขาดทุนไปแล้ว หรือในทางตรงกันข้าม คุณอาจจะพลาดกำไรก้อนโตไปเสียแล้ว เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่มักจะมี ราคาเป้าหมาย หรือ ราคาที่ควรจะเป็น ของหุ้นที่ตัวเองสนใจอยู่เสมอ เมื่อราคาที่ปรากฏในตลาดนั้นแตกต่างไปจากสิ่งที่ตัวเองคิด ก็มักจะทุ่มเทความพยายามไปกับการค้นหาคำตอบว่าทำไมมันถึงไม่เป็นไปตามที่ตนได้คิดคำนวนเอาไว้
มีประโยคหนึ่งที่ Mark ได้ฝากเอาไว้ให้กับเหล่านักลงทุนว่า “A stock is like a painting, It’s only worth what someone else is willing to pay” หรือ “หุ้นก็เปรียบเสมือนกับภาพเขียน มันมีมูลค่าเท่าที่คนอื่นพอใจจะซื้อเท่านั้น”
ดังนั้น อย่ามัวยึดติดอยู่กับราคาที่คุณคาดหวังจะให้หุ้นของคุณเป็น เพราะคุณไม่ใช่คนกำหนดราคาหุ้น แต่ตลาดคือคนกำหนดราคาของหุ้นผ่านทาง Price & Volume Action ของหุ้นแต่ละตัวนั่นเอง
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายๆท่านอาจจะไม่เห็นด้วย หรือรู้สึกว่าสิ่งที่ผมพยายามพูดถึงนั้นมันขัดกับหลักการลงทุนของตัวท่าน หลายท่านอาจจะคิดในใจขึ้นมาว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ การที่เราไม่รู้สาเหตุของการขึ้นหรือลงของหุ้นแต่ละตัว แล้วเราจะมั่นใจได้ยังไงว่าหุ้นตัวนั้นมันจะขึ้นหรือมันจะลง?
คำตอบก็คือ การฝึกสังเกต Price & Volume Action อย่างที่ Mark ได้พูดถึงนั่นเองครับ เพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น ผมจะขอยกตัวอย่างโดยเลือกหุ้นใน SET ซัก 4 ตัวมาให้ดูกันนะครับ
CPALL (คลิกที่รูปเพื่อขยายขนาดและดูตัวหนังสือนะครับ)
สำหรับหุ้นตัวแรกที่ผมนำมาเป็นตัวอย่าง คือหุ้นยอดนิยมที่ใครๆก็รู้จัก หุ้น CPALL นั่นเองครับ
หลังจากที่ประกาศงบการเงินประจำปี 2555 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 38% และราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปทำ New High ไว้ที่ 52บาท ฟังดูดีใช่มั้ยครับ กำไรโตขึ้น พร้อมกับราคาหุ้นทำ New High นักลงทุนที่ถือหุ้นไว้ต่างก็ happy กับสิ่งที่เกิดขึ้น หลายคนอาจจะเริ่มมองจังหวะเพื่อเข้าซื้อหุ้น เพราะราคา new high และกำไรเติบโตดี
แต่ไม่จำเป็นเสมอไปที่เราจะต้องรีบร้อนเข้าซื้อหุ้นทันทีหลังจากที่ประกาศงบออกมาดี และราคาก็ทำ New High เพราะเราต้องพิจารณาก่อนว่า ‘ราคา ณ ตอนนี้ หุ้นตัวนี้อยู่ใน Stage ไหนแล้ว’ นั่นคือ ‘หุ้นขึ้นมาไกลมากแล้วหรือยัง?’ หรือหุ้นเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นของรอบการวิ่งรอบใหม่?
ซึ่งถ้าดูจากกราฟข้างบนจะเห็นว่า CPALL นั้น ขยับจากราคา 32.50 บาท ขึ้นมาทำ High ที่ราคา 52 บาท คิดเป็นผลตอบแทนถึง 60% ในเวลาแค่ 4 เดือน และขึ้นมาหลายเท่าตัวแล้วในช่วงปีที่ผ่านมา อาการลักษณะเช่นนี้ควรจัดว่าหุ้นอยู่ใน Stage เริ่มต้น หรือ Stage ท้ายๆดีครับ?
(อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการซื้อหุ้นหลังงบออกได้ที่บทความ “Post-Earnings Drift” ซึ่ง admin เขียนอธิบายเกี่ยวกับการซื้อหุ้นหลังประกาศงบการเงินครับ)
หลังจาก CPALL ทำ New high ที่ราคา 52 บาท ได้เพียง 2 วัน ราคาหุ้นก็เปิด gap ลงอย่างรุนแรงพร้อมกับ Volume ที่มากกว่า Volume ของวันที่ทำ High หลายเท่า ซึ่งนั่นไม่ใช่สัญญาณที่ดีเลยครับ หลังจากนั้นราคาหุ้นก็ค่อยๆปรับตัวลงเรื่อยๆจนปัจจุบัน…
น่าแปลกใจใช่ไหมครับ? ทั้งๆที่หุ้นมีผลประกอบการที่ออกมาดีมาก และยังเป็นหุ้นที่ใครๆก็รู้จักหรือหุ้นยอดนิยมอีกด้วย ถ้าคุณมัวแต่เสียเวลาไปกับการค้นหาสาเหตุว่าทำไมหุ้นถึงลง กว่าที่ CPALL จะแจ้งกับทางตลาดหลักทรัพย์เรื่องการซื้อกิจการ Makro และทางตลาดหลักทรัพย์ให้ขึ้นเครื่องหมาย SP นั้น ราคาก็ลงมาจาก High แล้วอย่างน้อย –16% จากราคาก่อนวันขึ้นเครื่องหมาย SP และกลายเป็น -30% หลังจากขึ้นเครื่องหมาย SP เลยทีเดียว
คุณจะไม่มีทางหลีกเลี่ยงการขาดทุนหนักๆ หรือการที่กำไรในพอร์ตหายไปพอสมควร (ราคากลับลงมาที่ฐานเดิม 33 – 34 บาท) ถ้าหากคุณมัวแต่สนใจรอหาสาเหตุของการลงเพียงอย่างเดียว และละเลย Price & Volume Action ที่มันแสดงออกมาให้เห็นอยู่ตลอด
LIVE
สำหรับตัวอย่างที่ 2 ที่ผมยกมานั้นค่อนข้างจะตรงข้ามกับตัวอย่างที่ 1 อย่าง CPALL ซึ่งเป็นหุ้นที่ใครๆก็รู้จัก แต่หุ้นที่ผมนำมาเป็นตัวอย่างที่ 2 นั้นหลายๆท่านอาจจะไม่เคยได้รู้จักมาก่อนครับกับหุ้น Live ซึ่งหุ้นตัวนี้เรียกได้ว่าไม่ธรรมดา ถือเป็น Market Leader ของ SET ในรอบ rally จาก 13xx สู่ 16xx ก่อนที่จะจบรอบการวิ่งลงพร้อมๆกับ SET เช่นกัน
จากกราฟข้างบน จะเห็นว่าช่วงก่อนที่หุ้น Live ประกาศผลประกอบการของไตรมาส 3/2555 เริ่มมีสัญญาณแสดงออกมาหลังจากที่หุ้นพยายามทำ New High แต่ไม่สำเร็จในครั้งแรก ก่อนที่จะทำ New high สำเร็จหลังจากประกาศผลกำไรครั้งแรกในรอบ 2 ปีครึ่งของบริษัท หลังจากนั้นไม่นาน SET ก็เริ่มรอบการวิ่งจาก 13XX ไปยัง 16XX โดยที่ Live ซึ่งเป็นหนึ่งใน Market Leader ก็แสดงศักยภาพความเป็นผู้นำออกมาให้ได้เห็นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
หลายๆท่าน ณ ขณะนั้นอาจจะเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า “ทำไมหุ้นตัวนี้ถึงขึ้น?” กว่าที่จะรู้เหตุผลของการวิ่งก็เมื่อประกาศผลกำไรไตรมาสที่ 4 เติบโตมากกว่าไตรมาสที่ 3 เกือบ 100% แต่ราคาหุ้นวิ่งขึ้นมาจาก 0.19 บาท ไปถึง 0.85 บาท ก่อนประกาศงบการเงินประจำปี 2555 คุณจะพลาดโอกาสทำกำไร 347% จากหุ้น Leader ตัวนี้ไป หากมัวแต่รอหาสาเหตุของการที่หุ้นวิ่ง
แล้วถ้าคุณมาซื้อหุ้น Live หลังจากประกาศผลประกอบการปี 2555 หละครับ สายเกินไปหรือไม่? ณ ขณะนั้น หุ้น Live ไม่ได้อยู่ใน Stage เริ่มต้นเหมือนช่วงก่อนแล้ว เมื่อผลประกอบการปี2555 ประกาศออกมา หุ้น Live เริ่มเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ทำให้ Live ค่อยๆขยับเข้าสู่ Stage สุดท้ายของรอบ พอดีกับที่ SET ทำ Buying climax ครั้งแรกในรอบการวิ่งจาก 13xx มา 16xx ซึ่ง Live ในฐานะของผู้นำของตลาดรอบนี้ ก็จบรอบการวิ่งของตัวเองลงพร้อมๆกันด้วยการทำ High ไว้ที่ 1บาท ก่อนจะค่อยๆปรับตัวลงมา
และแน่นอนว่าโบรกเกอร์เริ่มออกบทวิเคราะห์แนะนำซื้อหุ้นพร้อมกับข่าวดีต่างๆ หลังจากที่หุ้นทำ climax และค่อยๆปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องไปแล้ว เห็นมั้ยครับว่า การหมกมุ่นอยู่กับการค้นหาสาเหตุที่ทำให้หุ้นขึ้นไม่ได้ช่วยให้มีอะไรดีขึ้นมาเลย นอกจากคุณจะพลาดกำไรก้อนโตแล้ว เมื่อทุกอย่างเฉลยออกมาแล้ว คุณอาจจะต้องจ่ายค่าเจ็บตัวที่มาช้าแทนอีกด้วย
MALEE
ตัวอย่างที่ 3 ที่ผมยกมาให้ทุกท่านดูคือ Market Leader อีก 1 ตัว นั่นคือ หุ้นน้ำผลไม้ 10 เด้ง หรือ ‘MALEE’ นั่นเองครับผม
MALEE นั้นถือเป็น Leader มาตั้งแต่ SET เริ่มรอบขาขึ้นหลังจากน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 ก่อนที่จะปรับฐานพร้อม SET แล้วเริ่มขาขึ้นอีกครั้งหลังปรับฐานพร้อมกับตลาด และจบรอบการวิ่งลงพร้อมกัน ดูสามัคคีรักใคร่กลมเกลียวกันมากๆครับ อิอิ
ทีนี้ เราลองมาดูอาการ Price & Volume Action ที่ MALEE แสดงออกมาให้เราเห็นกันครับ (ราคาในกราฟข้างบนเป็นราคาที่มีการปรับหลังจากที่ MALEE มีการปรับมูลค่า Par Value ของหุ้นแล้วนะครับ)
MALEE เริ่มมีสัญญาณการเก็บหุ้นครั้งแรกที่แถวๆราคา 5 บาท ก่อนจะค่อยปรับราคาขึ้นพร้อมๆกับการฐานจาก 5 บาทเป็น 7.5 บาท หลังจากประกาศงบการเงินไตรมาสที่ 3/2554 ผลกำไรเติบโตถึง 52.5% ราคาหุ้นก็ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่ ณ ขณะนั้นหุ้น MALEE ยังเป็นหุ้นที่ไม่ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายเท่าไรนัก (ช่วงนั้นมีแต่คนบอกว่า ‘หุ้นน้ำผลไม้ปั่น’)
แต่ถ้าดูจาก Price Volume Action จะเห็นได้ว่ามี volume การเก็บอย่างต่อเนื่อง และ MALEE ก็ค่อยๆยกฐานราคาขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ก่อนจะจบรอบการวิ่งลงพร้อมๆกับการปรับฐานของ SET หลังจากที่ขึ้นมาต่อเนื่องหลังน้ำท่วม ซึ่งในช่วงที่ปรับฐานนี้เอง MALEE ก็ได้ประกาศงบการเงินไตรมาสที่1/2555 ออกมา ผลกำไรเติบโต 482%!!! ทำให้ MALEE เริ่มตกเป็นเป้าสนใจของนักลงทุนทั่วไปในตลาด เมื่อราคาขยับขึ้นมาแล้วกว่า 600%
หลังจาก SET ปรับฐานเสร็จแล้วเริ่มขาขึ้นรอบใหม่ MALEE เองก็เริ่มต้นรอบขาขึ้นรอบใหม่เช่นกัน เพียงแต่รอบนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว เพราะ สาเหตุ เฉลยออกมาให้รู้กันหมดแล้ว และถึงแม้ว่าท้ายที่สุด MALEE จะสามารถขึ้นไปทำราคา High ไว้ได้ที่ 75.50 บาท หรือคิดเป็นผลตอบแทน 50-60% เมื่อเทียบกับราคาหลังประกาศงบการเงินไตรมาสที่ 3/2555
แต่ถ้าสังเกตจาก Price Volume Action แล้ว จะเห็นว่าขาขึ้นรอบที่สองนี้มีความผันผวนเป็นอย่างมาก ในแง่ของผลตอบแทนเปรียบเทียบกับความผันผวนแล้วเทียบกันไม่ติดเลยทีเดียว…
ฉะนั้นแล้ว ถ้าคุณมัวแต่รอหาสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้น MALEE เพิ่มขึ้นหลายเด้งในเวลาไม่นานนัก คุณก็พลาดกำไร 600% ไปแล้วในตอนที่ MALEE ประกาศผลกำไรโต 482% ในไตรมาส1/2555 และถึงแม้ว่าคุณจะสามารถทำกำไรจาก MALEE ได้ 60% จากรอบหลัง คุณก็พลาด Leader ตัวอื่นๆที่คุณไม่สนใจอย่างเช่น LIVE ที่ให้ ผลตอบแทนกว่า 426% ไปแทน
HTECH
เอาหละครับ มาถึงตัวอย่างสุดท้ายของผมแล้ว คือหุ้นอิเล็กโทรนิคที่หลังจากน้ำท่วมแล้วสามารถวิ่งขึ้นไปได้ถึง 137% ในระยะเวลาประมาณ 1 ปี และ เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่จะแสดงให้เห็นว่าคุณไม่สามารถรอจนกว่าจะรับรู้ถึงสาเหตุที่ทำให้หุ้นลง และในกรณีนี้คุณอาจจะเจ็บตัวหนักๆก็เป็นได้ครับ
ตลาดหุ้นไทยปรับฐานใหญ่จากเหตุการณ์น้ำท่วมช่วงปลายปี 2554 หลังจากนั้นไม่นานหุ้นหลายๆตัวก็เริ่มกลับมาสู่ขาขึ้นกันอีกครั้ง HTECH เองก็เช่นกัน หลังจากทำราคา Low ไว้ที่ 2.46 บาท ก็ค่อยๆยกฐานราคาขึ้นมาอยู่ในระดับ 2.7X บาท และค่อยๆขยับขึ้นไปพร้อมทำ New High เช่นเดียวกับผลประกอบการที่ออกมาดีต่อเนื่อง หลังผลประกอบการQ4/2554 แสดงผลกำไรเติบโตถึง 81.7% ราคาหุ้นก็ขยับฐานขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง จาก 3.2X > 3.7X บาท ก่อนที่ตลาดจะเริ่มปรับฐานอีกครั้ง
และถึงแม้ว่ากำไรใน Q1/2555 จะออกมาโต 42% แต่ HTECH ก็ไม่สามารถฝืนการปรับฐานของตลาดได้ ตลาดปรับฐาน 11% แต่หุ้น HTECH ปรับฐานถึง 22% เมื่อเทียบจาก High ไป Low ครับ จะเห็นว่าผลประกอบการที่ดีไม่ได้หมายความว่าหุ้นของคุณจะรอดพ้นจากการปรับฐานของตลาดไปได้ครับ สำหรับผลตอบแทนเมื่อนับจากราคา low ขึ้นมาที่ราคา High ก่อนปรับฐานนั้นอยู่ที่ 82% ในเวลาเพียงแค่ 7 เดือนครับ คุณจะพลาดโอกาสทำกำไรแน่นอน หากคุณรอจนทุกอย่างเฉลยออกมาครับ
หลังจากตลาดปรับฐานเสร็จ Price Volume action ของ HTECH ก็ออกอาการพร้อมกับที่ตลาดทำ Bottom ทันที และยกฐานราคาของ HTECH ขึ้นมาที่ 4.0X และ 4.2X ตามลำดับ ก่อนจะพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ระดับราคา 5บาท จากผลประกอบการ Q2/2555 ที่กำไรเติบโต 62% จากตรงนี้จะเห็นว่าราคาหุ้นขึ้นมา 100% แล้วหลังน้ำท่วม และหุ้นยังพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะสังเกตุว่าช่วงราคา 5.25บาท ไปยัง 5.85 บาทนั้น ใช้เวลาเพียง 5 วัน แต่จุดที่เราควรสังเกตและระวังคือ Volume ที่ลดน้อยลงเรื่อยๆในช่วงที่หุ้นทำ New High รอบนี้…
หลังจากนั้นก็ยังคงมีข่าวดีออกมาต่อเนื่อง เช่น บริษัทตั้งเป้าเติบโต 25% ในปี 2555 เป็นต้น แต่อาการ Price Volume Action ที่แสดงออกมาในกราฟนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง ดูเหมือนหุ้นค่อยๆหมดแรงและไหลลงช้าๆ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้คุณระวัง และเตรียมตัวตัดขาดทุนหรือ lock profit โดยเร็ว เพราะมันไม่ใช่สัญญาณที่ดีนักของหุ้นที่เพิ่งทำ New High
และถ้าคุณรอจนรู้สาเหตุที่ราคาไหลลงละก็ ในวันที่ประกาศผลประกอบการ Q3/2555 ซึ่งกำไรลดลง 8.16% ราคาปิด HTECH อยู่ที่ 4.42บาท หรือลดลงมาแล้ว 25% จาก High ส่วนราคาปิดของ HTECH หลังจากประกาศผลขาดทุนใน Q4/2555 อยู่แถวๆ 3.xx บาท หรือลดลง 42% จาก High ซึ่งคุณไม่มีทางหลีกเลี่ยงการขาดทุนหนักๆได้เลยถ้าหากคุณมัวรอจนทุกอย่างเฉลยออกมาครับ
เห็นมั้ยครับว่า เป็นอีกครั้งที่การละเลย Price Volume Action ไม่เพียงทำให้คุณพลาดโอกาสทำกำไร แต่ยังจะทำให้คุณเจ็บตัวหนักๆแทนอีกด้วย
“Everything you need to know is right there in front of you.”
– Jesse Livermore –
จากตัวอย่างหุ้นทั้ง 4 ตัวที่ผมได้ยกมาให้ทุกท่านได้เห็นความแตกต่างระหว่างการให้ความสำคัญของ สาเหตุ กับ Price & Volume Action ไปแล้วว่าแตกต่างกันอย่างไร การมีมูลค่าหรือราคาในใจสำหรับหุ้นแต่ละตัวไม่ใช่เรื่องที่ผิดครับ เพราะนักลงทุนแต่ละท่านย่อมมีแนวทางการลงทุนที่แตกต่างออกไป เพียงแต่การที่คุณให้ความสำคัญกับมันมากเกินไป ก็จะทำให้คุณละเลยหลายๆอย่างไป คุณอาจจะสร้างอคติส่วนตัวขึ้นมา ซึ่งมันจะส่งผลกับผลตอบแทนของคุณทั้งในระยะสั้นและระยะยาวในที่สุด
ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนแนวไหน มีความคิดความเชื่อของตัวเองเป็นอย่างไรก็ตาม อย่าลืมเปิดใจให้กว้าง ลบอคติออกไป แล้วคอยถามตัวเองเสมอๆนะครับว่าคุณมาลงทุนเพื่ออะไร “เพื่อพิสูจน์ว่าแนวคิดของคุณถูกต้องที่สุด” หรือ “เพื่อผลตอบแทนให้ดีที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้” ขอให้ทุกๆท่านโชคดีในการลงทุนครับ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยครับผม สวัสดีครับ ^^
‘ทำไมหุ้นถึงลง?’ – กับเหตุผลที่พื้นฐานที่สุด
โดย Phantorm
www.sarut-homesite.net
6 สิงหาคม 2013
บทความน่ารู้มากครับ ขอบคุณครับ
ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ครับ