ในยามที่ตลาดหุ้นกำลังปรับตัวขึ้นเป็นกระทิงเปลี่ยวอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ นักลงทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะที่เป็นนักเก็งกำไร ต่างก็มีความสุขจากการที่สามารถทำกำไรจากการลงทุนเป็นกอบเป็นกำ แต่ผมคิดว่าไม่ใช่ทุกคนที่มีความสุข และก็แน่นอนว่าความสุขของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ผมกำลังจะบอกว่า Value Investor บางคนอาจจะไม่ได้มีความสุขเลยจากการที่หุ้นวิ่งเป็นกระทิงเปลี่ยว และบางคนก็อาจจะรู้สึกเฉยๆ
เหตุผลก็คือ พวกเขาอาจจะไม่ได้กำไรอะไรมากนัก เพราะหุ้นที่วิ่งกันเป็นบ้าเป็นหลังนั้น ไม่ได้เป็นหุ้นในกลุ่มที่พวกเขาถืออยู่ หุ้นที่พวกเขาถืออยู่นั้น จำนวนมากกลับไม่ได้ปรับตัวขึ้นเป็นเรื่องเป็นราว บางตัวกลับลดลง สรุปแล้วพวกเขาไม่ได้อะไร แต่ที่ทำให้เศร้ามากที่สุดก็คือ พวกเขามองเห็นคนอื่นกำไรเอาๆ และก็ทำอะไรไม่ถูก ในภาวะอย่างนี้ Value Investor ควรจะทำอย่างไร?
คำตอบแรกเลยที่ผมคิดออกก็คือ ต้อง “ทำใจ” เพราะจากประสบการณ์ของผม ในทุกครั้งที่ตลาดหุ้นวิ่งเป็นกระทิง โดยเฉพาะในช่วงแรกๆของการปรับตัวขึ้นของดัชนี หุ้นที่วิ่งก่อนก็คือ หุ้นบลูชิพขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นหุ้นที่ Value Investor มักจะไม่ค่อยให้น้ำหนักในการลงทุนมากนัก และในช่วงที่หุ้นขนาดใหญ่ขึ้นนั้น นักลงทุนจำนวนมากก็จะหันไปเล่นหุ้นเหล่านั้น โดยที่จะไม่ใคร่มีใครสนใจหุ้นขนาดเล็กพื้นฐานดีที่เป็นหุ้นคุณค่า ดังนั้น หุ้นคุณค่าที่เป็นที่นิยมของเหล่า VI จึงมักจะยืนนิ่งในขณะที่หุ้นขนาดใหญ่วิ่งเอาๆ
หุ้น VI บางตัวที่ยังไม่มีข่าวดีด้านผลประกอบการกลับถูกเทขายทำให้ราคาตกลงมาด้วยซ้ำ เหตุผลอาจจะเป็นว่า นักลงทุนขายหุ้นเล็กที่ยังไม่มีข่าวดีเพื่อเอาเงินไปซื้อหุ้น “ตลาด” ที่กำลังวิ่ง
การ “ทำใจ” ที่ผมพูดถึงก็คือ เราต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า หุ้นทุกตัวหรือแต่ละกลุ่มมีจังหวะในการเดินหรือวิ่งของมัน แต่เป็นเรื่องยากที่เราจะรู้จังหวะของมันอย่างแน่นอน โดยปกติ หุ้น VI นั้น จะมีการปรับตัวไปเรื่อยๆ ตามผลการดำเนินงานมากกว่าปัจจัยอย่างอื่น ดังนั้น การวิ่งของหุ้นเหล่านั้น จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเฉพาะตัว
ภาวะตลาดหุ้นเป็นเพียงส่วนประกอบที่จะช่วยเร่ง หรือชะลอความเร็วของการวิ่งของหุ้น และนี่คือสิ่งที่เป็นความถนัดหรือความสามารถของชาว VI นั่นก็คือ การคาดการณ์ถึงผลกำไรหรือผลประกอบการของบริษัทที่เราจะลงทุน
ในทางตรงกันข้าม หุ้น “ตลาด” ซึ่งก็คือหุ้นที่นักเล่นหุ้นนิยมซื้อขายกันมากเนื่องจากอาจจะมีราคาผันผวน ขึ้นลงแรงและมีปริมาณการซื้อขายค่อนข้างมาก เช่น หุ้นบริษัทหลักทรัพย์ หุ้นธนาคาร หุ้นอสังหาริมทรัพย์ หรือ หุ้นพลังงาน จะมีราคาขึ้นลงตาม “กระแสเงิน” หรือที่นักวิเคราะห์เรียกว่า Fund Flow ที่นักลงทุนโดยเฉพาะชาวต่างประเทศขนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมาก ดังนั้น ในยามที่ตลาดหุ้นเป็นกระทิง หุ้นเหล่านั้นจะมีราคาวิ่งขึ้นไปได้รวดเร็ว ทั้งๆที่ผลการดำเนินงานก็อาจจะไม่ได้ดีขึ้น หรือดีขึ้นก็อาจจะเป็นเรื่องชั่วคราว ไม่ได้เกิดจากพื้นฐานที่แท้จริง และนี่ก็เป็นเกมที่ Value Investor ส่วนใหญ่หรือจำนวนมากไม่ถนัด
ถ้ามองทางด้านของมิติของเวลาแล้ว เราก็จะพบว่า ตลาดหุ้นโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะมีเวลาที่เป็นกระทิงค่อนข้างสั้น เช่นเดียวกับตลาดหมีก็มักจะอยู่ไม่นาน ตลาดหุ้นส่วนใหญ่มักเป็นตลาด “ธรรมดา” ที่ดัชนีมีการปรับตัวขึ้นๆลงๆ ในระดับไม่เกิน 20-25% ต่อปี หรือถ้าจะลบก็อยู่ในอัตราไม่มากนัก ดังนั้น ในสายตาของ Value Investor แล้ว เวลาของการทำกำไรหรือสร้างผลตอบแทนนั้นค่อนข้างจะยาวนานมาก เกือบจะพูดได้ว่าเวลาที่เหมาะสมในการลงทุนในตลาดหุ้นก็คือ “ทุกเวลา” ขึ้นอยู่กับตัวหุ้นที่เจอ ในขณะที่สำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่หรือนักเก็งกำไรแล้ว เวลาลงทุนที่ดีก็คือในช่วงที่หุ้นบูมซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สั้นกว่ามาก
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ลักษณะของการสร้างผลตอบแทนหรือทำกำไรของ VI กับนักลงทุนทั่วไปหรือนักเก็งกำไรจึงน่าจะต่างกัน นั่นก็คือ VI น่าจะมีผลงานการลงทุนที่ช้าๆ แต่ค่อนข้างสม่ำเสมอ เดือนแล้วเดือนเล่า ปีแล้วปีเล่า ในขณะที่นักลงทุนทั่วไปและเฉพาะอย่างยิ่ง นักเก็งกำไร จะมีผลการลงทุนที่โดดเด่นมากๆ ในช่วงที่หุ้นเป็นกระทิงแต่จะเกิดขึ้นเป็นช่วงสั้นๆเท่านั้น
พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงนักเก็งกำไรรายใหญ่บางคนที่บอกว่า ในช่วงกระทิงของปี 2546 นั้น เขากำไรปีเดียวคิดเป็นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ Value Investor ที่ประสบความสำเร็จสูงในช่วงหลายๆปีที่ผ่านมาอาจจะทำกำไรได้เพียงปีละ 30-40% เท่านั้น แต่ก็มักจะได้ผลตอบแทนที่ดีเกือบทุกปีแม้ว่าตลาดหุ้นโดยรวมจะไม่ไปไหน ดังนั้น การเป็น Value Investor นั้น ก็ควรที่จะหมายความว่า เรากำลังยอมเลือกที่จะเดินทาง “สายเต่า” คือ ช้าๆแต่แน่นอน และยอมที่จะ “สละ” โอกาสที่จะทำกำไรปีเดียว “หลายร้อยเปอร์เซ็นต์” ที่นักเก็งกำไรที่มีความสามารถบางคนอาจจะทำได้
คำถามสุดท้ายที่บางคนอาจจะอยากถามก็คือ เราควรที่จะปรับตัวปรับพอร์ตหรือไม่แทนที่จะนั่ง “ทำใจ” คำตอบของผมก็คือ มันเป็นเรื่องที่เสี่ยงและอาจจะทำให้เราเสียวินัยในการลงทุน ที่ว่าเสี่ยงก็คือ ในวันที่เราปรับพอร์ต หุ้น “ตลาด” อาจจะปรับตัวลดลง ตลาดกระทิงอาจจะไม่ไปต่อ ทำให้เราขาดทุนได้ เพราะจริงๆแล้วไม่มีใครรู้หรือคาดการณ์ได้แม่นยำว่า กระทิงรอบนี้จะพาดัชนีไปถึงไหน และที่ว่าอาจทำให้เราเสียวินัยในการลงทุนก็คือ ถ้าเราปรับพอร์ตแล้วสามารถทำกำไรได้ดีกว่าพอร์ตเดิม เราก็อาจจะเริ่มคิดว่าเรามีความสามารถในการคาดการณ์ตลาดเช่นเดียวกับความสามารถในการดูผลการดำเนินงานของบริษัท และในโอกาสต่อๆไป เราก็จะเริ่มทำการปรับพอร์ตไปเรื่อยๆ เมื่อเราคิดว่าตลาดจะเป็น “กระทิง” และในไม่ช้าเราก็จะกลายเป็น “นักลงทุนมหัศจรรย์” ที่เป็นได้ทั้ง “เต่า” และ “กระต่าย” ขึ้นอยู่กับ “สถานการณ์” ซึ่งในประสบการณ์ของผมนั้น ยังไม่เคยเจอคนที่ทำได้
VI กำสรวล
โลกในมุมมอง Value Investor
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
17 กรกฎาคม 2550
ดีครับ อ่านแล้วเข้าตัวดี ^^