ปรากฏการณ์เล็กๆอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ในแวดวงของ Value Investor ก็คือสิ่งที่ผมอยากจะเรียกว่า “VI Effect” นี่คือปรากฏการณ์ที่หุ้นหลายๆตัวที่กลุ่ม Value Investor “มืออาชีพ” ซื้อลงทุนและได้รับการกล่าวขวัญถึงในเว็บไซ้ต์หรือสื่อต่างๆ มีราคาปรับตัวขึ้นค่อนข้างเร็วและมาก
ก่อนที่จะพูดถึงเหตุผล ผมคงต้องทำความเข้าใจถึงความหมายของคำว่า “Effect” เสียก่อนว่ามันหมายถึงอะไร
เวลาพูดเกี่ยวกับเรื่องของการลงทุน คำว่า Effect นั้น หมายถึงผลกระทบ หรืออิทธิพลอันเนื่องมาจากการกระทำของคนหรือกลุ่มของนักลงทุนที่มีต่อราคาหุ้น ซึ่งอาจจะไม่นับหรือยังไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของพื้นฐานของบริษัท แต่เป็นเรื่องที่การกระทำของคนหรือกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ส่งผลให้มีคนทำตามจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นหรือลงมากกว่าที่ควรเป็น
ตัวอย่างเช่น เมื่อมีข่าวว่า วอเร็น บัฟเฟตต์ เข้าซื้อหุ้นของบริษัทปิโตรไชน่าของจีน ราคาของหุ้นปิโตรไชน่าก็พุ่งขึ้นหลายเท่าในเวลาอันสั้น อาจจะเป็นเพราะว่านักลงทุนคิดว่า ถ้าบัฟเฟตต์ซื้อ ก็หมายความว่าหุ้นตัวนี้คงเป็นหุ้นที่ดีและราคาถูก ดังนั้น พวกเขาจึงรีบเข้าไปซื้อตามก่อนที่ราคาจะ “ขึ้น” ไป หรือขึ้นไปอีก
นักลงทุนบางคนอาจจะไม่ได้คิดว่าหุ้นตัวนี้เป็นหุ้นที่ดีและถูกเท่าไรนัก แต่เขาคิดว่าคงมีคนที่จะเข้าไปซื้อหุ้นปิโตรไชน่าตามบัฟเฟตต์ ดังนั้นเดี๋ยวหุ้นก็จะขึ้น ดังนั้น เขาต้องเข้าไปซื้อดักหน้าไว้ก่อน กระบวนการที่คนต่างก็รีบเข้าไปซื้อหุ้นทำให้หุ้นปิโตรไชน่าขึ้นไปเอง ไม่ว่าพื้นฐานจะดีคุ้มกับราคาหุ้นหรือไม่
ลักษณะของการขึ้นของหุ้นในทันทีที่มีข่าวบัฟเฟตต์เข้าไปซื้อนั้นเรียกว่าเป็น “Buffett Effect” และผมคงไม่ต้องพูดต่อว่า อิทธิพลของบัฟเฟตต์ต่อราคาหุ้นนั้นมากแค่ไหน เพราะหุ้นแทบจะทุกตัวที่บัฟเฟตต์ซื้อนั้น หลังปรากฏข่าวหรือแม้แต่ข่าวลือก็มักจะ “วิ่งกระจาย”
Effect หรืออิทธิพลระดับ “โลก” นั้น แน่นอน ไม่ใช่มีแต่เฉพาะจากบัฟเฟตต์ซึ่งเป็นแนวของ Value Investor นักเก็งกำไรอย่าง จอร์จ โซรอส นั้นก็มี Effect ไม่แพ้กัน หรืออาจจะมากกว่า ว่ากันว่าถ้า จอร์จ โซรอส เข้าไปเล่นอะไร คนแห่ตามกันเพียบ ตัวอย่างเช่นสมัยที่มีการเก็งกำไรค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 ที่ทำให้ค่าเงินบาทล่มสลายนั้น คนที่ทำจริงๆคงเป็น “สาวก” ของโซรอสมากกว่าตัวเขาเอง
ในเมืองไทยนั้น Effect ก่อนหน้านี้เท่าที่เห็น ก็จะมีเฉพาะที่มาจากนักเก็งกำไรหรือ “นักปั่น” หุ้นรายใหญ่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในสมัยก่อนนั้น พอมีข่าวว่า เซียนหรือรายใหญ่กำลังเข้ามาเล่นหุ้นตัวไหน หุ้นตัวนั้นก็ “วิ่งกันกระจาย” เพราะคนเชื่อว่าต้องรีบซื้อก่อนที่มันจะวิ่ง พอคนจำนวนมากคิดแบบนั้น หุ้นก็ต้องขึ้นทั้งๆที่พื้นฐานบริษัทอาจจะแย่มาก
อย่างไรก็ตาม Effect เนื่องจากขาใหญ่นั้น ในระยะหลังก็เริ่ม “เลือนลาง” ไป เนื่องจากคนที่ “ซื้อตาม” นั้น จำนวนมาก “หนีไม่ทัน” และมักจะขาดทุน จึงเลิกเชื่อถือ ผลก็คือ Effect เหล่านั้นก็หมดไปพร้อมๆกับความนิยมในการเล่นหุ้นเก็งกำไรที่ไม่มีพื้นฐาน และนั่นคงเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนแบบ Value Investment ที่เริ่มแพร่หลาย และได้รับการยอมรับมากขึ้น
กลุ่ม Value Investor ที่ได้เริ่มเข้ามาลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆในตลาดหุ้น ตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤติปี 2540 นั้น มาถึงปัจจุบันผมอยากจะพูดว่าเติบโตขึ้นมากแบบก้าวกระโดด และน่าจะกลายเป็น กลุ่มที่มีพลังและอิทธิพลมากพอสมควร และกำลังสร้างปรากฏการณ์ที่เรียกว่า VI Effect โดยมีเหตุผลต่อไปนี้
ข้อแรกก็คือ “พลังเงิน” ถึงแม้ว่าเม็ดเงินที่มีในตลาดหุ้นของ VI จะยังน้อยกว่านักลงทุนต่างประเทศหรือนักลงทุนสถาบัน แต่ก็มีนัยสำคัญในตลาด มองคร่าวๆผมคิดว่าเม็ดเงินรวมของกลุ่ม VI นั้น น่าจะอยู่ในหลัก “หลายหมื่นล้านบาท” ซึ่งเพียงพอที่จะ “ขับเคลื่อนราคาหุ้น” ของบริษัทขนาดเล็กหรือกลางบางบริษัทได้ไม่ยาก
ข้อสอง ผลงานและความรอบรู้ในตัวกิจการของ VI ระดับ “เซียน” นั้น สามารถสร้างความประทับใจและน่าเชื่อถือกับนักลงทุนอื่นๆ โดยเฉพาะที่เป็น VI ด้วยกัน ดังนั้น เวลาที่ VI ระดับเซียนซื้อหุ้น จึงมักมีคนซื้อตามกันมาก
พลังเงินจำนวนมากบวกกับตัวหุ้นที่มักจะเป็นบริษัทเล็กและมีหุ้นกระจายอยู่ในตลาดน้อย ทำให้หุ้นตัวดังกล่าววิ่งแรงมาก และนี่ก็ยิ่งดึงดูดให้นักลงทุนรายใหม่เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นไปอีก Effect ก็เกิดขึ้น
ข้อสามก็คือ พลังของการสื่อสาร นี่คือวิวัฒนาการของการลงทุนที่ไม่มีในสมัยก่อน ในยุคปัจจุบันนั้น การสื่อสารกว้างขวาง รวดเร็ว แพร่หลาย และถูกมาก นักลงทุนส่วนบุคคลสามารถส่งข้อมูลถึงคนอื่นผ่านสื่อต่างๆได้ด้วยตนเองและทันที และสามารถผ่านถึงผู้รับทางโทรศัพท์มือถือได้ สื่อทางสังคม เช่น เฟซบุค ทวิตเตอร์ หรือบล็อกส่วนตัว ทำให้การตอบสนองของนักลงทุนนั้นรวดเร็วและรุนแรง
ข้อสี่ พลังของความคิดและความเชื่อที่คล้ายคลึงกันของ VI นี่เป็นเรื่องที่ทำให้เกิด Effect ง่ายขึ้น เข้าทำนอง “สามัคคีคือพลัง” VI จำนวนมากอ่านหรือรับรู้ข้อมูลผ่านเวบไซ้ต์เดียวกัน ไปสัมนาที่เดียวกัน ไปชุมนุมจัดเลี้ยงในกลุ่มเดียวกัน หรืออ่านหนังสือเล่มเดียวกัน ดังนั้น เวลาได้รับรู้การซื้อขายหุ้นของ “ผู้นำ” หรือ “เซียน VI” และไปศึกษาเพิ่มเติม การตัดสินใจหรือปฏิบัติจึงออกมาในแนวเดียวกัน
ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงเหตุผลบางส่วนที่ทำให้เริ่มเกิด VI Effect ในตลาดหุ้นไทย ในระยะสั้น VI Effect ยังน่าจะมีต่อเนื่องไป ซึ่งน่าจะเป็นผลจาก “Success beget Success” หรือความสำเร็จก่อให้เกิดความสำเร็จตามมา อย่างไรก็ตาม ในที่สุด “อิทธิพล” จะยังคงอยู่ได้หรือไม่อยู่ที่ว่า ในระยะยาวแล้ว หุ้นที่เกิดจาก Effect ยังมีราคายืนอยู่และเติบโตขึ้นไปได้หรือไม่ ถ้าปรากฏว่าหุ้นขึ้นไปโดยเกิดจากผลกระทบระยะสั้น แต่หลังจากนั้นหุ้นกลับตกลงมาเนื่องจากผลประกอบการบริษัทไม่เป็นอย่างที่คิด สุดท้ายความเชื่อถือก็จะหมดไป และ Effect ต่างๆจะหมดไป
ในอีกด้านหนึ่ง คนที่ซื้อหุ้นตามก็ต้องระวังว่า การซื้อตามนั้น ไม่ใช่หลักการของ VI ที่เน้นว่า เราต้อง “คิดเอง” และถ้าเราคิดแล้วมีคนตาม นั่นก็แปลว่า ฝีมือเราอาจจะก้าวขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง และเราน่าจะประสบความสำเร็จสูงขึ้น
VI Effect
โลกในมุมมอง Value Investor
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
19 มิถุนายน 53