ช่วงที่ตลาดเล่นแบบ ทุบ-ดึง-ดีด-วน
สิ่งที่ต้องระวังและทำให้เราเสียเปรียบอยู่เรื่อยๆ นอกจากการเข้าเทรดตอนไล่ราคา (FOMO)
ก็คือเรื่อง overtrade หรือเทรดมากเกินไปในตลาด highly volatile
ตลาดที่ขึ้นกับตลาดที่ง่ายนั้นไม่เหมือนกันซะทีเดียว
การดูอาการและ feedback ในแต่ละวันก็จะช่วยบอกเราได้ว่าตลาดกำลังเป็นแบบไหน
จากที่ชอบไล่ก็อาจจะรอทุบลงมาแทน (pullback ไม่หลุด / shakeout ดึงกลับ)
จากที่เทรดบ่อยเกินก็ลดจำนวนเทรดลง เลือกมากขึ้นคัดกรองให้ดีขึ้น เป็นต้นครับ
.
.
‘อย่าเสพติดการเทรด’
การมีความชอบหรือมี passion ในสิ่งที่ทำนั้นถือว่าเป็นเรื่องดี
เพราะถ้าเราไม่ชอบสิ่งที่ทำอยู่ เราก็จะทนทำอยู่ได้ไม่นานนัก
หรือทำไปก็ไม่มีความสุข เพราะมันไม่ใช่เรื่องสนุกสำหรับเรา
การเทรดหุ้นก็เช่นเดียวกับเรื่องอื่น คือนอกจากจะไม่ใช่สิ่งที่เหมาะกับทุกคนแล้ว
นิสัย , แนวคิด , และสถานะของแต่ละคน ก็ส่งผลกับการเลือกหลักการลงทุนอีกด้วย
เราจึงเห็นว่า การเล่นหุ้นนั้นมีหลากหลายวิธีให้เลือกใช้
คนที่ไม่ชอบเทรดก็เน้นถือยาว กินปันผล คนชอบเทรดก็มีหลายหลักการให้ศึกษาเป็นแนวทาง
คนที่ชอบเทรดจะรู้สึกสนุกกับการจับจังหวะตลาด-จังหวะของหุ้น ซึ่งทำให้เราเทรดหุ้นไปได้เรื่อยๆโดยไม่รู้สึกเบื่อ
อย่างไรก็ตาม การเทรดที่ดีนั้นไม่ใช่ว่าเราต้องเทรดให้ได้เยอะๆ เทรดตลอดเวลาไม่หยุดหย่อน
แต่มันคือ ‘การเทรดเมื่อเราเห็นโอกาสที่ดีที่สุดเกิดขึ้นตรงหน้า’
ซึ่งโดยทั่วไป โอกาสที่ดีจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก เพราะตลาดมักจะมีโอกาสงามๆให้เราเทรดแค่ไม่กี่ครั้งในแต่ละ cycle ของมัน
ดังนั้น สิ่งที่ต้องระวังสำหรับคนชอบเทรดก็คือ มันอาจจะมีบางครั้งหรือหลายครั้งที่เราสนุกจนหลงและติดกับการเทรดมากจนเกินไป
การหลงใหลและติด action หากมีอาการหนักมากขึ้นก็จะนำไปสู่ ‘การเสพติดการเทรด’ (Trading Addiction)
การเสพติดการเทรดก็ไม่ต่างจากการเสพติดสิ่งอื่น ไม่ว่าจะเป็นติดเหล้า-บุหรี่ , ติดการพนัน ฯลฯ
รวมถึงผลกระทบที่ยิ่งลงมือทำมาก กลับยิ่งส่งผลเสียต่อตัวเองและคนรอบตัวมากขึ้นเช่นเดียวกัน
ลองมาดูอาการที่บ่งชี้ว่าคุณอาจจะมีแนวโน้มเสพติดการเทรดอยู่
– คิดว่าต้องเทรดทุกวัน ไม่ว่าจะมีการเทรดที่เข้าระบบหรือไม่
– เข้าเทรดโดยที่ยังไม่เห็นโอกาสชัดเจน หรือโอกาสที่ถูกต้องตามของระบบแต่ก็อดใจไม่ได้
– ชอบเทรดเพื่อแก้เบื่อ ไม่อยากอยู่เฉยๆจึงต้องหาอะไรเทรด (แต่เสียเงิน) ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ
– เวลาที่รู้สึกหดหู่ สภาพจิตใจไม่ดีจากเหตุการณ์ต่างๆรอบตัว มักจะอยากเทรดเพื่อให้รู้สึกดีขึ้น
– อารมณ์ขึ้นลงผันผวนตามกำไรขาดทุนในแต่ละวัน
– คุณพบว่าตัวเองหมกมุ่นอยู่กับการเทรดมากเกินไป จนเริ่มกระทบความสัมพันธ์ในเรื่องอื่นๆ
– คุณชอบเทรดด้วยขนาดที่ใหญ่เกินไป ทั้งๆที่หุ้นหรือตลาดยังไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นจริงๆ
– เคยมีคนใกล้ตัวบอกให้คุณหยุดพักการเทรดบ้างหรือไม่
ถ้าพบว่าคุณเข้าข่ายเกิน 3 ข้อจากตัวอย่างข้างต้น ก็มีแนวโน้มที่คุณเริ่มจะเสพติดการเทรดแล้วครับ
ผลกระทบของการเสพติดการเทรด หากแบ่งเป็นข้อก็จะมีประมาณนี้ครับ
ข้อแรก คนที่อยู่เฉยๆไม่เป็นชอบฝืนเทรดในจังหวะที่ยังไม่ถูกต้องจริงๆ มักจะเจอกับการขาดทุนติดต่อกัน
เมื่อขาดทุนเยอะ ก็มักจะคิดหาวิธีเอาคืนให้เร็วที่สุด พออยากเอาคืนเร็วๆก็ยิ่งรับความเสี่ยงมากขึ้น และสุดท้ายก็ทำให้ขาดทุนหนักกว่าเดิม
ข้อสอง เมื่อเทรดจนขาดทุนมากไป สภาพจิตใจก็จะย่ำแย่ลงเรื่อยๆจนนำไปสู่การไม่เชื่อมั่นในฝีมือตัวเอง
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่ส่งผลกระทบในระยะยาว เพราะการเทรดนั้นเราต้องมีความมั่นใจในตัวเองและทำสภาพจิตใจให้พร้อมอยู่เสมอ
และข้อสาม คือ ผลกระทบกับคนรอบตัวและเรื่องอื่นๆ
หากเทรดไม่ดีแล้วอารมณ์เสียก็อาจจะมีปัญหากับครอบครัว คนใกล้ชิด และกระทบไปยังหน้าที่การงานอื่นได้
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ในเบื้องต้นคือ
– เมื่อเราพบว่าเริ่มเทรดได้ไม่ดี ขาดทุนติดต่อกัน สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนคือ ‘หยุดเทรด’ และ ‘พักการเทรด’
– เมื่อหยุดแล้วให้ทบทวนตัวเอง ตรวจสอบภาวะตลาดและผลการเทรดของเรา
หาบทเรียนว่าเราทำอะไรผิดพลาดหรือไม่สอดคล้องกับตลาดอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะแก้ไขในโอกาสต่อไป
– ลองหาโอกาสพูดคุยปรึกษากับคนอื่น โดยเฉพาะคนที่เก่งกว่าเรา มีประสบการณ์ในตลาดมากกว่าเรา ความเก๋าของรุ่นพี่จะช่วยเราได้เสมอครับ
– คิดไว้เสมอว่า ‘คุณไม่จำเป็นต้องเทรดตลอดเวลา’
ไม่จำเป็นต้องเทรดบ่อย-เทรดทุกวัน ก็สามารถทำกำไรอย่างยั่งยืนได้ในระยะยาว
แต่ในช่วงที่เรากำลังพัก ถ้าหากตลาด-หุ้นเกิดรูปแบบที่เราคิดว่าน่าเทรดจริงๆตามระบบ
ก็สามารถลองเทรดด้วยขนาดที่เล็กกว่าปกติ จนกว่าเราจะกลับมาเทรดได้ดีอีกครั้ง
สุดท้ายนี้ ผมมีคำแนะนำที่ดีจาก Dr. Brett Steenbarger มาฝากครับ
โดยเค้ามีโจทย์ให้เราลองคิดดูว่า
‘ถ้ามีโอกาสเทรดได้แค่อาทิตย์ละ 1 ครั้งเท่านั้น เราควรจะลงมือเทรดอย่างไร?’
…
Brett Steenbarger ;
“ถ้าผมยิงกระสุน(เทรด)ได้แค่นัดเดียว ผมต้องมั่นใจว่ามันจะได้ผล
นั่นหมายความว่า ผมจะไม่เทรดอะไรที่ดูเล็กน้อยไม่มีความหมาย
ผมต้องการเก็บเกี่ยวกำไรก้อนโตจากการเคลื่อนไหวที่มีนัยยะของตลาดเท่านั้น
ดังนั้น ผมจะคอยศึกษาค้นคว้าข้อมูล แล้วรอให้มีการเทรดดูยอดเยี่ยมจริงๆในระหว่างสัปดาห์
ผลที่ตามมาก็คือ ถ้ามีการเทรดที่ยังไม่เข้าข่ายหรือผ่านเกณฑ์ของผมอย่างชัดเจนจริงๆ ผมก็จะไม่เทรดเลย
การคอยมองหาไอเดียการเทรดอยู่ตลอดเวลายังถือว่าไม่เพียงพอ ถ้าหากคุณสามารถเทรดได้แค่อาทิตย์ละ 1 ครั้ง
คุณต้องรอให้ไอเดียและการเทรดที่สุดยอดนั่นเข้ามาหาคุณเอง
ดังนั้น ถ้ามันไม่มีการเทรดที่วิ่งเข้ามาโดนใจผมอย่างจัง ผมก็จะยังไม่เทรด
เพราะผมไม่ต้องการเปลืองกระสุนไปโดยเปล่าประโยชน์
สิ่งที่ผมเห็นจากการทดลองนี้คือ จนถึงตอนนี้มันเป็นการเทรดที่ทำให้ผมมีกำไรดีและมีผลงานสม่ำเสมอ
ถ้าสิ่งนี้ยังไปได้ดี ผมก็จะเพิ่มขนาดในการเทรดที่คัดเลือกมาเป็นอย่างดีแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าผมจะเทรดบ่อยขึ้น
เพราะถึงแม้ว่าผมจะคอยตรวจสอบและอัพเดตตลาดเป็นประจำทุกวัน
แต่ผมจะเทรดก็ต่อเมื่อทุกอย่างเข้าทางผมเท่านั้น
ผมพอใจที่จะยอมตกรถบ้าง ตราบใดที่ผมยังได้กำไรจากการเทรดที่ผมคัดเลือกเป็นอย่างดี
การเทรดสไตล์นี้ได้มอบประสบการณ์ใหม่แก่ผมอย่างสิ้นเชิง
ผมตรวจสอบตลาดแค่ตอนเช้า กลางวัน และตอนเย็น
ผมไม่เสียเวลาไปกับการนั่งเฝ้าจอทั้งวัน มันทำให้ผมมีเวลามากขึ้นในการทำสิ่งอื่นๆในชีวิต
การเทรดน้อยลงกลับหมายถึงการทำกำไรได้มากขึ้น และยังมีประสิทธิผลที่ดีขึ้นด้วย
นอกจากนี้ มันยังช่วยให้ผมสามารถระบุรูปแบบและเทคนิคใหม่ๆที่ผมคิดว่าผมคงจะไม่สามารถเรียนรู้ได้
ถ้าหากผมยังมีพฤติกรรมเสพติดการเทรดแบบเดิมอีก”
.
Blog 76 : ‘อย่าเสพติดการเทรด’
24 เมษายน 2017 , Updated 2023