The Buffett Lift : นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์

ในปี 2008 วอเรน บัฟเฟต ได้ตัดสินใจเข้าลงทุนใน BYD บริษัทสัญชาติจีน ผู้ผลิตรถยนต์ แบตเตอรีมือถือ และแผงโซล่าร์เซลล์ โดยเข้าถือหุ้นในบริษัทคิดเป็นสัดส่วนทั้งสิ้น 10%

ก่อนหน้านั้น BYD เริ่มต้นประสบความสำเร็จจากธุรกิจแบตเตอรีมือถือเป็นอันดับแรก เมื่อธุรกิจแบตเตอรีของบริษัทเริ่มอิ่มตัว BYD ก็ก้าวเข้าสู่ธุรกิจรถยนต์ โดยผลิตรถยนต์ขนาดเล็กที่มีราคาถูกมาก แต่มีฟังก์ชั่นอย่างครบครัน ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จอย่างงดงามได้อีกครั้ง

ชาร์ลี มังเจอร์ คู่หูของบัฟเฟตนั้น ประทับใจในตัว Mr.Wang ประธาน BYD เป็นอย่างมากถึงกับบอกว่า เขาผู้นี้คือส่วนผสมระหว่าง โธมัส เอดิสัน ในด้านวิศวกรรม และ แจ็ค เวลช์ ในด้านการจัดการธุรกิจ หลังจากบัฟเฟตเข้าลงทุน แผนการต่อไปของ BYD (ชื่อบริษัทนั้นย่อมาจากคำว่า Build Your Dreams) คือ การผลิตรถยนต์ไฮบริดจ์รุ่นแรกที่สามารถสับเปลี่ยนการใช้พลังงานจากน้ำมันเป็นไฟฟ้าได้อย่างง่ายดายเพียงแค่คนขับกดสวิทซ์ไปมาเท่านั้น

ผลปรากฏว่า หลังจากที่ข่าวบัฟเฟตเข้าลงทุนใน BYD  ถูกเปิดเผยออกมา ราคาหุ้น BYD ก็ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจาก HK$8.xx ไปถึง HK$85.5 หรือกว่าเก้าเท่าตัว ภายในช่วงเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ทำให้เบิร์กไชส์ ฮาร์ดาเวย์ บริษัทการลงทุนของบัฟเฟตบันทึกกำไรอย่างงดงาม ตลาดให้ความมั่นใจกับการตัดสินใจของบัฟเฟตหนนี้มาก เพราะแม้ดีลนี้จะถูกมองว่าบัฟเฟตเลือกลงทุนนอกความถนัดของเขา แถมยังเป็นการลงทุนนอกสหรัฐฯ อีกต่างหาก แต่ก่อนหน้านี้ บัฟเฟตก็เคยตัดสินใจลงทุนในบริษัทน้ำมันของจีน เปโตรไชน่า และได้กำไรอย่างมหาศาลในเวลาที่รวดเร็วมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม หลังจากการเข้าลงทุนของบัฟเฟต BYD ได้ไม่นานนัก BYD ก็เริ่มประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง บริษัทยังคงไม่สามารถเข็นรถไฮบริดจ์รุ่นที่ฝันไว้ออกมาได้จนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ รถไฮบริดจ์ที่วางแผนจะออกจำหน่ายในสหรัฐฯ ก็มีกำหนดต้องเลื่อนออกไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า รถยนต์รุ่นเก่าๆของ BYD ในจีน ที่เคยประสบความสำเร็จก็เริ่มสูญเสียส่วนแบ่งตลาดอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีบริษัทคู่แข่งที่ออกรถแบบเดียวกันในราคาที่ต่ำกว่า หรือมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่าออกมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้รถของ BYD สูญเสียความน่าดึงดูดในตลาดจีนไป

ในแง่รายได้ แม้ว่า BYD จะมียอดขายเติบโตถึง 18% ในปี 2010 แต่ก็ต่ำกว่าเป้าหมายที่บริษัทได้ตั้งเอาไว้เป็นอย่างมาก และเมื่อ เทียบกับตลาดจีนโดยรวมที่เติบโตกว่า 33% แล้ว ต้องถือได้ว่าคือความล้มเหลว อีกทั้งเมื่อเร็วนี้ๆ บริษัทก็ยังคาดว่า ยอดขายในปี 2011 อาจลดลงมากถึง 20% yoy เนื่องมาจากภาวะตลาดรถยนต์ในจีนปีนี้ดูไม่สดใสนัก

นอกจากนี้ บริษัทก็ยังเผชิญกับวิบากกรรมจากการถูกทางการปรับเงินในคดีซื้อที่ดินที่ใช้สร้างโรงงานมาอย่างไม่ถูกกฏหมาย และงบการเงินของบริษัทก็ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับยอดขายบางส่วนของบริษัท ซึ่งอาจเกิดจากการผลักดันสินค้าไปยังงบของดีลเลอร์มากเกินกว่ายอดขายแท้จริงที่ขายสู่ผู้บริโภค เพื่อดันตัวเลขรายได้ให้ดูสูงขึ้นกว่าความเป็นจริงอีกด้วย

ข่าวร้ายที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องเหล่านี้ ได้ลดความมั่นใจของตลาดเกี่ยวกับธุรกิจของ BYD ลงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ราคาหุ้นในปัจจุบันลดต่ำลงมาเหลือเพียงแค่ไม่ถึงหนึ่งในสามของราคาสูงสุดที่ขึ้นไปในปี 2009 แล้ว และยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นด้วย


ว่าไปแล้ว กรณี BYD ช่วยเตือนนักลงทุนได้หลายอย่างเกี่ยวกับความเป็นจริงในตลาดหุ้น

ประการแรก ธุรกิจเป็นเรื่องของความไม่แน่นอน ไม่มีใครในตลาดหุ้นที่สามารถคิดได้ถูกต้องตลอดเวลา ต่อให้เก่งขนาดไหนก็ตาม ความสำเร็จของบัฟเฟตในระยะยาวนั้นน่าจะมีอะไรมากกว่าแค่การเลือกหุ้นให้ถูกตัว

ประการต่อมา ราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นไปในระยะสั้น บ่อยครั้งเกิดจากการเชื่อตามๆกันของคนในตลาดหุ้นเท่านั้น ไม่ต้องเกี่ยวกับผลประกอบการแต่อย่างใด การเข้าลงทุนโดยบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็น focal point ที่ยอดเยี่ยม ที่ทำให้ทุกคนพร้อมใจกันเข้ามาลงทุนในหุ้นตัวเดียวกันได้

และบ่อยครั้ง การแห่ตามกันก็สามารถทำให้หุ้นปรับตัวขึ้นมากอย่างไม่น่าเชื่อ และดูจะมากกว่าผลประกอบการด้วยซ้ำ เพราะธุรกิจโดยทั่วไปนั้น การทำกำไรให้เพิ่มขึ้นได้ 20-25% ต่อปีนั้นก็ถือว่าหืดขึ้นคอแล้ว แต่ภาวะที่คนเชื่อตามๆกัน สามารถทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 100-900% ในเวลาไม่ถึงปี

ปกติถ้ามีใครมาเขียนบทความบอกว่า การลงทุนด้วยวิธีแบบนี้น่าสนใจ คงจะโดนด่าแน่ๆ โดยเฉพาะจากคนที่มองการลงทุนว่าเป็นเรื่องของฝ่ายความดีต่อสู้กับความชั่ว แต่ถ้าจะว่ากันไปตามเนื้อผ้า ก็ต้องยอมรับว่า วิธีซื้อหุ้นตามคนดังอาจเป็นกลยุทธ์ที่ไม่เลวนัก เมื่อพิจารณาจาก downside vs. upside เพราะแม้ downside จะมาก แต่ upside ก็มากกว่าหลายเท่าด้วย

ประการถัดไป สุดท้ายแล้ว ผลประกอบการก็ยังคงเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อราคาหุ้นอยู่เสมอ แต่เป็นในระยะยาวๆ เพราะต่อให้เทพมีชื่อเสียงขนาดไหน ถ้าผลประกอบยังคงไปคนละทางกับราคาหุ้นอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายแล้วแม้แต่เทพก็ไม่อาจยันราคาไว้ให้ได้

เพราะฉะนั้น หากคิดจะเล่นหุ้นแนวนี้ ต้องรู้จัก “ตาสว่าง” เร็ว เพราะราคาตอนที่เราเข้าซื้อ มักไม่ใช่ราคาที่มืพื้นฐานใดๆรองรับ แต่เป็นราคาพรีเมี่ยมแล้ว เนื่องจากเป็นราคาที่มีเทพการันตีแล้ว ดังนั้น หากปรากฏออกมาเมื่อใดว่า ผลประกอบการข้างหน้าอาจไม่ดีอย่างที่เทพคิด ต้องรู้จัก “ตื่น” ให้ไว เพราะ price correction จะรุนแรงมาก ในขณะที่ต้นทุนของเราไม่มีพื้นฐาน พูดง่ายๆก็คือ อย่ามัวแต่ “เคลิ้ม”

สุดท้ายแล้ว การซื้อตามเซียนก็ยังต้องดูเองเป็นอยู่ดี เพราะต้องพึ่งตนเองตอน “ขาย” เนื่องจากเวลาขาย เซียนมักไม่มาช่วยบอกเราก่อน และอย่าลืมว่า ตอนหุ้นตก เซียนไม่เสี่ยงอะไรกับเราเลย เพราะต้นทุนของเขาอยู่ต่ำกว่าตอนที่หุ้นเริ่มวิ่ง ฉะนั้น ถ้าราคาหุ้นตกกลับลงมาที่เดิม เขาก็เพียงแค่เท่าทุนเท่านั้น มีแต่เราเท่านั้นที่กระเป๋าฉีก

The Buffett Lift

นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์

12 April 2011

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.