อาจจะช้าไปเสียหน่อย แต่ก็ขอสวัสดีปีใหม่ 2014 ทุกท่านนะครับ ขอให้ปีนี้เป็นปีที่ดีของทุกท่านครับผม แล้วก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความการลงทุนที่เว็บของเราได้นำเสนอ จะช่วยให้สามารถรับมือกับตลาดขาลงในช่วงที่ผ่านมากันได้เป็นอย่างดีนะครับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนหลายๆท่านที่เพิ่งเคยสัมผัสกับตลาดขาลงเป็นครั้งแรก (รวมถึงผมด้วย เพราะถึงแม้ผมจะลงทุนมาหลายปี แต่ก็มาเริ่มช่วงที่ SET อยู่ในขาขึ้นครั้งใหญ่ครับ)
วันนี้ผมจะมาขอพูดถึงการ Stop loss ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากในตลาดขาลงครับ (จริงๆ ก็สำคัญตลอดแหละครับ ฮา)
“One of the great tools of trading is the stop, the point at which you divorce yourself from your emotions and ego and admit that you’re wrong.
– Martin Schwartz –
ในตลาดขาขึ้นอย่างช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนหลายคนอาจจะไม่ให้ความสำคัญกับการตั้งจุด Stop loss และการ Cut loss เท่าที่ควร ด้วยความเชื่อผิดๆที่ว่า “ไม่ขายไม่ขาดทุน” หรือ “Cut loss ทำไม เดี๋ยวหุ้นก็ขึ้นต่อ” ความเชื่อทำนองนี้ถือว่าอันตรายมาก และจะมีผลกระทบต่อผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาวของนักลงทุนแต่ละคนครับ
แน่นอนว่าช่วงที่ตลาดเป็นขาขึ้นนั้น คุณมักจะไม่เจ็บตัวถ้าไม่ cut loss เพราะหุ้นมักจะกลับขึ้นมาใหม่ได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม คุณจะมีโอกาสเจ็บตัวหนักๆแน่นอน หากไม่รู้จักกำหนดจุด stop loss และลงมือ cut loss เมื่อตลาดเริ่มเป็นขาลงอย่างเช่นช่วงครึ่งปีหลังของปี 2013 ที่ผ่านมา
William O’neil กล่าวไว้ในหนังสือ How to make money in stocks ว่าเขามักจะตั้งจุด Stop loss ไว้ที่ -5% ถึง -7% และ cut loss อย่างมีวินัยตามกฏที่ตัวเองตั้งไว้เสมอ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น O’neil บอกว่าหากดู Price pattern ของหุ้นประกอบด้วยแล้ว บางครั้งการ Cut loss ที่ -7% ที่เค้าตั้งไว้ก็อาจจะช้าไปเสียด้วยซ้ำ
ดังนั้น จุด Stop loss ของนักลงทุนแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไปตามแนวทางการลงทุนของนักลงทุนแต่ละท่านครับผม
แน่นอนว่าบ่อยครั้งที่คุณตัดสินใจ Cut loss แล้วหุ้นกลับ rebound ขึ้นมาทันที ขออย่าได้คิดมากไปครับ เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร และการ cut loss นั้น ถือเป็นกฏที่สำคัญมากสำหรับนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จหลายๆท่าน
เพราะในบางครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่ตลาดเริ่มเป็นขาลง การยอมถือหุ้นขาดทุนถือเป็นความเสี่ยงมาก เพราะไม่มีใครรู้ว่าตลาดขาลงจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ แล้วเมื่อถึงเวลานั้นหุ้นที่เราถืออยู่จะขาดทุนมากขนาดไหน
ดังนั้น การ cut loss จึงถือเป็นการทำประกันเพื่อรักษาเงินลงทุนหลักๆของคุณเอาไว้ แล้วรอให้ตลาดหรือหุ้นเริ่มกลับมาเป็นขาขึ้นครั้งใหม่ ซึ่งย่อมสำคัญกว่าความพยายามในการทำผลตอบแทนให้ได้มากๆในช่วงที่ตลาดไม่อำนวยครับผม
ลองมาดูตัวอย่างหุ้นที่ผม Cut loss ในรอบครึ่งปีที่ผ่านมากันซัก 2-3 ตัวครับ
(คลิกที่รูปเพื่อดูขนาดเต็มครับผม)
NOK
คุณไม่มีทางรู้ว่าการ rebound แต่ละครั้งในตลาดขาลงจะถือเป็นการกลับ Trend หรือไม่ เพราะทุกๆครั้งที่ตลาด rebound ก็มักจะมีหุ้นที่เริ่มมี pattern ค่อนข้างแข็งแกร่งปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ
การลด position ในการเข้าซื้อหุ้นแต่ละตัวลง แต่เพิ่มจำนวนหุ้นที่จะซื้อให้มากขึ้นแทน ก็เป็นวิธีที่ดีในการทดสอบตลาดและกระจายความเสี่ยงครับ
อย่างเช่นหุ้น NOK จากกราฟจะเห็นว่าหลังจากหุ้นขึ้นมา week หนึ่ง เริ่มพักทำฐานอยู่ 4 weeks ผมตัดสินใจเข้าซื้อที่ฐานราคา 4 weeks นั้น แต่เมื่อหุ้น NOK ร่วงลงมาต่ำกว่าฐานราคาที่รักษาไว้ได้ 4 weeks ผมก็ตัดสินใจ Cut loss ทันทีโดยไม่ลังเล และไม่ต้องรอให้ถึงจุด Stop loss ที่ -5% เพราะเมื่อยึดจาก Price pattern ของหุ้นที่ไม่สามารถรักษาฐานราคาที่ทำไว้ 4weeks ได้ ถือว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ดีครับ
ทีนี้ลองมาดูราคาล่าสุดของ NOK ณ ขณะที่ ผมเขียนบทความนี้ครับ
จากราคาที่ผมเข้าซื้ออยู่ที่ประมาณ 24.50บาท ซึ่งเมื่อวัดจาก ราคาที่ Rebound ขึ้นมาล่าสุด 18.60บาท ร่วงลงมาเกือบ –25% อย่างที่บอกว่าตลาดขาลงเราไม่สามารถตอบได้ว่าหุ้นจะลงไปถึงจุดไหน การ cut loss ตามกฏถือว่าสำคัญมาก การขาดทุน แค่ -5% ถึง -7% ย่อมดีกว่าเจ็บหนักๆ 20% ถูกมั้ยครับ
STPI
STPI เป็นหนึ่งในหุ้นอีกตัวหนึ่งที่มี Price Pattern ค่อนข้างแข็งแกร่ง และเป็นหนึ่งในหุ้นหลายๆตัวที่ผมใช้ในการทดสอบสภาวะตลาด ผมตัดสินใจซื้อหุ้น STPI ที่ราคา 21 บาท ซึ่งเป็นช่วงที่หุ้นเริ่มทำฐานอยู่ 5 weeks แต่หลังจากนั้นหุ้นก็หลุดจากฐานเช่นเดียวกับ NOK
เป็นอีกครั้งที่ผมตัดสินใจ Cut loss เมื่อราคาหลุดจากฐาน เราลองมาดู STPI ณ ราคาปัจจุบันกันครับ
จาก 21 บาท ตอนนี้ลงมาที่ 16.90บาท หรือประมาณ -20% แต่ที่น่าสนใจคือ ราคาหุ้นได้ร่วงลงไปทำ low ที่ 13.5 บาท หรือเท่ากับ -35% เลยทีเดียว
สังเกตุมั้ยครับว่าทั้ง NOK และ STPI ต่างก็เป็นหุ้นที่มีทั้งปัจจัยพื้นฐานและ Price Pattern ที่แข็งแกร่ง แต่หุ้นทั้งสองตัวก็ยังสามารถทำให้คุณขาดทุนได้ถึง 25-35% ในตลาดขาลง เพราะไม่ว่าหุ้นจะแข็งแกร่งขนาดไหนก็ยากที่จะต้านทานกระแสตลาดขาลงได้ครับ เริ่มเห็นความสำคัญของการ Stop loss กันขึ้นมาบ้างมั้ยครับผม
KCE
KCE เป็นหุ้นอีกตัวหนึ่งที่ผมซื้อเพื่อทดสอบตลาด ผมเข้าซื้อที่ราคา 17บาท ซึ่งเป็นจุดที่หุ้นเริ่มทำฐานในช่วงที่ตลาดเริ่ม rebound ขึ้นมา แต่เมื่อตลาดเริ่มลงต่อ KCE ก็ไม่สามารถฝืนตลาดได้และลงมาถึงจุด Stop loss ของผมที่ -5% ทำให้ผมตัดสินใจ Cut loss ทันทีตามกฏที่ตั้งไว้ครับ ลองมาดู KCE ณ ราคาปัจจุบันกันครับ
ปรากฏว่าหุ้น KCE หลังจากที่ผม Cut loss ไปได้ไม่นานกลับขึ้นต่อและทำราคา new high ได้ในตลาดขาลงครับ ซึ่งต้องถือว่าเป็นหุ้นไม่กี่ตัวที่สามารถขึ้นแรงๆสวนตลาดได้
แม้ว่าจะพลาดโอกาสทำกำไรไป แต่ก็เป็นไปตามการทำตามกฏที่ตั้งไว้อย่างเคร่งครัด และด้วย position ที่ลดน้อยลงเนื่องจากตลาดอยู่ในช่วงขาลงก็ทำให้กำไรที่ได้อาจจะไม่ได้มีน้ำหนักมากนักเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่คุณต้องเผชิญ การรักษาเงินทุนของเราไว้ถือว่ามีความสำคัญเป็นอันดับแรกในตลาดขาลงครับ
ก็หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้นักลงทุนหลายๆท่านพอจะเห็นถึงความสำคัญของการ Stop loss กันมากขึ้นนะครับ การรักษาเงินทุนไว้รอตลาดขาขึ้นรอบหน้าย่อมสำคัญกว่าการพยายามทำกำไรมากๆในช่วงตลาดขาลงครับผม
ก่อนจากกันก็ขอฝากประโยคที่ Mark Minervini ได้กล่าวไว้ในบทความล่าสุดของเขาเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จและนักลงทุนที่ล้มเหลวว่า
“การที่คุณจะประสบความสำเร็จในตลาดหุ้นได้นั้น มันไม่ใช่เรื่องของโชคหรือความหวังแต่อย่างใด นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จจะมีกฏและแผนการลงทุนที่ผ่านการไตร่ตรองมาเป็นอย่างดี ตรงกันข้ามกับนักลงทุนที่ล้มเหลว ซึ่งมักจะไม่มีกฏการลงทุนที่แน่นอน หรือไม่มีวินัยพอที่จะทำตามกฏที่ตนได้ตั้งเอาไว้อย่างเคร่งครัด”
ฉะนั้นแล้ว เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณตัดสินใจซื้อหุ้น อย่าลืมกำหนดจุด Stop loss และเมื่อถึงเวลาก็ทำการกฏที่ตั้งเอาไว้อย่างเคร่งครัด และ Cut loss อย่างไม่ลังเลครับผม ขอให้ทุกท่านโชคดีในการลงทุนครับ ^^”
…
‘ความสำคัญของ Stop Loss และกรณีศึกษา’
โดย Phantorm
www.sarut-homesite.net
27 มกราคม 2014
เป็นบทความที่ให้ความรู้ เหตุผล และสติ ที่ดีมากครับ สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ชอบครับ ^ ^/
ขอบคุณมากครับ ^^”