‘เกมส์ไม่ถนัดอย่าเล่น’ : โดย คเชนทร์ เบญจกุล

ในแต่ละปีจะกำไรมาก-น้อย ส่วนใหญ่จะขึ้นกับภาวะตลาดว่าปีนั้นจะให้เราอย่างไร

ปีที่ตลาดดีมากก็กำไรมาก ปีที่ธรรมดาหรือทรงๆก็อาจจะไม่หวือหวาอะไรมากนัก

แต่ในส่วนของ drawdown นั้น มันจะขึ้นกับการควบคุมตัวเองเป็นสำคัญ (self-control) เช่น

– การเข้าเทรดด้วยความรีบร้อน หรือไล่ซื้อเพราะกลัวตกรถวันนี้ ก็มักจะทำให้เสียใจในวันต่อมา (hurry today >> sorry next day)

– การ overtrade เทรดบ่อยเกินไป (เสพติด action) , ติดนิสัยอัดหุ้น หรือชอบ take risk เยอะเกินไป

ปัญหาแนวนี้จะต้องใช้ self-control เท่านั้นถึงจะแก้ได้ (เพราะคนอื่นช่วยไม่ได้)

– หลังจากตลาดเด้งมาพอสมควร จนเริ่มถึงแนวสำคัญ เช่น MA 200 เป็นจุดที่เราควรระวัง

หรืออาจจะเตรียมลดสัดส่วนหุ้น ไม่ใช่การอัดหุ้นเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

บทความนี้เป็นตัวอย่างของการมี self-awareness และ self-control ที่ดีครับ

‘เกมส์ไม่ถนัดอย่าเล่น’ (เขียนโดย พี่คเชนทร์ เบญจกุล)

สิ่งหนึ่งที่ผมได้ยินบ่อยในการแข่งขันกีฬาประเภทฟุตบอลหรือประเภทอื่นๆ เช่น เทนนิส ก็คือ การถูกฝ่ายตรงข้ามบีบให้เราเล่นในเกมที่ตนเองไม่ถนัด

เช่น ทีมที่ถนัดการเล่นบอลช้า เน้นการจ่ายบอลแม่นตามช่อง อาจจะถูกคู่แข่งเล่นเกมบีบพื้น ประกบตัวเร็ว จึงทำให้ทีมเราต้องจ่ายบอลเร็วหรือต้องเล่นลูกโยนและเสียบอลในที่สุด

ทีมที่นักเตะไม่ถนัดลูกโหม่งก็จะถูกคู่แข่งที่ถนัดการเล่นลูกกลางอากาศโจมตีและเอาชนะได้บ่อยๆ

แม้กระทั่งการแข่งขันเทนนิส ที่คู่แข่งขันมักจะตีลูกไปยังด้านที่ฝ่ายตรงข้ามไม่ถนัด เป็นต้น

ดังนั้นหากเราย้อนมามองเรื่องการลงทุน จะเห็นว่า นักลงทุนแต่ละคนมีความถนัด หรือสไตล์การลงทุนต่างกัน

ซึ่งบางครั้งความถนัดอย่างหนึ่งอาจจะทำเงินได้ดีในตลาดบางช่วง แต่สร้างผลงานได้ไม่ดีนักในตลาดบางช่วง

อย่างเช่น นักลงทุนที่ลงทุนแบบกล้าได้กล้าเสีย เน้นการเก็งกำไรแบบมีหลักการ นักลงทุนกลุ่มนี้อาจจะไม่เน้นการวิเคราะห์พื้นฐานเท่า Value Investor แต่จะมีหลักการต่างๆเข้ามาประกอบการซื้อขาย

เช่น การดูกราฟ การดู volume การดูการเข้าซื้อขายของนักลงทุนรายใหญ่ หรือการเข้าซื้อธุรกิจที่ผ่านการฟื้นฟูกิจการ หรือมีข่าวต่างๆที่มีผลดีต่อราคาหุ้น

จุดเด่นอย่างหนึ่งและเป็นสิ่งที่ถนัดของนักลงทุนประเภทเก็งกำไรแบบมีหลักการคือ การมีจิตใจที่มั่นคง และพร้อมตัดสินใจซื้อขายอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด จึงทำให้สามารถสร้างกำไรในหุ้นบางตัวได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

รวมถึงกล้าที่จะ cut loss ได้ก่อนที่พอร์ตจะเสียหาย นักลงทุนประเภทนี้จะประสบความสำเร็จในช่วงตลาดขาขึ้น

นักลงทุนประเภทเก็งกำไรแบบมีหลักการเหล่านี้มักจะมีหลักเสมอว่าหากตลาดขาลงจะหยุดเล่นหุ้น คือจะถือเงินสดหรือถือหุ้นในสัดส่วนที่น้อย

จะไม่พยายามเก็งกำไรในช่วงตลาดขาลงหรือซบเซามากนัก และพร้อมจะกลับมาทุกเมื่อหากตลาดเป็นขาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งในช่วงที่เป็นตลาดขาขึ้น นักลงทุนประเภทเก็งกำไรแบบมีหลักการจะสามารถสร้างผลกำไรได้มากพอที่จะออกนอกตลาดไปได้อีกระยะใหญ่ๆ

แต่ก็มีนักลงทุนแบบเก็งกำไรที่เป็นรายย่อยจำนวนมาก ที่ทำตรงกันข้ามกับนักเก็งกำไรที่มีหลักการ

ก็คือ การพยายามเก็งกำไรในทุกๆภาวะตลาด ไม่ว่าจะเป็นขาขึ้นหรือขาลง ด้วยเหตุผลว่า หาค่าขนมหรือค่ากับข้าว

โดยเวลากำไรก็จะกำไรเล็กน้อย แต่หากพลาดพลั้งขาดทุนมักจะขาดทุนทีละมากๆ คือเวลาได้ก็ได้ค่าขนมจริงๆ แต่พอเสียก็อาจจะเสียเงินรถเก๋งเป็นครึ่งคันหรือคันหนึ่ง

ซึ่งนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากเหล่านี้ก็จะประสบภาวะขาดทุนสะสมเรื้อรังมาเรื่อยๆ จนมูลค่าพอร์ตลดลงอย่างน่าตกใจ

สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ นักลงทุนแบบเก็งกำไรที่มีหลักการ จะพยายามเล่นในเกมที่ตนเองถนัดเท่านั้น

คือลงทุนในตลาดขาขึ้นเท่านั้น และหลีกเลี่ยงเกมที่ตนเองไม่ถนัด คือช่วงตลาดขาลงหรือซบเซา ซึ่งถือว่ามีสิ่งที่จำเป็นสำหรับการลงทุนซึ่งก็คือ วินัยการลงทุน – ทำในสิ่งที่ตนเองถนัด

แต่นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากพยายามฝืนตลาดด้วยการเข้าไปเก็งกำไรในช่วงตลาดไม่ดีโดยหวังกำไรเล็กๆน้อยๆ ถือว่าไปเล่นในเกมที่ไม่ถนัด

สำหรับนักลงทุนแบบ Value Investor ผมคิดว่าความถนัดของ VI ก็คือการวิเคราะห์พื้นฐานของบริษัทเพื่อให้สามารถคาดการณ์ผลประกอบการและเงินปันผลในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่มีผลตอบแทนของการลงทุน

ซึ่งก็พบว่าในบางปีที่ตลาดเป็นตลาดกระทิง นักลงทุนแบบ VI อาจจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนน้อยกว่านักลงทุนแบบเก็งกำไรทั้งที่มีหลักการและไม่มีหลักการ

จึงทำให้นักลงทุนแบบ VI บางคนทนความเย้ายวนของผลตอบแทนของหุ้นเก็งกำไรหรือผลตอบแทนของเพื่อนๆนักลงทุนที่ลงทุนแบบเก็งกำไรไม่ได้

และหันมาเล่น “เกมที่ไม่ถนัด ” ด้วยการเข้าซื้อหุ้นเก็งกำไร หรือหุ้นที่มีข่าวต่างๆนานา ด้วยหวังว่าจะทำกำไรมากๆ

ในช่วงเวลาสั้นๆช่วงแรกๆ อาจจะได้กำไรที่ดี แต่ท้ายสุดแล้ว VI หลายคนที่โดดเข้าไปเล่นเกมที่ตนเองไม่ถนัดก็ได้รับผลตอบแทนในการลงทุนที่ไม่สู้ดีนัก

อีกเหตุการณ์ที่ทำให้ VI หันไปเล่นเกมที่ไม่ถนัดก็คือ นักลงทุนแบบ VI แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญในกลุ่มธุรกิจที่ต่างกัน

บางคนเชี่ยวชาญด้านหุ้นการผลิตอุตสาหกรรม บางคนเชี่ยวชาญด้านพลังงาน บางคนเชี่ยวชาญด้านหุ้นโรงเรือน เช่น โรงแรม โรงพยาบาล ค้าปลีก บางคนเชี่ยวชาญอสังหาริมทรัพย์ หรือหุ้นวัฎจักรต่างๆ เป็นต้น

หลายๆช่วงเวลาที่หุ้นที่ตนเองเชี่ยวชาญอาจจะอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่น่าลงทุน เช่น ราคาหุ้นมี P/E แพงเกินไปแล้ว หรือสภาพแวดล้อมทางธุรกิจยังไม่เอื้ออำนวย

ทำให้ VI อาจจะไม่สามารถใช้ความถนัดของตนเองในการลงทุนในหุ้นกลุ่มที่ตนเองถนัดได้ จึงหันไปเล่นเกมที่ไม่ถนัด

ด้วยการพยายามหาหุ้นในกลุ่มที่ตนเองไม่เคยสนใจหรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญ และอาจจะพยายามใช้หลักของ VI เข้าไปบางส่วนเช่น ดู p/e p/bv ต่ำๆ แต่ไม่สามารถศึกษาลงไปลึกในรายละเอียดได้อยากแตกฉาน

ซึ่งท้ายสุดแล้วก็จะได้หุ้นที่เราอาจจะไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง และมีโอกาสสูงที่ผลประกอบการ และผลตอบแทนการลงทุนอาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดหวัง

ดังนั้นสำหรับ VI บางครั้งหากเราอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถหาหุ้นใหม่ๆที่น่าสนใจได้จริงๆ เราควรจะรอจังหวะและโอกาสที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคต

แทนที่จะเข้าไปเล่นในเกมที่ตนเองไม่ถนัด อย่างการหาหุ้นแปลกใหม่ที่เราอาจจะไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงเข้ามาในพอร์ตครับ

ดังนั้น สิ่งที่นักลงทุนทุกคนควรทำก็คือ การหาความถนัดของเราเองเพื่อให้รู้ว่าเราควรจะมี style การลงทุนแบบใด

เพราะหาก style ไม่เหมาะกับความถนัด โอกาสประสบความสำเร็จก็จะน้อย เปรียบเหมือนทีมฟุตบอลที่กองหน้าตัวเล็กแต่เพื่อนโยนบอลให้โหม่งลูกเดียว

นอกจากนี้ เราจึงต้องหาโอกาสเพิ่มความถนัดของตัวเราด้วยการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และลดความไม่ถนัดในบางเรื่องที่เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการลงทุน

ยกตัวอย่างเช่น หากเราเป็น VI แต่ไม่ถนัดการอ่านงบการเงินและวิเคราะห์กระแสเงินสด ถือว่าเป็นความไม่ถนัดที่ควรจะได้รับการแก้ไขให้ได้โดยเร็ว เพราะถือว่าเป็นจุดที่นักลงทุนแบบ VI ควรจะทำได้ครับ

หรือหากเรารักจะเล่นหุ้นแบบเก็งกำไร แต่ไม่สามารถอ่านทิศทางตลาดหรือราคาหุ้นได้จากการดูกราฟ volume หรือเครื่องมือต่างๆ หรือไม่สามารถมีการตัดสินใจที่รวดเร็วและเด็ดขาด เราก็จะอยู่ในภาวะที่เสียเปรียบอย่างมากครับ

แต่หากเมื่อเราดูความถนัดต่างๆ แล้ว พบว่าเราไม่มีความถนัดมากพอที่จะลงทุนในหุ้นไม่ว่าจะเป็นแบบเก็งกำไร VS หรือ VI แล้ว ผมคิดว่าเราควรจะอยู่วงนอกศึกษาหาความรู้และความถนัดเสียก่อน ยังไม่ควรเข้ามาลงทุนทันที

หรือหากต้องการลงทุนเพื่อศึกษา หาประสบการณ์ ก็ควรจะเริ่มจากจำนวนเงินที่ไม่มากนักก่อน และอาจจะต้องนำเงินออมไปยังการลงทุนอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าและความถนัดน้อยกว่า

เช่น การฝากธนาคาร ซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือกองทุนตราสารหนี้ เป็นต้นครับ และเมื่อเราศึกษามากพอ และเห็นความถนัดของตนเองแล้วจึงค่อยเริ่มลงทุนในหุ้นครับ

ดังนั้น การเป็นนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนประเภทใด ทั้ง VI VS หรือนักลงทุนแบบเก็งกำไร ควรจะเล่นในเกมที่เราถนัดให้มากที่สุด และหลีกเลี่ยงการถูกบีบให้เล่นในเกมที่เราไม่ถนัดครับ

.

‘เกมส์ไม่ถนัดอย่าเล่น’

โดย คเชนทร์ เบญจกุล (พี่ Invisible Hand)

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.