การเดินทางของคนที่ต้องการจะเป็น Value Investor ที่ประสบความสำเร็จได้นั้น ผมเชื่อว่าควรจะมี การวางแผน ตั้งเป้าหมาย และติดตามผล ….ในวันนี้ผมจะลองวาดภาพ Roadmap ของตัวผมเองทั้งที่ผ่านมาแล้ว และยังไปไม่ถึงให้ดูกันนะครับ
ในสมัยเริ่มต้นใหม่ๆ คงไม่ใช่ผมคนเดียวที่จะรู้สึกว่าการลงทุนแบบ vi นั้นยากไม่ใช่เล่น เพราะต้องรู้เรื่องมันสารพัดอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบัญชี ธุรกิจ การเงิน ฯลฯ การจะศึกษาหุ้นแต่ละตัวก็ใช้เวลาไม่น้อย หลายๆครั้งนั่งศึกษาหุ้นเป็น 10 ตัวก็ยังไม่เจอดีๆซักตัว
…อ่านงบการเงินก็ไม่ค่อยเป็น ข้อมูลจะหาจากไหน การเทรดหุ้นให้ดีจะทำอย่างไร ยิ่งคิดก็ยิ่งกลุ้ม …
แต่ผมก็พยายามที่จะศึกษาการลงทุนแบบ vi ต่อไป แม้จะมีเบื่อบ้าง ท้อบ้าง แต่พอมาถึงจุดนึงก็ได้รู้ว่า ที่เราลงทุนลงแรงไปมันคุ้มค่ามากเหลือเกิน …
step การศึกษาของผมแบบคร่าวๆเป็นแบบนี้ครับ
1. เริ่มต้นจากการศึกษาหาความรู้ในแนวทางการลงทุนแบบ vi เพื่อให้เข้าใจแนวคิดและวิธีการคร่าวๆ ช่วงนี้ผมอ่านหนังสือเกี่ยวกับ vi แทบทุกเล่มที่หาได้ ซึ่งหนังสือหลายๆเล่มผมก็ได้เขียนถึงไปบ้างแล้ว เช่น ตีแตก , one up on wallstreet , วาทะของวอเรนบัฟเฟตต์, The Warren Buffett Way ฯลฯ เมื่ออ่านหนังสือพวกนี้ไปมากจะจะเข้าใจแนวคิดในการลงทุนแบบ vi มากขึ้น แต่สิ่งที่เป็นปัญหาของผมในวันนั้นหลังจากอ่านหนังสือ vi ไปได้หลายเล่มก็คือ ผมยังขาดความสามารถในการอ่านงบการเงิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในเป็น vi ที่ดีได้
(อ่านเพิ่มเติมได้ที่กะทู้ “มือใหม่อยากลงทุนหุ้นแนว VI ต้องอ่านหนังสืออะไรบ้างมาดูกันครับ”)
2. เมื่อพบจุดอ่อนของตัวเองเรื่องของการอ่านงบการเงิน ผมก็เลยลอง load งบการเงินจากเวปไซต์ www.sec.or.th มาลองฝึกอ่านดู โดยช่วงแรกใช้หนังสือ ตีแตก ของ ดร.นิเวศน์ เป็นแนวทาง เพราะในหนังสือมีตัวอย่างการวิเคราะห์งบการเงินให้ดู
จำได้ว่าตอนแรกผม load งบการเงินของบริษัทในกลุ่มหนังสือ สิ่งพิมพ์มาอ่าน เช่น se-ed aprint mati เพื่อที่จะได้ลองเอามาเปรียบเทียบได้ แต่กว่าที่ผมจะลองคำนวณอัตราส่วนต่างๆตามหนังสือตีแตกได้ ก็เล่นเอาเหนื่อยเหมือนกัน เพราะแต่ละงบนี่กว่าจะทำเสร็จก็กินเวลาเป็นวันเหมือนกัน ผมเห็นท่าจะไม่ดี ก็เลยของไปหาหนังสือเล่มอื่นๆมาอ่านดู เผื่อจะได้ idea มากขึ้น ตอนนั้นก็เห็นหนังสือของ ดร.ภาพร (อ่านงบการเงินให้เป็น) วางอยู่ที่ se-ed ก็เลยลองซื้อมาอ่าน แรกๆก็อ่านเข้าใจยากอยู่บ้าง แต่ยิ่งพออ่านจบไปรอบนึงแล้วเรากลับมาดูงบการเงินใหม่ ก็เห็นได้ชัดเจนว่าสามารถทำความเข้าใจกับงบได้เร็วขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถวิเคราะห์ให้ทะลุปรุโปร่งได้เท่าที่ควร
ผมก็เลยไปหาซื้อหนังสือของ ดร.ภาพร เล่มอื่นๆมาอ่านเพิ่มเติมเรื่อยๆ (รู้สึกมีอยู่ 3-4 เล่ม) ยิ่งอ่านมาเท่าไหร่ ยิ่งทดลองแกะงบการเงินมากขึ้นเท่าไหร่ ความเร็วในการอ่านงบก็เร็วขึ้นเท่านั้น ระหว่างนี้ผมก็ยังหาความรู้เพิ่มเติมจากงานสัมมนาของตลาดหลักทรัพย์ ตอนนั้นไปเรียนกับ อ.ธนเดช มหโภไคย ซึ่งสอนการอ่านงบได้เข้าใจง่ายดีมาก และยังสอนเรื่องการอ่านงบกระแสเงินสด (ซึ่งหาอ่านที่ไหนไม่ค่อยได้เท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะมีแต่หนังสือสอนอ่านงบดุลกับงบกำไรขาดทุน)
หลังจากผมเริ่มอ่านงบการเงินได้คล่องมากขึ้น ก็ทำให้ผมเลือกซื้อหุ้นที่มีคุณภาพดี มีความปลอดภัยได้สูงขึ้นจากการใช้งบการเงินช่วย ซึ่งงบการเงินที่ผมจะชอบดูนั้นก็คืองบย้อนหลังไป 3 ปี (ซึ่งใน 56-1 นั้นจะรวมตัวเลขย้อนหลังให้ 3 ปีอยู่แล้ว ก็ถือว่าสะดวกดี) เพื่อดูแนวโน้มของบริษัท นอกจากนี้ก็จะ load งบการเงินรายไตรมาสของปีล่าสุดทุกไตรมาสมาอ่านดู เพื่อดูแนวโน้มบริษัทในระยะสั้น (เพราะผมเคยเจ็บตัวมาแล้วกับหุ้นไก่ ซึ่งมีรายได้ลดลงทุกไตรมาส ผมดูแค่งบปีเลยคิดว่าดี เพราะรวมรายได้ทั้งปีมันยังพอใช้ แต่หารู้ไม่ว่าไอ้ที่รายได้สูงๆน่ะมันตอนไตรมาสแรก พอไตรมาสต่อๆมารายได้มันลดลงเรื่อยๆ ก็พอจะบอกได้ว่าบริษัทอาจจะกำลังมีปัญหา)
3. พอเราซื้อหุ้นมาแล้ว หรือมีหุ้นที่เล็งจะซื้อไว้ในใจแล้ว บางครั้งเราซื้อหุ้นมาไม่นาน หุ้นมันวิ่งขึ้นไปก็ดีใจ คิดว่าตัวเองเก่งเลือกหุ้นได้ถูก แต่พอครั้งไหนซื้อหุ้นปุ๊บแล้วมันวิ่งลงปั๊บ ก็คิดว่าบริษัทอาจจะมีปัญหา พาลคิดไปเองว่าตัวเองเลือกหุ้นไม่ดี
…. เป็นอย่างนี้อยู่บ่อยๆ สภาพจิตใจก็เริ่มแย่ อารมณ์ตัวเอง ถูกราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นลงรายวันพาให้แกว่งไปอยู่ตลอดเวลา คิดแล้วก็เลยว่าต้องหาที่พึ่งทางใจ ด้วยการกลับไปอ่านหนังสือ vi ในข้อ 1 ใหม่อีกรอบให้หมด ก็ได้ใจความว่า “เราไม่จำเป็นต้องซื้อหุ้นได้ราคาต่ำที่สุดเสมอไป ขอให้ซื้อหุ้นได้ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าก็โอเคแล้ว” หรือคำพูดของ Buffett ที่บอกว่า “ถ้าไม่สามารถทนเห็นราคาหุ้นลดลงกว่า 50% ได้ ก็อ่านคิดที่จะเล่นหุ้น” ทำให้ผมคิดได้ว่าการที่ราคาหุ้นมันวิ่งขึ้นลงนั้น มันเป็นเรื่องของ demand (แรงซื้อหุ้น) และ supply (แรงขายหุ้น)
ดังนั้น การขึ้นลงของหุ้นในระยะสั้นไม่ได้บอกว่าบริษัทนั้นมันดีหรือไม่ดีอย่างไร คิดได้แบบนี้ก็ทำให้สภาพจิตใจเริ่มดีขึ้น เวลาหุ้นขึ้นก็ไม่หยิ่งผยองคิดว่าตัวเก่ง หรือเวลาหุ้นลงก็ไม่มานั่งกลุ้มใจ เอาเวลาไปศึกษาติดตามธุรกิจของหุ้นที่เราถือดีกว่าเอาเวลามานั่งดูราคาหุ้นรายวัน
หนังสือที่ช่วยให้ผมผ่านจุดนี้ไปได้อีกเล่มนอกจากหนังสือ vi ก็คือหนังสือ “จิดวิทยาการลงทุน” ช่วยทำให้เข้าใจแนวคิดของคนในการลงทุนได้มากขึ้น และเคล็ดลับอย่างหนึ่งที่ผมได้มาจากการผ่านพ้นกำแพงนี้ไปได้ก็คือ “จงลืมราคาต้นทุนที่เราซื้อหุ้นมาให้หมด (รวมถึงราคาในอดีตทั้งหมด)” เพราะตัวเลขราคาเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้คนเกิดกับดักทางจิตวิทยาได้ง่าย
เช่น คนส่วนใหญ่ไม่ชอบขายหุ้นถ้าราคาหุ้นต่ำกว่าราคาทุน เพราะจะรู้สึกว่าตัวเองขาดทุน แต่สำหรับผม ถ้าผมคิดว่าหุ้นตัวดังกล่าวไม่ดี และมีโอกาสที่ราคาจะต่ำลงไปอีกยังไงผมก็ขาย ราคาทุนไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจทั้งสิ้น ถ้าคิดได้แบบนี้แล้ว ผมว่าเส้นทางแห่งความสำเร็จก็เข้าใกล้มาอีกขั้น
หลังจากที่เรามีความรู้ในเรื่องของแนวคิดการลงทุนแบบ vi รวมกับความรู้ในการอ่านบัญชี หรือการวิเคราะห์จากตัวเลข ท้ายสุดก็คือเรื่องของจิตวิทยาการลงทุน ผมก็เชื่อว่านักลงทุนท่านนั้นๆก็น่าจะมีความพร้อมระดับนึงในการลงทุนให้ตลาดหุ้นแล้ว ….
4. ทักษะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือทักษะในการวิเคราะห์ธุรกิจ มองถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรม ผลกระทบจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไป
เช่น เมื่อเราเห็นว่าค่าเงินบาทแข็งขึ้น บริษัทอะไรจะได้ประโยชน์ บริษัทอะไรจะเสียประโยชน์ เมื่อเกิดภาวะโลกร้อนขึ้น บริษัที่ขายเครื่องดื่ม และบริษัที่ขายแอร์ก็น่าจะได้ประโยชน์ แรกๆผมเองก็ไม่ค่อยเห็นถึงความสัมพันธ์ของปัจจัยแวดล้อมต่อบริษัทต่างๆในตลาดหุ้นซักเท่าไหร่ แต่ยิ่งผมนั่งศึกษาธุรกิจของบริษัทต่างๆมากขึ้น อ่านหนังสือมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น 56-1, annual report, หนังสือพิมพ์ หรือ Pocket Book ต่างๆ
นอกจากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยแวดล้อมต่อตัวบริษัท เรายังจะต้องสามารถวิเคราะห์ถึงความสามารถของบริษัท ข้อเด่นข้อด้อย ความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่ง เพราะบางครั้งเราวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกได้ว่าธุรกิจกลุ่มไหนจะได้ประโยชน์ แต่การเลือกหุ้นในธุรกิจนั่นๆ ก็จำเป็นต้องสามารถวิเคราะห์แบบภายในได้เช่นกัน…
ในระยะแรกๆของการลงทุน ผมเองก็ไม่ค่อยรู้เรื่องในแต่ละอุตสาหกรรมเท่าไหร่ …ในช่วงแรกๆของการเล่นหุ้นผมพยายามศึกษาธุรกิจโฆษณา เนื่องจากสนใจลงทุนในบริษัทโฆษณา แรกๆก็ไม่เข้าใจว่าโครงสร้างรายได้เป็นอย่างไร ปัจจัยแห่งความสำเร็จคืออะไร แนวโน้มของบริษัทเป็นอย่างไร พอศึกษาไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งมีความเข้าใจมากขึ้น
ต่อมาผมก็หันมาสนใจกับหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการผลิต ก็ทำให้รู้ว่าเราจำเป็นต้องเข้าใจว่าบริษํทนั้นมีการผลิตโดยเน้นเครื่องจักรที่ทันสมัยเป็น Automatic หรือว่าเป็นการผลิตที่เน้นการใช้แรงงาน ซึ่งธุรกิจทั้ง 2 ประเภทก็จะมีความสามารถในการลดต้นทุนที่แตกต่างกัน และมี Key Success Factor ที่แตกต่างกัน
ฟังๆดูอาจจะเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่ยิ่งผมศึกษาการทำธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆกันมากเท่าไหร่ ความรู้ของผมก็กว้างขึ้นเรื่อยๆ ขอบเขตความสามารถก็กว้างขึ้น ทำให้ใช้เวลาน้อยลงในการทำความเข้าใจหุ้นแต่ละตัว เนื่องจากการลงทุนแบบ vi ทีดีจำเป็นต้องเข้าใจในธุรกิจที่ลงทุน การขยายขอบเขตความรู้ของตัวเองออกไป ทำให้ผมคว้าโอกาสที่ผ่านมาได้มากขึ้น หุ้นที่แต่เดิมไม่เคยคิดจะสนใจ ก็เข้ามาอยู่ในกรอบความสนใจ เมื่อมีปัจจัยอะไรที่ให้โอกาสกับหุ้นตัวนั้นๆ ผมก็ซื้อหุ้นได้ทัน และเร็วกว่าคนอื่นๆ ผลตอบแทนก็ยิ่งมากขึ้นๆ
ทักษะในข้อนี้ของผมเองก็ยังคงอยู่ในวงจำกัด ยังมีอีกหลายธุรกิจที่ผมยังมองว่ายากเกินที่ผมจะเข้าใจ เช่น การเกษตร แบงค์ อสังหา ฯลฯ ทำให้ผมไม่สามารถที่จะลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ได้ .. แต่ผมก็หวังว่ายิ่งผมใช้เวลาอยู่ลงทุนนานขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น อ่านมากขึ้น ขอบเขตความรู้ของผมก็จะกว้างขึ้น และในอนาคต ตัวเลือกในการลงทุนก็จะมากขึ้น ผลตอบแทนคงจะดีขึ้นตามลำดับ …. ขั้นตอนนี้แม้จะใช้เวลานานมาก เพราะเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด แต่ผมเชื่อว่าเป็นทักษะที่สำคัญในอันดับต้นๆของการลงทุนให้สำเร็จ
5. ความสามารถในอ่านคน : หลายๆคนอาจจะงงๆว่ามันเกี่ยวอะไรกับการลงทุน …ผมเชื่อว่าหุ้นที่ดีจะต้องประกอบไปด้วย 3 ประการหลัก คือ
1. บริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่ดี
2. บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันที่ดี
3. บริษัทมีผู้บริหารที่ดี ทักษะในข้อที่
4 จะสามารถตอบโจทย์ข้อ 1 และ 2 ได้ แต่การที่จะตอบคำถามเรื่องผู้บริหารนั้นผมว่าจำเป็นที่จะต้องอ่านคนออก
…สิ่งที่ผมต้องการสำหรับผู้บริหารคือความเก่ง ขยันและซื่อสัตย์ ซึ่งการตั้งคำถาม การพูดคุย หลายๆครั้งจะทำให้เราพอที่จะสามารถตีความได้จากบุคคลิก ลักษณะ และการตอบคำถาม
แรกๆเซ้นในการอ่านคนของเราอาจจะไม่มากเท่าไหร่ แต่ยิ่งเรามีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารหลายๆคนบ่อยๆ เราจะเริ่มจับทาง และมีเซ้นในการอ่านคนที่ดีขึ้นได้
ผู้บริหารบางคนจะชอบโม้เกินจริง บางคนจะชอบพูดแบบ conservative ไว้ก่อน ผู้บริหารชอบปิดบังสิ่งที่ไม่ดีเอาไว้ในใจไม่ยอมพูด บางคนนี่ก็เชื่อคำพุดเค้าไม่ได้เลย เราจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจลักษณะของผู้บริหารแต่ละคน … หลายครั้งเราก็ต้องตั้งคำถามให้เห็นวิสัยทัศน์ วิธีการแก้ปัญหา … แผนการดำเนินการในอนาคต ซึ่งจะทำให้เราทราบได้ว่าผู้บริหารนั้นเก่ง หรือขยันหรือไม่อย่างไร …
การเสริมความรู้ในทักษะด้านการอ่าน ผมสามารถพัฒนาได้ด้วยการพูดคุยกับผู้บริหารหลายๆท่าน และติดตามผลงานของเค้าว่าเป็นอย่างที่พูดหรือไม่ ฝึกตั้งคำถามที่สามารถบ่งบอกได้ถึงความสามารถ หรือความซื่อสัตย์
เช่น ผมมักจะชอบถามผู้บริหารว่าเค้ามีปัจจัยอะไรที่เป็นเรื่องที่กังวลเกี่ยวกับธุรกิจอยู่บ้างหรือว่า หรือมีอะไรที่ห่วงทำให้นอนไม่หลับ … ผู้บริหารที่ซื่อสัตย์จะมักจะตอบตรงๆถึงสิ่งที่เค้าเป็นกังวลอยู่ ในขณะที่ผู้บริหารที่ไม่ค่อยซื่อเท่าไหร่ แม้มีเรื่องอยู่ ก็มักจะปิดบังเอาไว้ไม่ยอมพูด อาจจะตอบว่าไม่มี หรือไม่ก็เฉไฉไปเรื่องอื่น เพราะคนส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยชอบพูดในเรื่องร้ายๆ ต่อธุรกิจตัวเอง มักจะพูดแต่เรื่องดีๆ (ไม่ได้ใช้ได้ 100% นะครับ แต่เท่าที่ลองๆดู การใช้คำถามนี้ถามผู้บริหารก็จะได้คำตอบที่อ่านผู้บริหารได้พอสมควร)
นอกจากนี้ บางครั้งผู้บริหารที่ตอบถึงปัญหาแบบตรงๆ บางครั้งผมก็จะเจอผู้บริหารที่บอกถึงปัญหาที่กังวล ข่าวร้าย แต่ในขณะเดียวกันก็บอกถึงทางแก้ไข หรือแผนการที่จะป้องกันไว้ด้วย … พวกนี้ผมว่ามักจะเป็นผู้บริหารที่จะมีคุณสมบัติครบทั้ง 3 ข้อ คือเก่ง ขยัน และซื่อสัตย์ …
นอกจากการพูดคุยกับผู้บริหารบ่อยๆแล้ว ผมยังชอบที่จะหาหนังสือเกี่ยวกับจิตวิทยาการอ่านอยู่เรื่อยๆ ลองไปหาหนังสือของ เดวิด เจไลเบอร์แมน มาอ่านดูนะครับ .. เห็นเขียนไว้หลายเล่ม อ่านๆไปผ่านๆ บางครั้งเราสามารถนำความรู้เหล่านี้ที่ได้มาใช้โดยไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ …
โดยสรุป ทักษะหรือความรู้ ที่ใช้ในการลงทุนที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญหลักๆมีอยู่ 5 อย่างดังนี้
1. ความรู้ในแนวคิดและหลักการการลงทุนแบบเน้นคุณค่า
2. ทักษะในการวิเคราะห์ตัวเลข งบดุล งบการเงิน งบกระแสเงินสด
3. จิตยาในการลงทุน
4. ความสามารถในการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก ภายใน และความเข้าใจในอุตสาหกรรม
5. ความสามารถในการอ่านคน
ทางเดินของการเป็น vi นั้นอาจจะดูแล้วยาวนานและยากซะเหลือ … แต่เชื่อผมเถอะครับ .. ลงทุนในความรู้ไม่เคยทำให้ใครผิดหวังหรอกครับ
Roadmap สำหรับ VI
Yoyo’s Value Investing Way
สันติ สิงหวังชา