จิตวิทยาการลงทุน : สุดารัตน์ ทิพยเทอดธนา

23373

ช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา ดิฉันได้มีโอกาสไปเดินเลือกซื้อหนังสือมาอ่าน ด้วยปกติที่ทำงานทางด้านการเงินจึงต้องศึกษาหาความรู้และอ่านหนังสือมากอยู่เป็นทุนเดิม

แต่เมื่อต้องการพักผ่อนจึงมักเลือกที่จะหาหนังสือที่อ่านสบายๆ และไม่เครียดมากเก็บไว้อ่านยามว่าง แต่พอเอาเข้าจริงๆ กลับไปสะดุดกับหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งเข้านั่นคือ หนังสือชื่อ “จิตวิทยาการลงทุน The Psychology of Investment” แต่งโดย John R. Nofsinger และแปลเป็นภาษาไทยโดย คุณพรชัย รัตนนนทชัยสุข ที่จริงในหลักสูตรการสอนทางการเงินปัจจุบัน ก็ได้มีการนำจิตวิทยาการลงทุนมารวมอยู่ในบางส่วนของหลักสูตรบ้างเช่นกัน ตัวดิฉันเองก็ได้เรียนมาบ้างแล้วเช่นกัน แต่อาจมีหลายท่านที่อาจยังไม่ทราบ จึงอยากเอามาเล่าให้ฟังค่ะ

คุณคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า ปัจจัยที่เป็นตัวขับเคลื่อนตลาดหุ้น คือ ความโลภและความกลัว โดยนักลงทุนต่างแสวงหาผลตอบแทนคาดหวังที่สูงที่สุด ณ ระดับความเสี่ยงหนึ่งๆ ตามที่เราต่างได้รับการพร่ำสอนกันมาจากตำราทางการเงินมากมาย ที่พยายามคิดค้นเครื่องมือทางการเงินมาช่วยในการตัดสินใจลงทุน แต่ในภาวะความเป็นจริงปัจจุบัน นักลงทุนส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการตัดสินใจลงทุนโน้มเอียงไปในแง่ตรรกะและอารมณ์มากกว่าเหตุผลในการลงทุนตามหลักวิชาการการเงิน ลองมาทำความเข้าใจพฤติกรรมในการตัดสินใจลงทุนในแบบต่างๆกันพอเป็นสังเขปดีกว่าค่ะ เพื่อที่ให้เรารู้เท่าทันและสามารถเอาชนะความไร้เหตุผลในการลงทุนได้

1. ความมั่นใจในตัวเองจนเกินขนาด (Overconfidence)

ความมั่นใจในตัวเองมากเกินไปทำให้ประเมินความรู้ของตัวเองสูงเกินไป ประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป และคิดไปว่าตนเองสามารถควบคุมเหตุการณ์ต่างๆได้เกินความเป็นจริง และตีความข้อมูลต่างๆแบบมีอคติ เชื่อการวิเคราะห์ของตัวเองมากกว่าฟังความคิดเห็นของคนอื่น ส่วนใหญ่จะเกิดกับนักลงทุนที่เคยประสบความสำเร็จในอดีต และนักจิตวิทยายังพบอีกว่า ผู้ชายมีแนวโน้มเชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไปสูงกว่าผู้หญิง ดังนั้นนักลงทุนเพศชายมักจะซื้อขายหุ้นบ่อยกว่านักลงทุนเพศหญิง ทั้งที่ความเป็นจริงนักลงทุนที่มี Turnover สูงอาจไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นได้ แม้ว่าจะลงมือลงแรงมากกว่าก็ตาม

2. การหลีกเลี่ยงความเสียใจและเสาะหาความภาคภูมิใจ (Disposition Effect)

พฤติกรรมข้างต้นทำให้บ่อยครั้ง นักลงทุนขายหุ้นตัวที่ได้กำไรเร็วเกินไป และเก็บหุ้นที่ขาดทุนไว้ในพอร์ตนานเกินไป สิ่งนี้เองที่ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำลง เนื่องจากนักลงทุนได้ขายหุ้นที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีออกไป แต่เก็บหุ้นที่มีแนวโน้มไม่ดีไว้ในพอร์ตมากมาย จนบางครั้งอาจลืมไปว่าขาดทุนทางบัญชีที่เกิดขึ้น (ถึงแม้ยังไม่ได้ขายหุ้นออกไปก็ตาม) อาจมากกว่ากำไรที่ได้จากการขายหุ้นเสียอีก

3. House-of-Money Effect กับ Snake-Bite Effect

โดยปกติสิ่งที่นักลงทุนต้องการคือ การซื้อหุ้นมาในราคาที่ต่ำและขายออกเมื่อราคาสูงขึ้น แต่หากอ้างอิงจากหัวข้อนี้ จะพบว่าในทางปฏิบัติบ่อยครั้งที่นักลงทุนจะทำในทางตรงกันข้ามเสมอ อันเนื่องมาจากเหตุผลที่ว่า เมื่อนักลงทุนได้กำไรมาแล้วในช่วงก่อนหน้า พวกเขามีแนวโน้มที่จะเต็มใจเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งบ่อยครั้งจะเข้าไปซื้อหุ้นที่ราคาปรับตัวขึ้นมาสูงมากแล้ว แต่เมื่อขาดทุนก็เกิดความกลัวและต้องการจะออกจากตลาด จึงขายหุ้นออกไปในราคาที่ต่ำ และแทนที่นักลงทุนจะเริ่มหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการขาดทุนที่เกิดขึ้น แต่บ่อยครั้งกลับเห็นพฤติกรรมที่พยายามจะเอาทุนคืน โดยกลับเข้าไปลงทุนใหม่

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นเพียงบางส่วนของหนังสือ ซึ่งยังมีเรื่องที่น่าสนใจอีกมากเกี่ยวกับพฤติกรรมการลงทุน ซึ่งอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับพฤติกรรมการลงทุนของคุณ แต่การทำความรู้จักกับพฤติกรรมต่างๆเหล่านี้ จะช่วยให้เรารู้เท่าทันตัวเองและผู้อื่นได้ดีขึ้น ซึ่งอาจมีส่วนช่วยในการตัดสินใจลงทุนได้อีกทางหนึ่งค่ะ

จิตวิทยาการลงทุน

สุดารัตน์ ทิพยเทอดธนา

บลจ.บัวหลวง

วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2551

Author: admin

1 thought on “จิตวิทยาการลงทุน : สุดารัตน์ ทิพยเทอดธนา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.