สังคม VI ในเมืองไทยใหญ่ขึ้นทุกวัน บรรดานักลงทุนที่เรียกตัวเองว่าเป็น “แวลู อินเวสเตอร์” ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ตลาดหุ้นคึกคักแบบนี้ และมี “แวลู อินเวสเตอร์” รุ่นก่อนๆ ที่ประสบความสำเร็จให้เห็นเป็นแบบอย่างจำนวนมาก
ผมเองคลุกคลีกับสังคมของ VI มาตลอด มีสิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตได้ก็คือ ถึงแม้ว่าจำนวนสมาชิกของเวบบอร์ด และคนทีเรียกตัวเองว่าเป็น “แวลู อินเวสเตอร์” จะมีมากขึ้น แต่จำนวนคนที่พัฒนาตัวเองได้มาถึงขั้นที่ VI ท่านอื่นยอมรับให้เป็น”เซียน” กลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นไม่มาก และว่ากันตามจริง ถ้าเทียบเป็นจำนวนเปอร์เซนต์ ผมคิดว่าน่าจะน้อยกว่าในสมัยก่อนด้วยซ้ำ
แม้แต่คนใกล้ตัวของผมเอง ซึ่งหลายๆคนผันตัวเองมาจากการเป็นนักเก็งกำไรรายวัน มาใช้หลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่า เขาหรือเธอเหล่านี้มักจะมีพื้นฐานของการเป็นแวลู อินเวสเตอร์ที่ดี และมักจะมีความสามารถในการวิเคราะห์กิจการได้ดีในระดับหนึ่ง สามารถอ่าน / ตีความงบการเงิน และใช้ financial ratio ง่ายๆ ได้พอสมควร
แต่ปัญหาของเขาหรือเธอเหล่านี้ก็คือ มักจะไม่มีความสามารถในการหาหุ้นขึ้นมาเอง (ดังนั้นเราจึงไม่ต้องแปลกใจกับปรากฏการณ์ตามแห่ กับหุ้นที่ได้ชื่อว่ามี”เซียน”วีไอ สิงสถิตย์อยู่) และมักจะไม่มีความแม่นยำในการประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของกิจการ
ซึ่งจากปัญหาทั้งสองข้อนี้ ทำให้เขาหรือเธอเหล่านั้น มักจะต้องซื้อหุ้น “แพง” หรือซื้อ “ไม่ทัน” เนื่องจากกว่าที่ตัวเองจะทราบว่าหุ้นตัว “น่าลงทุน” ก็มักจะถูกบรรดา “เซียน” วีไอ ไล่ซื้อไปล่วงหน้าเสียก่อน และเวลาที่จะขาย เขาหรือเธอเหล่านั้นก็มักจะขาย “เร็วไป” หรือ “ช้าไป” อยู่เรื่อยๆ เนื่องจากความไม่เฉียบคมของการประเมินมูลค่าของกิจการนั่นเอง
แวลู อินเวสเตอร์มือใหม่ หรือมือกลางเก่ากลางใหม่ ที่อยู่ในภาวะเช่นนี้ มักจะรู้สึก frustrated อย่างมาก บางคนอาจจะอยู่ในวงการมาแล้วหลายปี แต่รู้สึกว่าตัวเองยังไม่พัฒนาไปไหน ยังต้องเป็น วีไอ ไม้สอง ไม้สาม อยู่ร่ำไป บางคนก็ยังรู้สึกว่าตัวเองหามูลค่าของกิจการไม่เคยได้ และมักจะมีความไม่มั่นใจว่า นี่คือเวลาที่เราควรจะซื้อ หรือควรจะขาย
นี่คือช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับนักลงทุน ที่กำลังจะผันตัวเอง “แมงเม่า” ไปสู่ “VI มืออาชีพ” ถ้าจะให้เปรียบ นี่ก็อาจจะเป็น “วัยรุ่น” ของการลงทุน ที่เรากำลังจะเปลี่ยนผ่านจากการเป็นเด็กไปสู่การเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว หรือถ้าจะเปรียบเป็นการเดินทาง นี่อาจจะเป็นช่วงที่เรากำลังผ่านทะเลทรายที่แห้งผาก และไม่มีมนุษย์คนไหนกล้าจะอาศัยอยู่ (No Man’s Land) ก่อนจะไปถึงจุดมุ่งหมายที่สวยงามของเรา
ปกตินักเดินทางจะทำอย่างไรหากมาถึง No Man’s Land? นักเดินทางที่มีแผนที่และเข็มทิศที่ดี ก็มักจะผ่านดินแดนแห่งนี้ไปไม่ยาก แต่บางคนก็หลงในดินแดนนี้ อย่างที่หาทางออกไม่ได้ บางคนเลือกที่จะล่าถอยกลับไปยังดินแดนการเก็งกำไร ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะหากเขาหรือเธอเหล่านั้น ฝ่าแดนอันตรายนี้ไปได้ เขาหรือเธอคนนั้นก็จะกลายเป็นแบบอย่างและเป็นคนกรุยทางให้กับนักลงทุนรุ่นต่อๆไป อันจะทำให้สังคมนักลงทุนเน้นคุณค่าของประเทศเรายิ่งเข้มแข็งขึ้นไป
ผมเองก็ยังไม่ค่อยแน่ใจว่า ตัวเองผ่านพ้นแดนอันตรายนี้ไปได้หรือยัง แต่ในฐานะของนักลงทุนเน้นคุณค่าที่เคยเข้าถึง No Man’s Land นี้มา ผมมีข้อแนะนำบางอย่างที่จะทำให้เพื่อนนักลงทุนที่กำลังเดินในดินแดนแห่งนี้ หรือที่กำลังจะเข้ามา ได้เดินหน้าฝ่าดินแดนนี้ไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ข้อแรกเลยคือ เราต้องมีความรู้ความเข้าใจในการมองธุรกิจมากกว่าเดิม ในฐานะ VI หัดคลาน เราอาจจะเน้นไปที่กิจการง่ายๆ อาศัยงบการเงินและ financial ratio ช่วยตัดสินใจในการลงทุน แต่เมื่อเราจะก้าวไปอีกขั้น เราก็จำเป็นที่จะต้องเพิ่ม circle of competency และว่ากันตามจริงแล้ว VI ที่ประสบความสำเร็จในระยะยาว ก็คือคนที่มอง business model และ megatrend ขาดนั่นเอง
แวลู อินเวสเตอร์หลายคน อาจไม่ได้มีพื้นเพมาจากคนทำธุรกิจหรือแม้แต่ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางสายนี้ (ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น) อาจจะบอกว่า การที่จะเข้าธุรกิจได้ทะลุปรุโปร่งนั้น เป็นเรื่องยากเกินความสามารถ ซึ่งก็อาจจะจริงในระดับหนึ่ง ว่าเราคงจะไม่สามารถมีมุมมองแบบคนทำธุรกิจจริงๆได้ 100% แต่ผมก็ยังเชื่อว่า ทักษะการมองธุรกิจ เป็นสิ่งที่ “ฝึก” กันได้
นักลงทุนที่มาถึง No Man’s Land ผมเชื่อว่ามีหลักของการลงทุนแบบเน้นคุณค่ามากพอสมควรแล้ว ดังนั้น หนังสือเล่มต่อไปที่เขาหรือเธอเหล่านั้นควรจะอ่าน จะไม่ใช่หนังสือการลงทุนเน้นคุณค่าแล้ว หากแต่ควรจะเป็นหนังสือธุรกิจ แนวคิดทางธุรกิจ มาร์เกตติ้ง การบริหารองค์กร หรือบันทึกประสบการณ์ของผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งหนังสือพิมพ์ธุรกิจ ซึ่งผมมองว่าเราควรจะอ่านอย่างน้อยสัปดาห์ละฉบับ เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรม และภาพของเศรฐกิจมหภาค
ข้อสองคือ เราควรจะต้องมีสังคมนักลงทุน ผมมองว่ากิจกรรมการพูดคุยและถกเถียงกันเรื่องของตัวกิจการระหว่างแวลู อินเวสเตอร์ เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์อย่างมาก ทั้งในแง่ที่มีคนช่วยเราตรวจสอบไอเดียในการลงทุน และ valuation ของเราต่อบริษัทใดบริษัทหนึ่ง รวมทั้งเราเองก็อาจจะได้ไอเดียการลงทุนจากคนอื่นมา “ทำการบ้าน” ต่อ
และเหนืออื่นใด การถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าคนอื่นจะมาวิพากษ์เรา หรือ เราวิพากษ์ไอเดียคนอื่นนั้น จะช่วย “ลับ” เราให้เรา “คม” และ “เฉียบขาด” ขึ้นเรื่อยๆ
ข้อสามคือ เราต้องหมั่นศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับกิจการในตลาดหลักทรัพย์ให้มาก การที่เรายิ่งรู้จักกิจการมาก จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการลงทุนให้มากขึ้น ถ้ามีเวลาว่าง ผมแนะนำว่าแวลูอินเวสเตอร์ที่ดีควรอ่าน 56 -1 ให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 1 – 2 บริษัท หรือถ้าจะให้ง่ายกว่า เราก็อาจจะศึกษาบริษัทจากปากของผบห.โดยตรงผ่านงาน opportunity day หรือ company visit ซี่งนอกจากจะทำให้เรารู้จักกิจการนั้นๆลึกซึ้งขึ้นแล้ว เราจะเห็นภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรม กลยุทธ์ที่ผบห.บริษัทต่างๆนำออกมาใช้ รวมถึงเราจะได้เห็นถึงสไตล์การบริหารองค์กรที่แตกต่างกัน อันจะเป็นการเสริมมุมมองการวิเคราะห์ธุรกิจให้กับเราอีกทาง
ข้อสี่ที่ผมอยากจะแนะนำคือ พยายามจดบันทึกข้อผิดพลาดของตัวเองไว้ และนำข้อผิดพลาดมาวิเคราะห์ว่าเราพลาดไปเพราะอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง valuation ยกตัวอย่างเช่น หุ้นตัวหนึ่งเรามองว่าเป็นหุ้นงั้นๆและขายไปตอน PE 10 แต่ในที่สุดตลาดก็ให้ราคามันถึง PE 15 เช่นนี้เราก็ควรกลับไปมองว่า valuation ของเรามีปัญหาตรงไหน ทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ( ผมเองก็ตกผลึกกับแนวคิดหุ้นถูกเรื้อรังหลังจากที่ผมเคย “พลาด” โดนหุ้นถูกจำนวนเรื้อรังจำนวนหนึ่งเล่นงาน )
และสุดท้ายที่ผมอยากจะฝากไว้คือ “อย่าท้อ” และ “อย่าเลิก” การเดินทางใน No Man’s Land อาจจะยากลำบากและชวนให้หันหลังกลับ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะแนะนำไว้คือว่า ประสบการณ์คือครูที่ดีที่สุด
การเดินหลงทางใน No Man’s Land อาจจะเป็นความเจ็บปวด แต่นั่นก็คือบทเรียนที่จะไม่ทำให้เราเดินหลงทางนั้นซ้ำสอง
ผมเชื่อในศักยภาพของพวกเราทุกคน ผมเชื่อถ้าพวกเราอยู่ในดินแดนแห่งนี้นานพอ ประสบการณ์จะหล่อหลอมให้เราแข็งแกร่งขึ้น จนฝ่าดินแดนแห่งนี้ออกไปได้
No Man’s Land : VI แล้วไปไหน
นพ.ปฐมพงษ์ อึ๊งประเสริฐ (reiter)
April 16, 2011