.
หลายคนในเวลานี้อาจจะตื่นตะลึงกับแทบเล็ต Android ที่กำลังเป็นที่จับตาของทั่วโลกอย่าง Motorola Xoom จากบริษัทสัญชาติอเมริกาอย่าง Motorola ไปบ้างแล้ว ซึ่งต้องถือว่า Motorola Xoom นี้น่าจะเป็นคู่แข่งของ Galaxy Tab2 และ iPad2 ได้อย่างสูสีตัวหนึ่งเลยทีเดียว
.
แต่จะมีใครรู้บ้างว่า กว่า Motorola จะมีโปรดักด์ที่ทรงประสิทธิภาพอย่าง Motorola Xoom ตัวนี้นั้น บริษัทที่เคยเป็นผู้นำอันดับต้นในตลาดโลกอย่าง Motorola เคยเดินทางผิดพลาดมาก่อนถึง 2 ครั้ง
.
ที่สำคัญ ความผิดพลาดของ Motorola ทั้ง 2 ครั้งนั้น ได้ถูกบรรจุให้เป็นกรณีศึกษาแห่งประวิติศาสตร์ของโลกเทคโนโลยีเลยทีเดียว
.
.
StarTAC โทรศัพท์อัจฉริยะที่ปรากฏตัวขึ้นเมื่อปี 1996 ถือว่าเป็นนวัตกรรมของ Motorola ที่ได้รับคำชมในเรื่องรูปลักษณ์ ถูกยกให้เป็นนวัตกรรมที่ออกแบบได้ยอดเยี่ยมแห่งประวัติศาสตร์ และติดอันดับ 6 ใน 50 แกดเจ็ตสุดยอดในรอบ 50 ปีของนิตยสาร PCWorld อีกทั้งยังถูกยกให้เป็นผู้บุกเบิกตลาดโทรศัพท์มือถือระบบอนาล็อก (Analog) ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งในเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ระบบดิจิทัล (Digital) กำลังถูกนำมาใช้ในการสื่อสารอยู่ไม่มาก
.
.
Motorola ยังคงยึดถือแนวทางของตนต่อ ยังคงผลักดันระบบอนาล็อกของตนให้ดูเหนือกว่าระบบดิจิทัล โดยเน้นย้ำว่าผู้ใช้งานโทรศัพท์ระบบอนาล็อก 43 ล้านคนทั่วโลก จะไม่มีข้อผิดพลาดเกิดระหว่างการสื่อสารได้แน่นอน ซึ่งเป็นมุมมองที่ชี้ให้เห็นถีงความเชื่อมั่นในศักยภาพของทีมออกแบบระบบ, วิศวกรระบบ ที่สร้างนวัตกรรมสำหรับยกคุณภาพของการใช้งานให้แก่ผู้บริโภคของระบบอนาล็อกได้ดีขึ้นกว่าระบบดิจิทัล ที่เริ่มมีหลายค่ายในตอนนั้นหันมาใช้กันเพราะต้นทุนในการพัฒนาระบบไม่สูงมากนัก
.
ความเชื่อมั่นดังกล่าว ทำให้ Motorola ตัดสินใจลงทุนหลายล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในระยะเวลา 2 ปี ในการออกแบบโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ เน้นไปที่รูปทรงที่ปราดเปรียว มีสไตล์รองรับระบบอนาล็อกได้เต็มประสิทธิภาพ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าระดับสูงที่มีกำลังซื้อ และมีรสนิยม โดยสถิติของเครื่องโทรศัพท์ของ Motorola บางรุ่นในตอนนั้นมีราคาสูงถึง 1,000 เหรียญสหรัฐฯ ทำลายสถิติในการสร้างยอดขายได้สูงถึง 60 ล้านเครื่อง
.
แต่แล้ว สิ่งที่ไม่แน่นอนที่สุดในโลกเทคโนโลยี นั่นคือคำว่า “เทรนด์” ได้เปลี่ยนไป ทุกค่ายที่ผลิตเครื่องโทรศัพท์มือถือในตลาดโทรศัพท์มือถือทั่วโลกได้พร้อมใจจับมือเดินหน้าเข้าสู่ระบบดิจิทัล
.
Nokia และ Ericsson กลายเป็นโทรศัพท์มือถือที่ครองตลาดในยุคการติดต่อสื่อสารผ่านระบบดิจิทัล ด้วยระบบเครือข่ายที่แม่นยำ และต้นทุนในการวางระบบที่ไม่สูงเท่าระบบอนาล็อก เป็นเหตุให้ Motorola สูญเสียตำแหน่งผู้นำตลาดโทรศัพท์มือถือ และยอดขายตกลงมากในระยะเวลาอันสั้น กลายเป็นกรณีศึกษาที่หลายบริษัทต้องศึกษาในเรื่องของวิสัยทัศน์ในด้านการตลาด และเทคโนโลยี ซึ่งกรณีศึกษาดังกล่าวนี้ทำให้โปรดักด์สุดหรูอย่าง Motorola StarTAC กลายเป็นนวัตกรรมรำลึก ส่งท้ายปิดฉากระบบอนาล็อกไปทันที
.
ในปี 2003 ทาง Motorola ได้ออกมาสู้ศึกใหญ่อีกครั้ง ด้วยโปรดักด์อีกตัวที่ถือว่ายังสามารถตีตลาดกลุ่มผู้บริโภคระดับกลาง ถึงระดับสูงอย่าง Motorola RAZR โดยหันมาใช้ระบบดิจิทัล ตามกระแสอย่างเต็มตัว และยังคงการออกแบบรูปลักษณ์ที่ยังโดดเด่นอยู่เช่นเดิม สามารถสร้างยอดขายได้สูงในรอบประวัติการณ์ แต่ก็ไม่ได้กินระยะเวลายาวนานนัก
.
ในระยะเวลาอันสั้น Motorola สูญเสียยอดขายในตลาดโทรศัพท์มือถืออีกครั้ง ให้กับนวัตกรรมโทรศัพท์มือถือค่ายใหม่อย่าง อุปกรณ์จำพวกสมาร์ทโฟนอย่าง BlackBerry ของบริษัท RIM และ iPhone ของ Apple
.
อีกทั้งยอดขายยังคงตกฮวบลงอย่างต่อเนื่องเพราะคู่แข่งหน้าเก่าอย่าง Nokia, Ericsson, น้องใหม่อย่าง Samsung และค่ายอื่น ต่างพากันปรับตัวกันเพื่อรับมือกับเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงในตลาดอย่างรวดเร็วในยุคของสมาร์ทโฟนที่เน้นระบบปฏิบัติการเป็นใหญ่ Motorola กลายเป็นกรณีศึกษาในเครื่องวิสัยทัศน์ทางด้านการตลาดอีกครั้งกับกรณีนี้
.
.
กรณีศึกษาด้านวิสัยทัศน์ที่กลายเป็นหนังภาคต่อของ Motorola ถือว่าเป็นกรณีศึกษาที่หลายบริษัทควรศึกษาไว้ ไม่ได้จำเป็นต้องเจาะจงแค่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ หรือ เทคโนโลยี
.
วิสัยทัศน์และความมั่นใจ มีไว้เป็นข้อดี แต่บางครั้งความมั่นใจควรจะไม่ต้องเต็ม 100% อาจจะต้องเผื่อสำหรับสิ่งที่เรียกว่า “เทรนด์” สำหรับเปลี่ยนซัก 20% ก็พอแล้ว
.
ออกตัวช้ามา 2 ยุคแล้ว สำหรับ Motorola คราวนี้บริษัทสัญชาติอเมริกาลองวิ่งออกตัวไล่เลี่ยกับคนอื่นในตลาดแทบเล็ต โดยมีพี่เลี้ยงมาจากแผ่นดินใหญ่ ก็หวังว่าคงจะไม่มีกรณีศึกษาภาคต่อเป็นภาคที่ 3 ก็แล้วกัน
.
อ้างอิง :
BusinessWeek, “How Motorola lost its way”,4 May 1998
US News,”10 Great Companies that Lost Their Edge” Website http://www.usnews.com, 2010
Wikipedia
คิด,TCDC
.
Motorola วิสัยทัศน์ที่ผิดพลาด กรณีศึกษาที่เยี่ยมยอด
.
โดย Lenny Nero
.
ที่มา : i3 Scoop