Minsky Moment กับวิกฤตเศรษฐกิจ : วรากรณ์ สามโกเศศ

นักธุรกิจ นักการเงิน นักการเมือง และประชาชนทั่วไป ในโลกตะวันตกกำลังเล่น “เกมส์” ค้นหานักเศรษฐศาสตร์ หรือนักการเงินสักคนในโลก ที่ได้วิเคราะห์ว่าการแตกของฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาจะส่งผลกระทบไปทั้งโลกอย่างกว้างขวางดังเช่นที่ได้เกิดขึ้น แต่ก็ยังหาไม่พบ
.
ที่พอใกล้เคียงกับการพยากรณ์ดังกล่าวก็ได้แก่ Hyman Minsky อาจารย์เศรษฐศาสตร์แห่ง Washington University ที่ St.Louis แต่ก็ไม่ใช่คนที่พยากรณ์อย่างแน่ชัด เพราะแกตายก่อนเกิดเหตุการณ์ปวดร้าวนี้ถึง 12 ปี
.
ผู้พยากรณ์ว่าฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์อเมริกันจะแตกและมีผลเสียนั้น มีอยู่หลายคน เช่น Paul Krugman, Charles Kindleberger ฯลฯ แต่ไม่มีใครมองเห็นว่าจะไปไกลได้ถึงขนาดนี้
.
เขาว่ากันว่านักเศรษฐศาสตร์เก่งในเรื่องอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วได้เป็นคุ้งเป็นแคว แต่สำหรับการพยากรณ์อนาคตนั้นยังไม่เก่งถึงระดับ
.
ขณะนี้ชื่อของ Hyman Minsky ดังไปทั่วโลก เพราะรูปแบบหรือโมเดลที่เขาวิเคราะห์ไว้นั้น พอจะอธิบายสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
.
เมื่อครั้งที่เขาเสนอบทวิเคราะห์นั้น นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นว่าเขาเป็นตัวตลก ผิดยุค และเห็นว่ายากที่จะเป็นไปดังที่เขาพยากรณ์ไว้
.
Minskyไม่ใช่คนต่อต้านสถาบันการเงิน ในทางตรงกันข้ามเขาเคยเป็นกรรมการธนาคาร และเข้าใจกลไกการทำงานของธนาคารมากกว่านักเศรษฐศาสตร์ในห้องแอร์
.
.
โมเดลของเขา หรือที่เรียกว่า Minsky”s Model นั้น เกี่ยวพันกับเรื่องวงจรของเงินกู้โดยในพื้นฐานประกอบด้วย 5 ขั้นตอน หมุนเวียนเป็นวงจร
.
ขั้นแรกเรียกว่า Displacement เกิดขึ้นเมื่อนักลงทุนเกิดตื่นเต้นครั้งใหญ่กับบางสิ่งใหม่ เช่น ประดิษฐกรรม เช่น อินเตอร์เน็ต หรือสงคราม หรือการเปลี่ยนแปลงของนโยบายรัฐบาลจากเดิมอย่างแจ้งชัด ฯลฯ
.
ขั้นตอนที่สองคือ Boom นักลงทุนกู้ยืมมาลงทุนกันครั้งใหญ่ เพื่อหวังผลตอบแทนสูง
.
คราวนี้ถึงขั้นตอนที่สามคือ Euphoria นักลงทุนเกิดความรู้สึกสุดปลื้ม นายธนาคารให้กู้ยืมไปทั่ว แม้แต่คนที่ไม่สมควรได้กู้ สร้างเครื่องมือทางการเงินใหม่ขึ้นมาเพื่อเพิ่มสินเชื่อ (เช่น ตราสารหนี้แบบใหม่ที่มีการให้กู้ยืมซ้ำบนหลักทรัพย์เดิม securitization หรือการใช้รายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมาเป็นหลักทรัพย์กู้ยืมได้) เกิดการเก็งกำไรครั้งใหญ่ขึ้น
.
คราวนี้ก็ถึงขั้นตอนที่สี่คือ Profit taking หรือการหากำไรจากการซื้อขาย ผู้คนสนุกสนานจากการได้เงินจากการเปลี่ยนแปลง
.
ขั้นตอนที่ห้าคือ Panic หรือแตกตื่น ซึ่งมักเกิดขึ้นโดยมีบางสิ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าอย่างเฉียบพลัน เช่น ตราสารหนี้มีค่าลดลง กองทุนเงินกู้ ไม่มีเงินจ่ายฯ
.
เมื่อ Panic เกิดขึ้นก็ปั่นป่วนไปทั่ว เพราะเกิดความไม่แน่นอน ผู้มีหนี้ก็ต้องหาเงินมาใช้ หุ้นราคาตก ตราสารหนี้มีค่าใกล้สูญ ธุรกิจที่ซื้อตราสารหนี้หรือตราสารการเงินซึ่งแขวนไว้กับธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งก็ล้ม อำนาจซื้อของประชาชนหายไป คนว่างงาน ฯลฯ
.
ขั้นตอนสุดท้ายของ Minsky”s Model ก็คือช่วงเวลาของนักลงทุนที่กู้เงินไว้มากเกินไปถูกบังคับให้ขายหุ้น ขายตราสารหนี้ดีๆ ขายธุรกิจ ขายอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเอาใช้หนี้ ซึ่งยิ่งทำให้ตลาดการเงินยิ่งปั่นป่วนยิ่งขึ้นและตกต่ำลง เพราะทุกคนกระทำอย่างเดียวกัน ทุกคนเผชิญปัญหาการขาดสภาพคล่องและเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยเหลือ สภาวการณ์ ณ จุดนี้เรียกกันในปัจจุบันว่า Minsky Moment
.
Minsky Moment เป็นวลีฮิตในตลาดการเงินโลกในปัจจุบัน เพราะกำลังเป็นสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นไปทั่ว นั่นก็คือการขาดเงินสดในเกือบทุกภาคการผลิต อันเนื่องมาจากวิกฤตที่เกิดขึ้นโดยเรียงตาม 5 ขั้นตอนดังกล่าว แล้วชื่อเสียงของ Minsky เป็นที่รู้จักกว้างขวางโดยเจ้าตัวไม่รู้ตัวเพราะตายไปแล้ว
.
จากอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ที่ Brown, Berkeley และ Washington University (คนละแห่งกับมหาวิทยาลัยชื่อเดียวกัน แต่อยู่ที่ Seattle) จนถึง The Levy Economics Institute of Berd College ใน 6 ปี สุดท้ายของชีวิตเขาซึ่งสิ้นไปเมื่ออายุ 77 ปี บัดนี้เขาได้กลายเป็นคนดังของโลก เพราะโมเดลของเขาและคำเตือนอันยาวนานของเขาว่า
.
“ภายในระบบการเงินนั้นมีกลไกที่จะทำให้เกิดการเก็งกำไรขึ้นเสมอ และถ้ามีการเก็งกำไรยาวนานพอก็จะทำให้เกิดวิกฤตขึ้นได้”
.
Minsky ในร่างของอาจารย์ผมยุ่ง เสื้อผ้ายับๆ มองโลกในแง่ร้าย ไม่เคยไว้ใจระบบการเงิน พูดย้ำแต่เรื่องความเปราะบางของระบบการเงิน และทางโน้มของมันสู่ความพินาศ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นถูกต้อง
.
Minsky ไม่เชื่อว่าตลาดนั้นมีประสิทธิภาพ (Efficient Market) (คือระบบที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ รู้ข้อมูลอย่างแจ่มชัด และกลไกตลาดทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ หากรัฐไม่เข้าไปแทรกแซง)
.
เขาเชื่อว่าเวลาที่ทุกสิ่งดี นักลงทุนชอบเสี่ยง ยิ่งมันดีอยู่นานเท่าใดก็ยิ่งชอบเสี่ยงเพียงนั้น จนกว่าจะถึงจุดเสี่ยงมากเกินไป
.
ซึ่งในขั้นสุดท้ายก็คือ เงินสดที่ได้มาจากทรัพย์สินไม่เพียงพอต่อการจ่ายชำระหนี้ทรัพย์สินเหล่านั้นที่ได้มาด้วยการกู้ และการสูญเสียทรัพย์สินที่ได้มาจากการเสี่ยงเหล่านี้ ก็จะทำให้มูลค่าทรัพย์สินยิ่งตกลงไปอีก เมื่อผู้ลงทุนถูกบีบให้ขายทรัพย์สินอื่นด้วยเพื่อชำระหนี้ ตลาดของทรัพย์สินเหล่านี้ก็จะยิ่งมีราคาดิ่งลงไปเรื่อยๆ เกิดการขาดสภาพคล่องขึ้น แย่งหาเงินสดกันวุ่น และนี่ก็คือ Minsky Moment ดังกล่าว
.
เมื่อเริ่มมีการลดดีกรีการใช้กฎเกณฑ์ควบคุมระบบการเงินเมื่อ 25 ปีก่อน เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการทำงาน Minsky บอกว่า นายธนาคาร นักค้าหลักทรัพย์ นักการเงิน กำลังเป็นนักวางเพลิง เพราะวันหนึ่งจะเผาผลาญระบบเศรษฐกิจ เพราะจะเกิดการส่งเสริมให้ธุรกิจ และบุคคลกล้าเสี่ยงมากขึ้นจนเกินพอดี
.
เขาเชื่อว่า การเสี่ยงเก็งกำไรจะทำให้เกิดการขึ้นและลงของวงจร หนทางเดียวที่จะหยุดวัฏจักรขึ้นลงก็คือ ภาครัฐต้องเข้ามากำกับควบคุมนักการเงินเหล่านี้
.
Minsky เชื่อในการทำงานของกลไกตลาด แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของภาครัฐ มิฉะนั้น “ผู้เล่น” ทั้งหลายจะช่วยกันสร้างวิกฤตขึ้นโดยไม่รู้ตัว และสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาก็คือความเสี่ยง ซึ่งเป็นญาติอันใกล้ชิดของความโลภ
.
หลังวิกฤตครั้งนี้ หรือแม้แต่ก่อนวิกฤตจบสิ้นลง เชื่อได้ว่ากฎกติกาของการควบคุมระบบการเงินของทั่วโลก จะมีการทบทวนกันครั้งใหญ่โดยอาศัยบทเรียนที่ผ่านมา
.
บทวิเคราะห์ของ Minsky ชายผู้ดังเมื่อดับไปแล้ว จะต้องได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง
.
Moment ที่แท้จริงของ Minsky ซึ่งได้แก่ การได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อมหาชน ได้มาถึงแล้ว
.
Minsky Moment กับวิกฤตเศรษฐกิจ
.
วรากรณ์ สามโกเศศ
.
มติชน
.
5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552
Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.