“เราจะเทรดต่อไปอีกสิบ ยี่สิบปี เราต้องไม่เครียดจนเป็นบ้าไปก่อน”
มีเทรดเดอร์รุ่นพี่คนหนึ่งเคยพูดประโยคนี้กับผม ซึ่งก็จริงดังที่แกว่า เมื่อเลือกที่จะเป็นเทรดเดอร์ เลือกที่จะเดินเข้าสู่เส้นทางสายนี้แล้วหละก็ คุณก็จะต้องอยู่กับการเทรดไปอีกนาน เพราะฉะนั้นแล้วเราจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้อย่างสบายๆครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่ตลาดค่อนข้างผันผวนอย่างเช่นปีนี้ ที่จะส่งผลต่อสภาวะจิตใจของเทรดเดอร์เป็นอย่างมาก
ในทุกการเทรด นอกจากเราจะต้องใช้ความสามารถและประสบการณ์ในการค้นหาหุ้น เลือกจุดซื้อ ตั้งจุด stop loss ฯลฯ ตามหลักการลงทุนของแต่ละคนแล้ว ตัวแปรสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากๆคือ ‘สภาวะจิตใจ’ ของเทรดเดอร์ครับ สภาพจิตใจในที่นี้ก็คือความเครียดนั่นแหละครับ ผมขอพูดแค่สองปัจจัยใหญ่ๆ ที่มีผลที่สุดกับเทรดเดอร์ นั่นก็คือความโลภและความกลัวครับ
‘ความโลภ’ สำหรับเทรดเดอร์แล้ว ถ้าคุณไม่มีความโลภเลย การเทรดและศาสตร์แห่งการเก็งกำไรคงไม่เหมาะสำหรับคุณ เทรดเดอร์ทุกๆคนมีความโลภอยู่ในตัวครับ ความโลภเหล่านี้สำหรับนักลงทุนก็คือความกระตือรือร้นนั่นเอง และก็ยังเป็นแรงผลักดันให้เราเทรดและพัฒนาตัวเองต่อไป เพียงแต่เราต้องมีความโลภอย่างพอดี และต้องรู้จักควบคุมมันให้ได้
เพราะถ้าคุณโลภจนเกินพอดี คุณอาจจะให้น้ำหนักในการเทรดครั้งใดครั้งหนึ่งมากจนเกินไป มากจนผิดกับหลักการลงทุนของคุณ นอกจากจะทำให้ตัวคุณไม่สบายใจกับการเทรดครั้งนั้นแล้ว คุณอาจจะเจ็บตัวหนักๆได้อีกด้วย
.
.
ตัวอย่างความโลภจนเกินไป รีเทิร์นของ IVL-W1 นั่นแกว่งมากและบ้าคลั่งมากๆ นักลงทุนไม่น้อยน่าจะถูกความโลภเข้าครอบงำและเจ็บตัวกันไปตามระเบียบ เพราะทนความเย้ายวนไม่ไหว
ส่วนความกลัวคือด้านตรงข้ามกับความโลภนั่นเอง กล่าวคือ ถ้าความโลภเป็นตัวผลักดันคุณในการเทรด ความกลัวก็คือสิ่งที่กันคุณออกจากการเทรดนั่นเอง กลัวสภาวะตลาด กลัวความผันผวนของหุ้น กลัวงบการเงินไม่ออกมาอย่างที่คาด ความกลัวต่างๆเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เทรดเดอร์ทุกๆคนต้องเผชิญเช่นกัน
จริงอยู่ที่ว่าความกลัวอาจจะช่วยให้คุณรอดจากการขาดทุนได้ แต่ในทางกลับกัน ความกลัวที่มากเกินไปกลับจะทำให้คุณพลาดโอกาสการทำกำไรหลายๆครั้งเช่นกัน
.
.
ตัวอย่างความกลัวจนเกินไป ; ผมเข้าซื้อ ASAP ที่ประมาณ 4.6 – 4.8 บาทเพราะกราฟโอเคและหุ้นจ่อ high บวกกับการที่ตลาดลงติดต่อกันหลายวันทำให้ผมเชื่อว่าน่าจะมีเด้งบ้าง แต่เพราะในช่วงนั้นผม “กลัว” สภาวะตลาดมากจนเกินไป หลังจากที่เด้งมาซักพักแล้วตลาดเริ่มดูตื้อๆ ผมจึงตัดสินใจขายทำกำไรไปที่ราคา 5.25 หลังจากนั้น ASAP ขึ้นมาถึง 9.20 (19/7/60)
จะเห็นว่าทั้งความกลัวและความโลภ ต่างก็เป็นสิ่งที่จะอยู่กับเราและการเทรดของเราไปตลอดครับ เพราะฉะนั้นแล้วเราต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมมันให้ได้ position size กับ risk management คือหนึ่งในตัวช่วยให้เราควบคุมพวกมัน และทำให้เรา “ไม่บ้าไปเสียก่อน” ครับ
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณไม่สบายใจที่จะเข้าซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง แสดงว่า position size ของคุณอาจจะมากเกินไปจนคุณกลัวที่จะเทรดหุ้นตัวนั้นๆ คุณก็อาจจะปรับ position size ในการเทรดแต่ละครั้งของคุณลงให้เหมาะสมกับสภาพคล่องของหุ้นแต่ละตัว และอย่าลืมบริหารความเสี่ยงของคุณด้วยการกำหนด stop loss ในแต่ละครั้งการเทรดของคุณ
ถ้าคุณไม่ลืมที่จะทำสองอย่างนี้ คุณจะค่อยๆเห็นผลของมันเมื่อคุณเทรดครั้งต่อไปเรื่อยๆ และก็จะปรับสมดุลของสองสิ่งนี้ให้เข้ากับสไตล์การลงทุนของคุณเองได้ ซึ่งมันจะช่วยให้คุณเทรดโดยไม่ต้องแบกรับความรู้สึกเครียด กดดัน หรือความไม่สบายใจต่างๆเกินกว่าที่คุณจะรับไหว
.
.
ความกลัวและความโลภเป็นเพียงหนึ่งในองค์ประกอบของการเทรดเท่านั้น มีอีกหลายสิ่งที่คุณจะต้องเรียนรู้และเผชิญกับมันเมื่อคุณเทรดต่อไปในระยะยาว คุณจะเริ่มเห็นว่าคุณทำอะไรได้บ้าง สไตล์การลงทุนของคุณแบบนี้ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร
เพื่อนที่เทรดด้วยกันมาเป็นระยะเวลานานคนหนึ่งของผม ก็เคยถามผมด้วยคำถามที่ผมเองก็ถามตัวเองเช่นกันว่า ; ‘ในบางครั้งคุณอาจจะรู้สึกเหมือนเจอกับทางตัน แล้วเริ่มสงสัยว่า ควรจะพัฒนาตัวเองอย่างไรต่อไปโดยไม่ให้สูญเสียสไตล์การลงทุนของตัวเอง?’
ผมได้รับคำแนะนำง่ายๆจากอาจารย์ผมว่า ; ‘ก็ต้องค้นหาตัวเองต่อไป คอยสังเกตุข้อผิดพลาดของตัวเองไปเรื่อยๆ มันก็เหมือนกับฟุตบอลนั่นแหละ เราไม่ได้แข่งจบแค่นัดนี้ หรือฤดูกาลนี้ แต่เราเตะไปเรื่อยๆ ไม่มีแทคติคไหนใช้ได้ตลอดกาล ต้องพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ’
ดังคำกล่าวที่ว่า “There is no holy grail in trading – ไม่มีหลักการหรือระบบลงทุนไหนที่สมบูรณ์แบบ” นั่นเอง
….
‘ปรับสมดุลเพื่อการเทรดที่ยั่งยืน’
โดย PHANTORM
1 สิงหาคม 2017