‘บัฟเฟตต์ – โซรอส’ : โดย Artemis

 

สรุปเนื้อหาจากหนังสือ บัฟเฟตต์-โซรอส ลงทุนถูกนิสัย ยังไงก็ชนะ’

(The Winning Investment Habits of Warren Buffett & George Soros)

 โดยเพื่อนผมเอง แนะนำเลยครับสรุปไว้ดีมากๆ

####

‘บัฟเฟตต์ – โซรอส’

โดย Artemis

www.sarut-homesite.net

13 ธันวาคม 2554

หลังจากมีโอกาสได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับ อุปนิสัยการลงทุนของ บัฟเฟตต์-โซรอส ก็เลยอยากเอาความรู้มาแบ่งปันเพื่อนๆสักหน่อย แหะๆ เอาเป็นว่าสรุปย่อๆละกัน

หนังสือเล่มนี้จะกล่าวถึงความแตกต่างของ ‘นักลงทุนชั้นเซียน (คุณปู่บัฟเฟตต์กับโซรอส) vs นักลงทุนขี้แพ้’ ว่ามีอุปนิสัยในการลงทุนแตกต่างกันอย่างไร

ในที่นี้ ขอพูดถึงอุปนิสัยของเซียนละกัน เพราะว่าคงไม่มีใครในที่นี้ที่กำลังอ่าน blog นี้อยู่ อยากเป็นนักลงทุนขี้แพ้ แล้วอีกเหตุผลหนึ่งคือ จะได้เป็นแรงบันดาลใจให้เราปรับนิสัยการลงทุนของเราให้ทำตามแบบอย่างเซียนกันด้วยย

เรามาดูกันเลยยว่า อุปนิสัยทั้ง 23 ข้อมีอะไรบ้าง Let’s go :))

1.) จงรักษาเงินต้นไว้ให้ได้เสมอ ข้อนี้สำคัญที่สุด สำหรับโซรอสเขากล่าวว่า ‘การขาดทุนไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใด ทำให้เขารู้สึกเหมือนเดินถอยหลังกลับไปสู่จุดต่ำสุดของชีวิตอีกครั้ง’

2) มุ่งมั่นที่จะลดความเสี่ยง เป้าหมายของพวกเขา คือ ต้องให้แน่ใจเท่านั้นจึงจะลงทุน เค้าจะไม่ลงทุนในสิ่งที่เขาไม่รู้ ดังคำกล่าวของคุณปู่ที่ว่า “Risk comes from not knowing what you’re doing”

3) สร้างปรัชญาการลงทุนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง ปรัชญาในการลงทุนของบัฟเฟตต์ คือ ประเมินคุณค่าให้ได้ และมองให้ออกว่า กิจการไหนมีลักษณะที่น่าลงทุน รู้ว่าจะซื้อจะขายตอนไหน

4) พัฒนาระบบที่มีความเหมาะสมเข้ากับนิสัยของตัวเอง ในการเลือกหุ้น หาจังหวะเข้าซื้อและขาย

ตัวอย่างเกณฑ์ในการลงทุนของบัฟเฟตต์

– ผมเข้าใจธุรกิจนี้หรือไม่

– ธุรกิจนี้มีสถานะทางเศรษฐกิจที่น่าดึงดูดใจหรือไม่

– สถานะทางเศรษฐกิจที่น่าดึงดูดใจนั้นมีความยั่งยืนหรือไม่

– ผู้บริหารจัดสรรเงินทุนอย่างเป็นเหตุผลหรือไม่

– ผมอยากเป็นเจ้าของธุรกิจนี้หรือไม่ หากมีทีมผู้บริหารชุดนี้

– บริษัทให้ผลตอบแทนต่อผู้เป็นเจ้าของสูงกว่าค่าเฉลี่ยหรือไม่

– ผมชอบราคานี้หรือไม่ :วัดจากกำไรที่คาดว่าบริษัทจะสามารถทำได้ในอนาคต

5) การกระจายการลงทุนเป็นเรื่องของพวกกระจิบกระจอกเท่านั้น ยิ่งคุณมีหุ้นกระจัดกระจายมากเท่าไร เราก็ยิ่งทุ่มเทกับหุ้นที่เรามีได้น้อยลงเท่านั้น

6) ให้ความสำคัญกับผลตอบแทนหลังหักภาษี วิธีที่จะทำให้เงินทวีคูณขึ้น คือ ขจัดภาระเรื่องภาษีและค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมออกไปให้ได้

7) จงลงทุนในสิ่งที่คุณเข้าใจเท่านั้น บัฟเฟตต์พูดไว้ว่า “สิ่งสำคัญที่สุดของขอบข่ายแห่งความชำนาญไม่ได้อยู่ที่ว่ากว้างขวางขนาดไหน แต่อยู่ที่ว่าคุณขีดวงล้อมของมันได้ชัดเจนเพียงใดต่างหาก”

คนบางคนมักจะลงทุนตามที่โบรกเกอร์เชียร์ ตัวนี้ดี ตัวนั้นดี โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้รู้เลยว่าหุ้นตัวนั้นทำอะไร แต่จริงๆแล้วเราต่างหากที่ควรจะลงทุนในสิ่งที่เราเข้าใจอย่างถ่องแท้

มันก็เหมือนกับการที่คุณเข้าใจและสร้างผลตอบแทนได้ดีจากอสังหาริมทรัพย์ แต่พอเห็นว่าสินค้าโภคภัณฑ์บูม ก็เอาเงินไปลงทุนตามคนอื่นแล้วขาดทุนนั่นแหละ

8) จงปฏิเสธที่จะลงทุนในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับเกณฑ์ในการลงทุนของคุณ บัฟเฟตต์และโซรอสสร้างขอบข่ายแห่งความชำนาญของตัวเอง ด้วยการตอบคำถามเหล่านี้ คือ ฉันสนใจอะไร,  ฉันรู้อะไรในตอนนี้, และ อะไรที่ฉันอยากรู้แต่ยังไม่รู้

คุณต้องตอบคำถามนี้ให้ได้ก่อน จึงจะหาเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการลงทุนของตัวเองได้

9) จงทำวิจัยด้วยตัวเอง มองหาโอกาสในการลงทุนใหม่ๆให้สอดคล้องกับเกณฑ์ในการลงทุนของตัวเองอยู่เสมอ และเอาจริงเอาจังกับการวิจัยหาข้อมูลด้วยตัวเอง แล้วชอบที่จะฟังเฉพาะนักลงทุนหรือนักวิเคราะห์ผู้มีเหตุผลอันลึกซึ้งควรค่าแก่การนับถือ

บัฟเฟตต์ บอกว่า เคยใช้เวลามากกว่าครึ่งเดือนเพื่อนับจำนวนรถจักรที่วิ่งไปมาบนทางรถไฟในแคนซัส O_o แต่เขากลับไม่ได้ซื้อหุ้นบริษัทรถไฟ กลายเป็นว่าไปสนใจหุ้นของบริษัทที่ผลิตแก๊สโซลีนเพื่อใช้กับหัวรถจักรแทน และซื้อหุ้นของบริษัทแก๊สแทนรถไฟ ในกรณีนี้บัฟเฟตต์ลงทุนลงแรงทำภาคสนามด้วยตัวเองเลย เขาจึงลงทุนได้ด้วยความมั่นใจ และรู้ข้อมูลที่นักลงทุนคนอื่นๆนอกบริษัทไม่รู้อีกด้วยยย

10) จงอดทนอย่างไม่สิ้นสุด เมื่อเขายังไมเจอการลงทุนที่สอดคล้องกับเกณฑ์ของตัวเอง เขาก็มีความอดทนพอที่จะรอไปอย่างไม่มีกำหนดจนกว่าจะเจอ

“คุณไม่ได้เงินจากการทำโน่นทำนี่หรอกครับ คุณได้เงินจากการทำสิ่งที่ถูกต้องต่างหาก” บัฟเฟตต์กล่าวในการประชุมประจำปีกับผู้ถือหุ้น

11) จงทำทันที ลงมือทันที เมื่อตัดสินใจดีแล้ว

12) อยู่กับการลงทุนที่ทำให้ได้รับชัยชนะ จนกว่าเหตุผลสมควรให้ขายที่คิดไว้ล่วงหน้าจะอุบัติขึ้น

กลยุทธ์ในการออก : 1) ออก เมื่อโดนแหกกฎ

2) ออก เมื่อเหตุการณ์ที่คาดไว้ได้เกิดขึ้นแล้ว

3) ออก เมื่อบรรลุเป้าหมายตามระบบแล้วหรือราคาไปถึงเป้าหมายแล้ว

4) ออก เมื่อระบบส่งสัญญาณมา นิยมในหมู่นักเทคนิค

5) ออก ตามกฎที่ตั้งไว้ เช่น พอราคาถึงจุดหนึ่งก็จะขาย หรือขายทันทีเมื่อขาดทุน 10 เปอร์เซ็นต์ หรือจุดที่เราตั้งไว้

6) ออก เมื่อรู้ตัวว่าได้ทำผิดพลาดไปแล้ว

13) จงทำตามระบบของคุณด้วยความศรัทธา ไม่มีการเปลี่ยนเกณฑ์การลงทุน หรือลดเป้า เพื่อปลอบใจตัวเองว่าฉันทำถูกแล้ว

14) ยอมรับความผิดพลาดและแก้ไขทันที เมื่อความผิดพลาดนั้นปรากฏชัด ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็แค่ขาดทุนเล็กน้อย

15) เปลี่ยนความผิดพลาดเป็นประสบการณ์ ฟิชเชอร์ กล่าวว่า “การทบทวนความผิดพลาด อาจให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการระลึกถึงแต่ความสำเร็จซะอีก”

16) ลงทุนลงแรง เมื่อประสบการณ์เพิ่มขึ้น ผลตอบแทนก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้ใช้เวลาน้อยลงเพื่อทำเงินได้มากขึ้น เพราะได้ลงทุนลงแรงไปแล้ว

17) ไม่เคยพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่คุณทำ แทบจะไม่บอกใครเลยว่าตัวเองทำอะไรอยู่ ไม่สนใจว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับการลงทุนของเขา จะบอกทำไม ในเมื่อบัฟเฟตต์รู้ตัวดีว่าตัวเองทำอะไรอยู่ ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาช่วยยืนยันการตัดสินใจแต่อย่างใด

เช่นเดียวกับ โซรอส ที่ไ่ม่เคยเปิดเผยความเคลื่อนไหวของตัวเองให้ใครรู้ เพราะถ้าคนอื่นรู้ว่าเขาทำอะไรอยู่ก็จะแห่กันเข้าไปซื้อหุ้นตัวนั้น และราคาก็จะสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนของเขาสูงขึ้นไปน่ะสิ

18) รู้วิธีเป็นผู้นำ นักลงทุนชั้นเซียนจะแบ่งหน้าที่รับผิดชอบบางส่วนหรือทั้งหมดให้กับคนอื่น สำหรับบัฟเฟตต์แล้ว ทุกๆการลงทุน คือ การกระจายงาน เขาจะระลึกเสมอว่า เขากำลังเอาอนาคตของเงินของตัวเองไปให้คนอื่นดูแล และเขาจะมอบหมายหน้าที่นี้ให้กับคนที่เขาไว้ใจและนับถือเท่านั้น

19) จงใช้ชีวิตต่ำกว่าฐานะของคุณ ถ้าคุณไม่รู้คุณค่าของเงิน คุณย่อมไม่รู้จักเก็บออมเงินทองที่หามาได้

การใช้เงินนั้นง่ายมากๆ ใครก็ทำได้ แต่หาเงินสิยากกว่า นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมการใช้ชีวิตต่ำกว่าฐานะของตัวเองจึงเป็นทัศนคติที่เป็นรากฐานของความสำเร็จของบัฟเฟตต์และโซรอส

20) ก้าวให้พ้นเรื่องเงิน นักลงทุนชั้นเซียนทำงานที่ทำอยู่ เพราะงานนั้นทำให้กระชุ่มกระชวยและเติมเต็มชีวิตของเขา ไม่ใช่ทำงานเพื่อเงิน ถ้าคุณมีแรงบันดาลใจในการทำสิ่งนั้น เงินทองที่คุณทำได้ในระหว่างไล่ล่าเป้าหมาย จะเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้นเอง

21) กระบวนการ นักลงทุนชั้นเซียน จะผูกพันกับกระบวนการในการลงทุน สามารถปฏิเสธหรือล้มเลิกการลงทุนใดๆได้ง่ายๆ

// สิ่งที่เหมือนกันในบรรดาที่เป็นคนสุดยอดในแนวทางของตัวเองก็คือ พวกเขาถูกผลักดันจาก กระบวนการกระทำ // การลงทุนสำหรับนักลงทุนชั้นเซียนก็เหมือนการวาดภาพของจิตรกร ซึ่งบางคนอาจชอบวาดภาพด้วยสีน้ำมัน สิ่งที่เขารักคือ การ ‘วาดภาพด้วยสีน้ำมัน’ แต่เข้าไม่ได้รัก ‘สีน้ำมัน’

22) หายใจเข้า-ออก เป็นการลงทุนตลอดเวลา

เรื่องเล่าของบัฟเฟตต์ : เย็นวันหนึ่ง บัฟเฟตต์และซูซาน ไปกินอาหารเย็นที่บ้านเพื่อน ที่เพิ่งจะกลับมาจากอียิปต์ หลังจากทานข้าวเสร็จ เพื่อนก็เตรียมสไลด์รูปภาพไว้ให้ดู แต่บัฟเฟตต์กลับบอกว่า “เอางี้ไหม คุณเปิดสไลด์ให้ซูซานดู ส่วนผมขอเข้าไปในห้องนอนของคุณ เพื่ออ่านรายงานประจำปีแล้วกัน” O_o

23) เอาเงินของคุณใส่ลงไปด้วย ทั้งบัฟเฟตต์และโซรอส ต่างก็เอาเงินใส่ลงไปในการลงทุนที่ตัวเองบริหารจัดการอยู่ ด้วยเหตุผลเดียวกับที่นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทุกคน ต่างก็มีสินทรัพย์ผูกติดอยู่ในธุรกิจที่ตัวเองทำ การลงทุนของพวกเขา คือ ลงทุนในสิ่งที่ตัวเองรู้ว่าจะทำเงินได้ และนั่นคือ สิ่งที่เขารักนั่นเอง

จบแล้วสำหรับอุปนิสัยการลงทุน หวังว่าทุกคนจะได้ประโยชน์จากบทความนี้ ไม่มากก็น้อยน๊าาา

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.