ปี 2019 ผ่านมาแล้ว 2 เดือน ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ทำ bottom แล้วกลับตัวเป็นขาขึ้นกันมาซักพัก วันนี้เลยมาอัพเดตภาพรวมกันหน่อยนะครับ
จากการที่ตอนนี้ผมเทรด 2 ประเทศเป็นหลัก ทำให้เห็นความแตกต่างของภาวะตลาดหุ้นไทยกับตลาดเมกา รวมถึงตลาดหุ้นประเทศอื่นๆ ซึ่งช่วงนี้ดูเหมือนว่า SET จะมีปัญหาเฉพาะตัวอีกครั้ง
เริ่มจากภาพใหญ่กราฟ NASDAQ เทียบกับกราฟ SET
โดยล่าสุดตลาด NASDAQ กลับมายืนเหนือเส้น MA 200 วันได้ แต่สำหรับ SET ดูอาการจะออกไปในทางที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะนอกจากจะยังไม่ผ่านเส้น MA 200 วันแล้ว หุ้นรายตัวก็เริ่มทยอยไหลลงแรงกันพอสมควร
และถ้าดูผลตอบแทนตลาดหุ้นแต่ละประเทศนับจากต้นปี (YTD) จะเห็นว่า SET ค่อนข้าง laggard ประเทศอื่นอยู่พอสมควรเลย
NASDAQ (เมกา) 14.47%
S&P500 (เมกา) 11.84%
Shanghai (จีน) 21.4%
Hang Seng (ฮ่องกง) 12.05%
Nikkei (ญี่ปุ่น) 9.03%
Vietnam Ho Chi Minh (เวียดนาม) 11.37%
SET (ไทย) 4.57%
ภาพรวมตลาดหุ้นเมกา vs ตลาดหุ้นไทย ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
– ตลาดเมกาเด้งกลับมาเร็ว เด้งขึ้นแรง มีลักษณะเป็น v shape โดยถ้านับจาก bottom ดัชนี Nasdaq จะเด้งขึ้นมาแล้วถึง 22.7% ส่วน S&P 500 เด้งขึ้นมาราวๆ 19.5% ส่วน SET จาก bottom เด้งมาประมาณ 8% พอชนเส้น MA 200 วัน ก็เริ่มย่อแรงแล้ว
– ตลาดเมกาเกิด FTD หลายครั้ง DD ยังมีน้อย ส่วน SET เกิด FTD น้อยมาก (วันที่ตลาดบวกมากกว่า 1%) แต่ DD กลับเริ่มเยอะขึ้น
– ตลาดเมกากลับมายืนเหนือทั้งเส้น MA 50 วัน และเส้น MA 200 วันได้ ช่วงย่อถือว่าเบามาก และสามารถดีดกลับได้ค่อนข้างเร็ว
– ส่วน SET ล่าสุดยังไม่ผ่านเส้น MA 200 วัน ดัชนีดูไม่ค่อยมีแรง ราคาหุ้นส่วนใหญ่ยังขึ้นยาก
ในส่วนของหุ้นรายตัว แน่นอนว่าการที่ดัชนีขึ้นต่างกันขนาดนี้ ราคาหุ้นรายตัวก็จะต่างกันเยอะเช่นกัน โดยสิ่งที่ผมเห็นในตลาดเมกาคือ
– หุ้นรายตัวกลับมาวิ่งขึ้นทั้งแผง หลายตัวสามารถ breakout new all time high ได้
– ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา average gain ของหุ้นรายตัวส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 25-40% ต่อตัว
– แต่ถ้าเป็นตัวจิ๊ด หรือหุ้น high growth , หุ้น IPO ผลตอบแทน YTD มีถึงระดับ 60-90% (แค่ 2 เดือน)
– ราคาหุ้นจะมีช่วงย่อแรงประมาณ 2-3 วัน หรือ 1-2 สัปดาห์ แต่ซักพักก็จะกลับขึ้นไปทำ new high กันต่อได้
– เกิด sector rotation หรือการที่เงินหมุนไปเล่นหุ้นกลุ่มใหม่ๆ สลับกันดันตลาดให้ภาพรวมดูแข็งแรงอยู่ (ดัชนีเลยย่อไม่แรงหรือย่อไม่นานนัก)
ตัวอย่างหุ้นเทพ 2 ตัวในตลาดเมกา ตัวแรกเป็นหุ้น high growth ที่รายได้และกำไรโตแรงต่อเนื่องทุกไตรมาส วันที่งบออกล่าสุด ราคาหุ้น gap up บวกขึ้นไปอีก 30%
ตัวที่สองเป็น new ipo ครับ บริษัท Huaimi (HMI) บริษัทลูกของ Xiaomi ทำอุปกรณ์กีฬา และ smart watch แบรนด์ Amazfit
ซึ่งภาพที่เห็นจะต่างกับอาการของหุ้นรายตัวใน SET พอสมควร โดยของ SET เราจะเห็นอาการประมาณนี้ ;
– ราคาหุ้นส่วนใหญ่ยังอยู่ต่ำกว่าเส้น MA 200 วัน
– หุ้นนำตลาด , หุ้น growth ดีๆมีให้เลือกเทรดน้อยเหมือนเดิม
– หุ้นวิ่งขึ้นได้ไม่ไกลก็เริ่มมีแรงขายหนัก หลายตัวค่อยๆขึ้นไป 2-3 อาทิตย์ ก็ร่วงลงมาที่เดิมหรือต่ำกว่าเดิม
– เงินกระจุกอยู่ในหุ้นไม่กี่ตัว ทำให้มีปัญหา overcrowded อยู่บ่อยครั้ง (คนถือหุ้นตัวเดียวกันเยอะ)
หุ้น CANSLIM ในไทยที่ขึ้นได้ดี ก็พอจะมีหุ้น IPO Growth บางตัวเช่น SISB เพียงแต่ว่าช่วงหลังตลาดไทยจะมีหุ้นแนวนี้น้อยกว่าเมื่อก่อนเยอะครับ
สำหรับคำแนะนำในช่วงนี้นะครับ
– ถ้าคนที่เทรดเฉพาะหุ้นไทย ต้องเริ่มระวัง อย่าเพิ่งบู๊มาก เพราะส่วนใหญ่พอหลังงบออกราคาหุ้นมักจะพักทำ base ใหม่ เพื่อย่อยงบและรอการอัพเดตแนวโน้มธุรกิจจาก opp day และ analyst meeting
– ภาพรวมตลาดหุ้นไทยยังคงอยู่ในภาวะหมี หุ้นขึ้นดีๆมีน้อยกระจุกตัว (1 ใน 4 ของหุ้นทั้งหมด) จะไม่เหมือนตลาดต่างประเทศที่พอกลับตัวเป็นขาขึ้น ก็ขึ้นเรื่อยๆแบบ lock out rally ที่หุ้นส่วนใหญ่จะวิ่งขึ้นตามตลาด (3 ใน 4 ของหุ้นทั้งหมด) ดังนั้น เรายังหวังให้หุ้นไทยคึกคักแบบ bull market ไม่ได้
– Go Inter ; ถ้าเป็นไปได้ ส่วนตัวผมคิดว่าการลองไปศึกษาหุ้นต่างประเทศ ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะถ้ายุคทองของตลาดหุ้นไทย (และประเทศไทย) ยังไม่กลับมา ก็มีโอกาสที่ภาพรวมจะยังซึมๆหรือซบเซา ราคาหุ้นส่วนใหญ่จะขึ้นยากกว่าตลาดต่างประเทศ
– ข้อดีของการเทรดต่างประเทศคือ การเปิด universe หรือเพิ่มโอกาสเทรดหุ้นอีกหลายเท่าตัว จากเดิมที่เรามีแค่ 500-600 ตัวใน SET แถมตัวที่ดีจริงก็มีไม่เกิน 100 ตัว กลายเป็นมีหุ้นให้เลือกเพิ่มเป็นหลักพันหลักหมื่นตัว ทำให้เรามีโอกาสเจอธุรกิจดีๆที่น่าสนใจมากขึ้น , ได้ลงทุนในบริษัทเกิดใหม่ เป็นเทรนด์ใหม่ของโลก , หรือหุ้น ipo ตัวแรงๆของต่างประเทศ มีทางเลือกเพิ่มขึ้นอีกเยอะครับ
– ส่วนข้อเสียหรือความเสี่ยงในการเทรดหุ้นต่างประเทศ หลักๆก็จะมีเรื่องค่าเงิน ถ้าเงินบาทแข็งค่ามากก็อาจจะขาดทุนได้ (ถ้าเราแปลงกลับหรือคิดมูลค่าพอร์ตเป็นเงินบาทตอนนั้น) แต่ก็แก้ได้โดยการทยอยแปลงตอนที่ค่าเงินบาทแข็ง หรืออาจจะแปลงออกไปแค่ 10-30% ของเงินลงทุนทั้งหมดก่อน เวลาที่บาทแข็งก็จะไม่กระทบกับพอร์ตรวมมากนัก
– อีกความเสี่ยงคือ การปรับตัวและศึกษาตลาดต่างประเทศ ทั้งรูปแบบตลาด , รูปแบบกราฟ , การหาข้อมูลพื้นฐาน , จิตวิทยา ฯลฯ ที่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และหาประสบการณ์ เหมือนกับเวลาที่เราเริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ๆครับ
…
Blog 89 : Market Note Q1/2019 – ‘US uptrend , SET’s still laggard’
www.sarut-homesite.net
4 มีนาคม 2019