Blog 78 : ตัวอย่างเนื้อหาหนังสือ ‘Momentum Master’ ฉบับภาษาไทย

 

‘Momentum Master’ ฉบับภาษาไทย เป็นงานแปลเล่มแรกของผมร่วมกับสำนักพิมพ์ Nsix

ตอนนี้หนังสือเตรียมวางจำหน่ายแล้ว โดยช่วงนี้เริ่มเปิดให้ pre-order ที่เวบ investing.in.th

หนังสือจะวางแผงตามร้านซีเอ็ดและร้านอื่นๆ ประมาณปลายเดือน ก.ค. 2017 ครับ

blog ตอนนี้ผมเลยเอาเนื้อหาในหนังสือที่เคยโพสลง facebook มารวมให้ดูเป็นตัวอย่างกันอีกทีครับ

####

บทที่ 1 – แนะนำตัว

David Ryan ;

“การนั่งดูหุ้นอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวันอาจจะฟังดูน่าสนุก แต่ผมกลับพบว่ามันสามารถส่งผลเสียต่อผลตอบแทนของเราได้ด้วย สำหรับผมมันจะดีกว่าถ้าให้ความสนใจไปที่ภาพระยะกลาง-ยาว และไม่ถูกรบกวนจากการเหวี่ยงของราคาหุ้นในช่วงการเทรดระหว่างวัน (intraday) หุ้นตัวที่ผมได้กำไรเยอะก็จะมาจากการถือหุ้นตัวนั้นในระยะกลางถึงระยะยาว

เพราะบางครั้งการปรับตัวของหุ้นในกราฟ 10 นาที อาจดูน่ากลัว แต่มันจะดูเล็กน้อยมากถ้าคุณถอยออกมาดูภาพใหญ่ขึ้นจากกราฟรายวันหรือกราฟรายสัปดาห์ มีหลายครั้งเลยที่ผมถูกเขย่าจนหลุดออกจากการเทรดที่ดีเพราะไปดูกรอบระยะเวลาที่สั้นเกินไป

ดังนั้นในมุมมองของผม กำไรก้อนโตจะเกิดได้จากการปรับตัวตามแนวโน้มใหญ่ของหุ้นเท่านั้น”

.

บทที่ 2 – การเลือกหุ้นรายตัว

Dan Zanger ;

“หนึ่งในข้อผิดพลาดของเทรดเดอร์มือใหม่ที่ผมเห็นอยู่เป็นประจำก็คือ พวกเขาชอบไปไล่ซื้อหุ้นตอนที่มันขึ้นไปไกลแล้ว มันแสดงให้เห็นว่าพวกเขาถูกอารมณ์และความโลภเข้าครอบงำ และคงมั่นใจมากว่าราคาหุ้นในวันต่อๆไปจะพุ่งทะลุฟ้าอีกแน่นอน จนทำให้รีบโดดเข้าไปซื้อหุ้นตอนที่กำลังวิ่งแรงอยู่

สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นหลังจากนั้นก็คือ หุ้นกลับตัวแล้วเริ่มร่วงลงอย่างแรง และเทรดเดอร์พวกนี้ก็จะขาดทุนอย่างหนัก แต่พวกเขาก็จะโทษความผันผวนของตลาด ทั้งๆที่ควรจะรับผิดชอบผลลัพธ์ที่เกิดจากการขาดความยับยั้งชั่งใจของตัวเอง”

.

Mark Mivervini ;

“ผมพยายามที่จะไม่มีหุ้นที่ชอบเป็นการส่วนตัว แม้ว่าสัญชาตญาณการเลือกหุ้นของผมจะค่อนข้างดีก็ตาม ผมได้เรียนรู้ว่าไม่ควรเชื่อมั่นในความเห็นส่วนตัวของเรามากเกินไปนักเพราะมันมักจะผิดอยู่บ่อยครั้ง

ถ้าคุณมีความเชื่อมั่นในการเทรดมากเกินไป มันก็ยากที่จะเชื่อใจตลาดและยอมเปลี่ยนความคิดของคุณถ้าการเทรดนั้นไม่เป็นไปอย่างที่คิด ถ้าผมมัวรอเทรดหุ้นตัวที่คิดว่าน่าจะขึ้นในขณะที่หุ้นตัวอื่นกำลังเบรคเอาท์กัน มันอาจจะทำให้ผมพลาดหุ้นนำตลาดตัวสำคัญไป

ผมต้องการให้ตลาดนำทางไม่ใช่ความเห็นส่วนตัวของผม เพราะว่าตลาดนั้นไม่เคยผิด แต่ความเห็นส่วนตัวต่างหากที่มักจะผิดพลาด”

.

บทที่ 3 – ขนาดการเทรด

Mark Minervini ;

“คุณไม่ควรเอาพอร์ตของคุณไปเสี่ยงกับหุ้นตัวเดียว มันเป็นอะไรที่เสี่ยงมากเกินไป!

ผมได้บทเรียนเรื่องนี้จากการ’ เกือบ’ ขาดทุนหนักเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 1990 ตอนนั้นผมกำลังคิดจะซื้อหุ้นตัวหนึ่ง มันน่าจะมีชื่อว่า Healthcare of America แต่ผมไม่ได้ซื้อมัน เช้าวันต่อมา หุ้นเปิดโดดลงไป 80%

ตั้งแต่นั้นมา ผมสำนึกเลยว่าผมไม่สามารถนำเงินทั้งหมดของผมมาเสี่ยงกับหุ้นตัวเดียวได้ แต่ถ้าผมถือหุ้นอยู่ 25-30% ของพอร์ต มันก็ถือว่าเป็นการโฟกัสที่มากพอที่จะสามารถทำกำไรก้อนโตให้เราได้ หรือหากมีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้หุ้นตกลงไปแรงมาก ผลขาดทุนของมันก็ยังสามารถกู้คืนกลับมาได้ไม่ยากด้วย”

.

Dan Zanger ;

“ผมเคย ‘อัดหมดพอร์ต’ แค่ครั้งเดียว และมันเกือบทำให้ผมเจ๊งหมดตัว หุ้นของบริษัทหนึ่งเคยเทรดอยู่ที่ 27 เหรียญในวันศุกร์ แล้วพอวันจันทร์มันลงไปเหลือแค่ 6 เหรียญ หลังจากนิตยสาร Barron’s ลงบทความว่าหุ้นตัวนั้นมันเป็นบริษัทที่โกงวิธีการบันทึกบัญชี

ต้องขอบคุณพระเจ้าที่หุ้นตัวนั้นใช้มาร์จิ้นซื้อไม่ได้ ไม่งั้นผมคงต้องได้ไปอยู่ต่อหน้าผู้พิพากษาในคดีล้มละลายแล้วละ”

####

Dan Zanger ;

“สิ่งสำคัญอย่างนึงที่จะช่วยให้เราเอาตัวรอดในเกมนี้ได้ในระยะยาวก็คือ เราต้องสามารถหลีกเลี่ยงการเข้าเทรดได้ แม้ว่ามันอาจจะมีหุ้นบางตัวที่กระตุกความสนใจของคุณด้วยการทำจุดสูงสุดใหม่ก็ตาม

สำหรับผมแล้ว ภาวะตลาดที่มีหุ้นแค่ไม่กี่ตัววิ่งขึ้นได้ดีจะไม่ใช่ภาวะตลาดที่แข็งแรงพอที่จะทำให้เราเทรดได้ อย่างเช่นเมื่อปี 2006 ที่พอร์ตของผมถูกกัดกินอย่างรุนแรงจากภาวะตลาดผันผวนสูง (choppy)

ตลาดโดยรวมจะต้องแสดงถึงความแข็งแกร่ง และต้องมีหุ้นหลายตัวสามารถวิ่งขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ มีฐานราคาที่แข็งแกร่งให้เห็นในกราฟ รวมถึงผลประกอบการของหลายบริษัทมีการเติบโตอย่างน่าประทับใจด้วย

ปัจจัยเหล่านี้คือตัวชี้วัดที่สำคัญในการตรวจสอบภาพรวมและสุขภาพของตลาด ซึ่งจะส่งผลมายังการปรับพอร์ตของผมด้วย”

.

บทที่ 6 – ภาวะตลาด

David Ryan ;

“คุณต้องระวังไม่ให้ภาวะตลาดมามีอิทธิพลกับคุณและทำใหัรู้สึก bullish หรือ bearish มากเกินไป จนส่งผลกับการเทรดหุ้นรายตัวที่คุณถืออยู่

คุณอาจจะได้สัญญาณขายจาก indicators ของตลาด แต่ถ้าหุ้นของคุณยังยืนได้ดีคุณก็ยังไม่ควรขายมัน คุณน่าจะเคยได้ยินสำนวนที่ว่า “อย่าทิ้งของที่มีค่ารวมไปกับของที่ไม่มีค่า”

แน่นอนว่า คุณต้องคอยตรวจสอบภาวะตลาด แต่อย่าให้ถึงจุดที่มันทำให้คุณตื่นตระหนกจนขายล้างพอร์ตทุกครั้งที่ indicators ของคุณส่งสัญญาณว่าตลาดเริ่มเป็นขาลง

ถ้าหุ้นทั้งตลาดเริ่มเกิดการกลับตัวร่วงลงมา ผมจะเรียงลำดับการขายโดยเริ่มจากหุ้นตัวที่อ่อนแอที่สุดไปจนถึงตัวที่แข็งแกร่งที่สุด ซึ่งอาจจะขายทั้งหมดหรือแค่ลดขนาดการเทรดลง

ผมต้องการถือหุ้นตัวที่ดีที่สุดของผมเอาไว้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะพวกมันอาจจะสามารถต้านทานช่วงที่ตลาดร่วงลงหรือปรับฐาน และเมื่อภาวะตลาดเริ่มกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง หุ้นพวกนี้ก็จะวิ่งขึ้นไปต่อได้ครับ”

.

Mark Mivervini ;

“ผมจะให้น้ำหนักไปที่หุ้นรายตัวมากกว่าตลาด , indicator , หรือข่าวสารต่างๆ แม้แต่การที่ตลาดทำจุดต่ำสุดไปแล้ว ก็ยังไม่ได้หมายความว่าหุ้นรายตัวจะพร้อมวิ่งขึ้นเลยในทันที และมันก็มีหลายครั้งที่หุ้นนำตลาดจะเริ่มวิ่งขึ้นไปก่อนที่ตลาดจะทำจุดต่ำสุดจริงๆ ดังนั้น ผมจะซื้อหุ้นก่อนที่ตลาดจะเกิด FTD

ผมมองแบบนี้นะ ถ้าตลาดดูดีมาก แต่มันไม่มีหุ้นที่ทำรูปแบบสวยๆผ่านเกณฑ์ของผมเลย ผมก็จะไม่ซื้ออะไรทั้งนั้น ดังนั้น สำหรับผมหุ้นรายตัวคือคำตอบสุดท้าย

ผมคิดว่าเทรดเดอร์ส่วนใหญ่จะทำผลงานได้ดีขึ้นมาก ถ้าพวกเขาเลิกสนใจ “ตลาด” หรือดัชนีต่างๆ และโฟกัสไปที่หุ้นรายตัวของพวกเขา ถึงแม้ว่าผมจะคาดการณ์การกลับตัวของตลาดได้ดีอยู่เสมอ แต่ผมก็จะไม่ออกมาฟันธงจุดกลับตัวของตลาด

คุณจะแปลกใจว่าผลการเทรดของคุณสามารถดีขึ้นได้ขนาดไหนเมื่อคุณสนใจ “ตลาด”ให้น้อยลง และใส่ใจหุ้นรายตัวให้มากขึ้นครับ”

.

Dan Zanger ;

“การเลือกซื้อหุ้นก่อนตลาดเกิด follow-through day จะขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของราคาหุ้นในช่วงก่อนหน้าและปัจจัยต่างๆของของหุ้นตัวนั้น เช่น อาการของหุ้นเมื่อประกาศงบออกมา, ผลประกอบการล่าสุดดีไหม , สภาพคล่องของหุ้นมีมากน้อยแค่ไหน, และหุ้นตัวอื่นๆในตลาดมีพฤติกรรมอย่างไรกันบ้าง?

ถ้ามันเป็นหุ้นที่กำไรเติบโตในระดับเทพมาก และมีวอลุ่มเข้ามาเทรดมากพอ ผมก็จะตอบว่าซื้อครับ ผมจะซื้อหุ้นนำตลาดตัวนั้นก่อนที่ FTD จะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ส่วนมากแล้วผมจะยังไม่ซื้อจนเต็มจำนวน อาจจะซื้อซัก 50% ของที่ตั้งใจไว้ แล้วรอให้หุ้นนำตลาดตัวอื่นๆเริ่มทยอยวิ่งขึ้นด้วย หรือรอให้ตลาดเกิด follow-through day เพื่อเพิ่มความมั่นใจก่อนจะซื้อหุ้นมากขึ้น ต้องไม่ลืมว่ามีหลายครั้งที่ตลาดเกิด FTD แล้วก็ล้มเหลว ดังนั้น มันก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่เราต้องรอให้เกิดขึ้นก่อนที่จะเริ่มซื้อหุ้นได้เสมอไป”

.

บทที่ 7 – เกณฑ์การเข้าซื้อหุ้น

David Ryan ;

“ในแต่ละปี สิ่งที่คุณต้องการจริงๆก็คือ หุ้นที่ดีมากเพียงหนึ่งหรือสองตัวเท่านั้นเพื่อที่จะได้ผลตอบแทนระดับยอดเยี่ยม แต่คุณต้องรับมือและบริหารการเทรดให้ถูกต้อง เมื่อหุ้นเริ่มวิ่งขึ้นไปครั้งแรก คุณต้องรอซื้อหุ้นเพิ่มหลังจากที่มันทำฐานราคาใหม่เสร็จ คุณสามารถซื้อเพิ่มได้อีกในฐานราคาครั้งต่อๆไป

คุณสามารถสร้างขนาดการเทรดได้ถึง 20-25% ของพอร์ตสำหรับการเคลื่อนไหวในระยะยาวของหุ้น โดยที่การเทรดในขนาดนี้ควรเกิดจากการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น และจากการซื้อหุ้นเพิ่มในช่วงที่หุ้นพักทำฐานราคาใหม่แต่ละครั้ง”

.

Dan Zanger ;

“การตรวจระดับฐานของตลาด (market stage) ร่วมกับระดับฐานของราคาหุ้น (stock stage) จะให้ผลดีที่สุด บางครั้งผมอาจจะอยู่เฉยๆไม่ได้เทรดเลยเป็นเวลา 2 ถึง 6 เดือน เพื่อรอโอกาสการเทรดครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคต

ข้อผิดพลาดใหญ่สุดที่เทรดเดอร์ทำกันก็คือ การคิดว่าพวกเขาต้องทำการเทรดเล็กๆน้อยๆทุกวัน ในขณะที่สิ่งนี้อาจจะใช้ได้ผลสำหรับเทรดเดอร์ที่มีทักษะสูงด้วยการเทรดหุ้นทีละไม่กี่พันหุ้นตรงบริเวณนั้นบริเวณนี้ แต่มันจะไม่ใช่การเทรดที่ทำเงินก้อนโตให้เราได้ อย่างน้อยก็ไม่ใช่สำหรับผม

การจะเทรดด้วยขนาดที่ใหญ่นั้น คุณต้องรอให้หุ้นสร้างฐานราคาที่ดูสุดยอดขึ้นมาก่อน แล้วรอให้เกิดการปะทุขึ้นของวอลุ่มเทรดมากกว่าช่วงปกติหลายเท่า หลังจากนั้นหุ้นควรจะเทรดด้วยวอลุ่มที่น่าประทับใจอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1 เดือน ถึง 3 เดือน”

.

บทที่ 8 – การบริหารความเสี่ยง

Mark Minervini ;

“ตลาดที่ผันผวนสูง (Whipsaw Market) เป็นตลาดที่อันตรายกว่าตลาดหมี เพราะในตลาดหมี เมื่อคุณตัดขาดทุนออกมาถือเงินสดก็มักจะไม่ได้ทำอะไร เนื่องจากมันแทบไม่มีหุ้นทำรูปแบบสวยๆให้เราซื้อ

แต่ในภาวะตลาดผันผวนสูง คุณสามารถเจอกับสิ่งที่เรียกว่า “การตายเพราะโดนกรีดเป็นพันๆครั้ง” ความหมายก็คือ พอคุณซื้อหุ้นไปแล้วก็ต้องขายตัดขาดทุนออกมาทีละเล็กน้อยแต่เป็นจำนวนหลายครั้ง เพราะในตลาดแบบนี้พอหุ้นวิ่งขึ้นไปไม่นานก็จะร่วงกลับลงมาและวนไปแบบนี้เรื่อยๆครับ”

.

David Ryan ;

“ตลาดที่รับมือยากที่สุดคือตลาดผันผวนสูงนี่ละครับ การเทรดเบรกเอาท์ไม่ค่อยได้ผล และการเทรดเบรกดาวน์(ทะลุลง)ก็ไม่ได้ผลเช่นกัน ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเทรดฝั่ง long หรือ short ก็สามารถเจ็บตัวได้ในตลาดแบบนี้

เมื่อผมเห็นภาวะตลาดผันผวนสูงเริ่มก่อตัวขึ้นมา ผมจะลดสัดส่วนหุ้นลง เพิ่มเงินสดให้มากขึ้น และเทรดในขนาดที่เล็กลงครับ ผมจะรอจังหวะซื้อหุ้นนำตลาดเพิ่มตอนย่อตัวลงมามากกว่าไปซื้อตอนเบรกเอาท์ด้วยครับ

กุญแจสำคัญในภาวะแบบนี้คือความอดทนและการรอให้หุ้นทำรูปแบบอย่างถูกต้อง อย่าฝืนเข้าเทรดเมื่อหุ้นยังไม่ได้มีการทำรูปแบบที่ดีขึ้นมาจริงๆ”

.

Dan Zanger ;

“เมื่อไหร่ก็ตามที่ผมสามารถมองเห็นว่าตลาดเข้าสู่ช่วงผันผวนสูงและไม่มีแนวโน้มที่ชัดเจน (choppy market) ปกติผมจะอยู่ให้ห่างจากตลาดเลยครับ ผมจะรอตลาดขาขึ้นครั้งใหม่อย่างอดทนที่ข้างสนามพร้อมถือเงินสดเอาไว้

คำแนะนำที่ดีที่สุดที่ผมอยากบอกเทรดเดอร์มือใหม่ก็คือ อยู่ให้ห่างจากตลาด choppy ไม่ว่าจะเทรด long หรือ short ตลาดแบบนี้จะกัดกินคุณแบบเป็นๆจนหมดตัวได้เลย ตลาดสามารถอยู่ในภาวะผันผวนไร้แนวโน้มได้ตั้งแต่ 9 เดือนไปจนถึง 1 ปี หรือนานกว่านั้นครับ”

.

บทที่ 9 – การบริหารการเทรด

Dan Zanger ;

“ผมไม่เคยถือหุ้นผ่านช่วงประกาศงบ หุ้นทุกตัวผมจะขายไปก่อนที่บริษัทจะประกาศผลประกอบการ แล้วถึงค่อยพิจารณาอีกครั้งว่าหุ้นน่าจะวิ่งขึ้นต่อได้หรือไม่จากงบที่ออกมา และข้อมูลแนวโน้มธุรกิจที่ผู้บริหารคาดการณ์เอาไว้

ถึงแม้ผมอาจจะพลาดตอนที่งบออกมาดีแล้วหุ้นขึ้นแรง แต่มันไม่มีอะไรหอมหวานไปกว่าการหลีกเลี่ยงหุ้นที่งบออกมาผิดคาดแล้วราคาเปิดร่วงลงไปเลย 20-80 เหรียญ

กำไรที่ได้ตอนงบออกแค่ชั่วครั้งชั่วคราว ไม่สามารถชดเชยความเสี่ยงจากการถือหุ้นแล้วประกาศผลประกอบการออกมาผิดคาดหรือโดนขายทำกำไรอย่างแรง จนต้องจมอยู่กับความเสียหายทั้งด้านการเงินและสภาพจิตใจ”

.

บทที่ 10 – จิตวิทยาการเทรด

Dan Zanger ;

“การเฝ้าสังเกตและลุยไฟอยู่ในตลาดมา 10 กว่าปี สอนให้คุณเรียนรู้ที่จะไม่เอามือเข้าไปยุ่งกับไฟเวลาที่คุณเห็นมัน เพราะไม่ว่าจะเทรดฝั่ง long หรือ short ผมก็โดนเผาไปหลายครั้งเลยเวลาที่ลืมว่าภาวะตลาดแบบ “ขึ้นๆลงๆ (chop and slop)” นี้มันหมายถึงอะไรกันแน่ พฤติกรรมของตลาดที่เกิดขึ้นเป็นรูปแบบซ้ำๆหลายครั้งมันได้ให้บทเรียนที่ค่อนข้างชัดเจนมาก

ดังนั้น เวลาที่คุณเริ่มเห็นตลาดมีอาการไม่ดี คุณจะรู้ได้โดยสัญชาตญาณเลยว่ามันถึงเวลาที่ควรจะถอยออกมานั่งดูเฉยๆซัก 1-2 สัปดาห์หรืออาจจะเป็นเดือนๆ แต่ในช่วงที่คุณกำลังพักอยู่นั้นไม่ใช่ว่าให้คุณไปเที่ยวพักร้อนแล้วไม่สนใจตลาดเลย คุณยังต้องคอยจับตาดูตลาดอยู่ทุกวัน เพื่อที่คุณจะได้รู้ว่าตลาดเริ่มสงบลงและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ความขยันหมั่นเพียรแม้จะเป็นช่วงที่ตลาดผันผวนมากก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการมีจังหวะการเทรดที่ดีครับ”

.

Mark Ritchie II ;

“ผมเชื่อว่า ถ้าเทรดเดอร์ที่กำลังอยู่ในภาวะยากลำบาก ลองใช้เวลามานั่งศึกษาผลการเทรดย้อนหลังของพวกเขาให้มากเท่ากับเวลาที่ใช้นั่งดูกราฟ พวกเขาก็น่าจะเห็นช่องทางที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้

ผลการเทรดจริงๆของคุณมีข้อมูลที่มีค่าเกี่ยวกับตัวคุณเอง แม้ว่าการเทรดครั้งนั้นจะไม่ได้กำไรก็ตาม เทรดเดอร์ที่ขาดทุนเป็นประจำจะไม่ทำสิ่งนี้ เพราะมันรู้สึกเจ็บปวดที่ต้องมานั่งศึกษาผลการเทรดห่วยๆด้วยตาของตัวเอง

แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือการศึกษาผลตอบแทนของคุณว่ารูปแบบการเทรดลักษณะไหนที่คุณทำได้ดี และลักษณะไหนที่คุณทำได้ไม่ดีนัก ถ้าคุณเจอส่วนที่สามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างชัดเจน คุณก็สามารถเพิ่มหรือลดการลงทุนให้สอดคล้องกับสิ่งที่คุณค้นพบ

อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณไม่เก็บสถิติการเทรดของคุณย้อนหลัง คุณก็จะไม่มีวันรู้ความเป็นจริงเกี่ยวกับการเทรดของคุณหรือแม้กระทั่งไม่รู้จักตัวเองในฐานะเทรดเดอร์เลยครับ”

.

บทที่ 11 – สรุปรวบรวมความคิด

Mark Minervini ;

“ในช่วงเริ่มต้น สิ่งที่ยากที่สุดคือการรักษาวินัยของตัวเองให้ถึงที่สุด นั่นหมายความว่าคุณจะต้องเลิกคำพูดประเภท “ขอแค่ครั้งนี้ครั้งเดียว”

เวลาที่คุณเห็นแล้วว่ากราฟบอกให้ขาย ขายเลย ขายได้แล้ว! แต่คุณกลับพูดว่า “ขอแค่ครั้งนี้ครั้งเดียว ผมขอถือหุ้นต่อและให้เวลาอีกนิดเผื่อมันเด้งกลับมาได้’… ในช่วงแรกของการเป็นเทรดเดอร์ ส่วนใหญ่แล้วผมจะตัดขาดทุนได้ตามปกติ แต่ก็ยังมีบางครั้งที่ผมดื้ออยากจะถือหุ้นต่อไปจนทำให้เกิดการขาดทุนครั้งใหญ่ไม่กี่ครั้งที่ทำให้พอร์ตเสียหายยับเยิน

นอกจากนี้ ผมยังต้องเรียนรู้ที่จะฝึกความอดทน เพราะในการเทรดหุ้นนั้นการกลัวตกรถถือว่าเป็นอารมณ์ที่รุนแรงมาก และมันก็เป็นสาเหตุสำคัญของความผิดพลาดหลายอย่างที่จะตามมา ผมจึงมีกฏหลักๆอยู่สองข้อนั่นคือ 1. ไม่บังคับตัวเองให้ต้องเทรด 2. ต้องไม่มีการขาดทุนหนัก

คุณต้องพัฒนา “พลังของการนั่งนิ่งๆ” ซึ่งเป็นความสามารถในการรอให้หุ้นทำรูปแบบที่ถูกต้องก่อน และไม่บังคับให้ตัวเองต้องออกอาการบ่อยๆจนรีบเข้าไปเทรดในจังหวะที่ยังไม่ถูกต้อง

นอกนั้นก็จะเป็นเรื่องของการฝึกฝนและปรับปรุงพัฒนาวินัยของคุณในการตัดขาดทุนให้เร็ว เมื่อสถานการณ์เริ่มดูไม่ดีอย่างที่คาดหวังเอาไว้ครับ”

Blog 78 : ตัวอย่างเนื้อหาหนังสือ ‘Momentum Master’ ฉบับภาษาไทย

www.sarut-homesite.net

4 กรกฎาคม 2017

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.