Blog 60 : ‘แก่นของ CANSLIM’

IMG_20160110_135625_HDR

ช่วงปีที่ผ่านมาหลังจากที่หนังสือของโอนีลได้ถูกแปลเป็นภาษาไทย ก็น่าจะทำให้มีคนสนใจ CANSLIM กันมากขึ้น โดยส่วนตัวผมก็เทรดแนวนี้มาหลายปีแล้ว วันนี้เลยลองสรุปแนวคิดที่น่าจะถือว่าเป็นแก่นจริงๆของหลักการนี้ดู

แต่บทความนี้ก็ถือว่าเป็นเพียงมุมมองส่วนตัวของผมเท่านั้น อาจจะมีบางอย่างผิดพลาดได้ ถ้าคิดเห็นยังไงก็แลกเปลี่ยนมุมมองกันได้ครับ

– ก่อนอื่นเลยถ้าคิดว่าอ่านหนังสือ How to Make Money In Stocks เล่มเดียวแล้วจะสามารถเข้าใจและใช้ CANSLIM เทรดในตลาดหุ้นได้ทันทีเลยคงต้องบอกว่า ‘ยังไม่ใช่’

เพราะหนังสือเล่มนี้ผมมองว่าเป็นเพียงการให้แนวคิดภาพกว้างคร่าวๆของหลักการนี้เท่านั้น กราฟตัวอย่างในหนังสือก็จะเป็นภาพใหญ่ – กราฟ week ซึ่งเวลานำไปใช้เทรดจริงจะยากกว่าที่เห็นในหนังสือมาก (การดูกราฟย้อนหลังจะง่ายกว่าการเทรดจริงเสมอ)

– ถ้าจะศึกษาอย่างจริงจัง แนะนำให้อ่านเล่มอื่นเพิ่มเติมตามในรูปครับ ยิ่งอ่านมากก็ยิ่งรู้และเข้าใจหลักการนี้มากขึ้น สามารถปรับระบบให้เข้ากับแต่ละภาวะตลาดได้หลากหลายด้วย ผมเองก็พยายามอ่านให้เยอะและลองเทรดไปเรื่อยๆ

– หลักการเทรดแบบผสมพื้นฐานและกราฟนั้นมีมานานมากแล้ว ตั้งแต่สมัย Jesse Livermore , Nicolas Darvas , Richard Wyckoff , Gerald M. Loeb (ยุคปี 1900) ซึ่งคนเหล่านี้ก็เป็นต้นแบบในการเล่นหุ้นของโอนีล

โอนีลได้ศึกษาแนวคิดของพวกเขาและศึกษาหุ้น Winning Stock ในอดีตย้อนหลังหลายร้อยตัว มองหาปัจจัยร่วมที่หุ้นเทพๆแต่ละตัวมีเหมือนกัน และสรุปออกมาเป็น CANSLIM

– How to Make Money In Stocks เป็นหนังสือที่ออกมาครั้งแรกตั้งแต่ปี 1988 ถึงแม้ว่าจะมีฉบับปรับปรุงออกมาหลายครั้ง แต่ตลาดหุ้นในอดีตก็มีความแตกต่างจากปัจจุบันพอสมควร

ดังนั้น ถ้าคิดจะนำมาใช้ก็ต้องปรับให้เข้ากับตลาดยุคนี้ด้วย รวมถึงการอ่านหนังสือหุ้นแนวผสมเล่มอื่นๆที่ออกมาในช่วงหลัง ก็จะช่วยเรื่องนี้ได้เพราะเนื้อหาจะเข้ากับยุคสมัยมากขึ้น

– หลักการ CANSLIM โอนีลย้ำอยู่เสมอว่า เน้นพื้นฐาน 70-80% กราฟกับจิตวิทยาประมาณ 20-30% ดังนั้น ถ้าดูแต่กราฟไม่สนใจศึกษาพื้นฐานเลยก็ไม่ถือว่าใช้หลักการนี้ได้อย่างถูกต้อง และอย่าแปลกใจว่าทำไมหุ้นกราฟสวยในบางช่วงราคาหุ้นถึงไม่ยั่งยืน สิ่งที่ตัดสินความยั่งยืนของราคาหุ้นคือพื้นฐานกิจการเท่านั้น

– CANSLIM ก็คล้าย VI หรือ System trade คือ มันเป็นเพียงชื่อหลักการและแนวคิดกว้างๆ ซึ่งเราสามารถ adapt แนวคิดหลายอย่างให้เป็นสไตล์การเทรดของแต่ละคนได้ ถึงจะเล่นหุ้นแนวเดียวกันแต่เราก็ไม่จำเป็นต้องคิดและทำเหมือนกันไปซะหมด เช่น อาจจะเลือกเล่นแบบ breakout ดั้งเดิม , เล่นแบบซื้อก่อน breakout (ppbp) , เล่นแบบ pullback buy , ปรับเรื่องจุดซื้อจุดขายแตกต่างจากต้นฉบับ เป็นต้น

– CANSLIM จะเน้นดูข้อมูลที่เป็นความจริง คือ งบการเงิน-การเติบโตของกำไร , สินค้า-บริการ-นวัตกรรมใหม่หรือการเปลี่ยนธุรกิจของบริษัท (ตัว C-A-N) , กราฟและความแข็งแกร่งของราคาหุ้น (ตัว S-L) ซึ่งเป็นการตัด bias และพยายามใช้ความเห็นส่วนตัวของเราหรือของคนอื่นให้น้อยที่สุดในการเลือกหุ้นและการเทรด

– สาเหตุที่ต้องเลือกหุ้นดี (quality stock) ที่มีสถาบันและกองทุน support นั้น (ตัว I ) เพราะเม็ดเงินของกองทุนสามารถดันให้ราคาหุ้นขึ้นไปได้เรื่อยๆตามการเติบโตของบริษัท และถ้าพื้นฐานไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ราคาหุ้นจะไม่เหวี่ยงขึ้นลงรุนแรงเกินไป ไม่เหมือนหุ้นปั่นหุ้นขนาดเล็กที่การขึ้นลงมักจะเป็นไปตามการเทรดของรายใหญ่ไม่กี่คน

– CANSLIM ให้ความสำคัญกับแนวโน้มตลาด (ตัว M) ดังนั้น ถ้าคิดจะใช้หลักการนี้อย่างน้อยต้องศึกษาวิธีการดูแนวโน้มตลาดให้เป็นเสียก่อน อย่าคิดว่าจะใช้ได้กับทุกภาวะตลาด เพราะไม่มีหลักการไหนที่จะสามารถใช้ได้ดีอยู่ตลอดเวลา มันจะมีช่วงเวลาที่เหมาะสมกับแต่ละหลักการอยู่เสมอ

– โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าตลาดเป็นขาลงชัดเจน ปกติแล้วโอนีลจะไม่แนะนำคนทั่วไปให้เล่นหุ้น แต่จากอดีตที่ผ่านมาในช่วงตลาดขาลง ถ้ามีหุ้นที่เข้าระบบ CANSLIM ก็ยังสามารถเทรดหากำไรได้ ถึงแม้จะเทรดยากกว่าตลาดขาขึ้นก็ตาม เพราะหุ้นนำตลาดจะยังขึ้นได้อยู่เสมอไม่ว่าตลาดจะเป็นขาลงหรือไซด์เวย์

– CANSLIM ไม่สนว่าหุ้นจะเทรด P/E เท่าไหร่ จะถูกหรือแพง เพราะสุดท้ายหุ้นจะขึ้นหรือลงก็ให้ตลาดเป็นคนตัดสินไม่ใช่ความเห็นของเรา หน้าที่ของเราคือ มองหาหุ้นที่โดดเด่นทั้งพื้นฐานและกราฟในช่วงเวลานั้น แล้วเกาะไปกับมันให้ได้นานที่สุดจนจบรอบของมัน

– อีกสาเหตุที่ไม่สน P/E ก็เพราะว่า หุ้นที่ดีจะมี demand อยู่เสมอ และคนที่ถือหุ้นอยู่ก็มักจะไม่รีบขายหุ้นออกมา โดยเฉพาะกองทุนที่จะอมหุ้นดีไปเรื่อยๆ เมื่อ supply มีจำกัด แต่มี demand ใหม่เข้ามาอยู่ตลอด ราคาหุ้นจึงยังขึ้นไปได้แม้ว่า P/E จะสูงแล้วก็ตาม และถ้าลองสังเกตหุ้นในตลาดที่พัฒนาแล้ว หุ้นธุรกิจดีๆ-หุ้นที่เติบโตสูง ราคาหุ้นจะไม่มีทางถูก ถ้าไม่เกิดวิกฤตรุนแรงซึ่งนานๆจะมีซักครั้ง

– CANSLIM เป็นหลักการที่เหมาะกับรายย่อย เพราะมีความยืดหยุ่นสูง สามารถเล่นหุ้นได้ทุกประเภท การเทรดเข้าออกไม่มีผลกับแนวโน้มจริงๆของหุ้น และที่สำคัญคือ ‘ไม่ติดดอย , ไม่ถัวหุ้นขาลง , ถ้าตลาดพังหรือวิกฤตก็มีเงินสด เพราะหุ้นในพอร์ตกับตลาดจะส่งสัญญาณบอกเราอยู่แล้ว’ 

– นักลงทุนรายใหญ่ (มาก) จึงอาจจะไม่เหมาะกับแนวคิดนี้ เพราะนี่เป็นแนวคิดที่ให้รายย่อยเล่นหุ้นตาม flow ของ big player ในตลาด (สถาบัน กองทุน รายใหญ่) แต่ไม่จำเป็นต้องคิดแบบรายใหญ่-สถาบัน ที่มีเงินทุนมหาศาลและเข้าออกลำบาก

– สรุปนิยามคร่าวๆของ CANSLIM คือ คัดเลือกหุ้นนำตลาดที่ดี , รอจังหวะซื้อที่มี risk/reward เหมาะสม , มีจุด stop loss ทุกครั้ง , ไม่ถัวหุ้นขาลง ถ้าหุ้นลงห้ามฝืน ต้องมีวินัยในการตัดขาดทุน , อย่าใช้ความหวังในตลาดหุ้น แต่จงยอมรับความจริงที่ตลาดบอกเราในแต่ละช่วงแล้วเทรดปรับตัวไปกับมันอย่างราบรื่น

– การเทรด CANSLIM ในระยะแรกจะมึนๆเข้าใจค่อนข้างยาก เพราะการผสมพื้นฐานกับกราฟนั้นอาจจะดูขัดแย้งกันเอง แต่ถ้าลองศึกษาดูดีๆก็จะเห็นว่า มันจะมีจุดร่วมกันระหว่างแนวโน้มธุรกิจกับกราฟราคาหุ้นอยู่เสมอ

– หนังสือที่แนะนำให้อ่านเพิ่มเติม trade like an o’neil disciple , trade like a stock market wizard , think & trade like a champion , momentum masters , market wizard ในส่วนของ โอนีล และ David Ryan

เวลาที่เราสนใจหลักการหรือเรื่องอะไรก็ตาม เราควรจะศึกษาทำความเข้าใจแก่นและประเด็นหลักของมันให้ชัดเจนเสียก่อน

เมื่อเราศึกษาจนเข้าใจแก่นของหลักการต่างๆแล้ว มันจะทำให้เราสามารถนำเอาข้อดีของทุกหลักการมาปรับปรุง ประยุกต์ใช้

ปรับแต่งรายละเอียดเล็กๆน้อยๆได้โดยที่ยังไม่สูญเสียแก่นหรือข้อดีของหลักการนั้นไป

ซึ่งผลที่ได้ในระยะยาวก็คือ การที่ระบบเทรดของเราจะมีรูปแบบเฉพาะตัว , เป็นตัวของตัวเอง , และเหมาะสมกับตัวเรามากที่สุดครับ

Blog 60 : ‘แก่นของ CANSLIM’

www.sarut-homesite.net

10 มกราคม 2016

Author: admin

1 thought on “Blog 60 : ‘แก่นของ CANSLIM’

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.