.
“You adapt, evolve, compete or die.”
– Paul Tudor Jones
หลังจากที่หนังสือ How to Make Money in Stocks ได้ถูกแปลเป็นภาษาไทย ก็น่าจะทำให้หลักการ CANSLIM เป็นที่รู้จักมากขึ้นในตลาดหุ้นไทย
ซึงก็ถือเป็นเรื่องดีที่คนไทยจะได้เรียนรู้แนวคิดใหม่ๆในการเล่นหุ้น ที่สามารถนำไปต่อยอดระบบลงทุนของเราให้ดีขึ้นได้
นิยามสั้นๆของ CANSLIM ก็คือ ; ‘หาหุ้นเติบโตที่มีพื้นฐานธุรกิจดี (Growth Stock) , เข้าซื้อในจังหวะที่ถูกต้อง (Timing) , ถือหุ้นเกาะตามแนวโน้มไปเรื่อยๆจนกว่าจะจบรอบของมัน’
ซึ่งก็คือการเล่นหุ้นแบบผสมผสานทั้งพื้นฐานและกราฟนั่นเอง (Fundamental + Technical + Trend Following)
โดยส่วนตัวผมนั้นเริ่มใช้หลักการ CANSLIM มาตั้งแต่ปี 2011 (หลังน้ำท่วมใหญ่) ซึ่งก็พบว่า โดยทั่วไปแล้ว CANSLIM จะใช้ได้ดีมาก ‘เมื่อตลาดมีแนวโน้มชัดเจน’
ช่วงตลาดขาขึ้นเราก็เทรดไปได้เต็มที่ พอตลาดเริ่มเป็นขาลงก็เปลี่ยนมาถือเงินสด เลิกเล่นแล้วออกมานั่งดูข้างสนาม
รอจังหวะที่ตลาดเริ่มกลับตัวจึงค่อยกลับเข้าไปใหม่
แต่ถ้าเป็นช่วงที่ตลาดไม่มีแนวโน้มที่ชัดเจน ผันผวนขึ้นลงสลับกันอยู่เรื่อย (choppy-trendless)
การเทรดโดยใช้แนวคิด CANSLIM แบบดั้งเดิมนั้นมักจะให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีนัก
ซึ่งก็ไม่ต่างกับหลักการ trend following อื่นๆ ที่ต้องการแนวโน้มที่ชัดเจนของตลาดในการสนับสนุนให้หุ้นขึ้นอย่างแข็งแกร่ง
คือไม่เหวี่ยงหรือผันผวนเกิน เป็นแนวโน้มใหญ่ที่ราคาหุ้นขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น สิ่งแรกที่เราควรให้ความสำคัญเมื่อคิดจะใช้หลักการนี้ก็คือ ‘Market Direction’ หรือตัว M ใน CANSLIM นั่นเอง
ภาวะตลาดจะเป็นตัวกำหนดกลยุทธ์และแนวทางการเทรดของเรา ว่าช่วงนี้ควรจะเทรดเต็มตัว aggressive หรือควรระมัดระวัง
จังหวะเข้าซื้อ-ขายควรเป็นแบบไหน , ภาวะตลาดแบบนี้ควรเล่น breakout หรือรอจังหวะ pull-back? , ตลาดแบบนี้ใช้ position size ปกติหรือน้อยกว่าปกติ เป็นต้น
“เหล่านักลงทุนผู้ละเลยสิ่งที่ตลาดพยายามจะบอกหรือส่งสัญญาณออกมา มักจะต้องจ่ายค่าบทเรียนราคาแพง ในขณะที่นักลงทุนที่สามารถแยกแยะสัญญาณต่างๆทั้งที่ปกติหรือไม่ปกติได้นั้น มักจะรู้สึกดีต่อตลาดมากกว่าคนส่วนใหญ่ เพราะพวกเขาสามารถเข้าใจตลาดได้เป็นอย่างดี”
.
“หน้าที่ของคุณไม่ใช่การถกเถียงกับตลาด แต่เป็นการเรียนรู้ตลาด รับรู้ได้ว่าตลาดกำลังอยู่ในช่วงที่อ่อนแอหรือแข็งแรง และพร้อมที่จะปรับตัวไปกับมันได้อย่างราบรื่น”
– William O’neil –
ผมทำตารางเปรียบเทียบภาวะตลาดและการเคลื่อนไหวของหุ้นนำตลาด (Leading Stock) เอาไว้ตามนี้ครับ
หลายคนอาจจะสงสัยว่า หุ้นนำตลาด (Leading Stock) คืออะไร?
ผมขอยกคำพูดของโอนีลมาแปะไว้นะครับ
“หุ้นนำตลาดนั้นไม่ใช่บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาด หรือบริษัทที่มีแบรนด์เนมที่ผู้คนจดจำได้มากที่สุด
แต่เป็นบริษัทที่มีผลประกอบการรายไตรมาส-รายปีเติบโตสูง, ROE และ Profit margins ดีขึ้น, มีการเติบโตของยอดขาย, และการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นดูดีที่สุด”
– William O’neil
หลังจากที่เทรด CANSLIM มาซักพักใหญ่ๆ ได้อ่านหนังสือเพิ่มเติม , สังเกตพฤติกรรมตลาด-หุ้นใน Cycle ต่างๆของตลาด และเก็บบทเรียนที่เจอในช่วงที่ตลาดผันผวน-ซบเซานั้น
ทำให้ผมลองสรุปแนวทางการเทรดในภาวะตลาด Choppy –ซบเซา เอาไว้ตามนี้ครับ
*ก่อนอ่านเนื้อหาบทความนี้ ผมแนะนำให้อ่านหนังสือ How to Make Money in Stocks (ภาษาไทยหรืออังกฤษก็ได้)
หรือหนังสือหุ้นแนวผสมพื้นฐาน+กราฟเล่มอื่นๆมาก่อน จะทำให้เข้าใจได้มากขึ้นนะครับ*
(คลิกที่รูปเพื่อดูขนาดเต็ม)
…
‘แนวทางการเทรด CANSLIM ช่วงตลาดซบเซา (Choppy – Trendless)’
1. ช่วง Trendless นั้น ความแม่นยำของ Follow Through Day (FTD) จะต่ำกว่าปกติมาก เพราะเมื่อตลาดเกิด FTD แล้วก็มักจะ fail สลับไปมาตลอด
‘ลักษณะของตลาด Choppy-Trendless ขึ้นลงสลับกัน ไม่มีแนวโน้มที่ชัดเจน’
ดังนั้น ถ้าเรามัวแต่รอ FTD confirm ค่อยเริ่มซื้อหุ้น ก็อาจจะเสียโอกาส เพราะกลุ่มหุ้นนำตลาดมักจะขึ้นกันก่อนที่ตลาดจะเริ่มกลับตัวให้เห็นชัดๆ
ทำไมการรอ FTD ถึงเสียโอกาส?
– 1.1 ตลาดชอบหลอก ; FTD มักจะมาช้า หรือเพิ่งจะเกิดเมื่อหุ้นนำตลาดเริ่มพักหรือจบรอบกัน
– 1.2 เราจะเข้าซื้อหุ้นช้าไป เพราะหุ้นนำตลาดมักจะขึ้นกันก่อนที่ตลาดจะเริ่มกลับตัวให้เห็นชัดๆ
2. ในภาวะแบบนี้ ตลาดชอบที่จะหลอกคนส่วนใหญ่ เช่น เมื่อทำให้เห็นว่าลงชัดก็จะเริ่มกลับตัว หรือเมื่อเกิด FTD ขึ้นแรงชัดๆ อีกไม่นานก็ปรับฐานใหม่ เป็นต้น (ดูรูปตลาดประกอบ)
การเลือกดูหุ้นนำตลาดและจับจังหวะซื้อขายเป็นรายตัว จึงมีความสำคัญกว่าการปรับพอร์ตตามสัญญาณ FTD , DD
เพราะเมื่อตลาดไม่ดี-ซบเซา ก็จะมีหุ้นเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังเป็นขาขึ้นได้ ทำให้ไม่เกิดแรงส่งมากพอที่จะทำให้ตัวตลาดเกิด FTD ได้เหมือนช่วงภาวะปกติ
3. ช่วง Trendless Market จังหวะซื้อที่ดีคือ ‘ช่วงที่หุ้นย่อตัวลงมาที่แนวรับสำคัญ (pull-back) ‘
เช่น MA เส้นหลักๆ , Trendline รวมถึง ‘Pocket Pivot Buy Point (PPBP)’
คือการซื้อก่อน breakout ทั่วไป ตอนที่หุ้นกำลังพักทำ base อยู่ แต่เกิดสัญญาณกระตุกจากวอลุ่มขึ้นมา
ก่อนอื่นเลยเราต้องคัดหุ้นที่มีพื้นฐานค่อนข้างดีก่อนนะครับ เพื่อไม่ให้ต้องเสียเวลากับหุ้นที่ยังไม่ดีนักเพราะถ้าภาวะตลาดไม่ดี หุ้นที่จะขึ้นได้แรงก็ต้องดีจริงเท่านั้น
(พื้นฐานดี มี Story , Growth ต่อเนื่อง หรือเติบโตสูงมาก , มีดีล – M&A เป็นต้น)
(อ่านเพิ่มเติมเรื่องการเลือกหุ้น >> Blog 43 : เลือกหุ้นอย่างไรในช่วงที่ไม่มี Fund Flow? )
หลังจากคัดหุ้นมาแล้วก็คอยสังเกตพฤติกรรมของหุ้นว่าเป็นอย่างไรในแต่ละวัน
โดยให้เราสังเกตว่าแรงขายเริ่มน้อยกว่าแรงซื้อ (วอลุ่มแดงน้อยกว่าเขียว) , คอยดูอาการหุ้นวันที่ตลาดลงหนัก
หากตลาดลงหนักแต่หุ้นที่ดูไว้เริ่มไม่ลงหรือยืนสวนตลาดได้ ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีแล้ว
สาเหตุที่ควรซื้อหุ้นตอนกำลังพัก-ย่อตัว หรือใช้ PPBP มากกว่ารอ Breakout คือ
– 3.1 ต้นทุนจะต่ำกว่าซื้อหลัง breakout พอสมควร
– 3.2 หุ้นยังไม่โดดเด่นจนเกินไปนัก (mass น้อย)
– 3.3 ช่วงตลาด Choppy หุ้นนำตลาดมักจะย่อแรงตามตลาดชั่วคราว ถ้าเราซื้อในจุดที่ปลอดภัยโอกาสโดนสลัดหลุดจะน้อยกว่าซื้อ breakout
– 3.4 ถ้าต้อง cut loss ก็ขาดทุนน้อยกว่าการไปซื้อที่ราคา breakout แน่นอน
‘ตัวอย่างการสังเกตราคาหุ้น และการพักตัวของ Volume
ผมเซฟกราฟไว้ตั้งแต่เดือนเมษายนนะครับ (ดูวันที่)’
4. เมื่อเราซื้อในจุดที่ปลอดภัยแล้ว การตั้ง Stop loss ควรตั้งให้พอดี และเผื่อช่วงตลาด panic
เพราะในภาวะตลาด trendless – choppy นั้นมีโอกาสสูงที่ตลาดจะเหวี่ยงลงรุนแรงในบางช่วง
หากเราตั้งจุด stop สั้นเกินไป ก็อาจจะทำหุ้นที่เลือกมาดีแล้วหลุดมือเร็วเกินไปก็เป็นได้
5. Position Size เริ่มต้นควรซื้อน้อยกว่าช่วงตลาดปกติเหมือนการโยนหินถามทาง
แต่ก็อย่าถือหุ้นน้อยเกินจนไม่มีนัยยะกับพอร์ตเพราะจะไม่คุ้มค่าเหนื่อย
เมื่อเห็นว่าเริ่มถูกทางแล้วจะทยอยซื้อเพิ่มแบบพีระมิดตอนหุ้นขึ้น หรือสะสมเพิ่มตอนหุ้นย่อก็ได้ แล้วแต่ความถนัดครับ
6. อย่าคาดหวังว่าหุ้นจะมีกราฟที่สวยงามเหมือนช่วงตลาดขาขึ้น หรือ breakout แล้วหุ้นต้องขึ้นต่อเยอะๆทันที
เพราะช่วงตลาดซบเซานั้น price pattern มักจะผันผวนกว่าที่คิด
และมีการกดราคาให้หลุดแนวรับจิตวิทยาอยู่บ่อยครั้ง (shake-out ให้หลุดมือ)
‘ตัวอย่างหุ้นที่เกิดการ shake-out (ลูกศรแดง) แล้วดันไป new high ใหม่’
.
การโฟกัสที่ weekly chart จะช่วยให้เราดูภาพใหญ่ของหุ้นง่ายขึ้น และทำให้เห็นว่าการ shake-out ไม่กี่วันในกราฟ day เหล่านี้เป็น noise อย่างนึงในแนวโน้มใหญ่ของหุ้น
ซึ่งทางแก้ในเบื้องต้นก็คือ เราอาจจะต้องอดทนให้มากขึ้น หรืออย่ารีบร้อนซื้อขายในระหว่างวัน (intraday trade) เพราะจะทำหุ้นหลุดมือง่ายเกินไป
(ผมเองก็ทำหุ้นหลุดมือบ่อยครับ – -‘ )
7. สิ่งที่สำคัญสุดคือ Price & Volume ของหุ้นรายตัว
ธรรมชาติของเงินจะไหลจากสิ่งที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนต่ำ ไปสู่สิ่งที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนสูงกว่า
และสิ่งที่จะให้ผลตอบแทนสูงในตลาดหุ้น ก็คือ ‘กลุ่มหุ้นนำตลาด’ นั่นเอง
พยายามมองหาหุ้นที่ราคาแข็งๆ หุ้นที่ผลประกอบการยังดีต่อเนื่อง ดูแล้วมีแนวโน้มจะเป็น Leading stock ของช่วงนั้นเอาไว้ครับ
เพราะในปีนี้หุ้นที่มีแนวโน้มธุรกิจดีและราคาหุ้นแข็งแกร่งจริงๆ ก็จะสามารถสวนภาวะตลาดได้และให้ผลตอบแทนสูงมาก
ดังนั้น เราควรให้ความสำคัญกับ action ของหุ้นรายตัวก่อนภาวะตลาด จะได้ไม่พลาดทำ Leading Stock หลุดมือ หรือกลัวตลาดเกินไปจนไม่ได้ซื้อหุ้นสวยๆ…
อ่านเพิ่มเติมเรื่องการคัดหุ้นนำตลาด และการใช้สูตรกรองหุ้น
– Blog 31 : Finding Monster Stock [Slide & PDF]
สุดท้ายนี้ ต้องบอกว่าบทความนี้เป็นเพียงข้อสังเกตส่วนตัวจากประสบการณ์ของผมเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่ได้ถูกต้อง 100% นะครับ
การเล่นหุ้นนั้นแต่ละคนก็จะมีบทเรียนและประสบการณ์ที่แตกต่างกันไปตามแนวทางของตัวเอง
ไม่มีอะไรแน่นอนและตายตัวในตลาดหุ้นครับ
ขอจบบทความนี้ด้วยตัวอย่างหุ้นนำตลาดตัวอื่นๆเพิ่มเติมจากด้านบนครับ ต้องบอกเลยว่าหุ้นพวกนี้ขึ้นแบบไม่สนใจตลาดและหุ้นตัวอื่นๆส่วนใหญ่ในตลาดเลยทีเดียว…
‘TASCO หุ้น High Growth และโตแรงเกินคาด’
‘BRR หุ้น High Growth และ Story โรงไฟฟ้าใหม่’
‘LIT หุ้น High Growth อิงภาครัฐ’
‘PTG หุ้น High Growth ต่อเนื่อง และขยายการลงทุน’
…
Blog 53 : ‘แนวทางการเทรด CANSLIM ช่วงตลาดซบเซา-ผันผวนสูง (Choppy & Trendless)’
13 กรกฎาคม 2015
2 thoughts on “Blog 53 : ‘แนวทางการเทรด CANSLIM ช่วงตลาดซบเซา-ผันผวนสูง (Choppy & Trendless)’”