Blog 51 : ‘ข้อคิดจาก 3 บริษัทชั้นนำของโลก’

.

blog ตอนนี้เป็น note สั้นๆ สรุปข้อคิดที่ได้จากหนังสือสามเล่มครับ

####

ผมเพิ่งอ่าน ‘The Everything Store : Jeff Bezos and the Age of Amazon’ ฉบับแปลไทยจบ อ่านแล้วก็คิดถึงหนังสืออีก 2 เล่มที่เคยอ่านคือ

‘Onward : How Starbucks Fought for Its Life without Losing Its Soul’

และ ‘Steve Jobs’ ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายกัน เป็นหนังสือเกี่ยวกับชีวประวัติของผู้ก่อตั้ง และประวัติการพัฒนาบริษัทจากจุดเริ่มต้นสู่จุดสูงสุด

20150427_1252512

ทั้งสามเล่มเป็นหนังสือที่อ่านสนุกและให้แง่คิดที่ดีหลายอย่าง สิ่งที่น่าสนใจคือ การได้ศึกษาชีวิตของ CEO ที่เก่งกาจ มีวิสัยทัศน์ทางธุรกิจ รวมถึงแนวคิดไอเดียต่างๆที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จอย่างสูง

เท่าที่ลองสังเกต สิ่งที่ทั้งสามบริษัทรวมถึงบริษัทชั้นนำต่างๆมักจะมีร่วมกันคือ

– บริษัทเหล่านี้มักจะมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มองการณ์ไกล ค่อนข้างดื้อเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ เรื่องนี้ผมว่าสำคัญมาก เพราะวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่น จำเป็นต้องมีด้วยกันเพื่อทำให้แนวคิดแปลกใหม่ต่างๆสามารถใช้งานได้จริง

– เป็นผู้สร้างกระแส คิดค้นสิ่งใหม่หรือทำให้ดีกว่าของเดิม ไม่ใช่บริษัทที่ตามกระแส เห็นเขาทำอะไรก็คอยทำตามหรือลอกเลียนแบบ (มีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง)

– โดยทั่วไปตามตำรา บริษัทจะผลิตสินค้าเพียงเพื่อตอบสนอง demand เท่านั้น แต่บริษัทเหล่านี้จะสร้างสินค้าหรือบริการใหม่ เปิดตลาดใหม่ที่ไม่เคยมีใครมุ่งเน้นมาก่อน คล้ายกับว่ายึดแนวคิดดั้งเดิมทางเศรษฐศาสตร์คือ ‘Supply creates its own demand’

ซึ่งสุดท้ายเมื่อคนเริ่มชอบก็จะทำให้เกิด demand เข้ามาหาเอง และยังกุมความได้เปรียบในฐานะเป็นผู้ริเริ่มสร้างนวัตกรรม-กระแสใหม่ ทำให้กลายเป็นผู้นำในตลาดได้ง่ายขึ้น

ผลิตสินค้าหรือบริการที่ดีและมีคุณภาพจริง ให้ความสำคัญกับการสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า ถึงแม้ว่าจะมีต้นทุนที่สูงขึ้นก็ต้องทำ ซึ่งสุดท้ายแล้วจะทำให้ลูกค้าประทับใจและซื่อสัตย์ต่อบริษัทไปอีกนาน

นอกจากนี้ สินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูงทำให้สามารถกำหนดราคาได้สูงกว่าตลาด โดยที่ลูกค้ายินดีจ่ายด้วย

บุคลากรในบริษัทต้องมีฝีมือ มี teamwork ที่ดี สามารถตอบสนองไอเดียของ CEO และแก้ไขปัญหาต่างๆได้รวดเร็วฉับไว

มีการคัดสรรและพยายามดึงพนักงานเก่งๆผีมือดีจากที่อื่นมาร่วมงานกับบริษัทอยู่ตลอดเวลา

– อดทนปรับตัวผ่านวิกฤตและช่วงตกต่ำของบริษัทมาได้ พร้อมเกิดแนวคิดใหม่ หรือมีสินค้าใหม่ที่สามารถทำให้บริษัทกลับมารุ่งเรืองกว่าเดิมได้

– การที่บริษัทหน้าใหม่สามารถเอาชนะยักษ์ใหญ่ในตลาดได้ มักเกิดจากการปรับตัวและสร้างนวัตกรรมใหม่ ในขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ดั้งเดิมนั้นมักจะยึดติดกับสิ่งเก่า ไม่กล้าปรับตัวและไม่กล้าเสี่ยงทำอะไรนอกจากธุรกิจเดิมๆ ทำให้สุดท้ายแล้วก็ปรับตัวไม่ทันโลกยุคใหม่จนล่มสลายหรือต้องพ่ายแพ้ไป

– สามบริษัทนี้ยังมีส่วนที่คล้ายกันอีกคือ ในช่วงที่รุ่งเรืองมากก็แตกไลน์ธุรกิจทำหลายอย่างมากจนเกินไป (อยากเติบโตเยอะๆและมีความมั่นใจมากไป)

จนสุดท้ายเมื่อเกิดวิกฤตและเจ็บตัวหนัก ก็จำเป็นตัดทอนส่วนที่ไม่จำเป็นออก ทบทวนตัวเอง กลับมาหาพื้นฐานและสมดุลที่แท้จริงของแต่ละบริษัท จากนั้นจึงมุ่งทำในสิ่งนั้นให้ดีที่สุด…

Blog 51 : ‘ข้อคิดจาก 3 บริษัทชั้นนำของโลก’

www.sarut-homesite.net

29 เมษายน 2015

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.