Blog 43 : ‘เลือกหุ้นอย่างไรในช่วงที่ตลาดไม่มี Momentum?’

.

โดยปกติ 3 ใน 4 ของหุ้นทั้งหมดจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับตลาด แต่ในช่วงที่ตลาดโดยรวมยังขาด momentum ขาขึ้น เราจะเห็นว่าหุ้นส่วนใหญ่ก็จะดูซึมๆขึ้นลงไม่มากนักเหมือนตลาด

แต่ก็จะมีหุ้นส่วนหนึ่งที่ยังสามารถขึ้นได้อยู่เป็นระยะๆ ซึ่งหากเราลองแกะดูก็จะพบว่าหุ้นพวกนี้มักจะอยู่ในหมวดของหุ้น growth , หุ้น new IPO , หุ้น turnaround และหุ้นที่มีดีลหรือการเปลี่ยนธุรกิจ

ดังนั้น หุ้นที่มีโอกาสได้กำไรมากกว่าในช่วงที่ตลาดซึม ผมคิดว่าน่าจะเป็นหุ้นที่มีลักษณะต่อไปนี้ ;

– หุ้นที่มีความคาดหวังต่ำ : ความคาดหวังอาจสังเกตจาก P/E ที่ต่ำ “เมื่อเทียบกับ growth rate และธุรกิจของบริษัท”

สำคัญนะครับ การดู P/E เราควรเทียบกับ growth และลักษณะโมเดลธุรกิจควบคู่ไปด้วยเสมอ

อย่าดูแต่ P/E สูง = แพงเกิน , P/E ต่ำ = ถูกดี เพราะเราอาจจะโดนกับดักหุ้นถูกได้ (value trap)

หุ้นหลายตัวที่ P/E ดูต่ำผิดปกติ มันอาจจะต่ำเพราะกำไรไม่โตหรือมีปัญหาอะไรซ่อนอยู่ก็เป็นได้

รวมถึงหุ้นที่มีความลึกลับ ไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูลก็มักจะได้ P/E ต่ำเป็นปกติเช่นกัน

– หุ้นที่กำไรปกติยังเติบโตได้ดีต่อเนื่อง และหุ้นมีการพักทำฐานใหม่มาระยะหนึ่งแล้ว (growth stock พักทำ base ใหม่ 1-2 เดือน)

– หุ้น IPO ใหม่ที่ธุรกิจน่าสนใจ หุ้นกลุ่มนี้มักจะมีโอกาสทำ new high ได้ง่าย เพราะถ้าแนวโน้มดีจริงนักลงทุนสถาบัน-กองทุนหรือรายใหญ่ต้องทยอยซื้อเพื่อสะสมหุ้น และไม่มีดอยเก่าเป็น overhead supply คอยกดดันราคาหุ้น

– หุ้นที่เริ่ม turnaround อย่างแข็งแกร่ง แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้หรือมองข้ามไป

– หุ้นที่ราคาแข็งแกร่งกว่าหุ้นตัวอื่นอย่างชัดเจน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามี demand สูงและต่อเนื่อง ทำให้แรงขายไม่สามารถกดให้ราคาหุ้นร่วงลงตามตลาดได้มากนัก (high relative strength)

– หุ้นขนาดกลาง-เล็ก ที่ยังไม่ค่อยมีนักวิเคราะห์หรือนักลงทุนสนใจมากนัก แต่มีแนวโน้มธุรกิจและผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือมี growth rate สูง

หุ้นกลุ่มนี้มักเป็นแหล่งขุดทองของนักลงทุนที่ชอบมองหาหุ้นดีที่คนมองข้าม (undiscovered gem) เพราะว่าหุ้นขนาดกลาง-เล็กนั้น กำไรของบริษัทมีโอกาสเติบโตได้มากกว่าและเร็วกว่าบริษัทขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม การที่หุ้นยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักทำให้อาจจะต้องใช้เวลาในการถือรอนานขึ้นด้วยเช่นกัน (แต่ยุคนี้ก็จะเริ่มโปรโมท/เชียร์หุ้นแนวนี้ผ่าน social ได้ง่ายขึ้น)

นอกจากนี้ การฝึกดู stage ของหุ้นก็ช่วยเรื่องของจังหวะซื้อขายได้ครับ ปกติหุ้นจะมี 4 stage หลักคือ

1. sideways หรือช่วงสะสมหุ้น (accumulation)

2. uptrend จน peak

3. stall หรือช่วงออกของ (distribution)

4. downtrend จากนั้นจึงวนกลับไป stage 1 ใหม่

stage

เราควรพยายามหาหุ้นที่กำลังพักตัวอยู่ในช่วง sideways หลังจากผ่านขาลงแล้ว จะทยอยสะสมก่อนหรือรอเข้าซื้อช่วงที่หุ้นเริ่มกลับมาเป็น uptrend ใหม่ก็ได้

เพราะถ้าภาวะตลาดยังไม่ดีนักการเข้าซื้อแต่เนิ่นๆ จะดีกว่าซื้อช้าเกินหรือไปไล่ซื้อตอนที่หุ้นกำลังร้อนแรง

(ลองนึกถึงอันตรายของการไปไล่ซื้อหุ้นที่เข้าสู่ช่วงท้ายๆของขาขึ้นดูนะครับ – late stage)

หากเราพบหุ้นที่ดูนิ่งๆเงียบๆ แต่ว่ามีพื้นฐานที่ดี อนาคตธุรกิจยังเติบโตได้ ราคาหุ้นยังไม่แพงจนเกินไป หรือธุรกิจเริ่มกลับมา turnaround ได้จริง นี่จึงเป็นโอกาสดีในการทยอยสะสมหุ้นครับ

ถ้าจะใช้กราฟเสริมจังหวะ ก็ควรหาจุดซื้อที่ปลอดภัย (low-risk entry)

เช่น ซื้อตอนย่อลงมา volume น้อยๆ (หาจุดรับของเราเอง) ควรดูกราฟใหญ่อย่างกราฟ week-month เสริม เพื่อลด noise ของราคารายวันที่มักจะผันผวนมากเมื่อตลาดไม่ดี

ในช่วงตลาด sideways หรือขาลง มักจะเกิดสัญญาณ false breakout มากกว่าขาขึ้น ดังนั้น เราไม่จำเป็นต้องไล่ซื้อตอน breakout หรือวันที่หุ้นพุ่งขึ้นไปแรง เพราะ risk/reward จะไม่ค่อยคุ้ม

เท่าที่สังเกตพอหุ้น breakout แล้ว ผ่านไปซัก 1-2 week ก็มักจะมีช่วงที่หุ้นร่วงลงมาให้เราเก็บหุ้นได้ถูกกว่าเดิมอยู่บ่อยๆครับ การซื้อ breakout โดยส่วนใหญ่จึงเหมาะกับช่วงที่ตลาดเป็นขาขึ้นและมี momentum จริงๆเท่านั้น

กล่าวโดยสรุป ในช่วงที่ตลาดดูซึมๆขาด momentum เราจึงไม่สามารถใช้เพียงความหวังลมๆแล้งๆ หรือ story ง่ายๆเพื่อให้ราคาหุ้นขยับขึ้นได้อีกต่อไป

กลุ่มหุ้นที่จะสามารถให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นส่วนใหญ่ได้ จึงต้องมีปัจจัยพื้นฐานที่โดดเด่นและแข็งแกร่งอย่างแท้จริง

ซึ่งแรงขับดันราคาหุ้นที่สำคัญที่สุดก็มักจะเกี่ยวข้องกับ earning growth, หุ้นสดใหม่ที่ธุรกิจดี (IPO), หุ้นฟื้นตัว (turnaround), หรือหุ้นที่มีดีล/เปลี่ยนธุรกิจครับ

####

Update 2022 ;

ตลาดที่ไม่มี momentum คือตลาดที่ไม่ได้เล่นหุ้นกันแบบหว่านทั่วทุกตัว

เงินในตลาดจะเจาะจงเล่นแค่บางตัว ทำให้มีหุ้นส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังดึงดูด big player / smart money ได้

ถ้าลองนึกภาพตลาดที่มีโมเมนตัมช่วงล่าสุด ก็คือช่วงฟื้นหลังโควิดที่ไม่ว่าเราจะเล่นหุ้นอะไรมันก็วิ่งดีกันทั้งนั้น (recovery phase หลังตลาด reset)

คนที่ได้เปรียบในจังหวะตลาดแบบนี้ คือคนที่รู้ว่าช่วงนี้ตลาดชอบหุ้นแนวไหน เพราะอะไร (stock selection)

ปัจจัยพื้นฐานหรือ growth story เฉพาะตัวจะมีความสำคัญมากขึ้น

กลุ่มที่สดใหม่อย่าง ipo หรือตัวที่เพิ่ง turnaround มาไม่นาน ก็จะน่าสนใจกว่าหุ้นทั่วๆไป

โดยเฉพาะ ipo ตัวที่โมเดลธุรกิจดี + แนวโน้มยังดีต่อ มักจะดึง demand และความสนใจออกจากหุ้นตัวอื่นๆ

ความสดใหม่ของหุ้นทำให้ในช่วงแรกจะไม่ค่อยมีแรงขายออกมามากนัก เมื่อเทียบกับตัวที่เริ่มมาไกลหรือดูเป็น late stage แล้วครับ

Blog 43 : ‘เลือกหุ้นอย่างไรในช่วงที่ตลาดไม่มี Momentum?’

18 ธันวาคม 2013

Updated 2022

Author: admin

2 thoughts on “Blog 43 : ‘เลือกหุ้นอย่างไรในช่วงที่ตลาดไม่มี Momentum?’

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.