Blog 18 : เลือกหุ้นดี แต่ซื้อผิดเวลา

ถึงแม้ว่าเราจะเลือกบริษัทที่ดีและอนาคตดูสดใสมาก แต่ราคาหุ้นที่จะเข้าซื้อ รวมถึงเรื่องของจังหวะเวลานั้น ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การเลือกหุ้นเช่นกัน

ถ้าหุ้นของบริษัทได้ปรับตัวขึ้นมาสูงมากๆ ภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว (ไม่ถึง 1 ปี หรืออาจจะไม่ถึง 6 เดือน) นักวิเคราะห์ต่างพากันแนะนำให้ ‘ซื้อ’ เพราะคาดว่าแนวโน้มจะสดใสต่อเนื่อง และตลาดรับรู้ความเจ๋งของบริษัทมานานพอสมควรแล้ว

ในกรณีนี้ ถ้าคุณเข้ามาทีหลัง ก็มักจะเข้าซื้อเป็นไม้ปลายๆ และมีโอกาสสูงที่จะติดดอยหุ้นดีได้ (ไม่ได้ติดดอยหุ้นปั่น)

(รูปจากบอร์ด PANTIP; http://bit.ly/I4r72v)

ประเด็นที่ผมจะสื่อก็คือ ถ้าคุณอยากจะถือลงทุนระยะยาวอย่าง บัฟเฟตต์ หรือ ดร.นิเวศน์ ได้จริงๆนั้น

ก่อนอื่น คุณจะต้องสามารถวิเคราะห์ธุรกิจ งบการเงิน และแนวโน้มของอุตสาหกรรม ต้องมั่นใจในการตัดสินใจของตัวเอง และควรที่จะสามารถมองเห็นก่อนคนส่วนใหญ่ได้ว่า ‘บริษัทหรือธุรกิจนี้มันกำลังจะดีมากๆ’ และที่สำคัญคือ ‘ราคาหุ้นปัจจุบันต้องยังไม่แพงมากเกินไป เมื่อเทียบกับอนาคตที่น่าจะโตได้อีกมาก’

ซึ่งผมคิดว่าต้องใช้ทักษะในการวิเคราะห์ธุรกิจพอสมควร รวมถึงต้องมองแนวโน้มธุรกิจได้ขาดจริงๆ ในกรณีที่คุณต้องการถือยาวแบบเกิน 3 ปีขึ้นไป

เวลาเราพูดว่า ‘ถือลงทุนระยะยาว’ มันฟังดูง่าย เหมือนกับว่า ‘แค่ซื้อแล้วถือเก็บไปยาวๆ’

แต่ที่จริงแล้ว ก่อนที่นักลงทุนชั้นเซียนของแนวนี้จะซื้อหุ้นซักตัวหนึ่งเพื่อลงทุนระยะยาว พวกเค้าต้องทำการบ้าน และผ่านการวิเคราะห์มาอย่างดี ซื้อในราคาที่ปลอดภัย และหลังจากที่ซื้อไปแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อๆขายๆครับ คอยติดตามผลงานของบริษัท ว่าเป็นไปอย่างที่คิดหรือไม่

ถ้าเป็นไปตามที่คิด สุดท้ายราคาหุ้นก็จะปรับตัวตามไปได้เอง และก็ทำให้สามารถถือหุ้นไปได้เรื่อยๆตามคอนเซปต์ด้วยครับ

อย่าง CPALL, HMPRO เป็นเคสตัวอย่าง คนที่ซื้อตอนที่คนส่วนใหญ่ในตลาดยังเฉยๆกับบริษัท ก็จะทำกำไรได้มหาศาล (ไม่ได้เพิ่งมาซื้อตอนที่ทุกคนเห็นว่ามันดีมากๆแล้ว)

หรืออย่าง บัฟเฟตต์ ก็ชอบซื้อธุรกิจที่ดี ในช่วงที่มีปัญหา นอกจากนี้ ทั้ง บัฟเฟตต์ และ ดร.นิเวศน์ ก็มีความอดทนสูง สามารถถือเงินสดเพื่อรอจังหวะ กล้าเก็บหุ้นตอนที่ตลาดตกต่ำอย่างรุนแรง (ไม่ใช่ว่าไปไล่ซื้อหุ้นดีตอนที่ราคาสูงๆ)

และที่สำคัญมากๆคือ สามารถทนถือหุ้นผ่านช่วงที่ตลาดตกต่ำมาได้

ที่ผมหยิบเรื่องนี้มาพูด เพราะพอดีช่วงนี้ไปประชุมผู้ถือหุ้น ได้พูดคุยกับน้าๆลุงๆหลายท่าน มักจะคุยว่า เค้าเล่นแนวลงทุนถือยาว อ่านหนังสือแนว บัฟเฟตต์ แนว ดร.นิเวศน์

แต่คุยไปคุยมา กลับกลายเป็นว่า หลายคนติดหุ้นอยู่ (กลายเป็นจำใจถือยาว) ก็เลยถือกินปันผลรอมาเรื่อยๆ และราคาต้นทุนของพวกเค้า ก็มักจะอยู่แถวๆตอนที่หุ้นอยู่ในช่วงพีคของรอบนั้นๆด้วยครับ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะมีการเข้าใจผิด เรื่องการเลือกหุ้นแล้วถือยาวอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

แต่ผมก็เห็นสิ่งที่ดีนะครับ คือเดี๋ยวนี้คนเริ่มมีความรู้และเข้าใจเรื่องลงทุนหุ้นมากขึ้น คงเพราะสมัยนี้หาความรู้เรื่องการลงทุนได้ง่ายกว่าอดีตมาก ทั้งหนังสือภาษาไทยมากมาย และสื่ออินเตอร์เนต

ถึงจะต้องทนถือขาดทุนเพราะซื้อมาแพง และไม่อยาก cut loss เพราะ cut ไม่ทันหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ผมคิดว่า ก็ยังดีกว่าไปติดดอยหุ้นปั่น ที่ปันผลก็ไม่มี อนาคตก็ไม่มี

เพราะถ้าถือหุ้นที่ดีจริงๆ แม้จะพลาดซื้อแพงไปแล้ว แต่ถ้าอดทนรอ สามารถถือหุ้นผ่านช่วงที่ตลาดตกต่ำมาได้ ระยะยาวก็น่าจะกำไรได้ครับ (ถ้าหุ้นดีจริง) ช่วงที่ติดหุ้นก็กินปันผลรอประมาณนั้น

ถ้าให้ยกตัวอย่าง ก็คือ ตอนที่ CPALL ขึ้นไปสูงๆประมาณ 40 บาท แล้วลงมาเยอะพอสมควร ช่วงนั้นมีก็คนเขียนการ์ตูนแซวด้วย ประมาณว่าซื้อหุ้นดีแต่แพงไปนะ แต่สุดท้ายแล้วเมื่อเวลาผ่านไป ราคาหุ้นก็ขึ้นมาเกินจุดนั้นได้จริงครับ เนื่องจากว่าเป็นธุรกิจที่ดีจริงๆ

(แต่จริงๆก็ต้องถือว่าลงทุนผิดพลาดละครับ เพราะซื้อแพงเกินไป ผิดจังหวะ และการที่ต้องรอนานๆ ก็ทำให้เกิดค่าเสียโอกาสพอสมควร)

ขอยกประโยคจากบทความของพี่โจ๊ก (นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์) มาให้อ่านกันครับ สรุปประเด็นทั้งหมดของหัวข้อนี้

“นักลงทุนที่ดีต้องทำตัวเหมือนคนที่ยึดอาชีพเป็น “แมวมอง” แมวมองเลือกที่จะทุ่มให้กับคนที่ยังไม่ดังแต่มีแววว่าจะดังเท่านั้น เมื่อคนนั้นกลายเป็นคนดังขึ้นมาชั่วข้ามคืน แมวมองก็จะได้รับผลตอบแทนอย่างมหาศาลจากความ “ตาถึง” ของเขา ในขณะที่ “คนดู” สนใจกันแต่ดาราที่ดังแล้ว ยิ่งดังเท่าไรยิ่งชอบ คนดูจึงต้องเป็นฝ่ายเสียเงินตลอด (ค่าบัตรคอนเสิร์ต ค่าตั๋วหนัง ฯลฯ)”

(จากบทความ ‘หุ้นที่ห้ามซื้อ’ โดย นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ | : http://bit.ly/HtR0L7 )

‘Blog 18 : เลือกหุ้นดี แต่ซื้อผิดเวลา’

www.sarut-homesite.net

9 เมษายน 2012

Author: admin

1 thought on “Blog 18 : เลือกหุ้นดี แต่ซื้อผิดเวลา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.