Blog 1 : สาเหตุของวิกฤตแฮมเบอเกอร์ ฉบับย่อ

64115326_ad0e4ee5bfsmallcustom

เหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หรือที่คนไทยเรียกกันว่า วิกฤตแฮมเบอเกอร์ ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกนั้น ทุกๆท่านก็คงได้ทราบกันไปบ้างแล้วถึงผลกระทบ และมาตรการแก้ไขของประเทศต่างๆที่ออกมากันเยอะแยะมากมาย

ว่ากันว่าวิกฤตครั้งนี้ร้ายแรงเทียบเท่าเมื่อปี ค.ศ. 1929 – 1930(The Great Depression) ในรอบเกือบ 80 ปีเลยทีเดียว

วันนี้ผมเลยรวบรวมข้อสรุปของสาเหตุของ วิกฤตแฮมเบอเกอร์ครั้งนี้  ให้อ่านเข้าใจง่ายๆไม่ซับซ้อนมากครับ

สาเหตุหลักๆของวิกฤตแฮมเบอเกอร์นี้ สรุปเป็นข้อๆ นะครับ

1. สหรัฐอเมริกามีทุนไหลเข้าไปในประเทศมากจนล้นออกไปในภาคอสังหาริมทรัพย์

เกิดฟองสบู่เก็งกำไรกันขึ้น ต้นเหตุที่ทำให้สหรัฐอเมริกามีเงินทุนไหลเข้ามากและได้มาในราคาต่ำกว่าชาวโลกอื่นๆ ก็เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลหลักซึ่งเป็นที่เชื่อถือของชาวโลกมายาวนาน ปัจจุบันมีเงินดอลลาร์ไหลเวียนเป็นทุนและหนี้อยู่ในต่างประเทศเป็นจำนวนมหาศาล เมื่อสหรัฐจะใช้คืนเงินต้นและดอกเบี้ยก็ทำได้ด้วยการพิมพ์ธนบัตรให้ แถมสหรัฐยังเป็นประเทศเดียวที่ทำได้เพราะดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักของโลก มีคนเรียกสิ่งนี้ว่า exorbitant privilege (อภิสิทธิ์เกินกว่าสมควร) ของสหรัฐ  อีกทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลังเหตุการณ์ 9/11 และการที่มีทุนมากทำให้ช่วงเวลา 5-6 ปี ก่อน 2007 ผู้คนในสหรัฐกู้เงินผ่อนบ้านกันได้ง่าย เกิดการเก็งกำไรจนเป็นฟองสบู่ราคาบ้าน ยัดเยียดให้กู้ทั้งที่ไม่ปัญญาผ่อนส่ง แต่ก็ไม่กลัวกันเพราะมั่นใจว่าราคาบ้านจะสูงขึ้นเรื่อยๆ กำไรจากราคาบ้านจะคุ้มดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย นักค้าเงินทั้งหลายรื่นเริงกับความร้อนแรงของธุรกิจ mortgage (จำนองอสังหาริมทรัพย์) โดยไม่กังวลว่าฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์จะแตก และมันก็แตกจริงๆ

2. สาเหตุที่สองคือความโลภ ในธุรกิจ mortgage ผู้ทำธุรกิจไม่ว่าธนาคารเพื่อที่อยู่อาศัย สถาบันการเงิน บริษัทประกันภัย วานิชธนกิจ ฯลฯ คิดประดิษฐ์ ตราสารไม่ว่าจะเป็นหุ้นกู้ หุ้นหรือ อนุพันธ์ (derivatives) ประหลาดๆออกมากมายหลายตัวที่ไม่มีใครเข้าใจถึงผลกระทบหากว่ามันมีการผันผวนไปในทางลบ ตราสารเหล่านี้ใช้กันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงและป้องกันความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง คนเลยแห่กันมาลงทุนตราสารพวกนี้กันมากครับ

วาณิชธนกิจ 5 บริษัทใหญ่ คือ Bear Sterns/ Merrill Lynch/ Lehman Brothers/ Goldman Sachs/ Morgan Stanley ทำธุรกิจเช่นนี้ โดยขาดการควบคุมเข้มงวดจากรัฐเหมือนสถาบันการเงินทั่วไป ที่มีแหล่งเงินทุนจากเงินฝาก ในขณะที่วาณิชธนกิจอยู่ได้ด้วยการกู้เงินมาต่อเงิน เมื่อทุกอย่างสะดุด กู้เงินอีกก็ไม่ได้ หุ้นก็ตก (ถึงกู้ได้ก็แพงกว่าเก่า) ก็ขาดสภาพคล่องซึ่งเป็นหัวใจของการประกอบธุรกิจ ถ้าไม่มีใครเอาเงินมาช่วยใส่ให้ ก็ต้องปิดบริษัทไป หรือถ้าดีกว่าหน่อยก็ถูกเทกโอเวอร์

ทั้งหมดนี้มันพัวพันกันเพราะไม่รู้ว่าใครซื้อใครไว้มากน้อยแค่ไหน รู้แต่ว่ามันเดี่ยวข้องกันอยู่ หากปล่อยให้รายใหญ่เช่น AIG ล้มไปก็อาจเกิดผลกระทบกว้างไกลได้ ก็เลยต้องมีการอุ้มดังที่เห็นกัน

3. ความไม่รู้ ไม่เข้าใจและงมงายของคนซื้อตราสารใหม่ๆ (ลงทุน) เพราะดูเหมือนจะให้ผลตอบแทนสูงและดูปลอดภัย ปัจจุบันนวัตกรรมตราสารมีพิสดารกว่านี้มากมาย (เช่น เอาไปผูกไว้กับดัชนีหุ้น ดัชนีน้ำฝน ราคาน้ำมัน ฯลฯ เพื่อประกันความเสี่ยง) ซึ่งเมื่อลงทุนอย่างไม่รู้ ไม่เข้าใจ ผลที่ตามมาก็คือเจ๊งลูกเดียว

การลงทุนทุกอย่างต้องมีการศึกษาให้ดีและเข้าใจเสียก่อน หากเราลงทุนอย่างมั่วๆ เขาว่าดีก็ตามๆเขาไป มันก็เป็นแค่การพนัน ดังที่เห็นๆกันอยู่ครับ

บางคนเปรียบเทียบว่าวิกฤตแฮมเบอเกอร์ครั้งนี้เหมือนกับวิกฤตต้มยำกุ้งของบ้านเรา ซึ่งจริงๆแล้วสาเหตุมันต่างกัน แต่ผลกระทบมันคล้ายๆกันครับ โดยวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” เมื่อสิบปีที่แล้วมีสาเหตุหลักๆเกิดจากความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งไทยจนมีทุนสำรองระหว่างประเทศไม่เพียงพอ(ตอนนั้นใช้ระบบตะกร้าเงินผูกติดกับเงินดอลลาร์ ไม่ยอมลอยตัว) เกิดการโจมตีค่าเงินบาทเพราะทางการไม่ยอมให้ค่าเงินบาทเป็นไปตามกลไกตลาด มีการสวอปเงินบาทกับเงินดอลลาร์ อีกทั้งก็มีการทำธุรกรรมต่างๆในต่างประเทศเป็นจำนวนมากเช่น การไปเรียนเมืองนอก , กู้เงินต่างประเทศ ฯลฯ เกิด Preservation of Capital (การรักษาเงินลงทุนโดยการถอนการลงทุนออก ยอมขาดทุนเพื่อรักษาเงินที่เหลือ) ของนักลงทุนต่างชาติ (รายละเอียดอื่นๆมันซับซ้อนขอไม่อธิบายแล้วกัน ไว้คราวหลัง) เมื่อลอยตัวค่าเงินบาท ก็เลยทำให้บ้านเราเป็นหนี้มหาศาล เสียหายอย่างที่เห็นครับ

ปล.ต่างประเทศเขาไม่เรียกว่า วิกฤตแฮมเบอเกอร์นะครับ ส่วนใหญ่จะเรียกประมาณ “US’s Economics Crisis”

ส่วนวิกฤตเมื่อ 80 ปีก่อนก็เรียกว่า  “The Great Depression” ครับ

หมายเหตุ

– ข้อความและคำศัพท์บางส่วนอ้างอิงจากบทความ “สาเหตุวิกฤต “แฮมเบอเกอร์””

โดย คุณวรากรณ์ สามโกเศศ มติชนรายวัน วันที่ 02 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11163

– ข้อความและคำศัพท์บางส่วนอ้างอิงจากหนังสือ “ห้องยุทธการ” โดย คุณนวพร เรืองสกุล

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.