เคยอ่านเจอประโยคหนึ่งเขียนเอาไว้น่าสนใจว่า
Bear markets are the ultimate behavioral test.
ช่วงตลาดหมี จะเป็นบททดสอบพฤติกรรมและบุคลิกของคนเล่นหุ้นได้ดีที่สุด
เพราะในช่วงขาขึ้น คนส่วนใหญ่จะมีผลลัพธ์ที่ไม่ต่างกันมากนัก
จะเล่นหุ้นอะไรใช้แนวคิดแบบไหน ผลสุดท้ายก็คือกำไรกันถ้วนหน้า
แต่พอเข้าสู่ตลาดหมี ผลลัพธ์จะเริ่มแตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน
เพราะมันจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรม วิจารณญาณ และการตัดสินใจของแต่ละคน
– การคุมความเสี่ยง , การคัดเลือกเทรด , จังหวะเทรด-ปรับพอร์ต และการสังเกตตลาด
– คนปรับตัว / ไม่ปรับตัว , เทรดตลอด / เทรดเป็นจังหวะ / พักการเทรด ฯลฯ
การกระทำที่ดูต่างกันเพียงเล็กน้อย แต่จะทำให้ผลลัพธ์ออกมาต่างกันพอสมควร
คนที่เพิ่งขาดทุนหนักก็จะอยากทำกำไรกลับมาให้เร็วที่สุด
หลายคนอาจจะถึงขั้นยอมทำทุกทางโดยไม่สนใจความเสี่ยงหรือวิธีการอะไรแล้ว
ซึ่งโดยทั่วไป การทำเงินโดยไม่เลือกวิธีนั้นจะให้ผลดีในระยะสั้น และดูดีในรูปตัวเงิน-ผลตอบแทน
แต่ก็มักจะค่อยๆเกิดผลเสียด้านอื่นต่อตัวเองและคนรอบข้างในระยะยาว
เพราะถึงแม้คนอื่นจะไม่รู้ แต่ภายในตัวเองย่อมรู้ดีว่าที่จริงแล้วเราทำอะไร ได้เงินมาด้วยวิธีการแบบไหน
ดังนั้น ช่วงที่ตลาดยากและท้าทายจึงเป็นบทพิสูจน์ตัวเองได้ดีที่สุด
ว่าเราเป็นคนแบบไหน จะสามารถพัฒนาและเอาตัวรอดในตลาดหุ้นได้จริงหรือไม่
เหมือนที่ Ed Seykota เคยพูดไว้ว่า
A losing trader can do little to transform himself into a winning trader.
A losing trader is not going to want to transform himself.
That’s the kind of thing winning traders do.
.
winning trader จะอยากพัฒนาหรือพร้อมเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อให้เป็นผู้ชนะ (transform / adapt)
ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัว , ปรับแต่งระบบ , แก้ไขจุดอ่อน , ตรวจสอบความคิดของตัวเองอยู่เป็นระยะ
ไม่ยึดติดกับกรอบแนวคิดและระบบเดิมมากจนเกินความพอดี
เปิดกว้างให้มุมมองใหม่ๆมาช่วยเสริม และพลิกแพลงตัวเองได้ (open & flexible)
รวมถึงสามารถจัดการกับอารมณ์ และความคาดหวังให้สอดคล้องกับภาวะตลาด ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นกัน
และนั่นทำให้พวกเขาคือ winning trader ที่ปรับตัวตามตลาดไปได้อย่างต่อเนื่อง (sync with market)
ส่วน losing trader นั้นก็มักจะเป็นคนที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง , มี mindset ที่ค่อนข้างตายตัวเกินไป
อาจจะยังติดกับระบบเดิมที่เริ่มเห็นปัญหาชัดเจน แต่ก็ไม่กล้าปรับแต่งหรือทิ้งความรู้บางอย่างที่เคยเรียนมา (sunk cost effect)
หรือไม่คิดว่าตัวเองมีจุดอ่อนอะไรที่ต้องแก้ไขเลย
ซึ่งเรื่องนี้หลายคนอาจจะเป็นโดยที่ไม่รู้ตัว เพราะไม่เคยสังเกตตัวเองอย่างจริงจัง
สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขามักจะเจอกับปัญหาแบบเดิมๆที่แก้ไม่ตก และคิดว่าคงแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้
หรืออาจเจอเหตุการณ์แบบ black swan ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาพจิตใจในระยะยาว..
การจะเปลี่ยนแปลง-พัฒนาตัวเองได้นั้น ต้องเริ่มจากมองเห็นจุดอ่อนและยอมรับข้อเสียของตัวเอง แล้วถึงจะรู้ว่าเราควรเริ่มแก้ไขตรงจุดไหนบ้าง
จุดเปลี่ยนของเราจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเรายังคงมีจุดอ่อนแบบเดิม ที่จะถูกตลาดโจมตีซ้ำรอยเดิมได้อยู่เรื่อยๆ
Build up your weakness until they become your strong points.
การกระทำและผลลัพธ์ในตลาดหมี จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนพฤติกรรม และ mindset ที่แท้จริงของตัวเราได้ดีที่สุดครับ
.
Blog 110 : ‘ตลาดหมีคือบททดสอบพฤติกรรม’
13 กรกฎาคม 2022