‘การนับฐานราคา’ : โดย Mark Minervini

หากหยิบยืมเนื้อหาจากหนังสือเล่มแรกของผม การเคลื่อนไหวของหุ้นในแต่ละระดับของวัฏจักรราคาจะเปรียบได้กับรูปร่างของภูเขา

จากทุ่งราบด้านล่างไล่ขึ้นไปจนถึงยอดเขา และกลับลงมาสู่ทุ่งราบด้านล่างอีกครั้ง

โดยในระหว่างทางขึ้นไปยอดเขานั้นก็จะเกิดพื้นที่ราบสูง ซึ่งเป็นบริเวณที่ราคาหุ้นชะลอตัวหรือหยุดพักชั่วคราว 

ถ้าเป็นภูเขาของจริง บริเวณที่ราบสูงจะเป็นจุดที่นักปีนเขาตั้งแคมป์เพื่อพักผ่อนและฟื้นพลัง ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมราคาหุ้นด้วยเช่นกัน

หลังจากที่หุ้นขึ้นมาระยะหนึ่ง มันก็จะโดนขายทำกำไรและเกิดการย่อตัวชั่วคราวของหุ้น ราคาหุ้นจึงปรับตัวลงมาแล้วเริ่มทำฐานใหม่

เป็นการหยุดพักสั้นๆที่ทำให้หุ้นได้ย่อยตัวลงมาหลังจากที่วิ่งขึ้นมาในช่วงก่อนหน้า

ซึ่งถ้าหุ้นตัวนั้นอยู่ในช่วงที่มีบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญเกิดขึ้นจริง และเกิดแรงซื้อของนักลงทุนระยาวที่สูงกว่าแรงขายทำกำไรของเทรดเดอร์ระยะสั้น ราคาหุ้นก็จะสามารถขยับขึ้นไปตามแนวโน้มระยาวได้อีกครั้ง

มากกว่า 90% ของขาขึ้นครั้งใหญ่นั้นจะเกิดขึ้นหลังการปรับฐานของตลาด นั่นเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่คุณจะได้ซื้อหุ้นที่เพิ่งเริ่มต้นขาขึ้นหรืออยู่ในฐานระยะกลาง

โดยหลังจากที่ตลาดหมีสิ้นสุดลง บริเวณที่ราบสูงช่วงแรกจะถูกนับว่าเป็นฐานที่ 1 (base 1)

และเมื่อหุ้นเริ่มพุ่งออกจากฐานที่ 1 หรือฐานที่ 2 หลังจากที่ตลาดปรับฐานเสร็จ นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเข้าซื้อหุ้นที่เริ่มแนวโน้มขาขึ้นครั้งใหม่

ส่วนฐานที่ 3 และ 4 ก็ใช้ได้เช่นกัน เพียงแต่ว่าหุ้นที่วิ่งออกจากฐานท้ายๆนั้นควรถูกจับตาดูอย่างระมัดระวัง มากกว่ามองว่าเป็นโอกาสในการเทรด

และยิ่งถ้าเป็นฐานที่ 5 หรือ 6 ด้วยแล้ว ก็มีโอกาสสูงมากที่ราคาหุ้นจะล้มเหลวลงมา และควรถูกมองว่าเป็นโอกาสขายเมื่อหุ้นเบรกเอาท์และเริ่มขึ้นไปพอสมควร

บางครั้ง ฐานระยะท้ายก็อาจเกิดความตื่นเต้นได้ เพราะในช่วงนี้หุ้นหลายตัวมักจะเกิดการวิ่งขึ้นแบบ climax หรือเรียกง่ายๆว่า “พุ่งไปจบรอบ”

แต่ช่วงแบบนี้ก็ถือว่ายากสำหรับการขายหุ้น เพราะว่าหุ้นจะพุ่งขึ้นติดต่อกันและดูเหมือนว่ามันจะขึ้นได้แบบไม่มีวันสิ้นสุด

คุณต้องจำไว้เสมอว่า เมื่อหุ้นขึ้นไปจนถึงฐานระยะท้ายนั้น มันจะกลายเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน

ซึ่งการที่มันชัดเจนจะทำให้มีคนจำนวนมากเริ่มเข้าหาและไล่ซื้อมัน ทำให้หุ้นตัวนี้มีแต่คนที่รอขายทำกำไรใส่กัน

สถานการณ์แบบนี้คือสิ่งที่ผมและหลายคนเรียกว่า “หุ้นที่คนเยอะเกิน” (crowded)

ตามที่มีคำกล่าวในตลาดหุ้นว่า “อะไรที่ชัดเจนเกินไป มันมักจะผิดหรือล้มเหลวลงมา”

เมื่อหุ้นเริ่มมีคนมากเกินไป สายตาทุกคู่ก็จะคอยจับจ้องและเฝ้าดูมัน เพราะหุ้นขึ้นมาอย่างแข็งแกร่งตลอดช่วงที่ผ่านมา

และหลายคนก็เห็นการทำฐานราคาที่ใช้ได้ผลหลายต่อหลายครั้ง

สิ่งนี้จะดึงดูดนักลงทุนที่มีข้อมูลความรู้น้อย ในขณะที่กลุ่ม “smart money” ที่เข้าซื้อหุ้นไว้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ก็เริ่มหาจุดขายเพื่อเก็บกำไรและเทหุ้นให้รายย่อยรับต่อไป

โดยการขายทำกำไรของคนกลุ่มนี้จะเป็นการทยอยขายในระหว่างที่หุ้นกำลังขึ้น

รวมถึงตอนที่หุ้นเริ่มเป็นข่าวออกสื่อไปทั่ว และเป็นช่วงที่ทุกคนกำลังตื่นเต้นยินดีไปกับมัน

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมมันเป็นเรื่องยากสำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่ ในการกำหนดจุดที่พวกเขาควรขายหุ้น…

ตัวอย่าง หุ้น Deckers Outdoor

หุ้น Deckers เริ่มวิ่งออกจากฐานแรกเมื่อวันที่ 12 กันยายน ปี 2006 ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปถึง 260% ในเวลา 15 เดือน

จนมาถึงเดือนธันวาคม ปี 2008 ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปโดยเกิดฐานราคาที่ระบุได้ 4 ครั้ง เมื่อเราดูจากกราฟรายสัปดาห์ (weekly chart)

เมื่อถึงจุดนี้ พอหุ้นเริ่มวิ่งขึ้นออกจากฐานที่ 4 ก็ถือว่ามันเข้าสู่ระยะท้ายของขาขึ้นรอบนั้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณไม่ได้นับหรือตรวจสอบฐานราคาเลย คุณก็อาจจะนึกว่ามันเพิ่งเริ่มขาขึ้นใหม่ระยะแรกไม่ใช่ระยะท้าย

ส่วนฐานที่ 5 ซึ่งเป็นฐานสุดท้ายนั้นจะสังเกตได้ว่า ราคาหุ้นเหวี่ยงขึ้นลงรุนแรงกว่าช่วงที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด (wide and loose) และทำให้มีแนวโน้มสูงที่มันจะล้มเหลว

นี่เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าหุ้นตัวนี้กำลังอยู่ในสเตจ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่หุ้นถูกทยอยขายและจบรอบ

คุณควรจะเตรียมตัวขายหุ้นออกไป หรือขายหุ้นทันทีที่ฐานที่ 5 ล้มเหลวและหุ้นเริ่มกลับตัวร่วงลงมา

*ตัวอย่างจากหนังสือ Think & Trade Like a Champion ภาษาไทย

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.