บทความนี้เหมาะกับสถานการณ์ของสหรัฐฯช่วงนี้ดีครับ เก็บไว้นานแล้วเลยได้จังหวะเอามาลงเวบ โดยบทความจะกล่าวถึงปัจจัยต่างๆที่อาจจะทำให้สหรัฐฯเสื่อมอำนาจลงครับ ทั้งปัจจัยด้านความเหมือนและในด้านความต่างระหว่างอเมริกากับอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในอดีตคือโรมัน โดยยึดมุมมองทางประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสังคม (จริงๆมีอีกหลายบทความที่มีเนื้อหาประเด็นแนวนี้ จะทยอยเอามาลงครับ)
ส่วนตัวผมชอบอ่านบทความของ ดร.ไสว บุญมา เพราะได้ความรู้หลายๆด้าน ทั้งเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ ข้อคิดต่างๆ และยังได้อ่านบทคัดย่อหรือบทสรุปหนังสือต่างประเทศหลายๆเล่มในบทความเดียวด้วยครับ
ถ้าใครชอบอ่านของท่าน สามารถเข้าไปอ่านได้จากเวบ http://sawaiboonma.com เลยนะครับ เพราะผมจะคัดเอามาบางบทความที่ชอบและน่าสนใจครับ
####
หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายและสหรัฐอเมริกากลายเป็นอภิมหาอำนาจแต่เพียงประเทศเดียวเมื่อปี 2534 ผู้เชี่ยวชาญถกเถียงกันอย่างเข้มข้นมาตลอดว่าสหรัฐอเมริกาจะพัฒนาไปทางไหน บางคนอ้างถึงการศึกษาที่สรุปว่า ทุกอาณาจักรในอดีตล้วนล่มสลายตามสัจธรรมที่ว่า ไม่มีอะไรอยู่ได้ค้ำฟ้า ฉะนั้นสหรัฐอเมริกาก็จะล่มสลายในวันหนึ่งข้างหน้าอย่างแน่นอน การศึกษาของศาสตราจารย์ Paul Kennedy ที่พิมพ์ในรูปของหนังสือชื่อ The Rise and Fall of the Great Powers เป็นหนึ่งในการศึกษาชิ้นสำคัญที่มักถูกอ้างถึงและคอลัมน์นี้ได้นำมาเสนอแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2549 (บทคัดย่อของหนังสือเล่มนั้นมีอยู่ในหนังสือเรื่อง “กะลาภิวัตน์”) บางคนเริ่มศึกษาใหม่โดยย้อนกลับไปดูความล่มสลายของอาณาจักรโรมันเพื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาในยุคปัจจุบันว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่ หนึ่งในจำนวนนี้ได้แก่ Cullen Murphy ซึ่งเสนอผลการศึกษาออกมาเมื่อปี 2550 ในหนังสือชื่อ Are We Rome? : The Fall of An Empire and the Fate of America หนังสือขนาด 260 หน้าเล่มนี้แบ่งเป็น 5 บทพร้อมด้วยบทนำและบทส่งท้าย
บทนำ ซึ่งมีความยาวถึง 23 หน้า เริ่มด้วยการเปรียบเทียบกระบวนการเดินทางไปในสถานที่ต่างๆของประธานาธิบดีอเมริกัน เช่น จอร์จ ดับเบิลบู บุช ว่า ไม่ต่างกับการเดินทางของจักรพรรดิโรมันมากนัก เริ่มจากคณะรักษาความปลอดภัยที่ล่วงหน้าไปก่อนเพื่อเตรียมสถานที่ คณะของประธานาธิบดีห้อมล้อมด้วยหน่วยรักษาความปลอดภัยหลายชั้นรวมทั้งผู้ชิมอาหารก่อนประธานาธิบดีจะรับประทานด้วย นอกจากนั้นยังมีรัฐมนตรี ที่ปรึกษาและกองเลขานุการซึ่งไม่ต่างอะไรกับข้าทาสบริวารของจักรพรรดิโรมันยกเว้นในยุคนี้ไม่มีพวกขันทีเท่านั้น เมื่อไปถึงที่ไหนก็จะมีผู้นำท้องถิ่นมารายงานเหตุการณ์ต่างๆให้ทราบรวมทั้งผู้นำของประเทศที่ว่าเป็น “มหาอำนาจ” ด้วย กระบวนการเช่นนี้มีเกิดขึ้นตลอดเวลาจนทำให้รัฐมนตรีอาวุโสของอังกฤษคนหนึ่งรำพึงเป็นข้อเขียนออกมาว่า “คุณตระหนักถึงบทบาทของคุณว่าคือเมืองขึ้น คุณเข้าไปพบเขาในฐานะบริวารที่มีความจงรักภักดีและหวังว่าเขาจะเห็นด้วยกับสิ่งที่คุณทำ” การเปรียบเทียบเช่นนี้มีไปถึงรายละเอียดอื่นๆ เช่น สัญลักษณ์รูปนกอินทรีย์ กีฬาฟุตบอลอเมริกันซึ่งเท่ากับการต่อสู้กันของนักสู้โรมันที่สู้กันเองบ้าง สู้กับสัตว์ร้ายบ้าง และพวกที่พยายามเล็ดลอดเข้าไปในสหรัฐอเมริกาที่คนไทยมักเรียกกันว่า “โรบินฮู้ด” คือส่วนหนึ่งของ “คนป่า” ในสมัยโรมัน
แต่ผู้เขียนเสนอว่าการเปรียบเทียบไม่ใช่ของใหม่เพราะในสมัยก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะประกาศเอกราชเมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว ก็มีการเปรียบเทียบอเมริกากับอาณาจักรโรมันในยุคที่อาณาจักรนั้นยังมีการปกกรองแบบสาธารณรัฐก่อนที่จะกลายเป็นเผด็จการอันมีจักรพรรดิเป็นผู้รวมอำนาจ (ประวัติย่อของอาณาจักรโรมันมีในตอนต่อไป) ฉะนั้นลักษณะของการเปรียบเทียบจึงขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละกลุ่มชนซึ่งผู้เขียนแยกออกเป็น 7 กลุ่มด้วยกัน
กลุ่มแรก เป็นพวกอเมริกันจ๋าหรือขวาตกขอบ นำโดยจอร์จ ดับเบิลยู บุช เอง กลุ่มนี้มองว่าอเมริกาเป็นมหาอำนาจที่รับมรดกตกทอดมาจากอาณาจักรโรมันและอังกฤษ และต่อไปนี้จะไม่มีใครท้าทายได้อีก อเมริกาจะไม่มีทางเสื่อม ส่วนเหตุการณ์ชนิดที่กำลังเกิดขึ้นในอิรัก อัฟกานิสถาน อิหร่านและส่วนอื่นของโลกเป็นเพียงอุปสรรคเล็กน้อยเท่านั้น
กลุ่มที่ 2 มองจากอีกขั้วหนึ่ง นั่นคือ มองว่าอเมริกากำลังแผ่ขยายอำนาจและความรับผิดชอบออกไปจนไกลเกินศักยภาพในขณะที่ตนเองมีปัญหาหนักหนาสาหัสอยู่ภายในเช่นเดียวกับในช่วงหลังของอาณาจักรโรมัน อเมริกากำลังทำลายสถาบันทางการเมืองและฐานทางคุณธรรมของตัวเองในนามของความปลอดภัย เช่น การใช้อำนาจลับและการติดตามดูประชาชนทุกฝีก้าว
กลุ่มที่ 3 ตกอยู่ในระหว่างสองขั้วแรกนี้ คือ มองว่าโลกต้องการอเมริกาในฐานะอภิมหาอำนาจที่สามารถทำหน้าที่ผู้นำของชาวโลกได้ อย่างไรก็ตามอเมริกาไม่พยายามทำหน้าที่นั้น แต่กลับหันไปสนใจแต่เรื่องภายในของตนเองโดยมุ่งสร้างความร่ำรวยและใช้เวลาหมดไปกับการแสวงหาความบันเทิง
กลุ่มที่ 4 มองว่าอเมริกากำลังเสื่อมลงอย่างรวดเร็วจนเป็นเสมือนอาณาจักรโรมันตอนกำลังล่มสลายแล้ว ปัญหาของอเมริกาเริ่มจากความล่มสลายในครอบครัว ต่อด้วยการใช้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ไปในทางชั่วร้ายและรัฐบาลกดขี่ด้วยการเก็บภาษีแบบไม่เป็นธรรม จนทำให้สถาบันต่างๆค่อยๆล่มสลายตามกันไปเรื่อยๆ
ส่วนกลุ่มที่ 5 เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มขวาตกขอบ ที่มองว่า อเมริกามีปัญหาหนักหนาสาหัสจากภายในโดยชนชั้นผู้นำที่สนใจแต่ในตัวเองพร้อมกับขาดความกล้าหาญทางด้านคุณธรรมและความอดทน
กลุ่มที่ 6 มองทุกอย่างจากสายตาของศาสนาคริสต์ อย่างไรก็ตามกลุ่มนี้มีความเห็นต่างกันเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งมองว่าอเมริการุ่งเรืองขึ้นมาตามความต้องการของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อจะเผยแพร่คำสอนของศาสนาให้กระจายออกไปยิ่งขึ้น แต่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่าอเมริกากำลังละทิ้งคำสอนของศาสนาจึงจะเดินเข้าสู่ความเสื่อมเช่นเดียวกับอาณาจักรโรมันหากยังไม่หันหลับมายึดหลักศาสนาอีกครั้ง
ส่วนกลุ่มที่ 7 มองว่า อเมริกาจะใหญ่ยิ่งต่อไปในรูปของการควบรวมส่วนอื่นของโลกเพื่อสู้กับผู้ท้าทาย คือ ชาวมุสลิมและจีน กลุ่มนี้มองว่าอเมริกาจะต้องควบรวมส่วนต่างๆของทวีปอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลียและบางส่วนของเอเซีย เช่น ญี่ปุ่น เข้าไปไว้ในอาณาจักรของตน
ในขณะที่การถกเถียงกันเป็นไปอย่างเข้มข้นนี้ ผู้เขียนมองว่าปัญหาสำคัญที่ไม่ค่อยมีใครนึกถึงคือ อะไรเกิดขึ้นกับอาณาจักรโรมันกันแน่ ฉะนั้นจึงเป็นการยากที่จะเปรียบเทียบสองอภิมหาอำนาจซึ่งรุ่งเรืองในช่วงเวลาต่างกันถึงสองพันปี อย่างไรก็ตามเขาจะพยายามชี้ให้เห็นว่าอเมริกามีทั้งส่วนต่างและส่วนคล้ายกับอาณาจักรโรมัน เนื่องจากการเปรียบเทียบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นห่างกันเป็นเวลานับพันปีไม่สามารถทำได้เช่นการทำเอาของสองอย่างมาตั้งเทียบกัน ฉะนั้นผู้เขียนจึงเสนอให้มองว่า เนื้อหาหนังสือเป็นเสมือนแบบฝึกหัดอย่างหนึ่ง
ส่วนต่างมีหลายอย่างด้วยกัน เริ่มจากเทคโนโลยีซึ่งตลอดเวลาราว 600 ปีอาณาจักรโรมันตกอยู่ในยุคเกษตรกรรม ในขณะที่อเมริกาในช่วงเวลาเพียงสองร้อยกว่าปีได้พัฒนาผ่านยุคอุตสาหกรรมและยุคสารสนเทศและเริ่มเดินเข้าสู่ยุคชีวภาพแล้ว ฉะนั้นในด้านเศรษฐกิจอเมริการ่ำรวยกว่าอาณาจักรโรมันปานฟ้ากับดิน อเมริกาไม่มีทางอดอยาก ส่วนชะตากรรมของชาวโรมันขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศซึ่งหากแห้งแล้งติดต่อกันเป็นเวลานานจะยังผลให้ชาวโรมันอดอยากทันที อเมริกามีคนชั้นกลางจำนวนมากและปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โรมันไม่มีคนชั้นกลาง หากมีแต่กลุ่มชนชั้นสูงกลุ่มเล็กๆ ที่ปกครองประเทศด้วยระบบเผด็จการเป็นส่วนใหญ่พร้อมกับใช้ข้าทาสบริหารจำนวนมากซึ่งยากจน ในขณะที่โรมันพยายามขยายอาณาจักร อเมริกาไม่แสวงหาอาณานิคม ชาวอเมริกันพยายามสร้างความมั่งคั่งด้วยการทำกิจการต่างๆของตัวเองในฐานะนักธุรกิจ ส่วนชาวโรมันต้องการเพียงมรดกตกทอด ยิ่งกว่านั้นชาวอเมริกันมองตัวเองต่างกับชาวโรมัน ไม่ว่าจะเป็นในด้านการถือยศถือศักดิ์ หรือการมองบทบาทของสองเพศ
ในด้านความคล้าย ผู้เขียนมองว่ามีอยู่ด้วยกัน 6 ด้าน คือ (1) ชนชั้นผู้นำมองประเทศของตนว่ามีอำนาจล้นฟ้า และมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อกิจการของโลก (2) ทั้งสองประเทศมีแสนยานุภาพอันยิ่งใหญ่ แต่ต้องอาศัยกำลังคนจากต่างถิ่นมากขึ้นเรื่อยๆเพราะคนของตนเองมีไม่พอ (3) การแปรรูปความรับผิดชอบของรัฐไปสู่เอกชนเปิดโอกาสให้เกิดความฉ้อฉลกว้างขวางขึ้นและนำไปสู่การขาดความรับผิดชอบ (4) การมองโลกภายนอกว่าล้าหลัง ทัศนคติเช่นนี้ทำให้ไม่สามารถมองเห็นภาพของโลกอย่างแท้จริง (5) พรมแดนซึ่งมีรูรั่วอยู่ทั่วไป เปิดโอกาสให้ผู้คนหลั่งไหลเข้าไปในประเทศเพิ่มขึ้นตลอดเวลา และ (7) กิจการภายนอกและภายในมีความสลับซับซ้อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดทำให้การบริหารจัดการเป็นไปด้วยความยากลำบากเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง
ในบทที่ 1 ผู้เขียนกลับไปทบทวนประวัติของอาณาจักรโรมันโดยมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า อาณาจักรนั้นอาจมิได้ล่มสลายไปดังที่ใครต่อใครคิด หากได้วิวัฒน์ไปตามความเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา และจบด้วยข้อสังเกตเกี่ยวกับพฤติกรรมของชาวโรมันและชาวอเมริกันที่บ่งบอกว่ามองตัวเองอย่างไร
ตามความเชื่อของนักประวัติศาสตร์ กรุงโรมถือกำเนิดขึ้นในรูปของชุมชนเกษตรบนฝั่งแม่น้ำไทเบอร์เมื่อ 743 ปีก่อนคริสตกาล หลังชุมชนนั้นขยายออกไปจนกลายเป็นสังคมที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ กรุงโรมปกครองด้วยระบบกษัตริย์ติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายชั่วคนแล้วจึงเปลี่ยนเป็นการปกครองแบบสาธารณรัฐก่อนเกิดคริสตกาลราว 500 ปี ระบบนี้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งได้ในบางกรณี และมีสภาสูงกับผู้บริหารประเทศสองคนเป็นแกน กรุงโรมขยายอาณาเขตออกไปจนครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล แต่ในระหว่างนั้นก็มีปัญหาสังคมและการเมืองอยู่ไม่ขาด จนกระทั่ง 31 ปีก่อนคริสตกาล ระบบสาธารณรัฐจึงสิ้นสุดลงเมื่อกองทัพของออกเตเวียนเอาชนะผู้อื่นได้และตั้งตนเป็นผู้ปกครองอาณาจักรโรมันแต่เพียงผู้เดียว
หลังจากนั้น อาณาจักรโรมันรุ่งเรืองและตามด้วยความถดถอยในกรอบเวลา 507 ปี นักประวัติศาสตร์ถือกันว่าอาณาจักรโรมันสิ้นสุดลงในปี ค. ศ. 476 (พ. ศ. 1019) เมื่อกองทัพของกรุงโรมพ่ายแพ้แก่กองทัพของผู้ที่ชาวโรมันถือว่าเป็น “คนป่า” นำโดยแม่ทัพชื่อ โอโดเอเซอร์ และอาณาจักรแตกออกเป็นสองซีกคือ ซีกตะวันตกซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงโรมอยู่ใต้การปกครองของแม่ทัพคนนั้นและวิวัฒน์ต่อมาเป็นประเทศอิตาลีและอื่นๆ ส่วนซีกตะวันออก ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล (เมืองอิสตันบูลในปัจจุบัน) ยังเป็นเอกราชต่อมาอีกหลายร้อยปีจนกระทั่งพ่ายแพ้แก่อาณาจักรออตโตมาน ผู้เขียนเสนอว่าเราอาจมองว่าอาณาโรมันยังอยู่ก็ได้ แต่อยู่ในรูปอื่น เช่น ตัวอักษร วรรณคดี หลักกฎหมายและสถาปัตยกรรม ผู้ที่มองว่ามันล่มสลายแยกสาเหตุออกได้เป็นสองด้านคือ ด้านปัจจัยภายในซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากจักรพรรดิที่ไร้ความสามารถ ความร่อยหรอของทรัพยากรที่ต้องนำมาใช้เพื่อการบริโภคและก่อสร้างสิ่งต่างๆที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ และความเสื่อมโทรมทางสังคม ปัจจัยภายในก่อให้เกิดความอ่อนแอและเปิดโอกาสให้ศัตรูรุกราน
ผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาชื่นชมอุดมการณ์ของชาวโรมันโดยเฉพาะในตอนที่อาณาจักรโรมันยังเป็นสาธารณรัฐ อุดมการณ์นั้นเป็นทั้งรูปแบบของการปกครองในแนวสาธารณรัฐที่ให้ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงและมีรัฐสภา และรูปของพฤติกรรมส่วนบุคคลที่มีส่วนประกอบหลายอย่าง เช่น มีวินัย รักครอบครัว เสียสละเพื่อรับใช้ประเทศชาติ จอร์จ วอชิงตัน ซึ่งรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ยึดอุดมการณ์ของโรมันอย่างเหนียวแน่นโดยไม่ยอมรับตำแหน่งกษัตริย์และเป็นประธานาธิบดีอยู่ 2 สมัยก็สละตำแหน่งเพื่อออกไปเป็นประชาชนธรรมดา
ผู้เขียนชี้ว่า อุดมการณ์ของชาวโรมันเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อ 68 ปีก่อนคริสตกาล ตอนนั้นเมืองท่าสำคัญถูกโจรสลัดโจมตี สร้างความตื่นตระหนกให้ชาวโรมันอย่างยิ่ง เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ชาวโรมันยกอำนาจให้บุคคลคนเดียวคือ ปอมเปอี ซึ่งสามารถทำอะไรได้ตามใจชอบในนามของการป้องกันประเทศ อำนาจเผด็จการนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมทางอุดมการณ์ของชาวโรมันซึ่งต่อมาก็ยกเลิกการปกครองแบบสาธารณรัฐ แม้ผู้เขียนจะไม่ได้เอ่ยถึงเหตุการณ์วันที่ 11 กันยาน 2544 โดยตรง แต่ในบริบทที่เขาเขียน เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ชาวอเมริกันยกอำนาจแนวเผด็จการให้กับฝ่ายบริหารอันมีประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เป็นผู้นำ รัฐบาลนี้มีการกระทำหลายอย่างซึ่งต่างจากมาตรฐานของผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การลิดรอนสิทธิของประชาชน หรือการประกาศสงครามโดยปราศจากความเห็นชอบของรัฐสภา
ท่ามกลางความรุ่งเรืองและความมีอำนาจที่กล่าวถึงนี้มีวิวัฒนาการอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นแก่เมืองหลวงของอาณาจักรโรมันและของสหรัฐอเมริกา วิวัฒนาการนั้นมีชื่อเรียกเชิงขบขันว่าเป็น “การเฝ้ามองสะดือตัวเอง” นั่นคือ ผู้มีอำนาจซึ่งรวมหัวกันอยู่ในตัวเมืองหลวงถือว่าเมืองนั้นเป็นศูนย์กลางของทุกอย่างในพิภพและสิ่งที่พวกเขาคิดและทำคือสิ่งที่ถูกต้อง เมืองหลวงมิได้ผลิตอะไร แต่กลับใช้ทรัพยากรจำนวนมหาศาล สิ่งที่เมืองหลวงทำได้ดีคือ การเก็บภาษีจากส่วนอื่นของประเทศ นอกจากนั้นกรุงวอชิงตันยังเก็บอีกอย่างหนึ่งซึ่งกรุงโรมไม่ได้เก็บ นั่นคือ ข้อมูลส่วนตัวของประชาชน ซึ่งเป็นการละเมิดฐานทางอุดมการณ์ของเสรีภาพ การเฝ้ามองสะดือตัวเองทำให้คนในเมืองหลวงไม่เข้าใจความเป็นไปของโลกภายนอกซึ่งนำไปสู่ความผิดพลาดทางนโยบาย
บทที่ 2 เป็นการเปรียบเทียบด้านแสนยานุภาพของเอมริกาและอาณาจักรโรมัน นักประวัติศาสตร์มองว่าอเมริกามีกำลังทหารและฐานทัพกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกเช่นเดียวกับอาณาจักรโรมันที่มีทหารและฐานทัพอยู่ในทวีปยุโรปไปจนถึงเอเซีย เมื่อเปรียบเทียบกับกองทัพของประเทศอื่นในสมัยเดียวกัน กองทัพอเมริกันเหนือชั้นกว่ากองทัพอื่นแบบเทียบกันไม่ติด เช่นเดียวกับกองทัพโรมันซึ่งเหนือชั้นกว่าใครทั้งหมดเมื่อสองพันปีที่แล้ว
ผู้เขียนมองว่า กองทัพอเมริกันและกองทัพโรมันมีความคล้ายกัน 2 ด้านคือ ความสามารถในการส่งกำลังบำรุงและการฝึก ฐานทัพอเมริกากระจัดกระจายกันอยู่ทั่วทุกมุมโลกและพร้อมที่จะออกรบเสมอ นอกจากนั้นยังมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วอีกจำนวนหนึ่งซึ่งสามารถออกไปปฏิบัติการทั่วโลกได้ภายในเวลา 18 ชั่วโมง แสนยานุภาพเหล่านี้ทำอะไรไม่ได้หากไม่มีระบบส่งกำลังบำรุงที่มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม ทั้งที่ใช้เทคโนโลยีแบบเก่า แต่อาณาจักรโรมันก็สามารถผลิตและส่งทุกอย่างที่จำเป็นได้ตามที่ต้องการเพราะความสามารถในการสร้างโครงข่ายของถนนและท่าเรือเพื่อเชื่อมต่อทางลำเลียงไว้ทั่วอาณาจักร ส่วนในด้านการฝึกนั้นเป็นที่ยอมรับกันว่ากองทัพอเมริกันและกองทัพโรมันมีการฝึกเหนือชั้นกว่ากองทัพอื่นในยุคของตน
ทั้งที่มีกองทัพขนาดใหญ่และศักยภาพเหนือกองทัพของผู้อื่น แต่มหาอำนาจทั้งสองก็ยังพบว่ามันยังไม่พอสำหรับภารกิจของตน ฉะนั้นทั้งสองจึงต้องพยายามเพิ่มกำลังพล อเมริกาสามารถใช้เทคโนโลยีแทนกำลังคนได้ระดับหนึ่ง ส่วนอาณาจักรโรมันต้องเพิ่มจำนวนคนเท่านั้น การกระทำเช่นนั้นสร้างปัญหาร้ายแรงตามมาให้กับอเมริกาและอาณาจักรโรมัน นั่นคือ ค่าใช้จ่ายที่สูงมากจนสร้างผลกระทบต่อส่วนอื่นของสังคมเพราะค่าใช้จ่ายนั้นต้องมาจากเงินสำหรับกิจการอื่นของรัฐ เช่น การบริการสังคม หรือไม่ก็ได้มาจากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นการใช้จ่ายยังมักรั่วไหลไปเข้ากระเป๋าของผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับศูนย์ของอำนาจ สิ่งเหล่านี้สร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนเพิ่มขึ้น
เนื่องจากชาวอเมริกันหลีกเลี่ยงการเป็นทหารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และกองทัพโรมันต้องการทหารเพิ่มขึ้น ทั้งสองกองทัพจึงเผชิญกับปัญหาการขาดกำลังคน และแก้ปัญหาด้วยการเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้าร่วมโดยสัญญาว่าจะให้สัญชาติแก่พวกเขา วิธีนี้แก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็แก้ไม่ได้ทั้งหมดโดยเฉพาะในด้านการฝึกกำลังคนในระดับผู้บัญชาการ ดังที่อ้างถึงแล้ว กองทัพที่มีชาวต่างชาติซึ่งชาวโรมันถือว่าเป็นคนป่าเป็นแม่ทัพนี่เองที่โค่นอาณาจักรโรมันลง ฉะนั้นจึงมีคนมองว่าอเมริกาก็กำลังจะเดินไปตามทางนั้นด้วย อย่างไรก็ตามผู้เขียนมองว่า “คนป่า” ที่กำลังสร้างปัญหาให้กับอเมริกาอาจไม่ใช่ผู้ที่ถือกำเนิดในต่างถิ่น หากเป็นผู้ที่เกิดในแผ่นดินอเมริกา ทั้งนี้เพราะวิวัฒนาการสองด้านด้วยกันคือ ด้านแรก ชาวอเมริกันผ่านการเป็นทหารน้อยลงจึงแตกต่างกับชาวอเมริกันในสมัยก่อนซึ่งมีวินัยสูง ตรงไปตรงมา เคร่งศาสนาและยึดอุดมการณ์แนวอนุรักษ์นิยม ส่วนชาวอเมริกันในยุคปัจจุบันหย่อนยานทั้งในด้านร่างกายและจิตวิญญาณ ด้านที่สอง กองทัพอเมริกาต้องลดมาตรฐานของทหารใหม่เพื่อให้ได้กำลังคนครบตามจำนวนพร้อมกับแบ่งภารกิจส่วนหนึ่งให้บริษัทเอกชนทำ การกระทำเหล่านี้จะสร้างความอ่อนแอให้แก่กองทัพ
บทที่ 3 พูดถึงวิวัฒนาการและผลกระทบของระบบอุปถัมภ์ และการแปรรูปกิจการของรัฐไปให้เอกชน ผู้เขียนอ้างถึงหลักฐานต่างๆที่บ่งชี้ว่า สังคมโรมันวางอยู่บนฐานอันกว้างใหญ่ของระบบอุปถัมภ์ ระบบนี้เปลี่ยนไปเรื่อยๆจนนักประวัติศาสตร์บางคนมองว่า ถ้าจะค้นหาปัจจัยที่ทำให้สังคมโรมันเสื่อมโทรมในตอนสุดท้ายไม่ต้องไปหาที่ไหนมาก หากให้ดูวิวัฒนาการของระบบอุปถัมภ์
สังคมโรมันประกอบด้วยชนชั้นผู้นำจำนวนน้อยกลุ่มหนึ่งซึ่งเชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายในระดับสูง ชนชั้นผู้นำแต่ละคนมีผู้อยู่ในความอุปถัมภ์กลุ่มหนึ่งซึ่งมีโครงข่ายเชื่อมต่อกันไปเป็นทอดๆ ประชาชนเหล่านี้รวมกันเป็นฐานทางการเมืองของผู้นำแต่ละคน ภายในโครงข่ายนี้ผู้ที่มีตำแหน่งสูงทางสังคมมักส่งจดหมายไปถึงผู้ที่ตนรู้จักเพื่อแนะนำ หรือฝากตัวให้แก่คนของตน นั่นคือที่มาของ “จดหมายแนะนำ” (Letter of Recommendation) ที่ใช้กันอยู่ในสมัยนี้ ในตอนต้นๆของอาณาจักรโรมัน การเขียนจดหมายแนะนำทำกันด้วยความซื่อตรงและสมัครใจโดยไม่มีค่าตอบแทน แต่ระบบนี้ค่อยๆเปลี่ยนไปเป็นระบบต่างตอบแทนซึ่งเต็มไปด้วยความฉ้อฉล
ผู้เขียนเล่าถึงวิวัฒนาการดังกล่าวผ่านการเปลี่ยนความหมายของคำว่า “suffragium” ซึ่งเป็นต้นตอของคำว่า “suffrage” และมีความหมายว่าใบลงคะแนนเสียง ความหมายของมันเปลี่ยนไปเป็นการใช้ระบบอุปถัมภ์เพื่อผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจซึ่งสามารถควบคุมเสียงได้เป็นจำนวนมาก ในตอนต้นๆ การใช้คะแนนเสียงเช่นนี้ไม่มีเงินหรือการต่างตอบแทนกันเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เมื่อเวลาผ่านไป มันค่อยๆกลายเป็นระบบการซื้อสิทธิขายเสียงและการใช้เงินเพื่อซื้อทุกอย่างในสังคม ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งในระบบราชการ การให้สินบนแก่เจ้าพนักงานของรัฐ การประเมินภาษี หรือแม้แต่การจัดที่พักให้ทหาร ในกระบวนการนี้มักมีผู้มีเส้นมีสายทำตัวเป็นนายหน้าซึ่งผู้เขียนเรียกว่า “fixers” เป็นผู้วิ่งเต้นแทนผู้รับประโยชน์และได้เงินเป็นค่าตอบแทน ระบบนี้ค่อยๆถ่ายโอนหน้าที่ของรัฐไปให้เอกชนและเป็นต้นเหตุของความฉ้อฉลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่ความเสื่อมโทรมของสังคมซึ่งเปิดโอกาสให้ศัตรูรุกราน
ผู้เขียนมองว่าสังคมอเมริกันก็กำลังเริ่มเดินไปในแนวนั้นด้วย เพราะนักการเมืองอาศัยเครือข่ายของผู้สนับสนุนที่บริจาคเงินจำนวนมากในกระบวนการเลือกตั้ง เมื่อได้ตำแหน่งทางการเมืองแล้ว นักการเมืองก็จะตอบแทนด้วยมาตรการต่างๆซึ่งเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้สนับสนุน รวมทั้งการแต่งตั้งพวกเขาให้เป็นพนักงานของรัฐด้วย การเข้ามาทำงานของรัฐเป็นฐานของการสร้างเครือข่ายและระบบเส้นสายอย่างกว้างขวางในสังคมของชนชั้นผู้นำ เมื่อพ้นวาระคนเหล่านั้นก็จะทำตัวเป็นนายหน้าซึ่งในสมัยนี้มักเรียกว่า “lobbyists” เพื่อขายบริการให้กับผู้ต้องการได้อะไรสักอย่างจากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นโครงการซึ่งไม่ต้องประกวดราคา หน้าที่ของรัฐ เช่น ด้านการทหาร ด้านการรักษาความปลอดภัยและด้านการกังขังผู้กระทำผิด หรือ การสอดไส้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ซื้อบริการ
กระบวนการนี้บางทีก็เรียกว่า “การแปรรูป” (privatization) บางทีก็เรียกว่า “การขายสัมปทาน” (franchising) อำนาจและหน้าที่ของรัฐให้ไปอยู่ในมือของผู้แสวงหาประโยชน์ มันมีความคล้ายกับการแบ่งงานให้ผู้อื่นทำในภาคเอกชนที่เรียกว่า “outsourcing” ฉะนั้นหากดูกันตามตัวเลขจะเห็นว่าอเมริกามีพนักงานของรัฐเพียงราว 2 ล้านคน แต่ถ้าหากรวมตัวเลขของเอกชนที่รับจ้างทำงานของรัฐตามโครงการและสัญญาต่างๆ รัฐบาลกลางมีลูกจ้างถึง 12-13 ล้านคน อย่างไรก็ตามพนักเอกชนเหล่านี้มักได้รับการยกเว้นจากระเบียบข้อบังคับของพนักงานรัฐ หรือถ้าไม่ได้รับการยกเว้นโดยตรงก็โดยผ่านการจ้างบริษัทต่างประเทศอีกทอดหนึ่ง ฉะนั้นงานก่อสร้างต่างๆในอิรักจึงเต็มไปด้วยความฉ้อฉลแต่ไม่ผิดกฎหมายสหรัฐ แม้แต่การทรมานนักโทษต่างชาติที่สหรัฐฯ จับได้ในนามของสงครามกับผู้ก่อการร้ายก็ยกให้ต่างชาติทำเพื่อพยายามเลี่ยงกฎหมายอเมริกัน กระบวนการนี้มีความฉ้อฉลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆไม่ต่างกับในสมัยโรมัน
บทที่ 4 พูดถึงผลพวงอันเกิดจากชาวโรมันและชาวอเมริกันมองผู้อื่นและผู้อื่นมองชาวโรมันและชาวอเมริกัน ตอน 2 ของบทคัดย่อนี้ ได้พูดถึงเรื่องอาณาจักโรมันล่มสลายหลังจากพ่ายแพ้แก่กองทัพของ “คนป่า” แล้ว แต่การพ่ายแพ้ครั้งนั้นไม่ใช่การพ่ายแพ้ครั้งแรกของกองทัพโรมันขนาดใหญ่ที่ยาตราออกไปเพื่อจะปราบผู้ที่ชาวโรมันคิดว่าป่าเถื่อนและด้อยกว่าตน ผู้เขียนเล่าว่าก่อนนั้น ในดินแดนที่เป็นประเทศเยอรมนีในปัจจุบัน กองทัพโรมันขนาดใหญ่ถูกทำลายลงอย่างราบคาบภายในเวลาไม่กี่วันวันเพราะคิดว่าตนเองเหนือชั้นกว่าข้าศึกและไม่พยายามทำความเข้าใจในสภาพภูมิประเทศและกำลังของข้าศึกอย่างถ่องแท้ ในความพ่ายแพ้ครั้งนั้นกองทัพโรมันสูญกำลังพลไปราว 30,000 คน แต่ไม่ใช่การพ่ายแพ้ครั้งเดียวที่มีต้นเหตุมาจาการดูแคลนผู้อื่นและความโอหังซึ่งก่อให้เกิดความเกลียดชังต่อชาวโรมันในหมู่ของชนชาติอื่น ความเกลียดชังนั้นเป็นพลังใจให้แก่ข้าศึก ผู้เขียนนำความพ่ายแพ้ในแนวเดียวกันของกองทัพโรมันมาเล่าอีกหลายเรื่อง แต่ชาวโรมันไม่เคยเรียนรู้เพราะมัวแต่หลงดูแต่สะดือตัวเองดังที่กล่าวแล้ว
ผู้เขียนเห็นว่าอเมริกาถูกมองว่าเป็นเช่นเดียวกับชาวโรมันมาเป็นเวลาราว 50 กว่าปีแล้ว แม้จะมีแนวโน้มที่จะหลงดูแต่สะดือตัวเองเช่นเดียวกับชาวโรมัน แต่ชาวอเมริกันก็มักไม่ค่อยรู้จักตัวเอง ผู้เขียนยกตัวอย่างการศึกษาที่ยืนยันครั้งแล้วครั้งเล่าว่า วัยรุ่นอเมริกันรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญๆในประวัติศาสตร์ของตนน้อยกว่าวัยรุ่นจากต่างประเทศ เช่น เรื่องสงครามกลางเมืองและเรื่องนโยบายเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ แม้แต่เรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันซึ่งชาวอเมริกันถูกประณามทั่วทั้งโลก ชาวอเมริกันก็รู้น้อยกว่าชาวยุโรป เช่น เรื่องการกักขังเชลยศึกที่จับได้ในสนามรบอัฟกานิสถานไว้ในคุกบนเกาะคิวบา และการทำโทษเชลยศึกแบบวิตถารในอิรัก
แม้การรู้จักตัวเองจะมีน้อย แต่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ยังรู้จักโลกภายนอกน้อยกว่านั้นเสียอีก ผู้เขียนนำผลการศึกษามาเสนอ เช่น นักเรียนมัธยม 6 ราว 25% ไม่รู้แม้แต่ชื่อของมหาสมุทรที่อยู่ระหว่างอเมริกากับเอเซีย กว่า 75% ของชาวอเมริกันอายุ 18-24 ปีชี้ไม่ได้ว่าอิรักและอิหร่านอยู่ตรงไหนในแผนที่โลก การขาดความสนใจในโลกภายนอกส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะชาวอเมริกันคิดว่าพวกตนเป็นชนชั้นพิเศษเช่นเดียวกับชาวโรมัน การคิดเช่นนี้นำไปสู่แนวโน้มที่จะตีตัวออกห่างจากโลกภายนอกเสมอ สหรัฐฯจึงไม่ยอมเข้าร่วมองค์การสันนิบาติแห่งชาติหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 และมักประณามองค์การสหประชาชาติด้วยถ้อยคำที่บ่งบอกถึงการดูแคลน นอกจากนั้นชาวอเมริกันมักจะสั่งสอนชาวโลกเกี่ยวกับเรื่องคุณธรรมและความเหนือชั้นของแนวคิดของตน ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขายังต้องการให้ผู้อื่นยกยออีกด้วย เมื่อไปอยู่ที่ไหนคนอเมริกันก็มักไม่พยายามเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมของท้องถิ่น เพราะคิดว่าภาษาและวัฒนธรรมของตนเหนือกว่าและผู้อื่นควรจะต้องเรียนรู้ ผู้เขียนชี้ว่าในเขตที่ชาวอเมริกันไปตั้งฐานในกรุงแบกแดด แทบไม่มีชาวอเมริกันที่พูดภาษาอาหรับได้
พฤติกรรมแบบโอหังเหล่านั้นทำให้ชาวอเมริกันเป็นที่เกลียดชังของชาวโลก ตอนนี้ชาวอเมริกันจึงเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มต่างๆ แม้กระทั่งในกลุ่มพันธมิตรด้วยกันเองก็มีผู้ไม่ชอบชาวอเมริกันมากขึ้น โดยเฉพาะต่อชนชั้นผู้นำในกลุ่มของจอร์จ ดับเบิลยู บุช ตอนนี้เวลาออกไปไหนในต่างประเทศรวมทั้งในยุโรป ชาวอเมริกันต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ผู้เขียนชี้ว่าในการแข่งขันฟุตบอลโลกในเยอรมนีเมื่อปี 2549 รถที่ขนส่งนักฟุตบอลอเมริกันเป็นเพียงคันเดียวที่ไม่มีตราบ่งบอกถึงสัญชาติของผู้เล่น ทั้งที่ความจริงเป็นดังที่เห็นอยู่มานาน แต่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทำให้พวกเขามองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงตัวเอง
บทที่ 5 พูดถึงเขตแดน เริ่มด้วยการบรรยายถึงกำแพงเป็นแนวยาวตลอดคอคอดของเกาะอังกฤษซึ่งอาณาจักรโรมันสร้างขึ้นเพื่อชี้บ่งเขตแดนของตน ผู้เขียนเสนอว่ากำแพงนั้นเป็นเครื่องกั้นพรมแดนเช่นเดียวกับกำแพงที่สหรัฐอเมริกาสร้างขึ้นเพื่อกั้นเขตแดนของตนในส่วนที่เชื่อมต่อกับเม็กซิโก อย่างไรก็ตามคำว่า “เขตแดน” ไม่ใช่สิ่งที่เข้าใจได้ง่ายนัก มันเป็นเสมือนแนวคิดอย่างหนึ่งซึ่งอาจหมายถึงเครื่องหมายบ่งบอกขอบเขตทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางเชื้อชาติ ทางศาสนา หรือแม้แต่ทางจิตวิทยา ฉะนั้นความหมายของมันจึงขึ้นอยู่กับบริบทและมักก่อให้เกิดการถกเถียงกันว่ามันคืออะไรแน่ บนพื้นฐานของการแบ่งเขตแดนตั้งแต่ครั้งสมัยโรมันมาจนถึงปัจจุบันนี้
ผู้มีความเห็นอาจแยกได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกมองว่ามันเป็นการบ่งบอกความต้องการของจักรพรรดิโรมันว่าอาณาจักรนั้นจะไม่แผ่ขยายต่อไปหลังจากได้ขยายมาหลายร้อยปี แนวคิดนี้มีอยู่ในสังคมอเมริกันมาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันด้วยเพราะจะเห็นว่าประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน เตือนชาวอเมริกันเมื่อตอนก้าวลงจากตำแหน่งว่า อย่ามุ่งขยายขอบเขตต่อไปโดยไม่รู้จักจบสิ้นและแนวคิดนี้ก็มีอยู่ในคำเตือนของประธานาธิบดีดไวท์ ไอเซนฮาวร์ เมื่อตอนก้าวลงจากตำแหน่งเมื่อปี 2504 เช่นกัน ตอนนี้ชาวอเมริกันถือปฏิบัติโดยยึดหลักที่ว่า เขตแดนต้องแจ้งชัดและคงที่
กลุ่มที่ 2 เห็นว่าชาวโรมันไม่เคยคิดที่จะหยุดขยายอาณาอาณาจักร หากปักหลักเขตหรือสร้างกำแพงขึ้นมาในแต่ละแห่งเพื่อจุดมุ่งหมายต่างกัน ในบางกรณีหลักเขตมีไว้เพื่อชี้ว่าความสามารถในการส่งกำลังบำรุงกองทัพทำได้ไกลที่สุดแค่นั้น แต่ในบางกรณีหลักเขตมีไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายชี้บ่งขอบเขตทางการเมือง ผู้เขียนเห็นว่ากลุ่มนี้น่าจะมีน้ำหนักมากกว่า เพราะอาณาจักรโรมันไม่เคยหยุดขยายเมื่อได้โอกาส ส่วนสหรัฐอเมริกาเองก็ไม่เคยหยุดความพยายามที่จะเผยแพร่แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยและตลาดเสรีทั้งที่เขตแดนทางภูมิศาสตร์ยังคงเดิม และที่สำคัญที่สุดก็คือ แนวชายแดนเป็นเขตที่ไม่มีการหยุดอยู่นิ่งๆ หากเปลี่ยนไปตลอดเวลาอันเนื่องมาจากการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ การเดินทางไปมาของประชาชนของทั้งสองฟาก และการซึมซับเอาวัฒนธรรมของกันและกัน
ประวัติศาสตร์มักพูดถึงการแบ่งแยกระหว่างชาวโรมันและฝ่ายที่มักเรียกกันว่า “คนป่า” จริงอยู่สองฝ่ายรบราฆ่าฟันกันเป็นระยะๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าอาณาจักรโรมันจะกีดกันฝ่ายคนป่าตลอดไปในทุกกรณี การค้าขายข้ามเขตแดนเกิดขึ้นตลอดเวลา นอกจากนั้นชาวโรมันยังเปิดโอกาสให้ฝ่ายคนป่าเข้าไปตั้งหลักแหล่งในอาณาจักรของตนได้ในบางกรณีและการเปิดโอกาสเช่นนี้เองที่นำไปสู่ความแตกสลายของอาณาจักรโรมันในที่สุดดังที่กล่าวถึงแล้ว
เขตแดนของสหรัฐอเมริกาก็มีลักษณะเดียวกัน การค้าขายเกิดขึ้นตลอดเวลาแม้แต่ในส่วนที่มีกำแพงสูงกั้นอยู่ การลงทุนก็เช่นเดียวกัน ในแต่ละวันคนงานเม็กซิกันจำนวนมากจะเข้าไปทำงานในสหรัฐฯ ในขณะเดียวกันชาวอเมริกันก็เดินทางไปทำฟันในเม็กซิโกเพราะค่าบริการถูกกว่า สหรัฐอเมริกาเปิดโอกาสให้ชาวโลกเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ตลอดเวลา พวกที่เข้าไปมิได้เป็นฝ่ายรับวัฒนธรรมอเมริกันแต่เพียงฝ่ายเดียว หากนำวัฒนธรรมของตนไปเผยแพร่และมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมอเมริกันด้วย การแต่งงานข้ามเชื้อชาติกันอย่างกว้างขวาง และการผสมกันทางด้านวัฒนธรรมก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆขึ้นมาตลอดเวลา ผู้เขียนยกตัวอย่างมาเสนอว่า รายการอาหารตามร้านมักผสมกันจนแยกไม่ออกว่ามันคืออะไร เช่น อาหารเม็กซิกันชนิดหนึ่งซึ่งผสมกับอาหารไทยแล้วเรียกว่า “Thai fajitas” ยิ่งเป็นในด้านของการป้องกันประเทศ เขตแดนทางภูมิศาสตร์ของอเมริกาในปัจจุบันนี้ยิ่งแทบไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะสหรัฐอเมริกามีฐานทัพอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะกองทัพเรือที่เคลื่อนย้ายไปตามความจำเป็นเพื่อใช้พลังทางทหารและเพื่อการแสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพอันน่ายำเกรง การผสมผสานกันอย่างแยกไม่ออกเช่นนี้มีเกิดขึ้นในอาณาจักรโรมมันเช่นกัน ฉะนั้นจึงอาจถามได้ว่าอาณาจักรโรมันได้แตกสลายไปจริงๆหรือ ผู้เขียนเสนอว่าศาสนาของอาณาจักรโรมันซึ่งได้แก่ศาสนาคริสต์ยังยืนอยู่อย่างมั่นคง ภาษาของชาวโรมันเป็นรากภาษาของชาวโลกปัจจุบันอย่างแพร่หลาย ผู้ที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ในแผ่นดินของอาณาจักรโรมันยังดื่มเหล่าองุ่นเช่นเดิม สถาปัตยกรรมของชาวโรมัน พิธีการและเมืองต่างๆก็ยังอยู่ และระบบกฎหมายของชาวโรมันก็ยังอยู่ ด้วยความจริงเหล่านี้จึงมีปราชญ์บางคนเสนอว่า อาณาจักรโรมันมิได้แตกสลายไปดังที่ใครๆคิด หากยังคงอยู่ในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งต่างกับครั้งก่อนเท่านั้นเอง
ในบทส่งท้าย ผู้เขียนทบทวนบางส่วนของเนื้อหาที่กล่าวถึงแล้วและชี้ว่า ทุกอาณาจักรอยากอยู่ค้ำฟ้า แต่เท่าที่ผ่านมาไม่มีใครอยู่ได้ในรูปเดิม นั่นคือ ความล่มสลายมิได้หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างในอาณาจักรเหล่านั้นสูญหายไป ส่วนใหญ่ยังคงอยู่แต่อาจปรับเปลี่ยนไปในรูปใดรูปหนึ่งเท่านั้น ตัวอย่างของอาณาจักรที่ล่มสลายล่าสุดได้แก่ สหภาพโซเวียต จะเห็นว่าส่วนประกอบต่างๆยังอยู่ แม้กระทั่งส่วนต่างๆของอาณาจักรที่รุ่งเรืองก่อนอาณาจักรโรมัน เช่น เปอร์เซียและกรีซ ก็ยังอยู่และหาดูได้ไม่ยาก มองจากแง่นี้อเมริกาในลักษณะปัจจุบันอาจแตกสลาย แต่ส่วนประกอบส่วนใหญ่ก็จะคงอยู่ ผู้เขียนเน้นย้ำอีกว่าอเมริกาอาจมีส่วนคล้ายอาณาจักรโรมันในหลายแง่ แต่ความต่างกันนั้นสำคัญยิ่งโดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับระบบสังคมและการเมืองของอเมริกาที่มีความยืดหยุ่นสูงและปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา
ในอนาคต อเมริกาอาจวิวัฒน์ไปได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับว่าชาวอเมริกันจะเลือกทำอะไรในตอนนี้ บนฐานของแนวความคิดที่ว่า ความแข็งแกร่งของสังคมขึ้นอยู่กับความอยู่ดีกินดีของประชาชนซึ่งประกอบด้วยการมีโอกาสเบื้องต้น มีความเป็นธรรม มีจิตวิญญาณและความมั่นใจในระบบของตน
ผู้เขียนมองว่าสหรัฐอเมริกาต้องพยายามทำสิ่งเหล่านี้ทั้งในปัจจุบันและต่อไปในอนาคตเพื่อให้สังคมอเมริกันคงอยู่ต่อไป คือ (1) พยายามทำความเข้าใจและยอมรับโลกภายนอกมากขึ้น (2) เชื่อมั่นในรัฐบาลมากขึ้นโดยเฉพาะหน้าที่บางอย่างจะต้องสงวนไว้ให้รัฐบาลทำเท่านั้น (3) เสริมสร้างสถาบันเพื่อการสนับสนุนการปรับตัวให้กลมกลืนกันของผู้ที่อยู่มาก่อนและผู้ที่อพยพเข้ามาใหม่ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และ (4) ลดขนาดของกองทัพลงเนื่องจากกองทัพใช้ทรัพยากรมากจนกระทบต่อส่วนอื่นของสังคม
ในตอนสุดท้าย ผู้เขียนพยายามตอบคำถามตามชื่อของหนังสือที่ว่า “สหรัฐอเมริกาจะเหมือนอาณาจักรโรมันใช่ไหม?” โดยการไม่ฟันธง เขาเสนอว่า ในหลายๆด้านชาวอเมริกันกำลังสร้างความผิดพลาดแบบเดียวกับชาวโรมัน แต่ระบบอเมริกันมียาขนานแท้ไว้สำหรับแก้ความผิดพลาดอยู่แล้ว นั่นคือ ชาวอเมริกันเชื่อมั่นว่าระบบของตนปรับปรุงได้ และยังพยายามปรับปรุงให้มันดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ข้อคิดเห็น – เรื่องเกี่ยวกับอนาคตของสหรัฐอเมริกาดูจะเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวาง และกำลังถูกนำมาวิเคราะห์ในหลายแนว เล่มนี้ค่อนข้างแคบเมื่อเทียบกับ The Clash of Civilizations ของ Samuel Huntington ซึ่งคอลัมน์นี้นำมาเสนอแล้ว และมีรวมอยู่ใน “กะลาภิวัตน์” และ Day of Empire ของ Amy Chua ซึ่งเพิ่งพิมพ์ออกมาเมื่อปลายปี 2550 และคอลัมน์นี้จะนำมาเสนอในโอกาสหน้า เฉกเช่นเล่มอื่นๆ เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยข้อมูลที่น่ารู้มากมายแม้การนำเสนอจะค่อนข้างวกวนบ้างในบางตอนก็ตาม
การที่ผู้เขียนไม่ได้ฟันธงลงไปว่าสหรัฐอเมริกาจะล่มสลายเช่นอาณาจักรโรมันหรือไม่ อาจทำให้ผู้อ่านผิดหวังบ้าง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เขานำมาเสนอจะด้อยค่าลง ข้อเสนอของเขาในตอนสุดท้ายที่ให้ชาวอเมริกันปรับตัวน่าจะมีค่าที่สุดสำหรับชาวอเมริกันที่ต้องการมองดูตัวเองว่าเป็นอย่างไร และจะทำอย่างไรเพื่อปิดทางของความเสื่อมโทรมจนล่มสลาย การที่หนังสือขายดีคงบ่งชี้ว่า ชาวอเมริกันกำลังสนใจในเรื่องอนาคตของตน และอาจกำลังถกเถียงกันอย่างเข้มข้นและกว้างขวางว่าจะทำอย่างไรต่อไป.
Are We Rome? : ใครอยู่ได้คำฟ้า?
ดร.ไสว บุญมา
July 16, 2010