เรื่องการขายหุ้นนั้นเป็นศิลปะที่สำคัญอย่างหนึ่งของการลงทุนครับ ผมคิดว่าไม่มีสูตรตายตัว และการตัดสินใจขายนั้น ผมคิดว่ายากกว่าการตัดสินใจซื้อหลายเท่าครับ
.
การขายหุ้นที่เราลงทุนแต่ละตัว ไม่จำเป็นต้องคาดหวังว่าจะขายได้ราคาสูงสุดหรือใกล้เคียงกับราคาสูงสุดที่หุ้นตัวนั้นจะไปถึงครับ เพราะไม่มี VI ที่สามารถทำได้ทุกครั้งแน่นอน ( ถ้าเป็นเจ้ามืออาจจะพอเป็นไปได้บ้าง )
.
การคิดว่าหุ้นที่เราขายทุกตัวจะต้องลง หลังจากที่เราขายหรือเราจะต้องขายที่ peak นั้น จะทำให้เราเกิดความทุกข์ในการลงทุน ซึ่งเป็นความเครียดและส่งผลลบต่อร่างกายและจิตใจอย่างที่ไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ครับ
.
และไม่ต้องเสียดายประมาณว่า รู้งี้ถือต่อดีกว่า หรือ รู้งี้ซื้อเยอะกว่านี้ดีกว่า หรือ รู้งี้ . เพราะรู้อะไรไม่สู้รู้งี้หรอกนะครับ ( ยืมคำพูดพี่ Muffin มาครับ )
.
โดยทั่วไป ผมจะดูหุ้นในพอร์ตเป็นระยะๆ แล้วถามตัวเองว่า ณ ราคาหุ้นปัจจุบัน เราคิดว่าหุ้นตัวนี้ยังน่าสนใจในระยะยาวหรือไม่ หมายความว่า ถ้าไม่มีหุ้นตัวนี้อยู่เลยแล้วต้องซื้อราคานี้ ในระยะยาวจะสามารถให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจหรือไม่
.
ถ้าคำตอบคือใช่ แสดงว่าหุ้นตัวนั้นน่าถือต่อ ไม่สำคัญว่าเราจะได้กำไรมามากน้อยเท่าใด แต่ถ้าคำตอบคือ ไม่ใช่ แสดงว่าหุ้นตัวนั้นควรพิจารณาขาย เช่นกันครับ ไม่สำคัญว่าเราจะได้กำไรหรือขาดทุนมากน้อยก็ตาม
.
ดังนั้น เรื่องที่ว่าหุ้นตัวนั้นซื้อมาต้นทุนเท่าไหร่ ได้กำไรมาเท่าไหร่หรือกำลังขาดทุนอยู่เท่าไหร่ ผมจะพยายามไม่นำมาเป็นปัจจัยในการพิจารณาซื้อขายหุ้น แม้ว่ามันอาจจะขัดกับความรู้สึกของเราทุกคนก็ตาม มันก็เป็นเรื่องยาก แต่ผมคิดว่าถ้าทำได้จะทำให้เรามีการตัดสินใจในการขายหุ้นที่ดีขึ้นได้ครับ
.
เนื่องจากการขายหุ้นเป็นเรื่องที่ยากจะตัดสินใจ และการขายหุ้น ณ ราคาสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ดอกเบี้ยเงินฝาก 2% นั้น ก็เท่ากับว่าเรามีความเสี่ยงกับการหาหุ้นใหม่ๆในการลงทุน หรือที่ผมเคยเขียนในบทความประกอบงานสัมมนา Thaivi คือ reinvestment risk ยิ่งพอร์ตใหญ่ขึ้นความเสี่ยงดังกล่าวก็ยิ่งมาก
.
ดังนั้น ในระยะหลังๆผมจะพยายามหาหุ้นที่สามารถถือยาวๆได้ในระดับ 5-10 ปี และไม่จำเป็นจะต้องขายเล่นรอบเหมือนหุ้นบางกลุ่มที่ขึ้นลงตามตลาด เช่น ธนาคาร หลักทรัพย์ หุ้นวัฎจักรหรือหุ้นเก็งกำไรอื่นๆ
.
ในหนังสือด้านการลงทุนบางเล่มได้บอกว่า แม้ว่าเราจะเห็นว่าผลตอบแทนดัชนีดาวโจนส์จะสูงมากในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา คือ ให้ผลตอบแทนหลายสิบเท่า แต่เชื่อหรือไม่ว่าหากเราพลาดการถือหุ้นเต็มพอร์ตเพียงไม่กี่ปี ผลตอบแทนจะลดลงไปเกินครึ่ง เพราะบางปีดัชนีอาจจะปรับเพิ่มถึง 50-100% และแม้จะมีปรับฐานลงมาบ้างแต่ก็ไม่ลงกลับมาจุดเดิมอีกเลย ยกตัวอย่างหุ้นไทยก็ในช่วงปี 2546 ดังนั้น เรายากที่จะคาดเดาได้ถูกทุกครั้งว่าตลาดหุ้นในแต่ละปีจะเป็นอย่างไร
.
ดังนั้น การถือหุ้นเกือบเต็มพอร์ต ( ในช่วงดอกเบี้ยต่ำ 2-3% ) แบบนี้จึงเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่เสี่ยงเกินไปนักกับการลงทุนแบบ VI หากเราสามารถเลือกธุรกิจและหุ้นที่เหมาะสม และมีการกระจายความเสี่ยงในจำนวนหุ้นและประเภทอุตสาหกรรมที่เหมาะสม คือ ลงทุนในอุตสาหกรรมที่เรามีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง และจำนวนหุ้นไม่มากเกินไปที่จะติดตามข้อมูลไม่ไหว และไม่น้อยเกินไปจนทำให้การลงทุนมีความเสี่ยงกับปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้
.
หุ้นที่เราควรจะถือลงทุนสำหรับการลงทุนแบบ VI ควรจะเป็นหุ้นที่เราถือแล้วไม่ต้องเฝ้าตลาด แต่ถ้าจะดูราคาหุ้นแต่ละวันก็เป็นสิ่งที่ทำได้
.
มีคำถามว่า VI ตัวจริงต้องไม่ดูราคาหุ้นหรือไม่ ผมคิดว่าดูได้ไม่เสียหายอะไรถ้าไม่กระทบกระเทือนงานของเรา ราคาหุ้นอาจจะดูได้ระหว่างวันเป็นช่วงๆหากเรามีเวลา แต่ไม่จำเป็นว่าทุกครั้งที่ดูราคาหุ้นจะต้องมีการสั่งซื้อขาย บางครั้งการดูราคาหุ้นบ่อยๆ ในแง่ VI อาจจะเป็นการฝึกความอดทนต่อความผันผวนของตลาดและราคาหุ้นที่เราถือก็ยังได้ครับ หรือการดูราคาหุ้นก็เป็นการเพิ่มโอกาสการลงทุนในหุ้นบางตัวที่ราคาลดลงมาอย่างรวดเร็วด้วยปัจจัยบางอย่างแต่พื้นฐานไม่เปลี่ยน
.
แต่แน่นอนครับ การไม่ดูราคาหุ้นเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน ก็เป็นสิ่งที่ VI ก็ต้องทำได้เช่นกันครับ เพราะ VI บางท่านอาจจะมีภาระกิจในงานประจำที่ยุ่งมาก เช่น ไปอยู่แท่นขุดเจาะน้ำมัน หรือเป็นนักบินอวกาศ
.
ดังนั้น แม้ว่าการลงทุนทุกรูปแบบก็สามารถสร้างกำไรได้เหมือนกันหากมีความเชี่ยวชาญและมีวินัยการลงทุนที่ดีสำหรับการลงทุนแบบนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบ VI แบบดูเทคนิค ดู fund flow เพราะไม่มีแมวดำแมวขาวในโลกการลงทุน การลงทุนแบบ Buffet หรือ Soros ก็ทำเงินได้เหมือนกัน แต่ข้อดีของการเป็นนักลงทุนแบบ VI อย่างหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนแบบอื่นๆ คือ สามารถที่จะไม่ต้องปรับพอร์ตได้เป็นระยะเวลานานพอสมควรหากเราไม่มีเวลา
.
มีนักลงทุนอายุในวัยใกล้เกษียณคนหนึ่งที่ผันตัวจากการลงทุนแบบนั่งห้องค้าซื้อหุ้นตามคนอื่นๆ และไม่มีความรู้ทางกราฟเท่าที่ควร มาลงทุนโดยซื้อหุ้นตามผม เมื่อเวลาผ่านไปพอสมควร ผมได้ถามว่าตอนนี้ยังถือหุ้นอะไรอยู่บ้าง นักลงทุนท่านนั้นเลยบอกว่า ขายหุ้นไปหมด เพราะว่าต้องเดินทางไปเมืองนอกหลายสัปดาห์กลัวว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นระหว่างที่เค้าไม่อยู่เมืองไทยแล้วจะปรับพอร์ตไม่ทัน คือยังติดความคิดแบบตอนที่เล่นในห้องค้าอยู่ว่าต้องซื้อๆ ขายๆ บ่อยๆ
.
แต่เมื่อนักลงทุนท่านนั้นกลับมา ก็พบว่าหุ้นบางตัวที่ขายไปแล้วนั้นก็มีราคาสูงกว่าที่ราคาที่ขายไปแล้ว ซึ่งแน่นอนครับ นักลงทุนกว่า 90% ทำใจไม่ค่อยได้ที่จะซื้อหุ้นที่ขายไปแล้วในราคาแพงกว่าที่เดิม
.
ดังนั้น คำถามยอดฮิตของเพื่อนนักลงทุนที่ชอบขายหุ้นก่อนเวลาอันสมควรคือ แล้วหุ้น A B C ที่ขายไปแล้วมันจะลงมาอีกรึเปล่า? ซึ่งเป็นการหาคำตอบที่ผมลำบากใจจริงๆครับ หรือคำถามที่ว่า มีหุ้นตัวอื่นอีกมั้ย? มีหุ้นใหม่ๆอีกมั้ย? แน่นอนครับ การหาหุ้นที่น่าสนใจใหม่ๆนั้น คงไม่เหมือนแม่ไก่ที่ออกไข่ได้เกือบทุกวันครับ
.
ดังนั้น การลงทุนแบบ VI นั้นควรจะเลือกหุ้นที่สามารถถือได้ในเกือบทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศแล้วส่งผลมายังบ้านเราโดยที่เป็นระยะเวลาอันสั้น ที่ผ่านมาก็เช่น 911 ระเบิดที่ลอนดอน สงครามสหรัฐกับอิรัก หรือ sub prime
.
หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเราแต่ไม่ทำให้พื้นฐานหุ้นและเศรษฐกิจเปลี่ยนอย่างถาวร เช่น ซึนามิ ไข้หวัดนก เป็นต้น อย่างตอนที่มีระเบิดที่กรุงลอนดอนในปี 2547 นั้นวันที่มีระเบิดนั้นผมเดินทางถึงลอนดอนพอดี และนั่งดูราคาหุ้นตอนปิดตลาดลดลงเกือบทุกวัน แต่ท้ายสุดราคาหุ้นก็กลับมาได้เองเมื่อสถานการณ์เริ่มปกติ
.
ในปีนั้นก็มีนักลงทุนบางคนตกใจขายหุ้นที่ราคาเกือบจะต่ำสุดเพราะความตกใจ เพื่อนนักลงทุนมือใหม่ขี้ตกใจคนหนึ่งไม่สามารถโทรศัพท์ติดต่อผมไม่ได้ขณะผมอยู่ที่ลอนดอนก็ตัดสินใจขายขาดทุนหุ้นตัวหนึง ที่ถ้าถือถึงปัจจุบันก็ได้ 2 เท่ากว่าๆ เหตุผลหนึ่งที่ขายไปคงเพราะอาจจะคิดว่าผมจะเสียชีวิตไปแล้วจากเหตุการณ์ระเบิดไปเสียแล้วก็เป็นได้ครับ แต่ตอนนี้เพื่อนนักลงทุนท่านนี้ก็เป็นโรคตกใจน้อยลงแล้วและหมั่นเข้า course อบรม และอ่านหนังสือหาความรู้เพิ่มเติมเป็นระยะแล้วครับ
.
ขายหุ้นอย่างไรไม่ให้ช้ำใจ (1)
.
คเชนทร์ เบญจกุล (Invisible Hand)