ส่วนหนึ่งของงานลดโลกร้อนถวายพ่อ ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติแห่งการบรมราชาภิเษกปีที่ 60 และการเฉลิมพระชนมพรรษา กระทรวงพลังงาน คือ การปาฐกถาภายใต้หัวข้อ “Embracing Our Common Humanity” โดยวิทยากรพิเศษผู้มีชื่อเสียงระดับโลก “บิล คลินตัน” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ปัจจุบันกระโดดเข้ามาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเต็มตัว ด้วยการตั้งมูลนิธิ William J. Clinton Foundation ที่มีคณะทำงานทั่วโลกให้ความช่วยเหลือทั้งการระดมทุน ระบบการจัดการและการเผยแพร่ความรู้เพื่อต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา
“คลินตัน” มาเยือนไทยเป็นครั้งที่ 6 เท้าความว่า มาเหยียบแผ่นดินไทยครั้งแรกเพื่อร่วมเฉลิมฉลองวโรกาสครองราชย์ครบ 50 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปี 2539 หลังจากนั้นกลับมาอีกหลายครั้งเพื่อร่วมฟื้นฟูสภาพบ้านเมืองและจิตใจของประชาชนหลังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิซัดถล่มชายฝั่งอันดามัน และครั้งสุดท้ายคือเมื่อธันวาคม 2549 เพื่อร่วมดูแลรักษาป่าชายเลนที่เสียหายจากคลื่นยักษ์
เขาได้ย้อนถึงความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างไทย-สหรัฐ ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2339 ว่า ไทยนับเป็นมิตรที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคนี้ โดยหวังว่าพันธมิตรของ 2 ประเทศจะต่อเนื่องยาวนานต่อไปและขยายขอบเขตจากการค้าการลงทุน การทหาร และการศึกษาไปยังด้านการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย
##
เปลี่ยนโลกด้วยการเปลี่ยนความคิด
ต่อคำถามที่หลายฝ่ายซึ่งคัดค้านการแก้ไขปัญหาโลกร้อนหยิบยกขึ้นมาว่า ทำไมจึงต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เหตุใดเรื่องนี้จึงสำคัญยิ่งยวดจนต้องมีตารางการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมและดำเนินการอย่างแน่วแน่ เขาให้คำตอบว่า เป็นเพราะวิทยาศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นเรื่องแท้จริงและสามารถพิสูจน์ได้ แต่หลายองค์กรโดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีผลประโยชน์ก้อนโตยังไม่ยอมรับเรื่องนี้ ไม่เห็นความจำเป็นเร่งด่วนจนนำไปสู่ความล้มเหลวในการประชุมเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนที่โคเปนเฮเกนเมื่อปีกลาย
1 thought on “บิล คลินตัน ‘สร้างโลก-สร้างเศรษฐกิจยั่งยืน ไม่ใช่ทางเลือกแต่คือสิ่งต้องทำ’ : ประชาชาติธุรกิจ”