HR The Serie : Part 2 : HRD : พีรพงศ์ สุวรรณโภคิน

HRD หรือเรียกเต็มๆว่า “Human Resource Development” หรือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั่นเอง ซึ่งการพัฒนานั้น ยังรวมไปถึงการแก้ไข/ปรับปรุง(Improvement)อีกด้วย โดยการพัฒนา(Development) จะเป็นความหมายเชิงบวกในการพัฒนาจากสิ่งที่สามารถ/เป็นอยู่ ให้ดียิ่งขึ้นไปจากเดิม ส่วนการแก้ไข/ปรับปรุง(Improvement)นั้น จะเป็นความหมายเชิงลบซะมากกว่า เพราะจะหมายถึงการแก้ไขในส่วนที่ผิดพลาด

HRD นั้น สำหรับผู้เขียนแล้ว ถือว่าเป็นหนึ่งในสองส่วนจากภารกิจหลักของ HR ที่สำคัญที่สุด เนื่องด้วยหลังจากผ่านขั้นตอนของการคัดสรรบุคลากรเพื่อที่จะเข้ามาเป็นพนักงานขององค์กรแล้ว อย่างที่ได้กล่าวไป ณ บทความก่อนหน้า (HR The Serie : PART 1) ถึงปัญหาของการคัดสรรบุคลากร รวมไปถึงปัญหาของตัวพนักงานเองเมื่อได้รับการบรรจุเข้าเป็นพนักงานประจำแล้ว การจะนำบุคคลเหล่านั้นออกจากองค์กรเป็นเรื่องยาก จนถึงแทบที่จะเป็นไปไม่ได้หากบุคคลเหล่านั้นไม่ได้กระทำความผิดใดๆ ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดจึงตกมาเป็นการพัฒนาและแก้ไข/ปรับปรุงบุคคลเหล่านั้น

จะสังเกตได้จากการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน องค์กรที่รับเป็นที่ปรึกษา หรือให้บริการด้าน HRD โดยเฉพาะ ได้เกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก องค์กรเหล่านี้แม้จะไม่ได้มีชื่อเสียง หรือเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ประมาณว่าพูดชื่อแล้วร้องอ้อ..กัน แต่องค์กรเหล่านี้คือเงามืดที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จขององค์กรใหญ่ๆระดับประเทศและระดับสากลมานักต่อนัก

HRD ยังเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการสร้างผลการปฏิบัติงานที่ได้ประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลต่อองค์กร อันเป็นการลดต้นทุน เพิ่มผลกำไร รวมไปถึงการมีบุคลากรที่มากด้วยความสามารถและความรู้ใหม่ๆ เป็นฟันเฟืองแห่งการขับเคลื่อนนำพาองค์กรเพื่อบรรลุเป้าหมายและวิสัยทัศน์ หรือจะเรียกได้ว่าเป็นการ “มุ่งไปยังจุดสูงสุดตามวิสัยทัศน์ขององค์กร”

การพัฒนาบุคลากรหรือทรัพยากรมนุษย์นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะกระทำแต่เป็นเรื่องที่ “ต้องกระทำ” เพราะไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อหวังผลระยะสั้น-ระยะยาว ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญยิ่ง ปัจจุบันนี้ รูปแบบการพัฒนาทรัพยกรมนุษย์มีมากมายหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรม หรือการสัมนา เป็นต้น

กอปรกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมมหภาค ที่กำลังจะมีผลกระทบและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง และการประกอบอาชีพ ปัจจัยที่ว่านั้นคือ การรวมตัวกันจัดตั้ง “สหภาพอาเซียน” ซึ่งจะมีความคล้ายคลึงกับ “สหภาพยุโรป” โดยประเด็นที่จะเห็นได้ชัดเจนเลยคือการที่ ประชาคมชาวอาเซียนจะสามารถเดินทางประกอบอาชีพข้ามประเทศได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น และเป็นไปอย่างเสรีมากยิ่งขึ้น อาจจะเป็นการดีสำหรับการเปิดเสรีภาพด้านการประกอบอาชีพ เพราะจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะและประสบการณ์ใหม่ๆจากผู้คนหลากหลายชาติ ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและเกิดความรู้ใหม่ๆขึ้นมาได้

แต่…“ทุกอย่างล้วนเปรียบเสมือนดาบสองคม” มีได้ย่อมมีเสีย มีดีย่อมมีเลว หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไม ? เพราะแค่ข้อดีไม่กี่ข้อก็ทำให้เห็นภาพเส้นทางที่ก้าวไกลและสวยงามแล้ว

คำตอบนั้นง่ายมากครับว่า เพราะ “บุคลากรไทยยังไม่พร้อม” นั่นเอง ผมไม่ได้บอกว่าคนไทยไม่มีศักยภาพหรือด้อยความสามารถ แต่เรายังไม่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงระดับภูมิภาคในรูปแบบนี้

ผมจะยกตัวอย่างให้เห็นว่า ณ ปัจจุบันนี้ ประชาชนชาวสิงคโปร์เอง ได้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงแล้ว พวกเขาได้ศึกษารูปแบบของการเมือง,กฎหมาย,เศรษฐกิจ,วัฒนธรรมรวมไปถึงได้มองหาโอกาสประกอบอาชีพในประเทศไทยมาเป็นเวลานานก่อนหน้านี้ หรืออาจจะเห็นได้ใกล้ตัวและรวดเร็วยิ่งกว่านี้หน่อย ในเรื่องของนักศึกษาชาวลาวหันมาเรียนภาษาไทยกันมากขึ้น และนิยมที่จะมาศึกษาต่อพร้อมประกอบอาชีพในไทยหลังจากสำเร็จการศึกษา

ประเทศไทยเองยังมีทรัพยากรธรรมชาติอยู่อีกมากพอสมควร ประเทศไทยยังมีตลาดงานที่จะสามารถก้าวหน้าไปได้อีกไกล และยังรองรับไปถึงการเจริญเติบโตทางเทคโนโลยีได้อีกมาก ถ้าเทียบกับประเทศที่เจริญแล้วอย่างสิงคโปร์ที่อัตราการว่างงานนั้นต่ำมาก หรือจะเป็นประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว หรือกัมพูชา ที่อัตราการเติบโตและเจริญก้าวหน้ายังต่ำกว่าไทย(แม้อาจจะดูใกล้เคียงหรือมากกว่าไทยไปบ้าง ในบางโอกาสหรือบางผลการประเมิน)

ถ้าจะให้พูดแบบกระชับๆนั่นก็คือ เมื่อเกิดการรวมตัวกันเป็นสหภาพอาเซียน บุคลากรจำนวนมากจะไหลเข้ามาสู่ประเทศไทย ซึ่งถ้ามองจากสายตาของประชาชนชาวไทยเอง ตลาดงานของเรานับวันก็ยิ่งจะหดตัวลงๆ ประชาชนที่ยังว่างงานยังมีอยู่อีกมาก “แต่ยังจะต้องเผชิญกับการเข้ามาแย่งอาชีพของชาวต่างชาติที่มีความพร้อม และมีความสามารถที่สูงกว่าอีก” ดั่งเช่น ปัญหาที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญอยู่ ณ เวลานี้

อาจจะไม่ถูกต้องและเหมาะสมนักที่จะใช้คำว่า “ถึงเวลาแล้ว” เพราะควรจะเป็น  “น่าจะถึงเวลาตั้งนานแล้ว” เสียมากกว่าที่เราจะหันมาใส่ใจ และเอาใจใส่ HRD ให้มากยิ่งกว่าเดิม เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตามหรือจะนานสักเพียงใด ทรัพยากรมนุษย์ก็ยังคงเป็นทรัพยากรที่มีค่าและสำคัญที่สุด เพราะมนุษย์สามารถเรียนรู้ สร้างสรรค์ พัฒนา จัดสรรและเดินหน้าต่อไปได้ด้วยตัวเองร่วมกับการร่วมแรงร่วมใจกัน ดังนั้น เมื่อมนุษย์เกิดการพัฒนาขึ้น มนุษย์ก็สามารถที่จะนำเอาความรู้/ความสามารถนั้นไปพัฒนาทรัพยากรประเภทอื่นๆได้เช่นกัน จนก่อให้เกิดเป็นวัฎจักรที่ไม่สิ้นสุดขึ้นมาได้

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แห่งภูมิภาคอาเซียนนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่อีกยาวไกลสำหรับบางคน แต่สำหรับความเป็นจริงนั้นมันช่างสั้นเหลือเกิน ต่อให้ประเทศเราเริ่มต้นการพัฒนาอย่างกระตือรือร้นหรือประเภท “ไฟลนก้น” มากแค่ไหน ก็ไม่อาจจะตามทันความพร้อมของประเทศเพื่อนบ้างที่เริ่มการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มาก่อนประเทศไทยได้ ดั่งเช่น “ถ้าจะเอาชนะประสบการณ์ ก็ต้องชนะด้วยการมีประสบการณ์เช่นกัน”

อาจจะสายเกินไป ที่จะเร่งพัฒนาให้เทียบเท่า หรือก้าวให้ทัน แต่ยังไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้นการใส่ใจและยกประเด็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มาเป็นสำคัญ เพราะอย่างน้อยๆก็อาจจะลดช่องว่างของความแตกต่างลงได้ไม่มากก็น้อย…

สุดท้ายนี้ขอฝากเอาไว้ว่า “ไม่ได้สำคัญสักเพียงใดสำหรับการเปลี่ยนแปลง หรือความพร้อมของนานาประเทศแห่งอาเซียน แต่สำคัญที่ว่า “เรา” นั้นพร้อมเพียงใด? สำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า…อาจจะสายเกินไปสำหรับการที่จะก้าวนำหน้า แต่ยังมีเวลาสำหรับการไล่ตามและเปลี่ยนแปลง…”

HRD

HR The Serie : Part 2

Our Columnist @ www.sarut-homesite.net

พีรพงศ์ สุวรรณโภคิน (Sandels)

14 ก.ค. 2553

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.