เปิดตำนาน…ตีแตก : มนตรี นิพิฐวิทยา

ในงานสัมมนาที่ Thai Value Investor จัดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น(พ.ศ. 2548) ได้มีผู้เข้าร่วมสัมมนาเต็มห้องจัดงาน น่าจะประมาณได้เกือบสองร้อยคน วิทยากรที่มาเปิดงานสัมมนานั้นไม่ใช่ใครที่ไหน ท่านเป็นหัวขบวนของเหล่านักลงทุนแบบเน้นมูลค่าตัวจริง

ท่าน อ.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ได้ให้เกียรติมาตอบข้อสงสัยซักถามของผู้เข้าร่วมสัมมนาอย่างไม่มีปิดบัง ท่านได้เล่าเรื่องราวทั้งในเรื่องส่วนตัว ชีวิตในวัยเด็ก ชีวิตการทำงาน การลงทุน เคล็ด(ไม่)ลับในการค้นหาและคัดสรรหุ้นที่ทำให้ท่านได้มีวันนี้

ก้าวแรกที่ท่านเดินเข้ามาในงาน ท่านพูดให้ผมฟังเป็นคำแรกว่า ท่านรู้สึกตื่นเต้นและประหม่าเล็กน้อยทั้งๆ ที่ไปพูดมาไม่รู้กี่งานแล้ว มางานนี้รู้สึกเหมือนมาในงานที่มีแต่พวกคนที่คุ้นเคยและคอเดียวกัน

ท่านได้เล่าให้ฟังว่า สมัยเด็กท่านเป็นเด็กวัดดอน วัดที่ผีดุที่สุด นั่นเอง ฐานะทางบ้านไม่สู้จะดีนัก ท่านได้อดทนศึกษาเล่าเรียนมาตลอด หลังจากเรียนจบปริญญาเอก ท่านได้ทำงานในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และเป็นผู้บริหารเรื่อยมา

ระหว่างนั้นท่านก็มีเส้นทางการลงทุนไม่ต่างกับหลายๆคน คือ เล่นหุ้น แต่ท่านบอกว่า ท่านโชคดีหน่อยที่อยู่ในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จึงรู้เห็นถึงวิกฤติที่กำลังเริ่มก่อตัว

หลังจากเกิดวิกฤติ ท่านได้รวบรวมเงินสะสมจากการทำงานประมาณ 10 ล้านบาท มาลงทุนแบบเน้นมูลค่า ปัจจุบันนี้เงินลงทุนเริ่มต้น 10 ล้านบาทนั้น ได้เพิ่มมูลค่าขึ้นมากกว่า 300 ล้านบาท (จากการประมาณการตามข่าว) (พ.ศ. 2548) และเงินปันผลต่อปี ประมาณ 10 ล้านบาท ท่านบอกว่าเงินปันผลต่อปีก็ประมาณ 3-4% ของมูลค่าเงินลงทุนปัจจุบัน

ท่านได้ให้หลักการลงทุนตามแบบฉบับของท่านไว้อย่างน่าจดจำ ซึ่งผมขอทำหน้าที่สรุปไว้ดังนี้ครับ

การลงทุนของท่านมิได้ซับซ้อนอะไรมาก ท่านเป็นพ่อบ้านที่ดี ในวันหยุดท่านจะเป็นผู้พาครอบครัวไปจ่ายตลาด และนั่นเป็นการวิเคราะห์หากิจการที่น่าลงทุนอย่างดี

ท่านได้เห็นกิจการที่ภายหลังท่านได้เข้าลงทุน เช่น Wacoal  เสริมสุข และแม้กระทั่งกิจการที่ท่านสนใจในปัจจุบัน ท่านใช้วิธีเดินสำรวจ พูดคุยกับผู้ซื้อ และกลับมาหาข้อมูลอื่นๆที่จำเป็น

เมื่อท่านได้รับข้อมูลเพียงพอที่จะบอกได้ว่า กิจการนี้แหละ… ใช่เลย ท่านจึงมาดูที่ราคา ท่านจะอดทนรอให้ราคาลงมาจนปลอดภัยเพียงพอที่จะซื้อ ท่านบอกว่า ส่วนมากแล้ว ในเวลาที่ท่านซื้อไม่ค่อยมีใครแย่งท่านซื้อหรอก ท่านก็ซื้ออย่างสบายใจทุกครั้ง เพราะกิจการที่ท่านมองเอาไว้มักจะเป็นกิจการที่ยังไม่ค่อยมีคนสนใจ

เท่าที่ฟังท่าน อ.นิเวศน์ เล่าให้ฟังนั้น ท่านจะพยายามมองแนวโน้มไปในอนาคตว่า ธุรกิจไหนกำลังจะไปได้ดี ไม่ต้องอะไรมาก ให้คิดเองว่าเราเองและครอบครัวมีพฤติกรรมการใช้สอยอย่างไร และลองดูคนอื่นประกอบ ว่าโดยรวมเป็นอย่างนั้นไหม

ตัวอย่างธุรกิจที่ท่านมองแนวโน้มได้อย่างถูกต้อง เช่น ในตอนวิกฤติก็ต้องธุรกิจส่งออก ในยุคปัจจุบันที่เศรษฐกิจดีขึ้นแล้วพฤติกรรมของคนเริ่มเปลี่ยน นิยมจับจ่ายใช้สอยในสถานที่ที่สะดวก และมีสินค้าที่ต้องการครบถ้วน

นั่นคือ ที่มาของความสนใจในธุรกิจค้าปลีก ซูเปอร์สโตร์ และแม้กระทั่งธุรกิจอาหารจานด่วน ท่านก็ใช้หลักการเดียวกันกับที่ท่านทำมาโดยตลอด

ท่านบอกเราว่า อะไรที่ในอดีตทำมาสำเร็จ และอยู่ยาวนานมาจนปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเป็นของดีทั้งนั้น ไม่เชื่อลองดู สินค้าหลายๆอย่างในตลาด ภรรยาที่อยู่กับเรามายาวนานก็ดี เพื่อนเก่าที่คบกันมานานๆก็ดี และในฐานะผมเป็นลูกศิษย์อาจารย์ ผมก็ขอยืนยันตามท่าน โดยเฉพาะเรื่องภรรยาครับ ว่าถูกต้องที่สุด

ในเรื่องของหุ้นในธุรกิจที่เป็นวัฏจักรนั้น ท่านบอกว่าท่านหลีกเลี่ยง เพราะว่ากำไรที่เกิดขึ้นในช่วงที่ตลาดสดใสนั้น ไม่ใช่สภาวะปกติที่มันควรจะเป็น สิ่งที่มันควรจะเป็นต้องเป็นในช่วงที่สภาวะทุกอย่างมันไม่ได้เฟื่องฟูจนเกินเหตุ บริษัทไหนในช่วงวิกฤติอยู่ได้และมีกำไรนั่นแหละเป็นสภาวะปกติ แต่ถ้าในช่วงนั้นย่ำแย่ก็ให้รู้ไว้ว่า นั่นก็คือสภาวะจริงๆของมันเช่นกัน ส่วนนี้เมื่อเทียบกับตัวเราได้เช่นกัน

ในช่วงที่เฟื่องฟูก็ใช้จ่ายเกินตัว ในช่วงปกติก็ย่ำแย่ไปตามๆกัน และนั่นแหละของจริงครับท่าน ผมเองและเพื่อนๆอีกหลายคน พยายามใช้ชีวิตอยู่บนสภาวะที่เป็นจริงให้มากที่สุด ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเฟื่องฟูและตกต่ำ เราจะได้ไม่ต้องไปปรับตัวอะไรกันมากมายนัก

เรื่องความผิดพลาดที่เคยเกิดนั้น ท่านว่า หลักๆมาจากการใจร้อนเข้าซื้อมากไปหน่อย ซึ่งมักจะเป็นเช่นนี้เกือบทุกครั้ง แต่คำว่า ‘พลาด’ ของท่านนั้นไม่ใช่มองธุรกิจผิด แต่เป็นเพียงการซื้อที่เร็วเกินไป มีส่วนต่างความปลอดภัยน้อยไป และท่านนำมาเป็นบทเรียนทุกครั้งไป

สำหรับคำถามเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจว่า กำลังจะวิกฤติหรือไม่ ตามที่หลายคนสนใจถามท่าน และท่านให้คำตอบที่ไม่ตรงคำถาม แต่ก็ไม่ทำให้ใครผิดหวังแน่นอน ตามแบบฉบับนักลงทุนชั้นครู ท่านบอกเสมือนว่าในวิกฤติทุกครั้งล้วนมีโอกาสแฝงอยู่ ทำไมเรามองหาและเห็นเฉพาะวิกฤติ จงหาโอกาสให้พบก่อนใคร แล้วท่านจะเป็นผู้ชนะ และผ่านวิกฤติมาได้แน่นอน

ส่วนตัวผมแล้ว เห็นจริงตามท่าน เราศึกษาประวัติศาสตร์ เราพยายามหาวิธีป้องกันวิกฤติ แต่สุดท้ายมันก็เกิดขึ้นใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำไมเราไม่เริ่มมองหาวิธีที่จะเป็นผู้ที่จะอยู่อย่างผู้ชนะในช่วงวิกฤติ หรืออย่างน้อย ก็ไม่เดือดร้อนในยามวิกฤติกันเล่า

ครับ เรื่องราวทั้งหมดนั้น ไม่สำคัญเท่าแก่นที่ท่านนำเสนอให้เราได้ฟังและนำไปคิด

แก่นนั้นผมคิดว่า ท่านมีความอดทนมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยเด็ก พยายามมองแนวโน้มธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเพราะท่านสนใจและคิดว่าลงทุนอย่างรอบครอบ และไม่เคยที่จะไม่ยอมรับความผิดพลาด นำมาปรับปรุงแก้ไขให้เป็นจุดแข็งได้ตลอดเวลา

ท่านอาจารย์นิเวศน์ ยังคงไม่ยอมปิดตำนานการลงทุนแบบเน้นมูลค่าในขณะนี้ ท่านเคยกล่าวไว้ว่า ก่อนจะลาจากโลกนี้ไป ท่านจะต้องทำให้เงินทุนเริ่มต้น 10 ล้านบาท ให้เป็นเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อเป็นมรดกแก่ลูกหลานให้จงได้

พวกเรา ในฐานะนักลงทุนรุ่นหลัง หวังจะนำเอาสิ่งที่ท่านได้บอกเล่าในวันนี้ เป็นบทเรียนในการสร้างผลตอบแทนจากเงินลงทุน ตามรอยท่านไปครับ

มนตรี นิพิฐวิทยา

Value Way

กรุงเทพธุรกิจ Bizweek ฉบับวันที่ 24 – 30 มิถุนายน 2548

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.