ทำอย่างไรเมื่อหุ้นตก : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ตั้งแต่ต้นปีมาดูเหมือนว่านักลงทุนในตลาดหุ้นจะเจ็บตัวกันหนัก และเป็นการเปลี่ยนภาพที่สดใสของตลาดหุ้นจากปีที่ผ่านมา ตัวเลขคร่าวๆก็คือ ปีที่แล้วดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้นมาประมาณ 26% ยังไม่นับรวมปันผลอีกประมาณ 3 – 4 % ซึ่งถือเป็นผลตอบแทนที่ดีเยี่ยม ทั้งๆที่ประเทศไทย “มีปัญหา”  มาตลอดทั้งปี

ปี 2551 นี้ นักวิเคราะห์ต่างก็ตั้งเป้าหมายว่าดัชนีหุ้นจะดีขึ้นไปอีกมาก บางคนบอกว่าจะไปถึง 1,000 จุด เพราะสถานการณ์ต่างๆโดยเฉพาะการเมืองจะดีขึ้น แต่แล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของซับไพร์มที่สหรัฐอเมริกาก็ทำให้ตลาดหุ้นตกต่ำกันทั่วโลก ผลก็คือ เพียงแค่ประมาณเดือนเดียว ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของเราก็ตกลงมาแล้วประมาณ 11% คือตกจากประมาณ 858 จุดเหลือเพียง 760 จุดในวันที่ 25 มกราคม 2551 และนี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เป็นบทเรียนให้เรารู้ว่า ตลาดหุ้นเป็นสิ่งที่ “คาดไม่ได้”  และความเสี่ยงของการลงทุนในตลาดหุ้นนั้นมีอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เรารู้สึกดีและสบายใจในการลงทุน

เมื่อตลาดตกอย่างหนัก ก็มักจะมีคนถามผมเสมอว่าเขาควรทำอย่างไร? ขายทิ้งก่อนดีไหม? บางคนก็ถามว่า ควรจะ “เข้า” หรือยัง?

ส่วนใหญ่ผมก็มักจะตอบว่าควร “อยู่เฉย ๆ” เพราะเราไม่รู้ว่าตลาดหุ้นในวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร แม้ว่าที่ผ่านมา 2-3 สัปดาห์ แทบจะเรียกว่าเลวร้ายเกือบทุกวัน และนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นสุทธิในตลาดเกือบทุกวัน เหตุผลของผมก็คือ พื้นฐานของเศรษฐกิจของประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติ ทุกอย่างยังเป็นปกติ เพียงแต่ว่าเราค่อนข้างจะโตช้ากว่าเพื่อนบ้านบ้างในช่วงปีที่ผ่านมาและอนาคต คือในปีนี้ก็ยังดูเหมือนว่าจะมีอุปสรรคอยู่โดยเฉพาะในภาคการส่งออกที่อาจจะโตช้าลงจากความถดถอยของเศรษฐกิจโลกที่ดูเหมือนว่ากำลังจะเกิดขึ้น แต่ทั้งหลายทั้งปวงนี้ คงไม่ทำให้เราเกิดวิกฤติ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ตลาดหุ้นได้ปรับตัวลงมาพอสมควรแล้ว ดังนั้น ถ้าเราขายหุ้นในวันนี้อาจจะเป็นว่าเราได้ขายไปในราคาถูก ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราเข้าไปซื้อเพราะคิดว่าราคาหุ้นได้ตกลงมามากแล้ว เราก็อาจจะผิดหวัง เพราะราคาหุ้นอาจจะลงต่อไปอีก เพราะความผันผวนของตลาดหุ้นโลกยังไม่สงบลงก็ได้

ส่วนตัวผมเองนั้น ในภาวะที่ดัชนีตลาดตกต่ำลงมากๆ ผมมักจะเฝ้าดูราคาหุ้นของกิจการที่ดีเยี่ยม ทั้งที่ผมถือหุ้นอยู่และที่ผมอาจจะยังไม่ได้เป็นเจ้าของ ดูว่าราคาหุ้นตัวนั้นตกต่ำลงมามากน้อยแค่ไหน ถึงจุดที่น่าสนใจพอหรือยัง ถ้ายังไม่ต่ำพอผมก็จะอยู่เฉยๆ แต่ถ้าราคาต่ำลงจนถึงจุดที่น่าสนใจมากๆ ผมก็จะเริ่มคิดที่จะหาเงินมาลงทุน ซึ่งน่าเสียดายว่าผมมักจะไม่มีเงินสดเหลือ เพราะผมลงทุนเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ถ้าผมต้องการเงินมาลงทุนผมก็ต้องขายหุ้นตัวอื่นที่ผมถืออยู่ ซึ่งก็มักจะน่าเสียดายอีกว่าผมไม่อยากขาย เพราะราคามันลงมามาก การขายในเวลาที่เลวร้ายอย่างนั้นผมรู้สึกว่าจะทำใจได้ยาก ดังนั้น โดยสรุปแล้ว ช่วงที่ดัชนีตลาดตกต่ำอย่างหนัก ผมมักจะไม่ค่อยทำอะไร ผมชอบเปรียบตัวเองเหมือนเต่า นั่นก็คือ ในยามที่เกิดพายุฝนตกฟ้าคะนองรุนแรง เต่าจะอยู่นิ่งๆ หลบฝนอยู่ในที่กำบัง และถ้าจะให้ดีก็คือ หดหัวไม่มองดูสายฟ้าที่ฟาดกระหน่ำลงมาไม่หยุดหย่อน ว่าที่จริง เวลาหุ้นตกหนักผมชอบที่จะหนีไปเล่นกอล์ฟ เพื่อจะได้ไม่ต้องพะวงกับการตกลงของราคาหุ้นมากนัก

เมื่อเวลาผ่านไป ผมเชื่อว่า หุ้นก็มักจะกลับมาสู่ราคาที่มันควรเป็นตามปัจจัยพื้นฐานของมัน ที่จริงมันก็เป็นอย่างนั้นทุกครั้ง ดังนั้นถ้าเรา “กอดหุ้น” ที่ทำธุรกิจที่เรามั่นใจว่า จะสามารถฝ่ากระแสของเศรษฐกิจที่กำลังถดถอยได้ เราก็ไม่เห็นว่าจะต้องกลัวอะไร บางคนบอกว่า เขาไม่ได้กลัวเรื่องของธุรกิจของบริษัทที่เขาลงทุน แต่เขาคิดว่าหุ้นกำลังตกด้วยอิทธิพลของกระแสเงิน หรือเดี๋ยวนี้ชอบเรียกว่า “Fund Flow” ดังนั้นเขาคิดว่า อย่างไรหุ้นก็จะต้องตกต่อ เพราะในยามที่นักลงทุนกำลังขายหุ้นเพราะต้องการถอนตัวออกจากตลาด ปัจจัยพื้นฐานก็ไม่มีความหมาย เราจึงควรขายไปก่อนเพื่อความปลอดภัยและกลับไปซื้อภายหลังเมื่อหุ้น “นิ่ง” แล้ว แต่นี่ก็จะกลับไปสู่ประเด็นเดิมที่ว่า “เราคิดว่าเรารู้ว่าเมื่อไรที่หุ้นจะนิ่ง” ซึ่งผมก็อยากจะพูดย้ำอีกครั้งว่า “เราไม่รู้” และสิ่งที่พิสูจน์ก็คือ ดัชนีหุ้นที่ดีดตัวขึ้นมาถึง 31 จุด หรือ เพิ่มขึ้นถึง 4.1% ในวันที่ 25 มกราคม 2551 เมื่อมีข่าวว่ารัฐสภาสหรัฐตกลงอนุมัติแผนกู้เศรษฐกิจของประธานาธิบดีบุช

สำหรับคนส่วนใหญ่ ที่ไม่ได้ถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนผม ผมคิดว่าการที่หุ้นตกลงมามากนั้น เป็นโอกาสที่เราจะเลือกลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพทางธุรกิจดี ที่เดิมเราไม่อยากซื้อเพราะราคาหุ้นแพงเกินไป ดัชนีหุ้นที่ตกลงมามากนั้น ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะดึงราคาของหุ้นตัวอื่นๆลงมาด้วย ทั้งที่ปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลง ถ้าเรากล้าที่จะเข้าไปเก็บหุ้นเหล่านั้น และพร้อมที่จะถือยาวโดยไม่สนใจกับราคาหุ้นที่อาจจะปรับตัวลงต่อ โอกาสที่เราจะได้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคต 3-4 ปีขึ้นไป ก็มักจะสูงกว่าปกติ และความเสี่ยงที่จะขาดทุนก็มักจะน้อยกว่าปกติ การขายหุ้นไปก่อนเมื่อดัชนีกำลังอยู่ในช่วงตกหนักนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นกลยุทธ์ที่ผิดพลาดอย่างแน่นอน เพราะบ่อยครั้งก็ทำให้นักลงทุนหลายคน “เอาตัวรอดไปได้” และก็มาเล่าให้คนทั้งหลายฟัง แต่หลายคนก็เสียหายหนัก เพราะ “หุ้นฟื้นอย่างไม่คาดฝัน” และคนเหล่านั้นไม่ได้มาพูด ข้อสรุปที่แท้จริงก็คือ ไม่รู้ว่าคนที่เอาตัวรอดไปได้กับคนที่เสียหายเนื่องจากการขายหุ้น ฝ่ายไหนจะมากกว่ากัน

ผมเชื่อว่า สำหรับนักเก็งกำไรแล้ว การที่ดัชนีตลาดปรับตัวผันผวนรุนแรง พวกเขาจะต้องเฝ้ากระดานและมักจะมี Action นั่นคือ ไม่ซื้อก็ขายกันมากขึ้นมาก แต่สำหรับนักลงทุน โดยเฉพาะที่เป็น Value Investor ผมคิดว่าเขาควรจะซื้อมากกว่าขาย ส่วนตัวผมเองนั้น ผมยึดภาษิตที่ว่า Stay Calm, Stay Invest  นั่นก็คือ ทำใจให้สงบและลงทุนต่อไป

ทำอย่างไรเมื่อหุ้นตก

โลกในมุมมองของ Value Investor

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

29 ม.ค. 2551

Author: admin

1 thought on “ทำอย่างไรเมื่อหุ้นตก : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.