การลงทุนแบบ VI ทั่วไป ถ้ามีการทำการบ้านมามากพอ ผลตอบแทนโดยรวมของพอร์ทในระยะยาวก็น่าจะสามารถชนะตลาดได้ไม่ยากนัก ปกติผมจะตั้งเป้าหมายในการทำกำไรให้ได้ปีละประมาณ 15% ซึ่งการกำหนดเป้าหมายเอาไว้ก็เพื่อให้เราเกิดความกระตือรือร้นในการค้นหาหุ้น แต่เราก็ไม่ควรที่จะตั้งเป้าหมายให้สูงจนเกินไป เพราะยิ่งกำหนดเป้าหมายไว้สูงมากๆ เช่น กำไรปีละ 50-100% ต่อปี จะทำให้พฤติกรรมในการเลือกหุ้นของเรานั่นเปลี่ยนแปลงไป มีแนวโน้มที่จะเล่นหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงมากขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งผมเองก็เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อยู่บ้างเหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อปี 49 เป็นปีที่ผมทำผลตอบแทนได้สูงมากๆ ในช่วงต้นปี 50 ก็เลยหวังว่าจะทำได้ในระดับเดียวกัน พอเจอหุ้นที่คิดว่าดีมี PE ต่ำ ก็เลยรีบตะครุบ โดยไม่ได้มองให้ลึกว่าบริษัทมีข้อเสียอื่นๆอยู่หลายอย่าง สุดท้ายก็ต้องมาเจ็บตัว ยังดีที่กลับตัวทันได้ ก็เลยไม่เจ็บตัวมากนัก
ดังนั้น จุดเริ่มต้นในการเลือกหุ้น ที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญอันดับแรกก็คือ การที่มีทัศนะคติที่ถูกต้องในการลงทุน โดยการตั้งเป้าหมายผลตอบแทนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในกรอบเวลาที่เหมาะสม โดยการกำหนดเป้าหมายก็ควรจะมองในระยะยาว เช่นกำไร 10 – 12% ใน 1 ปี ไม่ใช่หวังกำไร 10% ต่อเดือน เพื่อที่จะเป็นกรอบคิดอย่างหนึ่งในการเลือกหุ้น ไม่ให้เราสุ่มเสี่ยงจนเกินไป และเน้นผลตอบแทนในระยะยาวเป็นหลัก
ในการคัดเลือกหุ้นแต่ละตัว ผมจะเริ่มต้นจากการดูคุณภาพของหุ้นก่อนเป็นอันดับแรก แล้วจึงมาดูเรื่องของราคาทีหลัง ถ้าเจอหุ้นที่มีแนวโน้มไม่ค่อยดี กำไรมีทีท่าว่าจะลดลงในระยะยาว อาจจะเนื่องมาจากภาวะอุตสาหกรรมอยู่ในช่วงขาลง หรือ อาจจะเนื่องมาจากบริษัทได้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เช่น มีคู่แข่งรายใหม่เข้ามาในธุรกิจ หรือ เกิดการแข่งขันตัดราคาอย่างรุนแรง หุ้นที่คุณภาพต่ำๆแบบนี้ต่อให้เห็นว่าราคาถูกแค่ไหน เช่น PE อาจจะแค่ 2-3 เท่า ผมก็ไม่คิดที่จะซื้อเพราะถ้าบริษัทมีกำไรลดลงไปเรื่อยๆ PE ที่เราเห็นว่าต่ำในปัจจุบันอาจจะเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นหุ้นที่แพงไปเลยก็ได้
สำหรับหุ้นที่ดีนั้นผมคิดว่ามีเงื่อนไขหลักอยู่ 3 ประการ คือ เป็นหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ดี มีความสามารถในการการแข่งขันสูง และสุดท้าย ต้องมีผู้บริหารที่ดี ซึ่งบริษัทที่ผมจะสนใจลงทุนนั้นจะต้องผ่านเงื่อนไข 2 ประการเป็นอย่างน้อย เช่น
อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มดี และมีผู้บริหารที่ดี ถึงแม้ความสามารถในการแข่งไม่ได้สูงมาก แต่ก็มีโอกาสสูงที่บริษัทนั้นจะสามารถเติบโตควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมได้
บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันที่สูง และมีผู้บริหารที่ดี ถึงแม้จะอยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่ดี แต่ด้วยความได้เปรียบในการแข่งขันบวกกับความสามารถของผู้บริหาร ก็มีโอกาสที่บริษัทนั้นจะสามารถแย่งส่วนแบ่งทางการค้ามาจากคู่แข่งได้ แม้ภาพรวมของอุตสาหกรรมจะแย่ลง แต่รายได้และกำไรของบริษัทอาจจะเพิ่มขึ้นก็ได้
บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ดี และมีความสามารถในการแข่งขันที่สูง แม้ผู้บริหารอาจจะไม่เก่งมาก แต่บริษัทก็สามารถสร้างกำไรให้เติบโตได้ไม่ยากนัก เราอาจจะเห็นได้ในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังร้อนแรงมากๆ เวลาอุตสาหกรรมเป็นขาขึ้นพวกหุ้นที่มีตำแหน่งทางการตลาดที่ดีมีทรัพยากรที่เพียงพอก็มักจะดีขึ้นเกือบทุกตัว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ หุ้นกลุ่มเรือ กำไรดีขึ้นกันทุกรายแม้ผู้บริหารบางท่านอาจจะไม่ได้เก่งมากมายอะไร
แต่ถ้าใครสามารถค้นหาหุ้นที่มีจุดแข็งครบเครื่องทั้ง 3 ด้าน ก็อาจจะเรียกว่าเป็น Super Stock ได้ โอกาสที่จะทำกำไรนั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้วละครับ
เมื่อเราเลือกหุ้นที่มีคุณภาพดีพอควรตามเงื่อนไขข้างต้นได้แล้ว เราจึงมาดูราคาเป็นเงื่อนไขข้อสุดท้าย วิธีการประเมินความถูกแพงของราคาหุ้นก็มีอยู่หลายวิธี ผมจะไม่ขอพูดถึงในที่นี้ละกัน เพราะเรื่องมันจะยาวจนเกินไป ถ้าใครสนใจอ่านเพิ่มเติมลองเข้าไปติดตามอ่านได้ที่กระทู้ตระแกรงร่อนในเวป http://www.thaivi.com/ ซึ่งมีเขียนไว้ครบถ้วนแล้ว
ดังนั้นในที่นี้ผมจะพูดถึงเฉพาะวิธีหลักที่ผมใช้ในการประเมินความถูกแพงของหุ้น ซึ่งได้แก่การดูจาก PE
จากการประมวลคุณภาพของหุ้นโดยใช้เงื่อนไข 3 ข้างต้น ยิ่งหุ้นมีคุณภาพสูงมากเท่าใด PE ที่เหมาะสมของหุ้นจะสูงมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งทั่วๆไป ผมมักจะกำหนด PE ที่เหมาะสมอยู่ในกรอบประมาณ 6-10 เท่า การกำหนดระดับ PE ที่เหมาะสมนั้น เป็นศาสตร์ที่ใช้ศิลปะค่อนข้างมาก เพราะไม่มีสูตรตายตัวว่าหุ้นแบบไหนควรมี PE เท่าไหร่ นักลงทุนจะต้องตรวจสอบคุณภาพของหุ้นให้ครบทุกด้านและประมวลผลจากข้อมูลที่มีอยู่ออกมาเป็นตัวเลข PE เพียงตัวเดียว ช่วงแรกๆของการลงทุน อาจจะมีปัญหาในการประมาณค่า PE บ้าง แต่ถ้าลองศึกษาหุ้นหลายๆประเภท อ่านบทวิเคราะห์และติดตามผลประกอบการอยู่เรื่อยๆ เซ้นส์ในเรื่องการกำหนด PE ที่เหมาะสมจะเกิดขึ้นมาเอง อย่างไรก็ตาม บางครั้ง หุ้นที่ PE เกิน 10 บางตัวผมก็กล้าลงทุน ถ้าผมมั่นใจจริงๆว่า บริษัทมีจุดเด่นทั้ง 3 ด้านอย่างโดดเด่นมากๆ
หลังจากกำหนด PE ที่เหมาะสมของหุ้นได้ หน้าที่ต่อไปของนักลงทุน ก็คือการประมาณผลกำไรของบริษัทล่วงหน้าว่า บริษัทจะมีกำไรต่อหุ้นทั้งปีประมาณเท่าไหร่ เช่น ถ้าประมาณออกมาว่าหุ้นควรจะมี EPS ประมาณ 1 บาท ในขณะที่ PE ควรจะอยู่ที่ 8 เท่า ราคาเป้าหมายก็อยู่ที่ประมาณ 8 บาท อย่างไรก็ตามการประมาณ EPS ในอนาคตไม่ใช่เรื่องง่ายนัก จำเป็นที่จะต้องมีการสมมติตัวเลขหลายๆตัว ถ้าเรามีข้อมูลในการประเมินมากโอกาสถูกก็มาก แต่ถ้าเมื่อใดที่เรามีความมั่นใจในการคาดการณ์ต่ำ ทางที่ดีก็ควรจะประมาณให้ EPS นั้นต่ำไว้กว่าที่เราคิดไว้ก่อน เพื่อให้ราคาหุ้นที่คิดได้นั้นไม่สูงจนเกินไป
จะเห็นว่า หลักการในการเลือกหุ้น และกำหนดราคาเป้าหมายของผมนั้น ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมากนัก การบ้านที่นักลงทุนต้องทำคือ การหาข้อมูลบริษัทให้มากเพียงพอที่จะวิเคราะห์คุณภาพของบริษัทได้ เพื่อกำหนด PE ที่ควรจะเป็นให้เหมาะสม และคาดการณ์ EPS ให้ใกล้เคียงกับกับความป็นจริงมากที่สุด อาจจะฟังดูว่าทั้งยากและต้องใช้เวลามาก แต่สิ่งเหล่านี้แหละครับที่จะทำให้นักลงทุนแบบ VI สามารถสร้างผลตอบชนะตลาดติดต่อกันได้อย่างยั่งยืน
ข้อควรระวังในการใช้บทความ
– หุ้นที่เหมาะสมในการลงทุน จำเป็นจะต้องมี Good Governance ถ้าขาดข้อนี้ไป หุ้นดีราคาถูกแค่ไหน ก็ไม่ควรเสี่ยงลงทุน
– EPS ที่ใช้ในการประเมินมูลค่าหุ้น ควรเป็นกำไรที่หักกำไรพิเศษที่เกิดเพียงชั่วคราวออกไปให้หมด เพื่อไม่ให้เกิดการคาดการณ์ EPS ที่สูงเกินจริง เช่น กำไรจากการขายสินทรัพย์ กำไรจากการกลับรายการหนี้สูญ หรือกำไรจากค่าเงิน ทางที่ดีนักลงทุนควรฝึกอ่านงบกระแสเงินสดควบคู่ไปกับการดูงบกำไรขาดทุนด้วย เพื่อใช้ในตรวจสอบคุณภาพของกำไร
– การประเมินมูลค่าหุ้นด้วย PE มีข้อเสียคือ เป็นการใช้วิจารณาณส่วนตัวค่อนข้างมาก ดังนั้นถ้าจะให้ปลอดภัย สำหรับนักลงทุนที่ชอบมองโลกในแง่ดี ควรพยายามกำหนดค่าให้ต่ำกว่าที่ตัวเองคิดจะปลอดภัยกว่า
– ห้ามลืม Margin of Safety เด็ดขาด การซื้อหุ้นควรจะเลือกหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสมพอสมควร เพื่อลดโอกาสขาดทุน ในกรณีที่เราวิเคราะห์ผิดพลาด ปกติผมจะซื้อหุ้นที่มีโอกาสสร้างกำไรให้ผมได้อย่างต่ำ 30% ถ้าได้ต่ำกว่านี้ ถือเงินสดไว้ก็ไม่เสียหายครับ
– หลักการข้างต้น เป็นวิธีที่ผู้เขียนใช้เป็นการส่วนตัว และเชื่อว่าได้ผลตอบแทนที่น่าพอใจระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ยืนยันว่าจะเป็นวิธีการลงทุนที่ดีที่สุด รูปแบบการลงทุนที่ดีนั้น นักลงทุนควรจะพยายามทดลองด้วยตัวเอง จนเจอการลงทุนที่เหมาะสมกับลักษณะนิสัยของตัวเอง และควรทำการบ้านเยอะๆ สั่งสมประสบการณ์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการเลือกหุ้นให้มากขึ้นเรื่อยๆ
เงื่อนไขในการเลือกหุ้น
Yoyo’s Value Investing Way
สันติ สิงหวังชา