ตลาดหุ้นภายใต้กลไกตลาดเสรี แท้จริงไม่เสรีอย่างในทฤษฎี ถ้าเราอยู่ฝั่งคนส่วนใหญ่ผลลัพธ์มักลงเอยอย่าง “ผู้แพ้”
พิชัย จาวลา นักคิดผู้กล้าเสนอความจริงที่แตกต่าง
“พิชัย จาวลา”… ชื่อนี้แทบไม่เป็นที่รู้จักในแวดวงตลาดหุ้น เขาไม่ใช่นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จหรือมีพอร์ตลงทุนเป็นร้อยเป็นพันล้านบาท แต่พิชัยเป็น “นักคิด” ที่กล้านำเสนอความจริงที่แตกต่าง แตกสัจธรรมเพื่อค้นหาเหตุแห่งสัจธรรม เหรียญยังมีสองด้านฉันใด..ความจริงที่เรามองเห็นอาจไม่ใช่ความเที่ยงแท้เสมอไป
“เศรษฐศาสตร์แห่งความจริง” หนังสือที่ไม่ได้ทำยอดขายติดอันดับ “เบสเซลเลอร์” บนแผงหนังสือ และค่อนข้างอ่านยากสำหรับหลายคน แต่เป็นผลงานที่เปิดให้เห็นตัวตนของ พิชัย จาวลา กรรมการบริหาร กลุ่มจาวลากรุ๊ป นักธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์วัย 42 ปี ที่มีฐานอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่
พิชัยยังมีบทบาทเป็นนักลงทุนรายย่อยที่มีพอร์ตลงทุนในระดับ 10-20 ล้านบาท เขาใช้เวลานอกกว่า 20 ปี เฝ้าติดตามความเป็นไปของตลาดหุ้น ค้นหาความจริงที่ซ่อนอยู่ในด้านตรงข้ามของเหรียญ ความจริงที่คนส่วนใหญ่ก็รู้…แต่มีเพียงคนส่วนน้อยที่ยอมรับและปฏิบัติ !!!
“จากการคาดการณ์ของคุณพิชัยต่อตลาดหุ้นที่ผ่านๆมา พอจะสรุปได้ว่า การคาดการณ์ของคุณพิชัยในระดับวงจรหรือในระดับกรอบใหญ่ มีความถูกต้องแม่นยำค่อนข้างมาก แต่ในระดับรายละเอียด บางครั้งจะมีความคลาดเคลื่อนไปจากที่คาดการณ์ มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่กรณีไป” คำวิจารณ์ของคนที่เฝ้าติดตามผลงานของพิชัย โพสต์ไว้ในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง
เนื้อหาในหนังสือเศรษฐศาสตร์แห่งความจริงฉบับตีพิมพ์ “ครั้งที่สาม” เดือนสิงหาคมปี 2550 พิชัยทำนายว่า SET Index ในปีถัดไป (2551) จะพุ่งขึ้นแตะระดับ 900 จุด ก่อนจะปรับตัวลงแตะระดับบวกลบ 450 จุด เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง
ทำไม! ตลาดหุ้นไทยถึงเป็น “หลุมฝังศพ” รายย่อยรุ่นแล้วรุ่นเล่า บทสรุปหนึ่งก็คือ ตลาดหุ้นไม่ ใช่ Fair Game ไม่ใช่เกมที่แฟร์สำหรับคนส่วนใหญ่ที่ใครก็มาตักตวงได้ง่าย
“หมูสนาม” ส่วนใหญ่แท้จริงก็เป็น “เซียน” ในอาชีพของตัวเองกันมาทั้งนั้น
“ขอออกตัวก่อนว่าผมไม่ใช่นักลงทุนรายใหญ่และไม่ได้เก่งกว่าคนอื่น แค่อยากจะถ่ายทอดแนวคิดส่วนตัวให้ฟัง” พิชัยบอกผ่านกรุงเทพธุรกิจ BizWeek ส่วนใครจะเชื่อไม่เชื่อไม่ว่ากัน
พิชัยเล่าว่า อาชีพหลักของตนเองทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรม อพาร์ตเมนต์ และคอนโดมิเนียม อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย มูลค่าโครงการตั้งแต่ 30 ล้านบาทถึง 260 ล้านบาท ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นเริ่มเข้ามาตั้งแต่ปี 2532 แต่ “ผล คือไม่ประสบความสำเร็จเพราะไปเล่นหุ้นตามข่าว” เลยต้องย้อนกลับมาหา “เหตุ” ว่าทำไมถึงขาดทุน
“ผมสังเกตว่าทำไมคนเก่งๆ การศึกษาดีหลายคน ถึงไม่ประสบความสำเร็จในตลาดหุ้น ทำไมนักลงทุน 100 คนจะได้กำไรจากหุ้นแค่ไม่กี่คน ที่สุดก็ได้ข้อสังเกตว่า “ผู้ชนะ” ในตลาดหุ้นจะเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยเหมือนกับทฤษฎี 80:20 ที่บอกว่าคนส่วนน้อยเพียง 20% จะเป็นผู้ควบคุมผลประโยชน์ 80% เสมอ”
การนั่งถอดความคิดทีละเปลาะเป็นที่มาของ “ทฤษฎีผลประโยชน์” ที่พิชัยคิดขึ้น หลักการตัดสินใจที่จะเข้าซื้อหรือขายหุ้นจะต่างจากคนทั่วไปที่ตัดสินใจจาก ข่าว, เหตุการณ์หรือบทวิเคราะห์ แต่ทฤษฎีผลประโยชน์เราจะต้องคิด “สองชั้น” คือฟังข่าวแล้ววิเคราะห์การตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ แล้วเลือกแทงฝั่ง “ตรงข้าม”
หลักการสำคัญอีกข้อหนึ่ง คนส่วนใหญ่ มองตลาดหุ้น ขึ้น/ลง ตาม “เหตุผล” แท้ที่จริงแล้ว เหตุผลเป็นเพียง “ข้ออ้าง” ถ้าสังเกตให้ดี เหตุผลต่างๆของนักวิเคราะห์จะตามมาหลังจากหุ้นขึ้นหรือลงไปแล้วระยะหนึ่ง ความจริงคือตลาดหุ้นอยู่นอกเหนือเหตุผล ราคาต่างหากเป็นผู้กำหนดข่าว..ไม่ใช่ข่าวกำหนดราคา
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน พิชัยยกตัวอย่างวิกฤติตลาดหุ้นทุกครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น “แบล็กมันเดย์” ปี 2530 หรือ “แฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส” ปี 2551 นักลงทุนต่างแห่กันเทขายหุ้นเพราะกังวลกับ “ข่าวร้าย” แต่ไม่เคยมีคนมองอีกด้านว่ามีคนอีกกลุ่มเขากำลังทำในสิ่งตรงข้ามกันคือ “ซื้อหุ้น” ที่คนส่วนใหญ่ยอมขายขาดทุน (หนีตาย)
“ลองคิดดูซิ! ถ้าไม่มีคนมาคอยรับซื้อหุ้น คุณจะขายหุ้นออกไปได้อย่างไร ในขณะที่คนส่วนใหญ่ขายหุ้นอาจจะมีคนส่วนหนึ่งเข้าไปช้อนซื้อของถูก ซึ่งคนกลุ่มนี้ ในที่สุดจะได้กำไร และคนส่วนใหญ่ที่แห่ขายจะขาดทุน”
นักคิดแห่งล้านนา ยกตัวอย่างวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 จอร์จ โซรอส เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทด้วยวิธีการ “เทขายเงินบาท” อย่างหนัก แต่ก่อนหน้านั้นธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เป็นฝ่ายเข้าไปซื้อเงินบาทไว้ก่อนแล้ว หรือกรณีบริษัทขนาดใหญ่ (ในกลุ่ม ปตท.) เมื่อปลายปี 2551 ขาดทุน Stock Loss หลังจากราคาน้ำมันปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เพราะเข้าไปซื้อน้ำมันล่วงหน้าไว้หรอกหรือ ถึงขาดทุน
“นี่ไม่ใช่ทฤษฎีผู้มีอำนาจคุมตลาด (Big Brother) แต่เป็น “ความจริง” อยู่ในมุมเล็กๆของกลไกตลาด ที่คนส่วนใหญ่มักมองข้าม ถ้าคิดจะทำกำไรในตลาดหุ้น คุณจะต้องเป็นคนส่วนน้อยของตลาดที่ต้องคิดต่างไปจากคนส่วนใหญ่ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักบอกว่าลงทุนด้วยเหตุผลต่างๆ เราก็ต้องลงทุนโดยไม่ใช้เหตุผลที่เหมือนกับคนส่วนใหญ่”
พิชัยเสริมว่าแนวคิดนี้ใกล้เคียงกับการลงทุนของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่บอกว่า การเก็งกำไรจากตลาดหุ้นทำได้ยากมาก วิธีการทำกำไรที่ดีที่สุดคือการค้นหาหุ้นคุณค่าที่ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงแล้วถือให้ยาว และไม่แห่ลงทุนตามกระแส
บทสรุปของวิธีคิดนี้คือ จงกล้าในขณะที่คนส่วนใหญ่กลัว และจงกลัวในขณะที่คนส่วนใหญ่กำลังฮึกเหิม คำพูดนี้คือ “สัจธรรม” ในตลาดหุ้น เพราะฉะนั้นจงเป็น “คนส่วนน้อย” เพื่อจะเป็น “ผู้ชนะ” ในตอนจบ
ทฤษฎีผลประโยชน์ตลาดหุ้น ในมุม..พิชัย จาวลา
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2552
เพิ่มเติมครับ
####
ทำนาย SET Index 1,000 จุด ในปี 2554
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
พิชัย จาวลา..ไม่ใช่นักลงทุนที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงกำลังเปลี่ยนแปลงตัวมันเองโดยไม่ฝืนธรรมชาติ
มาร์เก็ตติ้งกำลังจะมีลูกค้าลดลงเรื่อยๆ เพราะปัจจุบันนักลงทุนรุ่นใหม่ 22% ซื้อขายหุ้นผ่านอินเทอร์เน็ต และคนส่วนใหญ่เล่นหุ้นสั้นลงรวมถึงกองทุนที่เปลี่ยนบทบาทเป็นนักเก็งกำไรเสียเอง
ขณะที่รัฐบาลตั้งเป้ามาร์เก็ตแคป 130% ของจีดีพี และส่งเสริมให้ประชากรของประเทศเข้าถึงตลาดหุ้นเพิ่มจาก 2.4% เป็น 5% ภายใน 5 ปี แต่ไม่มีใครรับประกันได้ว่านักลงทุนหน้าใหม่ที่เข้ามาแสวงหาความร่ำรวยในตลาดหุ้นจะไม่ “ตกเป็นเหยื่อ” นโยบายผลักดันตลาดหุ้นให้มี “มาร์เก็ตแคป” ใหญ่กว่า “จีดีพี” ของประเทศ ในแง่ “มหภาค” อาจเป็นแนวทางที่ถูกต้องแต่ในมิติ “จุลภาค” ก็เท่ากับเพิ่ม “ปลาซิวในมหาสมุทร” มากขึ้น
ถึงพิชัยจะชอบ “ทวนกระแส” อยู่ข้างคนส่วนน้อย แต่เขาก็ไม่ “ขวางกระแส” และมองโลกในแง่ดี โดยเฉพาะ SET Index นับต่อจากนี้ เขาทำนายว่า ดัชนีที่ขึ้นมารอบนี้ 758.55 จุด เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2552 ยังไม่ใช่ “จุดสูงสุด” เพราะเหตุการณ์ในตอนนี้ยังคลุมเครือมีทั้งเรื่องดีเรื่องร้ายปนๆกันอยู่
ตลาดหุ้นรอบนี้ยังน่าจะขึ้นได้ไปจนถึง 800-900 จุด และพอเศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่ข่าวดีต่างๆ จะไหลเข้าตลาดหุ้น SET Index ก็จะ “ปรับตัวลง” ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะขึ้นถึง “จุดสูงสุด” 1,000 จุด ในปี 2554 พร้อมกับราคาอสังหาริมทรัพย์จะปรับตัวขึ้นแรงอีกครั้ง
เขาเล่าว่า พอร์ตลงทุนส่วนตัวตอนนี้มีอยู่ 10-20 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะลงทุน “หุ้นบลูชิพ” ในกลุ่มพลังงานกับธนาคารพาณิชย์ เพราะมีทิศทางขึ้นลงตามดัชนี แต่หุ้นตัวเล็กก็มีติดพอร์ตบ้างเหมือนกัน จะเน้นหุ้นที่คนอื่นมักมองข้าม ตลาดหุ้นบ่อยครั้งจะขึ้นอยู่กับอารมณ์มากกว่าเหตุผล หุ้นบางตัวพื้นฐานแย่แต่ขึ้น(มีเจ้ามือดัน) แต่หุ้นพื้นฐานดีหลายตัวกลับไม่ค่อยขึ้น
สำหรับประสบการณ์ลงทุนโดยใช้ทฤษฎีที่คิดค้นขึ้นมา เขาบอกว่า ช่วงปี 2537 ตอนนั้น SET Index วิ่งผ่านจุดสูงสุดที่ 1,700 จุดและมาเคลื่อนไหวที่ 1,300-1,500 จุด ตอนนั้นเริ่มขายหุ้นออกไปจนหมดเพราะมองว่าตลาดจะเป็นขาลงในไม่ช้า
“ผมเริ่มกลับเข้าตลาดหุ้นอีก ครั้งตอน SET Index ลงมาเหลือ 300-400 จุด แต่ช่วงหลังวิกฤติพอร์ตก็นิ่งๆ อยู่นานหลายปีเพราะเศรษฐกิจผันผวนคาดเดาทิศทางลำบาก พอมาถึงปี 2549 ตลาดหุ้นเริ่มขึ้นก่อนจะขึ้นไปใกล้เคียง 900 จุด เป็นจุดสูงสุดครั้งสุดท้าย ตอนนั้นผมทำนายล่วงหน้าไว้ในหนังสือแล้วว่าตลาดหุ้นจะลงแรงจากการเข้าเก็งกำไรของต่างชาติและราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และเริ่มทยอยขายหุ้นหมดพอร์ตไปตั้งแต่ดัชนี 800 จุด”
ถ้าใครสังเกตช่วงที่หุ้นอยู่ใกล้ๆ 900 จุด ตลาดหุ้นมีแต่ข่าวดีเต็มไปหมด ทั้งที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นไปตลอด จริงๆช่วงอย่างนี้แหละ “น่ากลัวที่สุด”
พอถึงเดือนตุลาคมปี 2551 ช่วงที่หุ้นตกหนัก พิชัยบอกว่า เริ่มเข้าเก็บหุ้นตั้งแต่ดัชนีลงมาแถว 500 จุด ไล่ซื้อลงมาถึง 400 จุด เพราะมั่นใจว่าช่วงเวลานั้นต้องมีคนกลุ่มหนึ่ง (ที่คิดต่างจากคนส่วนใหญ่) เข้าไปเก็บหุ้นไว้แล้ว ถึงตอนนี้ก็ยังถือหุ้นราคาถูกไว้บางส่วนเพราะมั่นใจว่าซื้อหุ้นได้ต้นทุนต่ำ
“ถามว่าผมได้กำไรจากทฤษฎีนี้เท่าไรมันไม่ได้มากเพราะพอร์ตผมไม่ใหญ่ แต่ผมไม่ขาดทุนหนักๆอีกแล้ว ที่สำคัญอยากให้นักลงทุนรายย่อยรู้เท่าทันจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อง่ายๆ”
พิชัยยังนำแนวคิดทฤษฎีผลประโยชน์ไปใช้ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตัวเอง เขากำลังจะเปิดโรงแรมแห่งใหม่ที่กรุงเทพฯ เหตุผลเพราะซื้อที่ดินได้ในราคาไม่แพงในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี และเลือกลงทุนในพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ เพราะมองว่าราคาที่ดินเขตใจกลางเมืองเช่นแถวสุขุมวิท “ราคาเฟ้อ” เกินความจริง จากการเก็งราคาของคนส่วนใหญ่
“ผมคิดว่าสูตรการทำธุรกิจกับลงทุนหุ้นให้สำเร็จมีความใกล้เคียงกันคือ ต้องพิจารณาจาก “ตัวเล่น” และ “จังหวะเวลา” การทำธุรกิจต้องการเหตุผลมากกว่าและมีโอกาสเติบโตเอาชนะเศรษฐกิจได้โดย ปัจจัยเรื่องของเวลาเป็นเรื่องรอง แต่ตลาดหุ้นคุณต้องเลือกให้ถูกทั้ง “ตัวหุ้น” และ “จังหวะเวลา” ซึ่งบ่อยครั้งตลาดหุ้นมักใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล” นี่หรือไม่คือ “เสน่ห์” ของตลาดหุ้น ที่ล่อแมลงเข้ามาดอมดมอย่างไม่รู้จบสิ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเปลี่ยนแปลงตัวมันเองตามธรรมชาติ เหรียญยังมีสองด้านฉันใด..ความจริงที่เรามองเห็นอาจเป็นเพียงภาพลวงตาก็เป็นไปได้
ผมได้อ่าน “เศรษฐศาสตร์แห่งความจริง” ของคุณพิชัย แล้ว (พิมพ์ครั้งที่ 3) มีบางบทในหนังสือที่คุณพิชัยทำนายอนาคตผิด เรื่องว่า คนอเมริกันรู้ล่วงหน้าแล้วว่า ตลาดหุ้นจะร่วงมากและจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เมื่อเรียนรู้จากประเทศในเอเชียแล้วจึงหาทางป้องกัน โดยทำนายว่าจะไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นในสหรัฐอเมริกา (แต่คุณพิชัยคาดผิด เพราะได้มองคนอเมริกันในแง่ดีเกินไป โดยไม่คาดคิดว่า คนอเมริกัน สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ในอเมริกา ก็จัดอยู่ในประเภท mass ด้วย และจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม การกระทำและการแก้ปัญหาของสถาบันการเงิน ของรัฐบาลสหรัฐ และประชาชนทั่วไปซึ่งสุดท้ายนำไปสู่วิกฤต ได้เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ทำไว้ก่อนหน้านั้น โดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง) แต่เนื้อหาส่วนอื่น ๆ นอกนั้นให้แง่คิดที่ดีมาก และผมเห็นด้วยที่ว่า mass คือผู้ที่ขาดทุนตลอด เป็นหนังสือที่มีประโยชน์มากครับ ในปัจจุบันผมเองได้เริ่มประยุกต์ใช้แนวคิดนี้ในการลงทุนจริงของผมแล้ว ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถติดตามได้ที่
http://thailandstockinvestment.blogspot.com
และศึกษาการหาจังหวะลงทุนจากวีดีโอสอนฟรี ที่
http://sites.google.com/site/freetechnicalanalysistutorial
ทฤษฎีนี้น่าสนใจหากเอามาใช้ได้ถูกจังหวะ ผมเห็นการสัมภาษณ์พิชัยทาง money channel เลยลองหาบทความมาอ่านดู ทำให้รู้อย่างนึงว่า “เมื่อตลาดไม่ดี ทุกคนต่างเทขาย แล้วใครซื้อ” ส่วนเรื่องทำนายอนาคตนั้น ถูกก็เสมอตัว ผิดก็ถูกตำหนิ ไม่มีใครทายถูกเสมอไป อันนี้ผมเข้าใจครับ หากทุกท่านสนใจเริ่มลงทุน ลองเข้าไปโหลด E-book ความรู้เกี่ยวกับการลงทุน, การออม, การเกษียณ, ฯลฯ ได้ตามลิงค์ข้างล่างครับ
http://www.ziddu.com/download/8901641/investing-class.rar.html