ในหนังสือเล่มแรกของผม ผมใช้เวลาพอสมควรในการอธิบายว่าผมมีวิธีการวิเคราะห์การเทรดจาก “ภาพใหญ่” ลงไปจนถึงรายละเอียดในภาพเล็กอย่างไรบ้าง
นี่เป็นวิธีที่ผมใช้คัดเลือกหุ้นที่จะเทรด จากนั้นจึงกำหนดจุดซื้อของผม
โดยผมจะเริ่มจากแนวโน้มระยะยาวของหุ้น ซึ่งผมต้องการให้มันเป็นขาขึ้นอยู่เสมอ จากนั้นจึงมาตรวจสอบกราฟในปัจจุบันและปัจจัยพื้นฐานของหุ้นตัวนั้น
หลังจากนั้น ผมจะวิเคราะห์เจาะลึกพฤติกรรมราคาและวอลุ่มของหุ้นในช่วงที่ผ่านมาล่าสุด ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ผมกำหนดจุดเข้าซื้อที่เฉพาะเจาะจงได้
ในส่วนของการขายหุ้นก็จะมีขั้นตอนแบบเดียวกัน คุณจะต้องมีมุมมองในภาพรวมซึ่งเริ่มต้นด้วยการดูภาพใหญ่ของหุ้น
จากมุมมองในภาพรวม คุณเริ่มพิจารณารายละเอียดและเข้าใจพฤติกรรมของราคาหุ้นในปัจจุบัน
หากคุณขาดมุมมองในภาพรวม ก็มีความเสี่ยงสูงที่คุณจะตกเป็นเหยื่อของความกลัวและอารมณ์ต่างๆ ของคุณเอง
คุณจะนึกในใจว่า “ถ้าผมขายตอนนี้แล้วดันขายหมูล่ะ? (ขายเร็วเกินไป)”
หรือคุณจะทำเพียงแค่รอโดยไม่มีเหตุผลเพียงเพื่อพยายามขายให้ได้กำไรมากที่สุดแม้จะไม่กี่ช่องก็ตาม แล้วก็มาเสียใจทีหลังว่า “โธ่ ทำไมผมไม่ขายมันไปตั้งแต่แรก?”
ซึ่งเป็นไปตามที่ผมกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ความกลัวและความรู้สึกเสียดายนั้นจะเป็นแรงขับดันให้เราเกิดอารมณ์เวลาที่เทรดหุ้น
นอกเหนือจากการตรวจสอบแนวโน้มระยะยาวและรูปแบบกราฟในปัจจุบันแล้ว คุณจะต้องมีแนวทางและกฎที่เกิดจากการคำนวณสถิติต่างๆของคุณเอง
ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้ถูกต้อง 100% ทุกครั้งก็ตาม แต่อย่างน้อยมันก็จะให้แนวคิดคร่าวๆว่าคุณควรจะขายทำกำไรตอนไหน เพื่อรักษาแต้มต่อหรือจุดแข็งในการเทรดของคุณเอาไว้
ตัวอย่างเช่น สมมติว่าคุณตั้งจุด stop loss ไว้ที่ 8% เพื่อควบคุมความเสี่ยง (ซื้อหุ้นที่ราคา 100 เหรียญ และตั้งจุด stop loss ไว้ที่ 92 เหรียญ)
ถ้าหุ้นวิ่งขึ้นไป 5-6% หรือในตัวอย่างนี้คือราคา 105-106 เหรียญ คุณจะขายหุ้นเลยไหม?
สำหรับคนจำนวนมากนั้นคำตอบคือ “ขาย” เพราะอะไรน่ะหรือ?
มันเป็นเพราะว่าพวกเขากลัว พอมีกำไรเพียงเล็กน้อยพวกเขาก็พอใจที่จะขายมัน และเลือกทำกำไร 5-6 เหรียญ
โดยไม่แม้แต่จะคิดถึงเรื่องอัตราส่วนผลตอบแทนต่อความเสี่ยง (reward/risk) เลยว่ามันจะสมเหตุสมผลหรือไม่
แต่คุณจะเสี่ยง 8% เพื่อทำกำไรแค่ 5-6% ไปทำไมกัน? นี่เป็นตัวอย่างที่ดีของการขายหุ้นเร็วเกินไปโดยไม่มีเหตุผลที่ดีมาสนับสนุน
และเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้เกิดความรู้สึกเสียดายตามมาทีหลัง
หรือลองดูอีกตัวอย่างของการตั้งจุด stop loss ไว้ที่ 8% ซึ่งหุ้นไม่เคยร่วงลงมาถึงเลย
เพราะหุ้นค่อยๆวิ่งขึ้นจาก 100 เหรียญไป 105 เหรียญ ขึ้นต่อไปยัง 110 เหรียญ และก็ขึ้นไปอีกจนถึง 125 เหรียญ
แบบนี้ถึงเวลาขายทำกำไรแล้วหรือยัง?
หากไม่มีกฎการขายหุ้นหรือเหตุผลที่ดีพอ คุณก็อาจชะล่าใจและเริ่มกล่อมตัวเองว่าหุ้น 100 เหรียญตัวนี้กำลังจะไปถึง 150 เหรียญ หรืออาจจะถึง 200 เหรียญเลยก็ได้
นี่เป็นอีกครั้งที่ความกลัวกำลังครอบงำคุณ แต่คราวนี้มันคือการกลัวตกรถ กลัวขายหมู และเริ่มมีความโลภมากเกินไป
คุณไม่ต้องการรู้สึกเสียดายทีหลัง ถ้าขายหุ้นไปแล้วแต่มันยังวิ่งขึ้นต่อจนทำให้สูญเสียกำไรที่ “น่าจะได้มา” ถ้าคุณถือมันไว้นานขึ้น
คุณจึงย้ำกับตัวเองว่าคุณถือหุ้นตัวนี้เพื่อลงทุนระยะยาว มันสามารถขึ้นได้อีกเป็นเท่าตัวหรืออาจจะสามเท่าเลยก็ได้
(เป็นอีกครั้งที่คุณคิดไปเอง โดยที่ไม่มีมุมมองในภาพรวมหรือการพิจารณาในเชิงคณิตศาสตร์)
ทุกๆช่องที่ราคาหุ้นขึ้นทำให้คุณหลงใหลไปกับผลกำไรที่เพิ่มขึ้น จนคุณไม่สามารถคิดอะไรอย่างอื่นได้เลยนอกจากคิดแค่ว่า “หุ้นตัวนี้จะขึ้นไปเรื่อยๆได้ถึงไหนกันนะ”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คุณไม่ได้ตระหนักก็คือหุ้นตัวนี้ไม่ได้เพิ่งเริ่มขาขึ้นครั้งแรกของมัน
ความจริงแล้ว มันอยู่ในระยะท้ายๆ ของการวิ่งขึ้นมาหลายระดับซึ่งกำลังจะจบรอบและใกล้ถล่มลงมา
การร่วงครั้งแรกนั้นรุนแรงพอสมควร จาก 120 เหรียญลงมาถึง 108 เหรียญ
คุณเริ่มตื่นตระหนก แต่ก็ยังบอกตัวเองว่าคุณจะขายเมื่อมันเด้งกลับขึ้นไปใหม่ เพียงแต่ว่าหุ้นตัวนั้นไม่เด้งกลับไปถึง 120 เหรียญอีกเลย
มันกลับร่วงลงอย่างต่อเนื่องในขณะที่คุณยังถือมันไว้ พร้อมความหวังที่ค่อยๆเลือนรางว่ามันจะกลับตัวแล้วเด้งขึ้นใหม่ได้
จนกระทั่งคุณยอมแพ้และขายหุ้นโดยเหลือกำไรเพียงเล็กน้อย หรือเลวร้ายกว่านั้นคือ กลับมาขาดทุน
หากพูดกันตรงๆ ความกลัวสามารถทำให้คุณดูโง่ได้
การกลัวว่าจะสูญเสียกำไรเล็กๆ ที่มีในตอนแรก ทำให้คุณขายหุ้นเร็วเกินไป
และการกลัวว่าจะขายหมู ก็ทำให้คุณถือหุ้นไว้นานเกินไป
อัตตาหรืออีโก้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เพราะว่าคุณต้องการที่จะ “ถูก”
ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่มันมักจะเพิ่มโอกาสที่คุณจะ “ผิด” มากขึ้นกว่าเดิม
…
*ตัวอย่างจากหนังสือ Think & Trade Like a Champion ภาษาไทย