หนึ่งในข้อผิดพลาดที่เกิดกับนักลงทุนส่วนใหญ่คือ การที่เราถือหุ้นมานานแล้วแต่ไม่ได้หาโอกาสเก็บกำไร
พอตลาดเริ่มปรับฐานแรงหรือแนวโน้มเป็นขาลงก็ปล่อยให้กำไรหายไปจนหมด
บางคนจากที่เคยได้กำไรก็อาจพลิกกลับกลายเป็นขาดทุนเลยด้วย
ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นการเสียโอกาสพอสมควร และชี้ให้เห็นว่าเรายังไม่มี exit strategy หรือกลยุทธ์การขายเพื่อรักษากำไรที่ดีพอ
กล่าวคือ แทนที่เราจะพยายามรักษากำไรที่ได้มาเอาไว้ แล้วรอจังหวะดีๆเพื่อนำไปลงทุนในหุ้นตัวอื่น หรือรอเล่นหุ้นตัวเดิมก็ได้ถ้าแนวโน้มธุรกิจยังดีอยู่
แต่เงินลงทุนของเรากลับจมอยู่กับหุ้นตัวเดิมที่ราคาผ่านจุด peak ไปแล้ว (ในช่วงเวลานั้น)
จากนั้นก็ทำได้แค่รอให้ราคากลับมาที่เดิม หรืออาจต้องยอมตัดขาดทุนไปเมื่อเห็นหุ้นตัวอื่นที่ดีกว่า
ปัจจัยอีกอย่างที่ทำให้เราควรฝึกฝนการเก็บกำไรก็คือ ลักษณะของตลาดหุ้นในช่วงหลังมานี้ถือว่าไม่ง่ายเหมือนช่วงฟื้นตัวหลังวิกฤตใหญ่ปี 2008 หรือหลังโควิด 2020 ที่แค่ถือหุ้นเฉยๆแล้วราคาจะขึ้นไปได้เรื่อยๆเอง
หรือเวลาตลาดปรับฐานราคาหุ้นก็จะลงไม่แรงมาก รอซักหน่อยเดี๋ยวก็ new high แล้ว
เพราะธรรมชาติของตลาดหุ้นนั้น เวลาที่หุ้นเลิกเล่นหรือจบรอบขาขึ้นใหญ่ ก็มักจะปรับฐานแรงเป็นปกติ
ราคาหุ้นสามารถตกลงในระดับ 20-30% ภายในไม่กี่สัปดาห์ หรือบางตัวถ้าเป็นขาลงใหญ่จะลงมากกว่านั้น
ถ้าเราไม่มีจุด exit เพื่อเก็บกำไรที่ได้เอาไว้ กำไรที่ได้มาตอนแรกก็มักจะหายไปอย่างรวดเร็ว
และยังทำให้รู้สึกเหมือนเหนื่อยฟรีเพราะตลาด-ราคาหุ้นร่วงลงมาที่เดิม
.
“ในช่วงที่ตลาดเป็นขาขึ้น โดยเฉพาะเวลาที่ตลาดกำลังบูมมากนั้น คนส่วนใหญ่มักจะได้กำไรกันในช่วงแรกๆ ก่อนจะสูญเสียมันไปหมดหรือกลับมาขาดทุน เพียงเพราะเพลิดเพลินอยู่ในตลาดนานเกินไป”
– Jesse Livermore
.
“เหล่านักลงทุนผู้ละเลยสิ่งที่ตลาดพยายามจะบอกหรือส่งสัญญาณออกมา มักจะต้องจ่ายค่าบทเรียนราคาแพง ในขณะที่นักลงทุนที่สามารถแยกแยะสัญญาณต่างๆทั้งที่ปกติหรือไม่ปกติได้นั้น มักจะรู้สึกดีต่อตลาดมากกว่าคนส่วนใหญ่ เพราะพวกเขาสามารถเข้าใจตลาดได้เป็นอย่างดี”
– William O’neil
.
จากคำกล่าวของเซียนหุ้น เราสามารถวิเคราะห์และได้แนวคิดเรื่องนี้หลายอย่างครับ
– ก่อนจะซื้อ-ขายหุ้น เราต้องตรวจสอบภาวะตลาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะหลังจากที่ตลาดขึ้นมาไกล ไม่ได้อยู่ต่ำและเล่นง่ายเหมือนช่วงก่อนแล้ว
– เมื่อตลาดเริ่มไม่ดี ต้องหยุดเล่นให้เป็น กล้าถือเงินสดมากขึ้น
– ศึกษากราฟ หรืออย่างน้อยก็ควรศึกษาเรื่องภาวะตลาดเอาไว้ เพื่อดูภาพใหญ่ของตลาดว่าเป็นอย่างไร จะได้รู้ว่าช่วงนี้เราควรกล้าหรือควรระวังกันแน่
– เมื่อซื้อหุ้นแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อมาก็คือ วางแผนว่าจะ stop loss ตรงไหน
และหากหุ้นขึ้นไปเรื่อยๆจนมีกำไรพอสมควรแล้ว ก็ต้องวางแผนว่าจะ exit หรือ take profit ตรงระดับไหน
ซึ่งจุดนี้ก็แล้วแต่ว่าเราเป็นนักลงทุนประเภทไหน มันไม่ตายตัวว่าการตั้ง stop loss คือการที่เราต้องรีบขายเร็วเสมอไป
เราจะเลือกถือยาวแล้วใช้ stop ตามภาพใหญ่ หรือ MA ระยะยาว เพื่อเก็บกำไรก้อนโตก็ได้เช่นกัน
– การรักษากำไรและเงินต้นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าหุ้นทำตัวผิดปกติหรือหลุดจุด stop เราต้องกล้าขายตามแผน
อย่ามี ego หรือคิดว่าหุ้นเราพื้นฐานดีมากคงลงได้ไม่เยอะ
(บทเรียนเรื่องนี้มีให้เราเห็นเป็นประจำทุกปี)
– งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ไม่ว่าช่วงขาขึ้นหุ้นจะขึ้นได้กี่สิบเท่า แต่ในระยะยาวแล้วราคาหุ้นย่อมกลับมาหาสมดุลตามปัจจัยพื้นฐานเสมอ
– เมื่อได้กำไรมา อย่าเพลิน อย่าเหลิง เพราะจะถูกตลาดเอาคืนเมื่อไหร่ก็ได้
– พยายามหาเหตุผลว่าทำไมคนส่วนใหญ่จึงขาดทุน แล้วอย่าทำแบบนั้น (วิเคราะห์จิตวิทยามวลชน)
…
เมื่อคุณเคยผ่าน cycle ขาขึ้นขาลงใหญ่ของตลาดมาครบรอบแล้ว คุณจะเริ่มเข้าใจว่าเป้าหมายที่แท้จริงของคุณคือ การเก็บกำไรในช่วงที่ดีเอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
.
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะคืนกำไรให้ตลาดมากกว่าที่ควรจะเป็น
หลายคนจากที่เคยกำไรก็กลายเป็นขาดทุนอย่างหนัก จนถึงขั้นต้องออกจากตลาดเลยด้วย
.
พวกเขาเพียงแค่ซื้อหุ้นเพราะคิดว่าบริษัทนั้นดี และซื้อเพิ่มอีกเรื่อยๆ จากนั้นก็นั่งเฉยๆ ไม่สนใจไม่ทำอะไร
มีความสุขกับกำไรกระดาษในพอร์ตของตัวเองในช่วงที่ตลาดยังคงดีอยู่
.
ซึ่งการมีกำไรกระดาษหรือในพอร์ตนั้น แตกต่างกับการขายและเก็บกำไรที่เป็นตัวเงินจริงๆออกมาอย่างมาก
พวกเขาไม่ได้รู้ความเป็นจริงของตลาดเลยว่า สุดท้ายแล้วหุ้นส่วนใหญ่ก็จะต้องมีช่วงที่จบรอบ ร่วงลงมา และทำให้กำไรที่เคยมีนั้นหายวับไปหมด ก่อนที่จะทันรู้ตัวว่าเกิดอะไรขึ้น
.
แต่หากคุณมีทักษะในการดูภาวะตลาด รวมถึงมีกฏการขายหุ้นที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าใช้ได้ผล คุณก็จะไม่คืนกำไรกลับไปมากนัก และสามารถปกป้องตัวเองได้เป็นอย่างดีในระยะยาว
– William O’neil , หนังสือ The Successful Investor
…
Blog 49 : ‘Overstaying Bull Market’ – กำไรหายเพราะอยู่นานเกินไป
27 มีนาคม 2015
1 thought on “Blog 49 : ‘Overstaying Bull Market’ – กำไรหายเพราะอยู่นานเกินไป”