“มูฮัมหมัด ยูนุส” นักแก้ปัญหาสังคมผู้ “แปลกแยก” : จีราวัฒน์ คงแก้ว

ถ้าพูดถึงนักเศรษฐศาสตร์ที่เป็น Idol ของผม ต้องยกให้คนนี้เลยครับ ‘มูฮัมหมัด ยูนุส’

เพราะเค้าเป็นตัวอย่างของนักเศรษฐศาสตร์ไม่กี่คน ที่กล้าคิดต่างจากทฤษฎีและตำราเก่าๆ พัฒนาสิ่งใหม่ จนสามารถช่วยเหลือคนยากจนได้จำนวนมากในแบบที่เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก(หรือตามตำรา) ไม่สามารถทำได้

ผมได้ลงบทความเกี่ยวกับ ยูนุส เอาไว้หลายเรื่องในเวบ ถ้าสนใจให้เลื่อนลงไปอ่านต่อที่ Related Posts ด้านล่างบทความนะครับ

####

เขาคือคนแปลกแยก ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับชาวโลก ในวันนี้ แรงบันดาลใจเดียวกัน ถูกส่งถึงหัวใจคนไทยเพื่อเรียนรู้มุมคิดดีๆ ผ่านเรื่องเล่าจากตัวเขา 

“ธนาคารกรามีนตั้งขึ้นมา บนแนวคิดง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ผมไม่สามารถคิดอะไรที่ซับซ้อนได้ สิ่งที่ทำคือ ไปดูว่าธนาคารโดยทั่วไปเขาทำกันอย่างไร แล้วผมจะทำตรงข้าม… ถ้าธนาคารให้กู้กับคนรวย ผมจะให้กู้กับคนยากจน” 

หนึ่งในถ้อยปาฐกถา ของ “ศาสตราจารย์ มูฮัมหมัด ยูนุส” เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพและผู้ก่อตั้งธนาคารกรามีน ที่แบ่งปันผู้ร่วมสัมมนาในเวทีธุรกิจเพื่อสังคม : แบบจำลองธุรกิจใหม่เพื่อสหัสวรรษใหม่ ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และสมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

ใครหลายคนให้คำจำกัดความเขาสั้นๆ ว่า “แปลก” ความแปลกจากการคิดไม่เหมือนใคร มองว่าเขาไม่มีเหตุผล แต่ลองถาม ศ.ยูนุส สิ่งที่ทุกคนจะได้คำตอบกลับมาอาจเป็นเพียงการย้อนถามว่า “ใครกันแน่ที่ไม่มีเหตุผล?” 

“ธนาคารเป็นสถาบันที่แปลกมาก คือสร้างมาเพื่อให้เงินกู้กับคน แต่ที่น่าตลกกลับเป็นการให้กู้กับคนที่มีเงินอยู่แล้ว และปฏิเสธที่จะให้กู้กับคนที่ไม่มีเงิน ทำไมต้องพยายามหาคนกู้ที่รวยอยู่แล้ว เพื่อให้พวกเขาได้ต่อเงิน สร้างรายได้ แทนที่จะให้คนซึ่งไม่มีเงิน สำหรับผม นี่ต่างหากที่ไม่มีเหตุผล” 

เพื่อพิสูจน์ความเชื่อของตัวเอง ที่ดูสวนทางกับความเชื่อของนักการธนาคารคนอื่นๆ ในปี พ.ศ. 2526 เขาจึงได้ก่อตั้งธนาคารกรามีนขึ้น และทดลองให้สินเชื่อแก่คนยากจนบนวิธีคิดง่ายๆ คือ ปล่อยเงินกู้จำนวนเล็กน้อยให้แก่คนยากจนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงโดยไม่ต้องใช้หลักประกัน เพื่อนำไปทำงานสร้างรายได้ ช่วยให้หลีกพ้นจากความยากจน 

“ยิ่งจนมาก ก็ต้องได้กู้มาก” วิธีคิดแบบกรามีน ที่นายธนาคารทั่วไปคงได้แต่นั่งส่ายหัว

ทำไมต้องเริ่มต้นที่ “ผู้หญิง” สำหรับบังกลาเทศก็เจอปัญหาไม่ต่างจากหลายๆ ประเทศ ที่เพศหญิงมักถูกกดขี่อยู่เสมอ ผู้หญิงจึงขาดความมั่นใจ ขาดความหวัง

พวกเขาจึงอยากฟื้นความมั่นใจของผู้หญิง

“เราจะพูดกับผู้หญิง พวกเธอนี่แหละที่เป็นคนสำคัญของครอบครัว เราต้องสร้างความมั่นใจให้เธอ เพราะที่ผ่านมา ผู้หญิงถูกดึงความมั่นใจไปหมด ผู้คนบอกว่าเธอเป็นเด็กผู้หญิง ทำให้ครอบครัวแย่ ผู้หญิงรู้สึกว่าเธอไม่ควรเกิดมาเลย เหมือนไม่มีตัวตน เราต้องขจัดความกลัวนี้ เพื่อที่วันหนึ่งเธอจะมีความหวังขึ้นมาจากการกู้เงินไปเปลี่ยนชีวิต”

ศ.ยูนุส เชื่อว่า เงินที่ปล่อยกู้ออกไป จะไปจุดไฟในตัวผู้หญิงและคนยากจน สำหรับเขา มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพไม่สิ้นสุด เพียงแต่ที่ผ่านมาสังคมไม่เคยมองศักยภาพของพวกเขาเท่านั้น

“สิ่งที่ทำให้ใครเป็นอย่างไร อยู่ที่สภาพแวดล้อมรอบตัวเขา เหมือนบอนไซ ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ของต้นไม้ใหญ่ แต่พอเราเอาไปใส่ไว้ในกระถางเล็กๆ จำกัดการเติบโต พวกมันก็เล็กตาม เมล็ดพันธุ์ไม่สามารถเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ได้ เช่นเดียวกับคนยากจน ที่เขาต้องเป็นเช่นนั้น อาจเพราะสังคมไม่มีพื้นที่ให้เขาเติบโตก็เป็นได้” 

เพราะเชื่อว่าคนจนไม่ใช่สาเหตุของความยากจน เขาจึงพยายามดึงคนเหล่านี้ให้หลุดพ้นจากความแร้นแค้น ไม่ใช่ด้วยวิธีคิดของธนาคาร แต่เป็นวิธีคิดแบบ “กรามีน” ผ่านมากว่า 3 ทศวรรษ ธนาคารกรามีนก็ยังอยู่ และแนวคิดนี้ ก็ถูกกระจายไปทั่วโลก กลายเป็นธนาคารเพื่อคนจนต้นแบบ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนบนโลกได้ดำเนินรอยตาม 

ในปี พ.ศ. 2551 ธนาคารกรามีน ได้รับคำเชิญให้ไปเปิดสาขาที่ “นิวยอร์ก” หลายคนไม่เชื่อว่าทำได้ แต่เขาบอกว่า

“คนยากจนที่ไหน ก็มีประเด็นปัญหาแบบเดียวกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะในบังกลาเทศหรือนิวยอร์ก”

จนปัจจุบันมีถึง 4 สาขาในนิวยอร์ก โดยที่ไม่มีลูกหนี้แม้แต่รายเดียว ที่ผิดชำระหนี้

“กรามีน ยูเอสเอ” ยังถือกำเนิดขึ้น ในวันที่เศรษฐกิจของสหรัฐยังคงหอมหวาน โดยที่ไม่รู้เลยว่าอีกไม่กี่อึดใจ สหรัฐต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจแสนสาหัส สถาบันการเงินขนาดใหญ่ ที่ไม่น่าจะล้มได้ กลับเหลือแต่ความว่างเปล่า ขณะที่ธนาคารกรามีนยังขยายตัวต่อไปได้ 

“ใครกันแน่ที่มีเครดิต น่าให้กู้ แล้วใครกันแน่ที่ไม่สามารถคืนเงินกู้ได้ ถามว่าหลักประกันมีดีอะไร เพราะคนรวยเอาหลักประกันมาวาง แต่ไม่มีประโยชน์ ถ้าเราไม่สามารถทำให้เขานำหลักทรัพย์มาจ่ายเราได้” 

คำถามของ ศ.ยูนุส เหมือนการตอกหน้าใครหลายคนอย่างจัง สิ่งที่ทุกคนเคยสงสัยในความคิดของเขา ในวันนี้ ก็คงได้คำตอบนั้นแล้ว

ระหว่างที่ทุกคนกำลังย่ำแย่ ระส่ำระสาย และระมัดระวังตัวในการปล่อยกู้ แต่กับกรามีน พวกเขายังเดินหน้าให้กู้กับคนไม่มีเงิน จนขยายสาขาออกไปในหลายๆ เมือง กระทั่ง “โอมาฮา” บ้านเกิดของ “วอร์เรน บัฟเฟตต์”

“ไม่ว่าจะไปที่ไหน แม้แต่คนขอให้ไปเปิด เราก็ไม่เคยรีรอ เพราะใจไม่เคยบอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ยินดีจะทำให้ได้”

ศ.ยูนุส ได้ตั้งธนาคารกรามีน เพื่อเสนอแบบจำลองใหม่ที่เป็นการปฏิวัติการทำธุรกิจดั้งเดิม นั่นคือ “ธุรกิจเพื่อสังคม” (Social Enterprise) บริษัทที่ไม่ขาดทุนและไม่เอากำไร แต่อุทิศตัวต่อสังคม หรือที่เขาเรียกว่า การใส่ความมีมนุษยธรรมเข้าไปในการทำธุรกิจ 

“มนุษย์ถูกขับดันด้วยแรงปรารถนามากกว่าที่จะแค่ทำเงิน ธุรกิจเพื่อสังคมที่พึ่งพาตัวเองควรจะถูกสร้างขึ้นจากความปรารถนานี้”

ธุรกิจเพื่อสังคมสร้างขึ้นมาจากความไม่เห็นแก่ตัวของมนุษย์ เพื่อการแก้ปัญหาสังคมในแบบที่ยั่งยืนทั้งด้านการเงินและสิ่งแวดล้อม

วิธีคิดแก้ปัญหาสังคม โดยการใช้รูปแบบของธุรกิจมาทำให้เกิดความยั่งยืน ถูกกระจายออกไปในหลายๆ ด้าน วันนี้เราจึงเห็นผลิตผลของกรามีนกรุ๊ป ที่ไม่ได้มีแค่ธนาคาร แต่ยังมี กรามีนโฟน (โทรศัพท์มือถือ), กรามีนชัคตี (พลังงานหมุนเวียน), กรามีนฟันด์ (กองทุนเพื่อสังคม), กรามีนเท็กซ์ไทล์, กรามีนเทเลคอม, กรามีนเฮลธ์แคร์, กรามีนฟาวเดชั่น, กรามีนชิคคา (การศึกษา), กรามีนคริชิ (การเกษตร), กรามีนฟิชเชอรี่ส์ และ กรามีนทรัสต์ เหล่านี้ เป็นต้น

และหลายครั้งที่ไม่ใช่การทำงานคนเดียว แต่เป็นการร่วมมือกับผู้ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน เขายกตัวอย่าง กรามีนดาน่อน การร่วมทุนระหว่าง กรามีน เฮลธ์แคร์ และ กรุ๊ปดาน่อนของฝรั่งเศส เพื่อผลิต”โยเกิร์ต”ที่มีคุณค่าทางอาหารให้แก่เด็กยากจนในบังกลาเทศ เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารอาหาร ซึ่งเป็นธุรกิจที่ขยายตัวอย่างมาก

“ถ้ามีโอกาสเราไม่ปฏิเสธที่จะทำ ถ้ารอแค่หวังพึงรัฐบาลมาแก้ไข คงไม่มีทางที่จะแก้ได้ ดังนั้น หลักการคือประชาชนทุกคนต้องร่วมกันไม่สร้างปัญหา และใช้แนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมนี้”

นี่คือวิธีคิดของ ศ.ยูนุส ที่นิตยสารฟอร์จูนขนานนามว่าเป็น 1 ใน 12 ผู้ประกอบการที่ยิ่งใหญ่แห่งยุค มีรางวัลชื่นชมผลงาน นับไม่ถ้วน 

ถึงวันนี้ยังมีใครกล้าบอกว่า เขาแปลก หรือไม่มีเหตุผล อีกหรือเปล่า? 

“มูฮัมหมัด ยูนุส” นักแก้ปัญหาสังคมผู้ “แปลกแยก”

โดย : จีราวัฒน์ คงแก้ว

กรุงเทพธุรกิจ

24 พฤษภาคม 2555

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.