มาถึงโค้งสุดท้ายของการจัดสรรคลื่นความถี่ 3G เป็นข้อถกเถียงกันมากในเรื่องราคาคลื่นความถี่ที่เหมาะสม นักวิชาการกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นส่วนน้อยแต่อาจได้รับความสนใจจากสื่อยืนยันว่า เป็นโอกาสที่ต้องเก็บเงินเข้ารัฐมากที่สุด นักวิชาการส่วนมากทั้งในและนอกประเทศต่างไม่ได้เห็นอย่างนั้น แต่กลับมองว่าราคาควรถูก เพื่อเพิ่มความสามารถของผู้ประกอบการในการให้บริการ 3G ให้ทั่วถึงและมีราคาต่ำ เพื่อประโยชน์ของประเทศในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
สำหรับนักวิชาการที่เคยวิเคราะห์และให้ความเห็นว่า ราคาคลื่นความถี่ควรมีราคาต่ำ เพื่อนำเงินทุนไปใช้พัฒนาโครงข่ายและบริการมากกว่า ได้แก่ คุณอรุณ จิรชวาลา อดีตกรรมการผู้จัดการ ธ.นครหลวงไทย ผู้เคยสอบได้ที่หนึ่งของประเทศไทย และยังเป็นนักเรียนทุนของในหลวง, คุณไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไทย กรรมการผู้จัดการ บล.ทิสโก้, รศ.ดร.บวร ปภัสราทร คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ม.พระจอมเกล้าธนบุรี และ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ อดีตรองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์
และสำหรับสถาบัน NIDA ได้รับเงินทุนสนับสนุนให้ศึกษาวิจัยเรื่องการออกใบอนุญาต 3G รวมถึงราคา ได้แก่ รศ.ดร.เอกชัย นิตยากษตรวัฒน์ อดีตคณบดีคณะบริหารธุรกิจ, รศ.ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา และ ผศ.ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ ก็ได้ผลวิจัยรายงานไปในแนวทางเดียวกันทั้งสิ้นว่าราคาใบอนุญาตควรมีราคาที่ต่ำ
นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการต่างชาติ คือ Prof.Craig Warren Smith อดีต Professor จาก Harvard University ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มีความเห็นทางวิชาการจากประสบการณ์ของท่านในต่างประเทศว่า ราคาใบอนุญาตคลื่นความถี่ต้องมีราคาที่ไม่สูงเกินไป โดยควรสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำเงินทุนไปใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมากกว่า
กรณีของนักวิชาการ เป็นเพียงตัวอย่างที่สนับสนุนแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นรูปธรรมตามหลักวิชาการ นอกจากนี้ เราคงต้องดูตัวอย่างจากประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นในต่างประเทศด้วย
คงไม่ต้องพูดถึงกรณีของประเทศที่แจกใบอนุญาต 3G ให้ผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติฟรี เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการให้บริการ 3G ให้ทั่วถึงและมีราคาทั้งต้นทุนต่ำ รวมถึงค่าบริการที่ไม่สูง จนมีผู้ใช้บริการอย่างล้นหลามเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างแท้จริง
เมื่อเทียบกับบทเรียนราคาแพงของอังกฤษที่ตั้งราคาใบอนุญาตคลื่นความถี่ไว้สูงลิบให้ผู้ประกอบการต้องแข่งขันกันเข้าประมูลสู้ราคาให้สูงที่สุด จนท้ายที่สุดผู้ประกอบการต้องประสบกับปัญหาการเงิน จนกระทั่งไม่มีเงินในการขยายพัฒนาโครงข่าย และไม่สามารถให้บริการ 3G ได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น
ในส่วนของประเทศไทย เมื่อเราก้าวไปสู่ 3G ล่าช้ากว่าประเทศอื่นๆมากแล้ว จนประเทศอื่นเขาเริ่มให้ใบอนุญาต 4G กันแล้ว แต่อาจมีส่วนที่ดีหากเราดูประสบการณ์ของต่างประเทศ และนำมาใช้ประกอบการกำหนดหลักเกณฑ์ออกใบอนุญาต เพื่อให้การขยายโครงข่ายและพัฒนาประเทศมีประสิทธิภาพสูงที่สุด
หากพูดถึงประสบการณ์ในยุโรปอื่นๆที่แม้จะไม่ได้แจกใบอนุญาตให้ฟรี แต่ราคาใบอนุญาตก็มีราคาที่ต่ำมาก ทั้งๆที่ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ตลอดจนค่าครองชีพของประชากรสูงกว่าประเทศไทยมาก เช่น ประเทศฟินแลนด์ หลายคนในวงการโทรคมนาคมคงร้องอ๋อ เพราะผู้บุกเบิกในด้านโทรศัพท์มือถืออย่าง Nokia ก็มาจากประเทศนี้
ในปัจจุบัน หลายคนอาจจะตื่นเต้นไปกับ Smart Phone รุ่นใหม่ๆอย่างเช่น iPhone หรือ Blackberry แต่เจ้าแห่งตลาดที่แท้จริงก็ยังคงเป็น Nokia อยู่ ซึ่งทำให้ ฟินแลนด์ เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจโทรคมนาคมเป็นอย่างมาก เพราะอุตสาหกรรมนี้เป็นส่วนสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศ
โดยเมื่อเร็วๆนี้ ประเทศฟินแลนด์ได้มีการประมูลคลื่นความถี่ 4G โดยรัฐมีรายได้ทั้งสิ้น 150 ล้านบาท ซึ่งใบอนุญาตมีระยะเวลา 20 ปี และมีผู้ชนะการประมูล 4 ราย โดยเฉลี่ยแล้วใบอนุญาตราคาใบละ 40 ล้านบาท ทำให้ประชาชนของฟินแลนด์มีโอกาสได้ใช้เทคโนโลยี 4G ในราคาถูก ที่จะไม่มีการผลักดันภาระไปสู่ผู้บริโภค และเข้าทั่วถึงได้ทุกที่ มีผลในเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
เมื่อเราย้อนดูประเทศไทย ที่ขณะนี้จากร่างหลักเกณฑ์ของ กทช. มีการตั้งราคาขั้นต่ำไว้ที่ใบละ 10,000 ล้านบาท กับระยะเวลา 15 ปี และด้วยสูตร PQ-1 ของการประมูล พอประมูลจริงอาจทำให้ราคาใบอนุญาตสูงถึงใบละ 20,000 ล้านต่อรายก็เป็นได้ ซึ่งประเทศไทยควรต้องนำเอาประสบการณ์และตัวอย่างที่ดีของประเทศที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมเป็นตัวอย่าง
อย่าลืมว่า ฟินแลนด์ เป็นประเทศที่อุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือเป็นส่วนสำคัญของประเทศ หน่วยงานกำกับดูแลยังคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ใช้บริการเป็นหลัก ไม่ใช่กำหนดราคาใบอนุญาตให้สูงเพื่อนำเงินเข้ารัฐให้มากที่สุด
ตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการให้ราคาคลื่นความถี่ที่ราคาถูกยังมีอีกมากมาย นอกเหนือจากตัวอย่างที่คุ้นเคยกันในยุโรปและเอเชีย ยังมีตัวอย่างของประเทศที่กำลังพัฒนา ดังเช่น กัวเตมาลา ในละตินอเมริกา ซึ่งได้ตั้งราคาคลื่นความถี่ไว้ที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อาร์เจนตินา บราซิล และเปรูราว 4 เท่า และต่ำกว่าเม็กซิโกราว 2 เท่า ผลที่ได้คือทำให้บริการ 3G สามารถเข้าถึงประชากรได้สูงกว่าเพื่อนบ้านถึง 2 เท่า โดยในระยะเวลา 5 ปีหลังการจัดสรรคลื่นความถี่ ประเทศกัวเตมาลามีการขยายตัวของผู้ใช้ 3G สูงถึง 500% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆอยู่ราว 250% เท่านั้น นอกเหนือจากนี้ยังมีผลทำให้ราคาค่าบริการต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆราว 2 เท่า เช่นกัน
ดังนั้น เรื่องราวของราคาใบอนุญาตคลื่นความถี่ 3G จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ นักวิชาการทั้งในไทยและต่างประเทศได้ต่างสนับสนุนโดยหลักวิชาการให้ราคาใบอนุญาตต้องต่ำที่สุด แม้กระทั่งที่ปรึกษาของ กทช.เองก็ยังมีความเห็นในแนวทางเดียวกันนี้
ในขณะนี้เวลาของประเทศไทยมาถึงแล้ว ที่ประชาชนต้องมีโอกาสตัดสินใจร่วมกันว่า เราจะพัฒนาประเทศและอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างไรต่อไป เราจะพิจารณาอย่างเป็นธรรมโดยฟังความเห็นของนักวิชาการส่วนมาก ที่มีหลักฐานทางวิชาการและประสบการณ์จริงของต่างประเทศสนับสนุน หรือจะฟังเพียงความเห็นของนักวิชาการส่วนน้อยที่มีมุมมองแคบ และคำนึงถึงเพียงแค่ให้ได้เงินที่เข้ารัฐในเบื้องต้นเท่านั้น โดยที่ไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ตอนปลายที่หากราคาใบอนุญาตสูง ย่อมจะกระทบต่ออัตราค่าบริการของประชาชนที่สูงตามไปด้วย รวมถึงคุณภาพการให้บริการประชาชนโดยตรง
โดยเฉพาะผลต่อการพัฒนาของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทยในอนาคต ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนที่เป็นผู้ใช้บริการทุกคนต้องรับรู้และเข้าใจ และร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันให้การดำเนินการเป็นไปในแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมกับประเทศ และเพื่อประโยชน์ของประเทศสูงที่สุดอย่างแท้จริง
4G ฟินแลนด์ 40 ล้าน vs 3G ไทย 10,000 ล้าน
ณกฤช เศวตนันทน์
นักกฎหมายโทรคมนาคม [email protected]
ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4223
รัฐถังแตกครับ…หาเรื่องทำมาหากิน ไถเงินพ่อค้าก็แค่นั้น ถ้าคิดถึงคนส่วนใหญ่และประเทศจริง ราคามันคงไม่สูงขนาดนั้นหรอกครับ -*-
ปล.เบอร์สองของวงการ
อีกประเด็นหนึ่งนะครับ การลงทุนที่ซ้ำซ้อน มันเปลืองทรัพยากรไปไหม? ทำไมรัฐไม่ทำแล้วให้เช่าครับ และเรากระโดดไป 4G เลยไม่ได้หรือ? หรือความจริงเป็นอย่างไร ใครรู้บอกทีครับ?